ผู้เขียน | เสถียร จันทิมาธร |
---|
วิถีแห่งกลยุทธ์ : ราษฎร มั่นคง วิถี ‘เว่ยเจิง’ บริหาร การเมือง แกร่ง
เมื่อลงมือ “รจนา” คัมภีร์ “เจินกวนเจิ้งเย่า” ขึ้นมาในสมัยราชวงศ์ถัง “อู๋จิง” ได้ให้อรรถาธิบายต่อรากฐานแห่ง “คัมภีร์”
ตามสำนวนแปลของ อธิคม สวัสดิญาณ ว่า
หยวนเฉวียนเยว่ และจางเจียเจิน สองมหาเสนาบดีปราชญ์แห่งอาณาจักรไต้ถาง ผู้ได้รับอุปการคุณจากองค์จักรพรรดิผู้ทรงพระปรีชาญาณให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ
ช่วยบริหารราชการแผ่นดิน และเชิดชูขัตติยธรรม
มักวิตกกังวลว่า ราษฎรจะอดอยากยากแค้น แตกฉานซ่านเซ็น ขนบจารีตและคุณธรรม การศึกษา เสื่อมโทรม
จึงพยายามขจัดความเห็นแก่ตัว
ส่งเสริมการเสียสละ และอุทิศกำลังสติปัญญาแก่ราชการบ้านเมืองโดยไม่ย่อท้อ ท่านทั้งสองสนใจคุณค่าบทเรียนทางประวัติศาสตร์ยิ่ง
และต่อไปนี้คือตัวอย่างในประวัติศาสตร์ อัน “อู่จิง” รวบรวมและรจนาเสนอ
เจินกวนศก 7 (ค.ศ.633) ถางไท่จงฮ่องเต้ ทรงสนทนากับหัวหน้าบรรณารักษ์เว่ยเจิงถึงปัญหาการบริหารราชการแผ่นดิน
ตั้งแต่โบราณกาลมา
พระองค์ทรงตรัสว่า “ขณะนี้แผ่นดินเพิ่งผ่านพ้นความวุ่นวายครั้งใหญ่มาได้ไม่นาน ชาติบ้านเมืองคงไม่เข้าสู่ภาวะสันติสุขภายในเวลาอันสั้น”
เว่ยเจิงกราบทูลว่า
“ผู้น้อยมิได้เห็นเป็นเช่นนั้น ปกติคนเราหากตกอยู่ในภาวะบ้านเมืองเป็นจลาจลก็จะวิตกเรื่องความตาย
เมื่อวิตกเรื่องความตายก็หวังว่าแผ่นดินจะมีสันติสุข
เมื่อหวังว่าแผ่นดินจะมีสันติสุขก็จะอบรมกล่อมเกลาได้ง่าย หลังความปั่นป่วนวุ่นวายแล้วราษฎรจะรับการอบรมกล่อมเกลาได้ง่าย
ดุจเดียวกับคนหิวกระหายจะกินอาหารไม่เลือก ฉะนั้น”
พระองค์ตรัสถามว่า “แม้จักรพรรดิผู้ทรงพระปรีชาญาณปกครองอาณาจักรยังต้องใช้เวลานานถึงร้อยปีกว่าจะยุติความรุนแรง
ยกเลิกโทษประหารได้
เวลานี้แผ่นดินเพิ่งจะผ่านพ้นความปั่นป่วนวุ่นวายครั้งใหญ่ก็เรียกร้องให้ปกครองแบบสันติสุข ท่านเห็นว่าเราจะทำให้การปกครองแบบสันติสุขปรากฏเป็นจริงภายในเวลาอันสั้นได้อย่างไร”
เว่ยเจิงกราบทูลว่า
“คนทั่วไปย่อมเห็นว่าเป็นไปไม่ได้แต่จักรพรรดิที่ทรงพระปรีชาญาณย่อมอบรมกล่อมเกลาให้เบื้องบนกับเบื้องล่างสามัคคีกัน
และราษฎรทั่วแผ่นดินตอบสนองอุ้มชูได้
เพราะฉะนั้น ถึงไม่หวังว่าสันติสุขจะปรากฏเป็นจริงอย่างรวดเร็ว หากกล่าวว่าทำให้ปรากฏเป็นจริงได้ภายในเวลา 1 ปี เชื่อว่าไม่น่าจะทำให้ฝ่าบาทลำบากมากไป แต่ถ้ายืดเวลาออกไปทำให้ปรากฏเป็นจริงภายในเวลา 3 ปี ก็อาจจะสายเกินการณ์”
ถางไท่จงฮ่องเต้ทรงเห็นด้วยกับความคิดเห็นของเว่ยเจิง
แต่เฟิงเต๋ออี๋ (มหาเสนาบดีฝ่ายขวา) ไม่เห็นด้วยกับทรรศนะของเว่ยเจิง จึงแย้งว่า
“หลังสามยุค (ราชวงศ์เซี่ย ซัง และโจว) แล้ว ใจคนเจ้าเล่ห์เหี้ยมเกรียมมากขึ้น
เพราะฉะนั้น ราชวงศ์ฉินเน้นการใช้กฎหมายและลงทัณฑ์ ราชวงศ์ฮั่นเน้นการใช้อำนาจบารมี
