อ่านโพลเลือกตั้ง‘มติชน เดลินิวส์’

อ่านโพลเลือกตั้ง‘มติชน เดลินิวส์’

สื่อมวลชนเครือ “มติชน x เดลินิวส์ แถลงผลสำรวจโพลเลือกตั้ง’66 ครั้งที่ 2” วันที่ 29 เมษายน 2566 ปรากฏคำตอบดังนี้

คำถามหัวข้อที่ 1 ท่านจะเลือกผู้สมัคร ส.ส.เขตจากพรรคการเมืองใดในการเลือกตั้ง 2566 พบว่า ในกลุ่ม 10 อันดับแรกนั้น อันดับ 1 พรรคก้าวไกล ร้อยละ 47.97, อันดับ 2 พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 35.78, อันดับ 3 พรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 5.75, อันดับ 4 พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 2.69, อันดับ 5 พรรคชาติพัฒนากล้า ร้อยละ 1.56, อันดับ 6 ยังไม่ตัดสินใจ ร้อยละ 1.33, อันดับ 7 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 1.18, อันดับ 8 พรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 1.05, อันดับ 9 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 1.02 และอันดับ 10 ไม่เลือก ส.ส.เขตจากพรรคใดทั้งสิ้น ร้อยละ 0.56 ทั้งนี้ พรรคชาติไทยพัฒนา ผลโหวตรอบสองออกมาร้อยละ 0.26 ส่วนพรรคเสรีรวมไทยอยู่ที่ร้อยละ 0.51

คำถามที่ 2 ท่านจะเลือก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ (ส.ส.บัญชีรายชื่อ) พรรคใดในการเลือกตั้ง 2566 พบว่า ในกลุ่ม 10 อันดับแรก ประกอบด้วย อันดับ 1 พรรคก้าวไกล ร้อยละ 50.29, อันดับ 2 พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 33.65, อันดับ 3 พรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 6.05, อันดับ 4 พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 2.46, อันดับ 5 พรรคชาติพัฒนากล้า ร้อยละ 1.60, อันดับ 6 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 1.05, อันดับ 7 พรรคเสรีรวมไทย ร้อยละ 1.01, อันดับ 8 พรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 1.01, อันดับ 9 ยังไม่ตัดสินใจ ร้อยละ 0.96 และอันดับ 10 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 0.70 สำหรับพรรคชาติไทยพัฒนา ผลอยู่ที่ร้อยละ 0.26

Advertisement

คำถามที่ 3 ท่านจะสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้ง 2566 พบว่า ในกลุ่ม 10 อันดับแรก ประกอบด้วย อันดับ 1 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ร้อยละ 49.17 (พรรคก้าวไกล), อันดับ 2 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ร้อยละ 19.59 (พรรคเพื่อไทย), อันดับ 3 นายเศรษฐา ทวีสิน ร้อยละ 15.54 (พรรคเพื่อไทย), อันดับ 4 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 6.52 (พรรครวมไทยสร้างชาติ), อันดับ 5 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ร้อยละ 2.35 (พรรคพลังประชารัฐ), อันดับ 6 นายกรณ์ จาติกวณิช ร้อยละ 1.74 (พรรคชาติพัฒนากล้า ), อันดับ 7 ยังไม่ตัดสินใจ ร้อยละ 1.18, อันดับ 8 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ร้อยละ 1.04 (พรรคไทยสร้างไทย), อันดับ 9 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ร้อยละ 0.84 (พรรคเสรีรวมไทย) และอันดับ 10 นายอนุทิน ชาญวีรกูล ร้อยละ 0.64 (พรรคภูมิใจไทย)

คำถามที่ 4 ท่านเห็นว่าสมาชิกวุฒิสภา หรือ “ส.ว.” ควรโหวตเลือกแคนดิเดตนายกฯจากพรรคที่ได้ ส.ส.มากที่สุดหรือไม่ ได้ผลลัพธ์ดังนี้ ควรเลือกแคนดิเดตนายกฯจากพรรคที่ได้ที่นั่ง ส.ส.มากที่สุด ร้อยละ 82.54 และเลือกจากพรรคการเมืองใดก็ได้ ร้อยละ 17.46

จากคำตอบโพลทั้งรอบแรกและรอบสองนี้ สื่อทั้งสองเครือจะจัดเวทีวิเคราะห์ผลโพลร่วมกับอาจารย์วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ฯ ไลฟ์สตรีมถ่ายทอดสดผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียตั้งแต่เวลาประมาณ 10.00 น. วันศุกร์ที่ 5 พ.ค.2566

