ภาพเก่าเล่าตำนาน : สิบโทโทน บินดี นายสิบนักบินคนแรกของสยาม (1) โดยพลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

 

 

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2453 ชาวเบลเยียมขับเครื่องบินแบบอ็องรีฟาร์มัง มาลงที่สนามราชกรีฑาสโมสร หรือสนามม้าสระปทุมเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สยาม ต่อมาในหลวง ร.6 โปรดเกล้าฯ ให้คัดเลือกนายทหารบก 3 นาย คือ พันตรีหลวงศักดิ์ศัลยาวุธ ร้อยเอกหลวงอาวุธสิขิกร และ ร้อยโททิพย์ เกตุทัต ไปเรียนวิชาการบินในประเทศฝรั่งเศส นายทหารบกทั้ง 3 ท่านนี้ออกเดินทางใน 18 มกราคม พ.ศ.2454 และในเวลาเดียวกันกระทรวงกลาโหมก็สั่งซื้อเครื่องบินแบบนิเออปอร์ต (Nieuport) ปีกชั้นเดียว 4 เครื่อง เครื่องแบบเบร์เกต์ (Brequet) ปีก 2 ชั้น 3 เครื่อง รวม 7 เครื่อง และเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) บริจาคเงินซื้ออีก 1 เครื่อง รวมเป็น 8 เครื่อง เมื่อสำเร็จการฝึกจากโรงเรียนการบินของฝรั่งเศส นายทหารนักบินทั้ง 3 กลับมาถึงกรุงเทพฯ

13 มกราคม 2456 ในหลวง ร.6 เสด็จไปที่สนามบินในสนามม้าสระปทุม โปรดเกล้าฯ ให้นักบิน 3 ท่านนี้บินถวายตัวโดยใช้เครื่องบินที่กลาโหมสั่งซื้อมา อันเป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่งนักกลาโหมออกคำสั่งให้ย้ายสนามบินออกไปอยู่ทุ่งดอนเมือง ต่อมา 8 มีนาคม 2457 การก่อสร้างอาคารโรงบินเสร็จ นักบินทั้ง 3 ท่านขับเครื่องบินจากสนามม้าสระปทุมไปลงที่ดอนเมือง และ 27 มีนาคม 2457 กลาโหมมีคำสั่งจัดตั้ง “กองบินทหารบก”

Advertisement

กองบินทหารบกเริ่มภารกิจฝึกนักบิน โดยรุ่นแรกคัดเลือกมาจากหน่วยทหารในกองทัพบก เพื่อเข้าฝึกบินชั้นประถม มีนายทหารที่ผ่านการทดสอบ 8 นาย คือ ร.ท.เจริญ, ร.ต.เหม ยศธร, ร.ต.นพ เพ็ญกูล, ร.ต.ปลื้ม สุคนธสาร, ร.ต.สวาสดิ์, ร.ต.หนอม, ร.ต.ปิ่น มหาสมิติ และ ร.ต.จ่าง นิตินันท์ หากแต่มีนายทหารที่สำเร็จการศึกษาเพียง 5 นาย

กองบินทหารบกยังขอโอนพลทหารจำนวน 62 นาย ที่มีความรู้ ประสบการณ์งานช่างจากกองพลทหารบกที่ 1 และกองพลทหารบกที่ 2 เพื่อมาเป็นช่างเครื่องบินในขั้นตอนตั้งหน่วยใหม่

ภาพ 2 น.7 จัน 19 ธค.

Advertisement

ย้อนไปปลายปี พ.ศ.2454 นายโทน ใยบัวเทศ ชาวนนทบุรี สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายสิบทหารบก เป็นสิบตรี เงินเดือน 30 บาท เกิดนึกเบื่องานประจำ ประสงค์จะมีวิชาชีพติดตัวไปทำมาหากิน ต้องการไปหาความรู้ในกรมอากาศยาน ใฝ่ฝันอยากทำงานเกี่ยวกับเหล็ก เพื่อจะกลับไปตีเหล็กทำมีดขายตอนเกษียณราชการ

สิบตรีโทนรวบรวมความกล้าพร้อมเพื่อนอีก 3 คน ชักชวนกันไปกราบพระยาเฉลิมอากาศ เพื่อขอย้ายไปเป็นช่างที่กรมอากาศยาน ที่สระปทุม (สนามม้าสระปทุม)

เจ้ากรมอากาศยานเมตตารับฟังนายสิบชั้นผู้น้อยด้วยความเมตตา แต่ลังเลใจพอสมควร เพราะทหารบกทั้ง 4 คน ไม่เคยมีพื้นฐานงานทางช่างมาก่อน กรมอากาศยานจะรับเฉพาะคนที่ผ่านงานช่างไม้ ช่างเหล็ก ช่างเครื่องยนต์ มาก่อนเท่านั้น ประการสำคัญจะมีเบี้ยเลี้ยงเพียงเดือนละ 7 บาท 50 สตางค์เท่านั้น

นายสิบตรีทหารราบทั้ง 4 คน ตกตะลึงกับจำนวนเบี้ยเลี้ยงที่ลดลงเมื่อเทียบกับเบี้ยเลี้ยงที่หน่วยเดิม 3 คนกราบลาเจ้ากรมอากาศยาน

เหมือนชะตาฟ้าลิขิต สิบตรีโทนกัดฟันตอบรับ ตกลงกับท่านเจ้ากรม ขอย้ายมาทำงานกรมอากาศยานแต่ผู้เดียว

ภาพ น.7 จัน 19 ธค.

