บทความ : สันติภาพและแรงจูงใจของผู้นำ ออง ซาน ซูจี-โดนัลด์ ทรัมป์ โดย ปรีชาญาณ วงศ์อรุณ

การได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1991 มีส่วนสำคัญที่ทำให้ ออง ซาน ซูจี และกลุ่มผู้สนับสนุนเกิดพลังเพิ่มขึ้นในการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการทหาร หลังจากที่ “เดอะเลดี้” กลายเป็นผู้นำในการเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศเมียนมา (หรือพม่าในชื่อเดิมที่คนไทยคุ้นเคยมากกว่า) นับตั้งแต่ปี 1988 ก่อนที่จะถูกกองทัพพม่าจับกุมและถูกกักบริเวณในปีต่อมา ต่อเนื่องจนถึงปี 2010

การตัดสินใจมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพซึ่งถือเป็นรางวัลที่ทรงเกียรติทรงคุณค่ามากที่สุดในโลกให้แก่ออง ซาน ซูจี หลังจากก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำมวลชนในการเรียกร้องประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนได้เพียง 3 ปี คือการรับรองว่า ประชาคมโลกจะเลือกยืนข้าง “กล้วยไม้เหล็ก” ในการต่อสู้ต่อกรกับ “ปืนเหล็ก” ของระบบทหารพม่า จนกระทั่งประสบความสำเร็จในปี 2016 เมื่อกองทัพพม่ายินยอมให้มีรัฐบาลพลเรือนเป็นครั้งแรกในรอบ 54 ปี

ออง ซาน ซูจี เคยกล่าวยอมรับว่า เมื่อตัดสินใจเข้าร่วมและรับอาสาเป็นผู้นำในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในปี 1988 นั้น ในใจไม่ได้คาดหวังในเรื่องรางวัลเกียรติยศใดๆ ไม่ได้คาดคิดว่าจะต้องถูกกักบริเวณจนโดดเดี่ยวจากโลกภายนอกเป็นระยะๆ รวมกันแล้วไม่ต่ำกว่า 15 ปี จนถูกขนานนามว่าเป็น “เนลสัน แมนเดลา แห่งเอเชีย” และย่อมไม่คาดการณ์ว่าการต่อสู้จะใช้เวลายาวนานถึง 27 ปี จนกระทั่งฝันเป็นจริง เมื่อกองทัพยอมปล่อยมือ (ส่วนหนึ่ง) ให้พรรคการเมืองสามารถจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนบริหารประเทศได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ยึดกุมอำนาจปกครองประเทศอย่างเบ็ดเสร็จในปี 1962

ถึงแม้จะถูกจำกัดด้วยข้อห้ามทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ (เพราะมีสามีและลูกชายสองคนเป็นชาวต่างชาติ) ไม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีได้อย่างที่วาดหวัง (เหมือนเช่นเนลสัน แมนเดลา ที่เคยสร้างประวัติศาสตร์เป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของประเทศแอฟริกาใต้เมื่อปี 1994)

Advertisement

แต่เป็นที่รับรู้กันว่าในทางปฏิบัติแล้ว ออง ซาน ซูจีคือผู้นำตัวจริงของรัฐบาลแห่งประวัติศาสตร์ชุดนี้

ออง ซาน ซูจี ได้ประกาศท่าทีอย่างชัดเจนตั้งแต่ตอนต้นปี (ก่อนการจัดตั้งรัฐบาล) ว่าภารกิจสำคัญที่สุดหรือเป้าหมายลำดับแรกสุดที่จะต้องดำเนินการก็คือการสร้างสันติภาพระหว่างชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ เพื่อยุติปัญหาการสู้รบที่ยืดเยื้อมานานหลายทศวรรษ ไม่แตกต่างจากเนลสัน แมนเดลา ที่มีเป้าหมายแรกสุดก็คือการสร้างความสมานฉันท์ภายในชาติ แต่ออง ซาน ซูจี ต้องเผชิญกับปัญหาและความท้าทายสำคัญสองประการ ดังนี้

หนึ่ง ปัญหาความเป็นจริงทางการเมือง ถึงแม้จะได้ชื่อว่าเป็นผู้นำตัวจริงในทางปฏิบัติและเป็นผู้มีอำนาจเต็มในการตัดสินใจทุกๆ อย่างในนามของรัฐบาล แต่ต้องยอมรับว่า “กล้วยไม้เหล็ก” คนนี้ไม่ได้มี “ไม้วิเศษ” หรืออำนาจเด็ดขาด ที่อยากจะทำอะไรได้ตามใจปรารถนา ต้องไม่ลืมว่า พม่ากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากอำนาจเด็ดขาดของกองทัพทหารที่มีมาอย่างต่อเนื่องกว่าห้าทศวรรษ การเปลี่ยนแปลงใดๆ นั้นจึงย่อมไม่สามารถคาดหวังว่าจะทำได้เต็มร้อยหรือเกิดขึ้นทันที (เพราะกองทัพยังมีอำนาจอย่างเหลือคณา) นี่คือความเป็นจริงที่สามารถเกิดขึ้นในทุกๆ ประเทศที่มีเงื่อนไขคล้ายๆ กัน ในยุคสมัยของเนลสัน แมนเดลา เองก็ยังต้องยินยอม (ฝืนใจ) ร่วมมือและมอบอำนาจให้กับคนผิวขาว เพื่อทำให้แอฟริกาใต้ยุคใหม่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (จากยุคเหยียดผิวไปสู่สังคมสายรุ้ง) ค่อยๆ ก้าวเดินโดยไม่ต้องเจอกับอุปสรรคขัดขวาง