Advertisement

ครับ ผมนำผลมาฉายซ้ำรอบสองและอ่านโพลดักหน้า เพื่อให้คอการเมืองทั้งพันธุ์แท้และพันธุ์ทางได้ร่วมลุ้นกันต่อไปว่า ถึงวันหย่อนบัตรลงคะแนนเสียงจริง วันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม ผลการเลือกตั้งจะเป็นไปตามผลการสำรวจอย่างไรบ้าง

อ่านแบบง่ายๆ จากจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงประมาณ 52 ล้านคน หากไปลงคะแนน 70% เท่ากับจะมีผู้ไปใช้สิทธิ 36.40 ล้านคน

จากผลการสำรวจมีผู้ตอบโพลสองรอบมากถึง 162,659 คน พอที่จะเป็นตัวแทนบ่งชี้ว่าผู้ใช้สิทธิจะลงคะแนนเป็นไปตามแนวทางที่ตอบโพล มากน้อยแค่ไหน

ข้อนี้ก็สุดแท้ความคิดอ่าน การวิเคราะห์ของแต่ละท่าน หากไม่เอาความคิด ความเชื่อทางการเมือง ความชอบชังส่วนตัว มาครอบงำ ชี้นำ ใจก็จะเป็นกลาง ยอมรับได้ในสิ่งที่มันเป็น ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการจะให้เป็น

ที่น่าสนใจต่อไปคือ กลุ่มตัวอย่างผู้ร่วมโหวตครั้งที่ 2 78,583 ราย แยกเป็น กลุ่มช่วงอายุ 42-57 ปี หรือ “GEN-X” ร่วมโหวตมากที่สุดอันดับที่ 1 คือร้อยละ 31.48, อันดับ 2 ช่วงอายุ 26-41 ปี หรือ “GEN-Y” ร้อยละ 29.85, อันดับ 3 ช่วงอายุ 58-76 ปี หรือ “เบบี้บูมเมอร์” ร้อยละ 22.48, อันดับ 4 ช่วงอายุ 18-25 ปี หรือ “GEN-Z” ร้อยละ 15.38 และอันดับ 5 ช่วงอายุ 77 ปีขึ้นไป หรือ “Silent-GEN” ร้อยละ 0.81

ส่วน 10 จังหวัดแรกที่มียอดผู้ร่วมตอบโพลสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, ปทุมธานี, เชียงใหม่, สมุทรปราการ, ชลบุรี, นครราชสีมา, อุบลราชธานี, ขอนแก่น, เชียงราย

ลำดับช่วงวัยของผู้ตอบโพลนี่ต่างหากน่าคิด ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในแต่ละช่วงวัยมีความสนใจตอบโพลอย่างไร ปรากฏว่ามากที่สุดคือคนอายุระหว่าง 42-57 ปี ส่วนคนรุ่นใหม่ อายุระหว่าง 18-25 ปี มาเป็นอันดับที่ 4

สนใจตอบโพล แต่ถึงเวลาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจะไปลงมากตามจำนวน % ที่ปรากฏในคำตอบแค่ไหน จึงเป็นคำถามที่ท้าทาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ ไฟแรง เพิ่งมีสิทธิครั้งแรก ที่คาดกันว่าจะเลือกพรรคฝ่ายก้าวหน้ามากกว่าฝ่ายอนุรักษนิยม เสียงของคนหนุ่มคนสาวจะเอาชนะเสียงของคนรุ่นเก่า แก่ ก่อน ที่มีจำนวนรวมกันแล้วมากกว่าได้หรือไม่

ประเด็นนี้มีข้อน่าวิเคราะห์ต่อไปได้อีกว่า คนรุ่นเก่า แก่ ก่อน แต่ความคิดทางการเมืองใหม่ เป็นประชาธิปไตยมากกว่าอนุรักษนิยมก็มีจำนวนไม่น้อยเหมือนกัน เมื่อเทคะแนนไปรวมกับคนรุ่นใหม่จะทำให้ผลการเลือกตั้งเป็นไปตามผลโพลแค่ไหน

ครับ ติดตามนักวิเคราะห์จากวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ฯ แล้ว รอลุ้นผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นวันอาทิตย์หน้า

ก่อนรอลุ้นต่อไปอีกว่า คำตอบต่อคำถามข้อ 4 จะได้รับการยอมรับในทางปฏิบัติจริงแค่ไหน

การเมืองไทยจะไปทางไหน ลุงตู่จะอยู่ต่อ หรือเก็บกระเป๋ากลับบ้าน ผลชี้ขาดอยู่ในกำมือของพวกเรา ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งทุกคน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image