สิบตรีโทนย้ายเข้าไปกรมอากาศยาน ในขณะที่กลาโหมเพิ่งออกคำสั่งให้เคลื่อนย้ายกรมอากาศยานออกไปอยู่แถวดอนเมืองพอดี งานหลักที่หมู่โทนต้องทำคือคุมทหารปรับพื้นที่ท้องนา และทำรั้วทุ่งดอนเมือง ที่จะเป็นสนามบินแห่งแรกของสยาม

นายสิบชาวนนทบุรีคนนี้ทำงานกลางแจ้งอยู่ 6 เดือน คุมพลทหารทำรั้วสนามบิน ไปผูกปิ่นโตกับร้านข้าวแกงเดือนละ 7 บาท เหลือเงินไว้ซื้อใบจากและยาตั้งเดือนละ 50 สตางค์ อดทนกับความยากลำบากทั้งปวงโดยไม่ปริปาก และไม่เคยติดต่อกับพ่อแม่ ตั้งใจเด็ดเดี่ยวว่าจะกลับไปกราบบุพการีเมื่อลืมตาอ้าปากได้เท่านั้น

สวรรค์มีตา นับเป็นโชคดีของสิบตรีโทน เจ้าคุณเฉลิมอากาศเป็นผู้บังคับบัญชาที่มีคุณธรรม เห็นความดีงาม ความซื่อสัตย์ของสิบตรีโทน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง จึงเมตตาให้สิบตรีโทนเข้าเรียนเป็นช่างเครื่องบิน พร้อมกับนายทหารสัญญาบัตร โดยมีพันตรีทะยานพิฆาต และพันโทพระยาเวหาสยานศิลปะสิทธิ์ เป็นครูประจำหลักสูตร

ความฝันที่จะมีความรู้ติดตัวออกไปเป็นช่างตีเหล็กของผู้หมู่โทน เริ่มใกล้ความจริงแล้ว และได้รับการเลื่อนยศเป็นสิบโท

กรมพระกำแพงเพ็ชรฯ เจ้าคุณเฉลิมฯ เจ้าคุณเวหาสฯ และเจ้าคุณทะยานฯ มาเป็นคณะกรรมการสอบไล่เมื่อกำลังพลจบหลักสูตรช่างเครื่องบินนาน 6 เดือน ปรากฏว่าสิบโทโทน สอบไล่ได้เป็นลำดับที่ 2 ในขณะที่นายทหารอีกหลายนายถูกลงโทษ

เจ้าคุณเฉลิมอากาศฯปรับเงินเดือนของสิบโทโทนขึ้นมาเป็น 5 ตำลึงเกือบเท่ากับเงินเดือนตอนเป็นสิบโททหารราบ

สิบโทโทนมุ่งมั่นทำงานช่างเครื่องบินด้วยความรัก ต่อมากระทรวงกลาโหมออกคำสั่งให้นายทหารสัญญาบัตรที่เรียนจบหลักสูตรช่างเครื่องบิน 5 นายคือ ร.ท.นพ เพ็ญกุล, ร.ท.ปลื้ม คชสาร, ร.ต.จ่าง
นิตินนท์, ร.ท.เหม ยศธร และ ร.ต.ปิ่น มหาสมิติ เข้าไปเรียนในโรงเรียนการบิน เจ้าคุณเฉลิมอากาศท่านมีเมตตาให้โอกาสนายสิบที่มีคะแนนการศึกษาดีเยี่ยมคือสิบโทโทนเข้าร่วมฝึกเป็นนักบินในหลักสูตรนี้ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ปกติที่นายสิบจะมาเรียนร่วมกับนายทหารสัญญาบัตร

กองบินทหารบกใช้เครื่องบินฝึกเพียง 2 ลำ คือ แบบเบร์เกต์ (Brequet) 50 แรงม้า และเครื่องแบบนิเออปอร์ต (Nieuport) ปีกชั้นเดียว อีก 1 เครื่องผลัดกันขึ้นบิน ศิษย์การบินทั้ง 6 นาย ช่วยกันเติมน้ำมัน เช็ดคราบน้ำมัน บินไปซ่อมไป ในการฝึกช่วงแรกครูจะให้นักบินฝึกบังคับเครื่องบินวิ่งไป-กลับบนทางวิ่งเท่านั้น เจ้าคุณทะยานพิฆาตจะตรวจสอบว่า ถ้าใครเร่งเครื่องเต็มที่ให้หางขนานกับพื้นดินได้อย่างนุ่มนวล ราบรื่นจึงจะอนุญาตให้บินขึ้นสู่อากาศ

