คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : องค์กร‘อิสระ’(จากอะไร)

การต่อสู้ในคดีนาฬิกายืมเพื่อนระหว่าง

นายวีระ สมความคิด กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (...) ซึ่งยืดเยื้อยาวนานกว่า 4 ปี ก็ดูจะเป็นความพยายามที่เหมือนจะไม่มีจุดจบ 

แม้ว่าศาลปกครองสูงสุดจะพิพากษาให้สำนักงานและคณะกรรมการ ป... ในฐานะของผู้ถูกฟ้องคดีนั้นละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ และจะต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของเรื่องที่คณะกรรมการ ป...มีมติไม่รับเรื่องกล่าวหาเกี่ยวกับนาฬิกา (ที่อ้างว่า) ยืมเพื่อนดังกล่าวตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย ที่ได้วินิจฉัยไว้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ..2562 สามรายการ ได้แก่ รายงานการแสวงหาข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐานเอกสารทั้งหมด ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป...ทุกคน และรายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป...ในเรื่องดังกล่าว ซึ่งศาลสั่งให้ต้องให้ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวกับฝ่ายผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีตามคำพิพากษา ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

อย่างไรก็ตาม ก็ปรากฏว่าล่าสุดทาง ป...ก็ยังมีทีท่าว่าจะยังไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามคำพิพากษาดังกล่าวอยู่ดี เนื่องจากทาง ป...จะขอทำหนังสือถึงศาลปกครองสูงสุดให้ทบทวนว่าข้อมูลส่วนใดที่สามารถเปิดเผยได้ ข้อมูลส่วนใดไม่สามารถเปิดเผยได้อีกครั้ง ทั้งๆ ที่ก็ปรากฏตามคำพิพากษาชัดเจนอยู่แล้วว่าจะต้องเปิดเผยข้อมูลใดบ้าง

Advertisement

การยืดเยื้อไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษานี้จะส่งผลอย่างไรในกระบวนการบังคับคดีปกครองก็ต้องว่ากันไป โดยจากนี้เมื่อครบกำหนดเวลาที่ศาลกำหนดในคำบังคับตามคำพิพากษาแล้ว ถ้าปรากฏว่ายังไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ก็จะมีกระบวนการไต่สวนแล้วศาลอาจมีคำสั่งให้ฝ่าย ป...ที่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษานั้นชำระค่าปรับต่อศาลได้สูงสุดครั้งละ 50,000 บาท ส่วนใครจะต้องจ่ายเงินจำนวนนี้ เคยมีการวางแนวมาแล้วตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ คผ. 151/2563 ว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองที่กำหนดคำสั่งปรับในชั้นบังคับคดีนี้มุ่งหมายที่จะปรับเอากับเงินส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ผู้ที่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา ดังนั้นใครมีอำนาจสูงสุดในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารแต่ไม่ยอมดำเนินการเปิดเผยตามคำพิพากษาก็ต้องรับผิดชอบในส่วนนี้ ส่วนจะเป็นความผิดในคดีอาญาฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือเรื่องอื่นๆ ด้วยหรือไม่ ก็อาจจะรอดูกันต่อไปในอนาคต 

กรณีนี้ก็เป็นอีกครั้งที่สังคมได้ตั้งข้อสงสัยกันหนักๆ ว่า ตกลงแล้วองค์กรอิสระนี้อิสระจากใครหรืออะไรกันแน่ ?

เช่นเดียวกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) องค์กรอิสระอีกองค์กรที่กำลังมีบทบาทสำคัญที่สุดในการจัดการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในกลางเดือนนี้ก็ตกเป็นเป้าในการวิพากษาวิจารณ์อย่างหนักไม่แพ้กัน เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งสร้างความอิหยังวะกันแบบรายวัน ทั้งเรื่องใหญ่ๆ ที่เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งเขตเลือกตั้งที่แปลกประหลาดจนถูกมองว่าเป็นการละลายเขตเลือกตั้งเพื่อเอื้อให้พรรคการเมืองบางพรรคนั้นได้เปรียบในการรวมฐานเสียงแบบ Gerrymandering หรือไม่ หรือเรื่องที่ระบบลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าล่มในคืนวันสุดท้ายส่งผลให้มีผู้ที่ประสงค์จะลงคะแนนนอกเขตเลือกตั้งตกค้างลงทะเบียนไม่ได้เป็นจำนวนมาก แต่ดันไม่มี กกต. ผู้มีอำนาจอยู่แก้ปัญหาเนื่องจากอยู่ในระหว่างการเดินทางไปดูงานต่างประเทศกันยกคณะ 