Advertisement

สอง ปัญหาด้านแรงจูงใจ โดยข้อเท็จจริงแล้วผู้หญิงที่มีอำนาจมากที่สุดในพม่าคนนี้เคยได้รับรางวัลเกียรติยศที่สำคัญๆ ระดับโลกมาจนเรียกว่าครบถ้วนหมดแล้ว นับตั้งแต่รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ (ปี 1991) ที่ทรงคุณค่าที่สุด รวมถึงรางวัล Sakharov Prize for Freedom of Thought (1990) รางวัล Thorolf Rafto Memorial Prize (1990) รางวัล International Simo´n Bolivar Prize (1992) รางวัล Jawaharlal Nehru Award for International Understanding (1993) รางวัล Presidential Medal of Freedom (2000) รางวัล Freedom of the City of Dublin (1999) รางวัล MTV Europe Music Free Your Mind Award (2003) รางวัล Olof Palme Prize (2005) รางวัล Wallenberg Medal (2011) และรางวัล Bhagwan Mahavir World Peace (2012) ขณะเดียวกันในปี 2008 ออง ซาน ซูจี ก็สร้างประวัติศาสตร์เป็นคนแรกที่ได้รับรางวัล Congressional Gold Medal (2008) ซึ่งถือเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดของประเทศ ในขณะถูกกักบริเวณภายในบ้านพักหรืออีกความหมายหนึ่งก็คือระหว่างถูกจองจำ

เพราะฉะนั้นแล้ว ไม่ว่าจะพิจารณาทั้งในฐานะมนุษย์คนหนึ่งหรือในฐานะผู้นำคนหนึ่ง ไม่อาจรู้ได้ว่า ออง ซาน ซูจี ในวันนี้ยังจะมีแรงจูงใจใดๆ มากน้อยสักแค่ไหน หรือยังมีรางวัลแห่งเกียรติยศใดๆ หลงเหลือให้ออง ซาน ได้ปรารถนาไขว่คว้าอีก หากสามารถผลักดันจนเกิดสันติภาพขึ้นภายในประเทศ มีแต่ท่านผู้นำสตรีเหล็กแห่งเอเชียคนนี้คนเดียวเท่านั้นที่ตอบได้

ภายใต้เงื่อนไข “ถ้า” นั่นคือ ถ้าในวันนี้ ออง ซาน ซูจี ยังไม่เคยได้รับรางวัลโนเบลมาก่อน หรือถ้าค้นพบแรงจูงใจครั้งใหญ่และยังมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะแก้ปัญหาใหญ่ของประเทศ ทั้งปัญหาการสู้รบกับชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ และปัญหาโรฮีนจา บางที สันติภาพภายในประเทศก็ย่อมเป็นสิ่งที่สามารถคาดหวังให้เกิดขึ้นได้ แม้จะต้องใช้เวลานานสักแค่ไหนก็ตาม

แต่ในความเป็นไปได้หนึ่ง บางทีความฝันสูงสุดของออง ซาน ซูจี ในวันที่ใกล้จะครบรอบ 70 ปีที่บิดาถูกลอบสังหารเมื่อเดือนกรกฎาคม 1947 ก็คือการสานฝันของออง ซาน ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งประวัติศาสตร์พม่ายุคใหม่ ผู้ผลักดันแนวคิดสหภาพพม่าและให้อำนาจอิสระในการปกครองตนเองแก่ชนกลุ่มน้อยต่างๆ รวมทั้งให้ความหวังแก่ชาวโรฮีนจาด้วย การเลือกปางหลวงเป็นสถานที่จัดประชุมระหว่างรัฐบาลและชนกลุ่มน้อยต่างๆ ร่วม 20 กลุ่มเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานั้น ถือเป็นก้าวแรกที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ในการสานต่อเจตนารมณ์ของบิดา เพราะปางหลวงคือสถานที่ที่ออง ซาน ประชุมและบรรลุข้อตกลงกับชนกลุ่มน้อยกลุ่มหลักๆ เมื่อช่วงต้นปี 1947