ซึ่งล้วนมีจุดหมายต้องการให้ภาวะสันติสุขปรากฏเป็นจริง
แต่ก็ยังทำให้ภาวะสันติสุขปรากฏเป็นจริงไม่ได้
หากพระองค์ทรงเชื่อความคิดเห็นของเว่ยเจิง ผู้น้อยเกรงว่า แผ่นดินจะปั่นป่วน วุ่นวายกว่าเดิม”
เว่ยเจิงจึงกราบทูลว่า
5 จักรพรรดิ 3 กษัตริย์ มิได้ปกครองแผ่นดินให้บรรลุภาวะสันติสุขโดยโอนราษฎรให้แก่กัน
หากดำเนินการปกครองตามวิถีแห่งจักรพรรดิ
บ้านเมืองก็จะเข้าสู่ภาวการณ์ปกครองตามวิถีแห่งจักรพรรดิ
หากดำเนินการปกครองตามวิถีแห่งกษัตริยราช บ้านเมืองก็จะเข้าสู่การปกครองแบบกษัตริยราช
เหล่านี้ล้วนขึ้นกับเนื้อหาและเป้าหมาย
ที่จะให้การอบรมกล่อมเกลาราษฎรในสมัยนั้น ราษฎรจะปรับตัวตามเนื้อหาและเป้าหมายนั้นๆ เอง
เมื่อตรวจสอบจากบันทึกในโบราณาคัมภีร์ก็จะทราบได้ว่า ก่อนนี้จักรพรรดิหวงตี้ทำศึกใหญ่กับซือหยิวกว่า 70 ครั้ง
พูดได้ว่าสมัยนั้นแผ่นดินปั่นป่วนวุ่นวายอย่างมาก
แต่พอจักรพรรดิเหลืองรบชนะซือหยิวแล้ว ภาวะสันติสุขก็ปรากฏเป็นจริง พวกจิ่วหลีก่อกบฏ จักรพรรดิจวนซุยทรงกรีธาทัพปราบปรามจนราบคาบ
แผ่นดินก็มีสันติสุขดังเดิม
ทรราชเจี๋ยแห่งราชวงศ์เซี่ยทรงโหดร้าย ทารุณ ไร้ขัตติยธรรม กษัตริยราชทังทรงจับกุมพระองค์เนรเทศไปยังแดนกันดาร
ภาวะสันติสุขก็ปรากฏเป็นจริงอีกครั้ง
ทรราชโจวแห่งราชวงศ์ซัง ทรงโฉดเขลาไร้ขัตติยธรรม ก็ถูกกษัตริย์ราชแห่งราชวงศ์โจวปราบปราม
เมื่อถึงยุคกษัตริยราชเฉิง
(ขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์) ได้โจวกงต้านช่วยสำเร็จราชการ สร้างขนบจารีต ระเบียบราชประเพณี
และวางรากฐานแห่งราชวงศ์โจว
พระราชโอรสของกษัตริยราชอู่แล้ว แผ่นดินก็สันติสุขและเจริญรุ่งเรือง
หากกล่าวว่า ใจคนเจ้าเล่ห์เหี้ยมเกรียมมากขึ้น ไม่สุจริตและสมถะอย่างแต่ก่อน
แต่พอถึงทุกวันนี้ คนเราน่าจะกลายเป็นมารร้ายกันหมดแล้ว
ยังจะอบรมกล่อมเกลากันได้อีกหรือ
เจิ้งกวนเติ้งเย่า ของ “อู๋จิง” รจนาว่า เฟิงเต๋ออี๋และขุนนางอื่นๆ ยังเห็นว่า ความเชื่อของเว่ยเจิงไม่มีทางจะปรากฏเป็นจริง
ถึงพวกเขาไม่อาจยกเหตุผลขึ้นมาโต้แย้งก็ตาม
แต่ถางไท่จงฮ่องเต้กลับทรงปฏิบัติตามความคิดของเว่ยเจิงอย่างเสมอต้นเสมอปลาย
ไม่ย่อท้อ
ปรากฏว่า ใช้เวลาแค่ไม่กี่ปีราชอาณาจักรก็สงบร่มเย็น ชาติบ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง
พวกถูเจวี๋ยก็ถูกปราบปรามราบคาบ
แนวทางของ “เว่ยเจิง” จึงเป็นแนวทางที่ประสาน “การศึกษา” เข้ากับสภาพการดำรงอยู่ในทาง “เศรษฐกิจ”
เอา “การศึกษา” มาเป็น “รากฐาน”
สร้าง “ความมั่นคง” ในทางความคิด และในทางการเมือง กลายเป็นรากฐานให้กับการแก้ปัญหาในทาง “เศรษฐกิจ”
ดำเนินไปอย่างสัมพันธ์ระหว่าง 3 ขั้วในทางความคิด
ยอมรับในการดำรงอยู่อย่างเป็นรากฐานของ “เศรษฐกิจ” มองเห็นความเป็นจริงที่เศรษฐกิจเป็นเงาสะท้อนให้ “การเมือง”
และมีส่วนในการเสริมสาน “วัฒนธรรม” การศึกษา