Advertisement

ตลอดจนเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจจะเป็นปัญหาเชิงธุรการหรือการจัดการ เช่นการพิมพ์โลโก้พรรคก้าวไกลที่ติดบนบอร์ดหน้าคูหาหน่วยเลือกตั้งในหลายเขตเลือนรางจนมองไม่เห็น หรือการพิมพ์ชื่อและพรรคในเอกสารที่ต้องแสดงไว้ที่คูหาบรรทัดไหลมาปนกันจนสับสน ที่แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ก็ถูกตั้งคำถามถึงความใส่ใจในการทำงานของ กกต.ทุกระดับกับงานใหญ่ซึ่งเป็นความรับผิดชอบสำคัญที่สุดขององค์กรนี้คือการจัดการเลือกตั้งระดับประเทศที่มีเพียงครั้งเดียวในรอบสี่ปีได้ในที่สุด

ทำไมองค์กรอิสระจึงตกเป็นเป้าแห่งความระแวงสงสัยของประชาชนและทุกฝั่งฝ่ายการเมือง นั่นก็เป็นเพราะว่า องค์กรอิสระ โดยเฉพาะทั้งสององค์กรคือ กกต.และ ป... เป็นองค์กรอิสระที่มีอำนาจในการให้คุณให้โทษที่อาจส่งผลพลิกผันทางการเมืองได้เป็นอย่างยิ่ง โดย กกต.นั้นเป็นอำนาจในการจัดการเลือกตั้งซึ่งเป็นด่านแรกในการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนที่จะต้องอาศัยการเลือกตั้งเป็นการถามความต้องการและมอบอำนาจสูงสุดของประชาชนไปสู่บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเข้าไปใช้อำนาจทางการเมืองในระบบ ส่วน ป... ก็เป็นอำนาจในการตรวจสอบการใช้อำนาจทางการเมืองของตัวแทนทางการเมืองดังกล่าวให้เป็นไปโดยสุจริตปราศจากการแสวงหาอำนาจโดยมิชอบจากอำนาจที่ได้รับไปจากประชาชน

พูดง่ายๆ คือ กกต.มีบทบาทว่าจะให้ใครได้เข้าไปสู่พื้นที่แห่งการใช้อำนาจทางการเมือง ส่วน ป... มีอำนาจในการสั่งให้ใครออกจากพื้นที่ทางการเมือง

หากเราย้อนไปดูความเป็นมาของการมีองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญซึ่งปรากฏเป็นรูปธรรมเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญปี 2540 มีที่มาจากความต้องการยกระดับให้องค์กรที่ทำหน้าที่สำคัญให้เข้าหรือออกจากอำนาจดังกล่าวนั้น อยู่ในรูปขององค์กรที่ใช้อำนาจรัฐแต่อยู่นอกเหนือจากกลไกราชการปกติของฝ่ายบริหารเพื่อให้มีความเป็นอิสระจากการถูกครอบงำทั้งทางตรงและทางอ้อมจากฝ่ายการเมือง 

โดยแต่เดิม ป...ก็เคยมีอยู่แต่เป็นรูปแบบของคณะกรรมการในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่เรียกว่า คณะกรรมการ ป... ซึ่งก็มีข้อจำกัดว่า องค์กรที่จะต้องทำหน้าที่ในการตรวจสอบความสุจริตในการใช้อำนาจแต่มาอยู่ใต้บังคับบัญชาของฝ่ายการเมืองซึ่งอาจจะเป็นผู้ถูกตรวจสอบว่าทุจริตหรือประพฤติมิชอบหรือไม่เสียเอง 

หรือกรณีของ กกต. ที่แต่เดิมอำนาจในการจัดการเลือกตั้งเป็นของกองการเลือกตั้ง สังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งก็เป็นฝ่ายการเมืองที่สังกัดพรรคหรือฝั่งฝ่ายทางการเมือง จึงเท่ากับเป็นความขัดแย้งกันต่อผลประโยชน์และการปฏิบัติหน้าที่

ด้วยเหตุนี้ รัฐธรรมนูญปี 2540 จึงออกแบบให้องค์กรที่ทำหน้าที่ในลักษณะดังกล่าวนี้มีลักษณะของการเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่เป็นเอกเทศแยกตัวออกจากอำนาจรัฐฝ่ายบริหารเพื่อความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ โดยให้วุฒิสภาซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเป็นผู้เลือกตัวผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระรวมถึงการตรวจสอบและถอดถอนด้วย 

จึงเท่ากับการกำหนดให้องค์กรอิสระต้องอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบต่อประชาชนผ่านทางวุฒิสภาที่เป็นผู้แทนของประชาชนจากการเลือกตั้งแทนที่จะอยู่ในการครอบงำกำกับของรัฐบาลหรือฝ่ายบริหาร

แต่ปัญหาขององค์กรอิสระที่เหมือนจะยืดเยื้อเรื้อรังมาตั้งแต่หลังการรัฐประหารปี พ..2549 ที่ก่อให้เกิดรัฐธรรมนูญ 2550 ที่กำหนดให้วุฒิสภานั้นมาจากการเลือกตั้งของประชาชนเพียงครึ่งเดียว และซ้ำด้วยการรัฐประหารในปี พ..2557 ซึ่งคณะรัฐประหารได้ตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้นมาให้ทำหน้าที่เป็นวุฒิสภา และในรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่สมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด 250 คน มาจากการเลือกและแต่งตั้งทิ้งไว้โดยคณะรัฐประหารก่อนจะลงจากอำนาจไป

