ผู้เขียน | เสถียร จันทิมาธร |
---|
วิถีแห่งกลยุทธ์ : ท่วงท่า ฟ่านหลี่ หนี คือยอด ‘กลยุทธ์’ หนีจาก โกวเจี้ยน
ขณะที่ บุญศักดิ์ แสงระวี ถอดกลยุทธ์สุดท้ายใน 36 กลยุทธ์แห่งชัยชนะในการสัประยุทธ์ทุกปริมณฑล ออกมาเป็น
“หนี” คือ ยอด “กลยุทธ์”
ประดิษฐ์ พีระมาน ถอดผ่านหนังสือ “มหาพิชัยสงคราม” มิต้องรบก็สยบข้าศึกได้ คือสุดยอดของชัยชนะว่า “ถอย ทัพ กลยุทธ์”
โดย สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย ระบุผ่านหนังสือ “36 กลอุบาย” อย่างรวบรัดเป็นอย่างยิ่งว่า “หนีดีกว่า” และ “หนี เป็น ดีที่สุด”
เฮีย ม.อึ้งอรุณ เมื่อเรียบเรียง “36 นิทานสู่ความสำเร็จ” ยืนยันผ่านกระบวนการถอดความออกมาว่า “เดิน คือ ยอดกระบวนยุทธ์”
เป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอนที่จะลงความเห็นว่า เฮีย ม.อึ้งอรุณ แปลผิด ใครที่เคยรู้จักและติดตามงานของ ม.อึ้งอรุณ ย่อมรู้ดี
ฝีมือไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า บุญศักดิ์ แสงระวี แน่นอน
ไม่ว่าจะเป็นฝีมือในทาง “ความคิด” ไม่ว่าจะเป็นฝีมือในทาง “การเมือง” หรือแม้กระทั่งฝีมือในทาง “การจัดตั้ง” ประเด็นจึงอยู่ที่การตีความ
ไม่ว่าจะเป็นความหมายในเชิง “กลยุทธ์” ไม่ว่าจะเป็นความหมายเมื่อพิจารณาจากตัวของสิ่งที่ ม.อึ้ง อรุณ เรียกว่า “นิทาน”
ประเมินผ่าน ประดิษฐ์ พีระมาน เมื่อใช้คำว่า “ถอยทัพ” แทนคำว่า “หนี” นี่มิได้ประเมินในลักษณะของ “ปัจเจก”
กลยุทธ์ ถอย ทัพ ยอดกุลยุทธ์ คือ ปรัชญาสูงสุดของการสงคราม
ทั้งนี้ ในระหว่างการสู้รบกันนั้นจะมีทั้งการรุกและการถอยอยู่ตลอดเวลา แม่ทัพที่เชี่ยวชาญการศึกจะสามารถพิชิตข้าศึกได้
ทั้งการรุก และการถอย
แม่ทัพที่ชำนาญศึกจะเตรียมอุบายถอยทัพเอาไว้ก่อนการเคลื่อนทัพเพื่อพลิกผันการสู้รบให้ข้าศึกพ่ายแพ้ได้ทั้งการรุกและการถอย
เมื่อถึงคราวจำเป็นต้องถอยทัพจริง ข้าศึกก็ไม่กล้ารุกไล่ติดตาม
ในความเห็นของ บุญศักดิ์ แสงระวี กลยุทธ์นี้มีความหมายว่า เมื่อรบกับข้าศึกหากข้าศึกแข็ง เราอ่อนอาจจะถอยร่นอย่างรวดเร็ว เพื่อหลบเลี่ยงการปะทะเสียก่อน
ดังที่มีคำกล่าวไว้ใน “คัมภีร์อี้จิง แม่ทัพ” ว่า “ถอยหนีมิผิด เป็นวิสัยซึ่งสงคราม” ซึ่งชี้ชัดว่าการถอยหนีในการทำสงครามนั้นมิใช่ความผิดพลาด
หากแต่เป็นเรื่องธรรมดาสามัญในการรบซึ่งมักจะพบเห็นเสมอ
การถอยเช่นนี้เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายในยามที่เราเป็นฝ่ายเสียเปรียบและเพื่อชิงโอกาสตอบโต้ได้ในภายหลัง มิใช่ถอยอย่างพ่ายแพ้หมดรูป ตีโต้กลับมิได้อีก
ย้อนกลับไปในตอนปลายของยุคชุนชิว สมัยเลียดก๊ก เมื่อโกวเจี้ยนแห่งรัฐเยว่สามารถเอาชนะรัฐอู่ได้อย่างเบ็ดเสร็จ
ผนวกดินแดนรัฐอู่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐเยว่
รัฐเยว่ก็อยู่ในฐานะแห่ง “มหาอำนาจ” ขุนนางน้อยใหญ่ต่างมาแสดงความยินดีต่อโกวเจี้ยนอ๋อง
ขณะที่ฟ่านหลี่กลับปลีกตัวและขอลาออกจากราชการ
