ที่เห็นและเป็นไป : กระแสจะไม่ ‘หลงทาง’

ที่เห็นและเป็นไป : กระแสจะไม่ ‘หลงทาง’

ที่เห็นและเป็นไป : กระแสจะไม่ ‘หลงทาง’

การหาเสียงเลือกตั้งเข้าสู่โค้งสุดท้าย อีก 10 กว่าวันประชาชนจะเข้าคูหากาบัตร ว่าจะเลือกใคร พรรคไหน

ช่วงเวลาอย่างนี้ โฟกัสไม่ได้อยู่ที่นโยบายแล้ว

เพราะเอาเข้าจริงนโยบายที่เกี่ยวกับเรื่องปากท้อง แต่ละพรรคไม่ได้มีอะไรแตกต่างกัน ภาพใหญ่ที่ “เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย”

Advertisement

เพิ่มแบบไหน ลดอย่างไร เป็นสวัสดิการเพื่อคนกลุ่มไหน ให้อย่างไร เป็นแบบให้เบ็ดหรือให้ปลา หรือให้เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร ต่างพรรคต่างอธิบายกันไป

ทว่าการช่วงชิงความเหนือกว่าในวันนี้เลยไปจากนโยบายไปแล้ว

อาจจะเป็นเพราะประสบการณ์การเมืองแบบไทยๆ ที่เรียนรู้ในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงนี้ เป็นห้วงยามที่เรียกว่าหน้าสิ่วหน้าขวาน ที่พลาดไม่ได้เลย

Advertisement

ไม่ว่าคะแนนจะแรง จะนำมาแค่ไหนก่อนหน้านั้น หากมีการแสดงออกที่ถูกคู่ต่อสู้นำไปเป็นประเด็นโจมตี จนสร้างกระแสให้เกิดความเสียหายได้ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรม หรือความน่าเชื่อถือ ทุกคนต่างจับจ้องที่จะหาโอกาสพลิกกลับของกระแสแบบนี้

การฉวยจังหวะสร้างโอกาสพลิกกลับของกระแสได้ จนเรื่องที่ต่างคนต่างจ้องจะแสวงหา จุดประเด็นเพื่อนำมาใช้สร้างกระแสกันอย่างไม่กะพริบตา เพราะเรียนรู้ว่าเป็น “วิธีการที่ได้ผล”

คะแนนเสียงดีๆ เสียหายได้ทุกครั้งหากไม่ระมัดระวังพอในการแสดงออกจนไปเปิดประเด็นขึ้นมา หรือสามารถเปิดประเด็นแบบจุดติด อย่างมีพลังเปลี่ยนทิศทางลมขึ้นมาได้

“สินค้าแบกะดิน” หรือ “ไม่เลือกเราเขามาแน่” หรืออะไรทำนองนั้นคือตัวอย่างที่ดีของการทำให้เกิดพลิกกระแสในโค้งสุดท้าย

ช่วงนี้น่าสนใจว่า เรื่องราว “อำนาจรัฐประหาร ทำให้ร่วมงานสวดศพพ่อวันแรกไม่ทัน” ที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” กำลังถูกหยิบมาเป็นประเด็นยำใหญ่ เพื่อหวังพลิกกระแส “ก้าวไกล” มาแรงในโค้งสุดท้าย จะสำเร็จหรือไม่

เพราะแม้เอาเข้าจริงจะไม่ใช่เรื่องที่เป็นประโยชน์อะไรเลยกับการทำงานเพื่อประเทศชาติ แต่อย่างน้อยสุดก็เป็นประเด็นที่ทำให้ “หัวหน้าพรรคก้าวไกล” ที่จุดเด่นอยู่ที่การพูดถึงแนวคิดในการจัดการประเทศ ต้องเสียสมาธิเพราะต้องมาตอบคำถามเรื่องนี้วนไปเวียนมาอยู่หลายครั้ง จนไม่ได้พูดเรื่องที่ตัวเองคิดว่าควรพูด

อีกเรื่องที่อ่อนไหวมากคือ การให้คำตอบว่าจะร่วมรัฐบาลกับพรรคไหน

เมื่อจนถึงวันนี้ ชัดเจนอย่างยิ่งว่าการเลือกฝ่ายของประชาชนนั้นหนักแน่น และเปลี่ยนแปลงยาก

ฝ่ายหนึ่งเลือกพรรคการเมืองที่มีภาพของ “เสรีนิยม” ที่เรียกตัวเองว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย”

อีกฝ่ายหนึ่งเลือกพรรคที่มีภาพของ “อำนาจนิยม” ที่ถูกเรียกว่า “ฝ่ายสืบทอดอำนาจ”

การตัดสินใจของประชาชนแต่ละฝ่ายเด็ดขาดไปแล้ว ไม่แปรเปลี่ยนมาเลือกฝ่ายอื่น

ทำให้การต่อสู้ในโค้งสุดท้ายกลับมาอยู่ที่การแย่งเสียงกันเองระหว่างพรรคที่อยู่ฝ่ายเดียวกัน

ใน “ฟากประชาธิปไตย” ความจริงใจต่อฝ่ายเดียวกัน “สูตรการผสมรัฐบาล” เป็นเรื่องอ่อนไหวมาก

ขณะที่ในฝ่าย “สืบทอดอำนาจ” การทำให้เห็นภาพว่า “ใครหรือพรรคไหนมีบารมีต่อกลไกที่ดีไซน์ไว้เพื่อสนับสนุนการสืบทอดอำนาจมากกว่ากัน” คือวิธีช่วงชิงการรวมศูนย์คะแนนเสียงให้เป็นกอบเป็นกำได้มากกว่า ที่ได้ผลที่สุด

ใครแสดงให้เห็นว่าควบคุม เป็นเจ้าของ “ระบอบสืบทอดอำนาจ” ตัวจริงได้มากกว่า จะมีโอกาสมากกว่าที่จะได้รับการเทคะแนนให้จากประชาชนกลุ่มฝักใฝ่อำนาจนิยม

การหาเสียงเลือกตั้งโค้งสุดท้ายจึงแหลมคมยิ่ง

เพียงแต่ท่ามกลางการแบ่งฝ่าย การโจมตีแบบข้ามฝ่าย จะไม่ส่งผลดีอะไรให้กับพรรคตัวเอง

โจมตี “พรรคก้าวไกล” ผลดีจะไปตกกับ “พรรคเพื่อไทย” ในทางกลับกันโจมตี “พรรคเพื่อไทย” ผลดีจะไปได้กับ “พรรคก้าวไกล”

เช่นเดียวกัน “บารมีของพรรครวมไทยสร้างชาติ” ไม่ได้เป็นปัญหากับ “พรรคเพื่อไทย” หรือ “พรรคก้าวไกล” แต่ที่จะต้องเสียวสันหลังคือ “พรรคพลังประชารัฐ” ที่จะได้รับผลกระทบ หาก “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” โชว์บารมีได้ ผลกระทบย่อมตกกับ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ไม่เกี่ยวกับผู้นำพรรคอื่น

สรุปก็คือ การเมืองในยุคสมัยเช่นนี้ กระแสเปลี่ยนได้แค่คะแนนนิยมที่แย่งชิงในฝ่ายเดียวกัน หมดยุคที่จะเปลี่ยนข้ามฝ่ายแล้ว

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image