นั่นอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้องค์กรอิสระต่างๆ นี้ ดูเหมือนจะขาดพ้นจากความรับผิดชอบต่อประชาชนไปเสียทุกที ส่วนจะรับผิดชอบต่อใครนั้นก็คงเข้าใจได้ไม่ยากนัก แถมในที่สุดองค์กรอิสระยังทำท่าจะเป็นอิสระไปเสียจากทุกสิ่งอย่าง แม้แต่อำนาจขององค์กรตุลาการคือศาลด้วย 

จึงน่าสนใจว่า ถ้าในที่สุดแล้วการเลือกตั้งในครั้งนี้จะเกิดการเปลี่ยนขั้วอำนาจไปแล้วจากฝ่ายอำนาจเดิมที่เคยครอบงำกลไกการใช้อำนาจรัฐทั้งปวงมาเกือบ 10 ปี แล้วจะมีการทบทวนสถานะ หน้าที่ อำนาจของบรรดาองค์กรอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ในการส่งคนเข้าและเอาคนออกจากเวทีการเมืองอย่าง กกต.และ ป... หรือไม่อย่างไร

สุดท้ายนี้ สำหรับกรณีของ กกต. ยังมีเรื่องที่น่าสนใจที่ควรกล่าวถึงอีกเรื่องหนึ่งด้วย

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า เดิมผู้ที่เคยปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจที่ กกต.มีอยู่ในปัจจุบันนั้น คือกระทรวงมหาดไทย จึงมีข้อกังขาอยู่เสมอในการเลือกตั้งแต่ละครั้งถึงเรื่องความเป็นกลาง จึงมีความพยายามของภาคประชาชนที่จะเข้ามาร่วมสอดส่องดูแลการจัดการเลือกตั้งของกระทรวงมหาดไทยให้เป็นไปโดยยุติธรรมและเป็นกลาง สำหรับใครที่เกิดทันการเมืองไทยในยุคก่อนปี พ..2540 คงคุ้นกับชื่อขององค์กรกลางการเลือกตั้งที่เป็นองค์กรอาสาสมัครของประชาชนที่เข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบการเลือกตั้งแบบคู่ขนานในช่วงระหว่างปี พ..2535-2538 

เชื่อว่าองค์กรกลางของภาคประชาชนนี้เองเป็นต้นกำเนิดของแนวคิดให้มีการจัดตั้งกกต.” ขึ้นมาในรูปแบบขององค์กรอิสระที่มีหน้าที่และอำนาจจัดการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญในทุกวันนี้

หากด้วยข้อกังขาสารพัดในการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.ที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องสำคัญที่สุด คือ การที่ กกต.ทำท่าว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะไม่มีการรายงานคะแนนไม่เป็นทางการแบบเป็นรายงานสดจากหน่วยเลือกตั้ง แต่จะรวมคะแนนจากทุกเขตเลือกตั้งมาตรวจสอบและประกาศเป็นคะแนนและผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการไปเลยทีเดียว ซึ่งก็เป็นข้อกังวลว่า การรวมคะแนนประกาศผลรวดเดียวแบบนี้โดยไม่มีการทยอยรายงานข่าวแล้ว ประชาชนก็ยากที่จะรู้ได้ว่าผู้สมัครแต่ละคนได้คะแนนเพิ่มขึ้นมาเท่าไรในแต่ละหน่วยเลือกตั้ง ช่วงเวลาระหว่างการเปิดหีบนับคะแนนไปจนถึงการรวบรวมและประกาศผลการเลือกตั้งนี้อาจจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ในที่สุดจึงต้องเกิดความร่วมมือของประชาชนร่วมกับสื่อมวลชนตั้งอาสาสมัครขึ้นมาจับตาการเลือกตั้ง ผ่านโครงการร่วมรายงานผลคะแนนการเลือกตั้งแบบไม่เป็นทางการ และอาสาสมัครภาคประชาชนทางเว็บไซต์ www.vote62.com เพื่อร่วมกันมาเป็นอาสาจับตาให้การเลือกตั้งปี 2566 นี้โปร่งใสและสุจริตยุติธรรม

จึงเหมือนเรื่องตลกร้ายที่ กกต. ซึ่งถือกำเนิดมาจากกลไกการกำกับดูแลการเลือกตั้งของภาคประชาชนในอดีตกลับถูกกังขาไม่ไว้วางใจเสียจนภาคประชาชนในปัจจุบันต้องมาทำอะไรคล้ายๆ กับองค์กรกลางในสมัยก่อน เพื่อจับตาดู กกต. ซึ่งเหมือนสืบเชื้อสายมาจากองค์กรกลางในยุคนั้นอีกทีหนึ่งไปเสียอย่างนั้น

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image