ทุกครั้งที่จะอนุญาตให้ศิษย์การบินคนใดนำเครื่องบินขึ้นสู่อากาศได้ จะเป็นความตื่นเต้นของกำลังพลและครอบครัวที่จะต้องมาคอยดูกันแน่น สิบโทโทนบันทึกปูมชีวิตด้วยความน้อยใจว่า ตัวเองเป็นนายสิบเลยไม่ค่อยมีโอกาสได้ฝึกบินตามตาราง เพราะเกรงใจนายทหารสัญญาบัตรอีก 5 นายที่ฝึกอยู่ด้วยกัน

เช้าวันหนึ่ง เจ้าคุณทะยานพิฆาตขอนำเครื่องนิเออปอร์ตขึ้นบินเองเพื่อทดสอบ เมื่อบินลงมาแล้วท่านสั่งให้สิบโทโทนขึ้นบินทดสอบฝีมือ โดยสั่งให้บินขึ้นสูง 200 เมตร เลี้ยวซ้ายและนำเครื่องลง ผลปรากฏว่าสิบโทโทนบินตามสั่งได้อย่างนุ่มนวล และท่านออกปากต่อหน้ากำลังพลทุกคนที่ยืนดูว่าโทนบินได้ดีราวกับนักบินที่บินมาแล้ว 100 ชั่วโมง

เจ้าคุณเฉลิมอากาศถอดเครื่องหมายปีกนกจากอินธนูของท่านส่งให้สิบโทโทน “หวังว่าโทนคงเป็นนักบินที่ดีคนหนึ่งของกองทัพ ฉันหวังเป็นอย่างมากว่า เอ็งจะเป็นผู้นำนายสิบทั้งหลายในเรื่องการบิน”
เจ้าคุณกล่าวให้พรอันเป็นมงคลชีวิตแก่สิบโทโทน

การกล่าวชมฝีมือการบินของสิบโทโทนของเจ้าคุณ ต่อหน้ากำลังพลทั้งหลาย เป็นนัยแอบแฝง เพื่อส่งสัญญาณให้ทุกคนทราบว่า เรื่องฝีมือการบินนั้น นายสิบก็บินได้ถ้ามีความตั้งใจฝึกฝน อดทนและไม่กลัวตาย (ในขณะนั้นมีกระแสความไม่พอใจที่ให้นายสิบมาเรียนบินพร้อมกับนายทหารสัญญาบัตร : ผู้เขียน )

สิบโทโทนเจียมเนื้อเจียมตัว จนผ่านการฝึกทั้งภาคอากาศและภาคพื้นดิน ในที่สุด กลาโหมอนุมัติให้เข้าเป็นศิษย์การบินมัธยมหมายเลข 6 ได้เครื่องหมายปีกนกติดอินธนู ได้เงินเพิ่มอีกเดือนละ 20 บาท รวมเป็นเงินเดือนทั้งสิ้น 40 บาท

สิบโทโทนพร้อมที่จะกลับบ้านไปกราบพ่อแม่ ตามที่สัญญาไว้กับตัวเอง หายจากบ้านไป 2 ปี เด็กหนุ่มคนนี้กลายเป็นศิษย์การบินของกองทัพไปแล้ว ญาติพี่น้องปลื้มใจสุดขีดแต่ก็แฝงด้วยความห่วงใย

โทนกลับไปฝึกบินต่อ โดยต้องทดสอบการบินเป็นรูปสามเหลี่ยม จากดอนเมืองไปนครปฐม แล้วบินต่อไปอยุธยา และบินกลับดอนเมือง ในระยะความสูง 800 เมตร โดยมีเครื่องวัดความสูงแขวนคอไปด้วย สิบโทโทนสำเร็จการศึกษาบรรจุเป็นนักบินกองทัพบก

ผู้เขียนต้องกราบขอโทษท่านผู้อ่านที่จะต้องเปิดเผยวีรกรรมของสิบโทโทน ใยบัวเทศ ในตอนต่อไป ซึ่งบุคคลผู้นี้เป็นเสืออากาศที่ไปสำแดงฝีมือในฝรั่งเศส ที่คนไทยควรรู้จักอย่างยิ่งครับ

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ขอบคุณข้อมูลและภาพจากหนังสือ 4 แผ่นดินราชวงศ์จักรี 100 ปี การบินของบุพการีทหารอากาศ และหนังสือ โทน บินดี ของสมบูรณ์ วิริยศิริ

aislogo

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image