ผู้เขียน | ลลิตา หาญวงษ์ |
---|
ไทยพบพม่า : จีนได้ประโยชน์อะไรจากรัฐบาลทหาร
จีนเป็นชาติมหาอำนาจที่วางเกมการต่างประเทศของตนอย่างระมัดระวัง แต่ในขณะเดียวกันนโยบายทุกอย่างก็ล้อตามปรัชญาว่าด้วยจีนเดียว และการแผ่อิทธิพลของจีนในทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยเฉพาะในยุคประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่จีนเร่งกระชับพื้นที่อิทธิพลของตนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และมีนโยบายแข็งกร้าวกับชาติตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ
ต้องยอมรับว่าไม่ว่าจะย่างก้าวไปที่ไหน จีนมียุทธศาสตร์ และมีชั้นเชิงของตนเอง หลายประเทศที่จีนเข้าไปลงทุน และปล่อยกู้จนทำให้รัฐบาลหลายประเทศเป็นหนี้จีนหัวโต จากสถิติปี 2021 มี 98 ประเทศทั่วโลกที่เป็นหนี้เงินกู้ของจีน แต่ที่มากที่สุด 5 อันดับ ล้วนอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้และแอฟริกาตะวันออก อันเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์หลักของจีนในแผนการสร้างเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ทั้งสิ้น ปากีสถานเป็นหนี้จีน 2.74 หมื่นล้านเหรียญ (9.21 แสนล้านบาท) รองลงมาคือ แองโกลา เอธิโอเปีย เคนยา และศรีลังกา ที่ 2.2 หมื่นล้าน 7.4 พันล้าน 7.4 พันล้าน และ 7.2 พันล้านเหรียญ ตามลำดับ ข้อสังเกตของประเทศที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของจีนล้วนมีรัฐบาลแบบเผด็จการ หรือกึ่งเผด็จการทั้งสิ้น
ข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง คือเหตุใดจีนต้องรุกคืบเข้าไปทั้งในเอเชียใต้และแอฟริกา ทั้งๆ ที่พื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้น่าจะเป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ที่ให้ประโยชน์กับจีนได้มากกว่า คำตอบนี้มีอยู่ 2 มุม ในมุมแรก จีนมุ่งมั่นหาตลาดใหม่ๆ และเล็งเห็นศักยภาพของแอฟริกาที่มีทั้งทรัพยากรและประชากรวัยทำงานมหาศาล อีกทั้งธรรมชาติของการเมืองในแอฟริกามักมีผู้นำที่ปกครองแบบอำนาจนิยม เน้นการรักษาผลประโยชน์ของตนและพวกพ้อง จึงทำให้ประเทศกลุ่มนี้ “คุยง่าย”
สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียน ทัศนคติของประชาชนในแถบนี้ที่มีต่อจีนไม่ค่อยดีนัก เพราะแม้จีนจะมีเม็ดเงินลงทุนมหาศาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ก็มีประเด็นด้านความมั่นคงและข้อพิพาทด้านดินแดนกับหลายประเทศ ไล่มาจากเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ไปจนถึงบรูไน จะมีเพียงประเทศอย่างไทย ลาว หรือกัมพูชาเท่านั้นที่ดูจะอ้าแขนรับจีนเข้ามาเป็นมหามิตร
แล้วในกรณีของพม่าล่ะ จีนอยู่ตรงไหนในนโยบายต่างประเทศของพม่า ในยุคที่คณะรัฐประหารครองอำนาจ? เมื่อรัฐบาลพรรค NLD เข้ามาในปี 2016 หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับพม่าจะดีขึ้น เพราะกองทัพพม่ามักไม่ไว้ใจจีน และเกรงว่าจีนจะเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของตน เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ความระมัดระวังตัวนี้เห็นได้ชัดเจนเมื่อจีนเข้าไปลงทุนสร้างเขื่อนมยิตโซน เขื่อนพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ทางตอนเหนือของพม่า แต่ในที่สุดรัฐบาลในยุคประธานาธิบดีเต็ง เส่งก็ประกาศแขวนโครงการนี้ในปี 2011 โดยอ้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนตามแนวแม่น้ำหลายสาย รวมทั้งแม่น้ำอิรวดีที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของพม่าด้วย
การตัดสินใจของรัฐบาลเต็ง เส่งในครั้งนั้นได้รับการตอบรับอย่างดีจากองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก แม้แต่สหภาพยุโรปและรัฐบาลสหรัฐอเมริกายังเอ่ยปากชมพม่าที่กล้าแขวนโครงการขนาดใหญ่ของจีน ดราม่าเรื่องเขื่อนมยิตโซนในครั้งนั้นสะเทือนความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับจีนไม่น้อย แต่ด้วยพม่าเป็นประเทศสำคัญ อีกทั้งมีชายแดนติดกับจีนยาวถึง 2,129 กิโลเมตร ทำให้นโยบายใดๆ ที่จีนมีต่อพม่าต้องผ่านการคิดกลั่นกรองมาอย่างดี