ในการคิดคำนวณชั่งน้ำหนักความสำคัญก่อนหลังอย่างถี่ถ้วนบนพื้นฐานความเป็นจริงที่สุด ออง ซาน ซูจีตระหนักดีเป็นที่สุดว่า ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาต่างๆ ภายในประเทศได้หากไม่มีอำนาจทางการเมือง นี่คือความจำเป็นขั้นต้นสุด เมื่อสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว ออง ซาน ซูจี มีความจำเป็นต้องยอมประนีประนอมและยอมรับอำนาจของกองทัพที่ปกครองประเทศมายาวนานเกินห้าศตวรรษ (เหมือนที่เนลสัน แมนเดลา ยอมรับอำนาจและการดำรงอยู่ของชาวผิวขาวในแอฟริกาใต้) หลีกเลี่ยงไม่กระทำการใดๆ ในลักษณะ “หักพร้าด้วยเข่า” เพราะอาจจะทำให้เสียการใหญ่ในภายภาคหน้าได้

ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน (จากระบบเผด็จการทหารไปสู่ระบบประชาธิปไตย) นี้ ออง ซาน ซูจี เชื่อมั่นว่าการเจรจาเพื่อให้บรรลุข้อตกลงสันติภาพกับชนกลุ่มน้อยต่างๆ และสร้างความสมานฉันท์ภายในชาติ จะเป็นบันไดขั้นแรกที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอื่นๆ และการพัฒนาประเทศในระยะยาวเป็นลำดับต่อไป โดยเฉพาะปัญหาชาวโรฮีนจา เรียกว่าต้องยอมอดเปรี้ยวไว้กินหวาน มิฉะนั้นแล้วความฝันและเป้าหมายต่างๆ ก็จะล้มเหลวไปทั้งหมด

บางทีเมื่อถึงวันที่เงื่อนไขสุกงอม โอกาสเอื้ออำนวยหรือมีอำนาจเต็มอยู่ในมือ (จนสามารถทัดทานกองทัพไม่ให้เปิดศึกทำสงครามสู้รบกับชนกลุ่มน้อยต่างๆ หรือดำเนินการแก้ปัญหาชาวโรฮีนจาด้วยวิธีการที่รุนแรง) เราอาจจะเห็นคนแก่ในวัย 71 ปีคนนี้พร้อมจะทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อสานฝันของบิดาในการยุติปัญหาความขัดแย้งและผลักดันให้เกิดสันติภาพและความสงบภายในประเทศให้จนได้

เหมือนเช่นกรณีสองผู้นำในวัย 70 กว่าปี อย่างอดีตนายกรัฐมนตรีคอนราด อเดเนาว์ แห่งเยอรมนีตะวันตก และอดีตประธานาธิบดีชาร์ลส เดอโกลล์ แห่งฝรั่งเศส ที่ร่วมกันผลักดันในทุกวิถีทางเพื่อทำให้เกิดความสมานฉันท์ระหว่างคนสองชาติจนเจริญงอกงามมาถึงทุกวันนี้

ในขณะเดียวกัน ความสำเร็จของ ประธานาธิบดีฮวน มานูเอล ซานโตส ที่เพิ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพคนล่าสุดประจำปีนี้ถือว่าเป็นกรณีศึกษาที่เป็นประโยชน์ไม่น้อยในการเข้าใจความจำเป็นของออง ซาน ซูจี ผู้นำโคลอมเบียที่ผ่านการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดคนนี้ (เคย) ได้ชื่อว่ามีความคิดเป็น “สายเหยี่ยว” หัวรุนแรงมาก่อน เพราะดำเนินนโยบายอย่างแข็งกร้าวในสมัยที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม (ช่วงปี 2006-2009) ด้วยการใช้อาวุธหนักทุกรูปแบบในการปราบปรามกลุ่มกองโจร FARC ที่ต่อสู้และเป็นภัยของทุกรัฐบาลมานานกว่าห้าทศวรรษจนเสียหายยับเยิน

แต่เมื่อก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของประเทศในปี 2010 จนถึงปัจจุบันนี้ ว่ากันว่าแรงจูงใจสำคัญ (บวกกับเงื่อนไขความเป็นจริงของสถานการณ์) ที่ผลักดันให้ประธานาธิบดีซานโตสต้องปรับเปลี่ยนเป็นคนใหม่ ยึดแนวทาง “สายพิราบ” ยอมทุ่มเทอย่างเต็มร้อย และพร้อมประนีประนอมตลอดระยะเวลาการเจรจากว่า 6 ปี เพื่อผลักดันให้เกิดสันติภาพภายในประเทศจน (ใกล้) สัมฤทธิผล ก็คือรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ รางวัลที่เชื่อได้ว่าผู้นำทุกคนในโลกใบนี้ล้วนปรารถนา ไม่เว้นแม้แต่โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่

หากโดนัลด์ ทรัมป์ คิดจะมีความฝันอันยิ่งใหญ่ (ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดใดๆ) และถือเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ปรารถนาอยากได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเป็นเกียรติประวัติกับตัวเองเหมือนคนอื่นๆ บางทีชาวโลกอาจจะเห็นโดนัลด์ ทรัมป์ ในอีกลักษณะหนึ่ง เป็นโดนัลด์ ทรัมป์ ยอมทุ่มเท ให้ความสำคัญและผลักดันในทุกวิถีทางเพื่อทำให้สันติภาพระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์เกิดขึ้นเป็นจริงให้จงได้ภายในปี 2020

ปรีชาญาณ วงศ์อรุณ
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image