เมื่อโกวเจี้ยนอ๋องไม่อนุมัติ ฟ่านหลี่จึงทูลว่า “หากเป็นเช่นนั้นข้าขอเดินทางไปจากเมืองหลวง”
โกวเจี้ยนไม่ยินยอม ทั้งขู่ว่าจะสังหารทั้งครอบครัว
มองจากด้านของโกวเจี้ยนก็ต้องยอมรับว่าทรงขัดเคืองเป็นอย่างมาก เนื่องจากไว้วางใจต่อฟ่านหลี่มาอย่างต่อเนื่อง
เพราะอยู่ในฐานะคู่คิด ร่วมวางแผน
เมื่อตอนที่รัฐเยว่ถูกสยบโดยแสนยานุภาพที่เหนือกว่าของรัฐอู่ก็มีแต่ฟ่านหลี่เท่านั้นที่ได้รับความไว้วางใจเป็นอย่างสูง
ร่วมเป็น “เชลย” ไปอยู่รัฐอู่กับโกวเจี้ยน
ไม่ว่าฟ่านหลี่จะแนะนำอะไรแม้กระทั่งให้ชิมอุจจาระของฟูไซ อ๋อง แห่งอู่ ก็ยินยอมปฏิบัติตาม
เมื่อได้รับการปล่อยตัวกลับรัฐเยว่
ในความเคืองแค้นแน่นอกของโกวเจี้ยนในระดับนอนฟาง จ้องมองดีหนี ก็มีแต่ฟ่านหลี่นั่นแหละที่เป็นคู่คิดวางแผน
จึงไม่เข้าใจว่าเมื่อกำชัยแล้วเหตุใดฟ่านหลี่จึงจะขอปลีกตัว
จากมุมของ สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย กลยุทธ์ “หนี เป็นดีที่สุด” อันฟ่านหลี่ยึดกุมมาปฏิบัติได้อรรถาธิบายว่า
เป็น “อุบาย” ที่นำมาใช้ในคราวคับขัน
เมื่อตระหนักรู้ว่าถึงอย่างไรก็ไม่มีทางสู้ และรู้ว่าถึงอย่างไรก็ไม่มีทางสู้ การหลบหลีกหนี หรือหลีกเลี่ยงภาวะคับขัน
ก็เป็นทางเลือกที่ดี
เพราะคู่ต่อสู้มีความได้เปรียบกว่า ถ้าไม่หนีเราก็จะต้องถูกทำลายพ่ายแพ้อย่างยับเยิน
หรือไม่ก็ต้องยอมจำนน หรือต้องขอเจรจาสงบศึก
โดยที่ฝ่ายตรงข้ามจะเป็นผู้กำหนดเงื่อนไข ซึ่งเรายอมไม่ได้ ในกรณีเช่นนี้ การหลีกเลี่ยงหรือหลบหนีโดยไม่คิดต่อสู้
น่าจะเป็นหนทางที่ดีกว่า
กล่าวในกรณีของฟ่านหลี่ หากศึกษาต่อไปก็จะเห็นว่าเขาไม่ได้หนีเพียงผู้เดียว หากแต่ยังเสนอแนวทางนี้ให้กับได้เสนอไปยังเหวินจ้ง
เหวินจ้งซึ่งเป็นขุนนาง “ผู้ใหญ่” ระดับเดียวกัน
ตอนหนึ่งของหนังสือที่ทำถึงเหวินจ้งระบุว่า “เมื่อสิงสาราสัตว์ถูกล่าจนหมดสิ้น สุนัขล่าเนื้อก็จะถูกจับไปกิน เมื่อรัฐที่เป็นศัตรูถูกทำลายลงแล้วขุนนางที่มีความดีความชอบก็มักจะถูกฆ่าทิ้ง”
สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย กล่าวว่า
เหวินจ้งเมื่อได้รับหนังสือแล้วก็เกิดความกังวลใจ แต่ก็ไม่รีบลาออกจากราชการเพียงแต่ทำเป็นเจ็บป่วยไม่เข้าไปปรึกษาราชการดังแต่ก่อน
โกวเจี้ยนจึงเกิดความระแวง
หากเหวินจ้งเกิดเป็นกบฏจะไม่สามารถปราบได้ จึงทำท่าไปเยี่ยมไข้แล้วทิ้งดาบที่ฟูไซอ๋องแห่งอู่มอบให้แม่ทัพของตนฆ่าตัวตาย
เหวินจ้งรู้โดยอัตโนมัติว่าโกวเจี้ยนต้องการอะไร
กรณีของฟ่านหลี่กับกรณีของเหวินจ้งจึงกลายเป็นบทเรียนอันยอกย้อนและซ่อนปมระหว่างอ๋องกับขุนนาง
ฟ่านหลี่ “กระสา” ต่อกลิ่นแห่ง “อันตราย”
ไม่เพียงรับรู้และคาดหมายล่วงหน้า หากแต่เตือนเพื่อนรักเหวินจ้งด้วยความปรารถนาดี
เหวินจ้งอาจ “สำเหนียก” แต่ยังไม่เพียงพอ
ผลก็คือ ฟ่านหลี่หลบหนีและรอดปลอดภัยทั้งครอบครัว ลับหายไปจากแคว้นเยว่อย่างไร้ร่องรอย
เหวินจ้งยังอยู่จนต้องเอาชีวิตสังเวย