จนถึงตอนนี้ รัฐบาลปักกิ่งยังไม่เลิกหวังว่าพม่าจะกลับมาอนุญาตให้จีนสร้างเขื่อนมยิตโซนต่อ จีนพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์กับพม่าอย่างก้าวกระโดดในยุครัฐบาล NLD ระหว่างปี 2016-2021 แต่จนแล้วจนรอด ด้วยเสียงคัดค้านอย่างหนักทั้งจากคนในรัฐบาล เอ็นจีโอ องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ ทำให้โอกาสที่จีนจะกลับเข้าไปก่อสร้างเขื่อนมยิตโซนแทบเป็นศูนย์ ถึงกระนั้น จีนก็ยังเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในพม่าอยู่ดี ในปี 2018 จีนลงทุนในพม่ามากถึง 1.5 หมื่นล้านเหรียญ (5 แสนล้านบาท) และมีโครงการมากถึง 126 โครงการ
นอกจากนี้ จีนพยายามแสดงให้รัฐบาล NLD เห็นว่าตนเป็นมหามิตรที่พร้อมจะช่วยพม่าทุกเมื่อ โดยเฉพาะในเวทีระดับโลก เช่น สภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ช่วงที่พม่าโดนโจมตีอย่างหนักจากกรณีโรฮีนจา ในยุครัฐบาล NLD จึงไม่น่าแปลกว่าในยุคนี้ NLD จะมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับจีนมากขึ้น ถึงขนาดที่ NLD ลงทุนเขียนนโยบายด้านพลังงานน้ำขึ้นมาใหม่ อีกทั้งยังสนิทสนมกับ National Energy Administration และ China Renewable Energy Engineering Institute ทั้งสองหน่วยงานเป็นองค์กรมันสมองที่เชี่ยวชาญด้านพลังงานภายใต้การกำกับของรัฐบาลจีน
ในเดือนกรกฎาคม 2022 หวัง ยี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน เป็นผู้นำจีนคนแรกที่เยือนพม่าอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารในต้นปี 2021 และส่งสัญญาณชัดเจนว่าจีนไม่ได้สนใจว่าพม่าจะปกครองด้วยรัฐบาลพลเรือน หรือรัฐบาลทหาร ขอแค่เพียงการเมืองพม่ามีเสถียรภาพ ก่อนการเยือนพม่าอย่างเป็นทางการ หวัง ยี่เคยพบวุนนะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของคณะรัฐประหารพม่าที่ปักกิ่งมาแล้ว อีกทั้งซุน กัวเซียง (Sun Guoxiang) ทูตพิเศษของจีนก็เคยเยือนมาพม่าแล้วเช่นกัน
ล่าสุด ฉิน กัง (Qin Gang) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ของจีนก็เยือนพม่าอย่างเป็นทางการ และได้เข้าพบพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย เป็นครั้งแรกที่ผู้นำคณะรัฐประหารอนุญาตให้ผู้นำระดับสูงของจีนเข้าพบหลังเกิดรัฐประหาร ในการเยือนพม่าครั้งนี้ จีนพยายามเน้นคำว่า “การสร้างความสัมพันธ์ฉันเพื่อน” (friendship) กับพม่า และยังประกาศชัดว่าประชาคมโลกเองต้องเคารพอำนาจอธิปไตยของพม่า และสนับสนุนแนวทางของพม่าที่จะนำไปสู่การเจรจาสันติภาพและการปรองดองในอนาคต
ก่อนหน้านี้ ท่าทีของจีนดูจะเบลอๆ และยังเคยมีผู้วิเคราะห์ว่าคณะรัฐประหารพม่าไม่ต้องการผูกมิตรกับจีน แต่ถึงตอนนี้ยิ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลปักกิ่งต้องการเป็นเพื่อนกับคณะรัฐประหารมากกว่าที่เคย ด้วยสงครามกลางเมืองพม่าที่ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น จีนกลายเป็นผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ที่สุดให้ทั้งกองทัพและฝ่ายต่อต้านในพม่า มาคราวนี้ จีนจึงหยอดคำหวานหว่านล้อมพม่าเต็มที่ว่าตนต้องการร่วมมือกับพม่ามากขึ้น และอยากเห็นพม่ากลับเข้าสู่ความสงบสุขอีกครั้ง โดยที่จีนอาจเป็นคนกลางและคอยส่งเสริมกระบวนการสันติภาพในพม่า
การมาเยือนพม่าของฉิน กังในครั้งนี้น่าสนใจเป็นพิเศษ นอกจากเขาจะได้พบมิน อ่อง ลายแล้ว ยังได้เข้าพบพลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย อดีตผู้นำเผด็จการที่ปกครองพม่ามายาวนานกว่า 20 ปี ยุทธศาสตร์ของจีนในครั้งนี้ไม่ “เบลอ” อีกต่อไปแล้ว ชัดเจนว่าจีนต้องการค้าขายกับพม่าต่อไป เพราะยังไงก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพม่ามีมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมาก ความเจริญของพม่าเท่ากับเป็นการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนตอนใต้ไปด้วยในตัว อีกทั้งจีนยังได้ประโยชน์จากการค้าอาวุธ และการค้าขายในตลาดมืดที่ผุดขึ้นมาในยุคหลังรัฐประหาร ท่าทีของจีนต่อพม่าหลังจากนี้มีแต่จะชัดเจนขึ้น และเราจะเห็นผู้นำระดับสูงของจีนไปเยือนพม่าถี่ขึ้นอย่างแน่นอน