แฟลชสปีช : ‘เป็นธรรม’คือสุขสงบ

แฟลชสปีช : ‘เป็นธรรม’คือสุขสงบ

คำว่า “ชนชั้นใดเขียนกฎหมาย ก็แน่ไซร้ว่าเพื่อชนชั้นนั้น” แม้จะฟังเหมือนเป็นสัจธรรม คือเป็นความจริงแท้ไม่แปรเป็นอื่น แต่ในความหมายของ “ความเป็นธรรม” ซึ่งเป็นหัวใจ หรือเป้าหมายของการเขียนก็หมายแล้ว ไม่ใช่

ไม่ว่าชนชั้นใดเขียนกฎหมาย จะต้องเพื่อรักษาความเป็นธรรมให้คนทุกชั้น จึงเป็นสัจธรรม

กฎหมายคือกติกาการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม

Advertisement

การเขียนกติกาต้องเริ่มจาก “ความเป็นธรรม”

ความหมายของ “ธรรม” ก็คือ “ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” ในความหมายว่าอยู่ร่วมกันอย่างเชื่อมร้อยกันด้วย “ความรัก ความเมตตา ช่วยเหลือเกื้อกูล ปรารถนาดีต่อกัน” เหมือนหนึ่งว่าเป็นชีวิตเดียวกัน

รับรู้สุข ทุกข์ร่วมกันของคนในสังคม

Advertisement

ใครที่หลงไปมีพฤติกรรมในทางทำลายความสุขสงบของคนอื่น ถือว่าทำลายความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในสังคมต้องถูกลงโทษ

เพราะ “ความเป็นธรรม” เป็นเรื่องของสำนึก ผู้ที่จะเข้าถึง “ธรรม” อันหมายถึง “ธรรมชาติที่ดีงามของการอยู่ร่วมกัน” นั้น จะต้องมีสภาวะของจิตใจที่ดีงาม

กฎหมายจึงมักไม่ได้เขียนโดยคนใดคนหนึ่ง แต่อาศัยสำนึกของหลายๆ คนมาตรวจสอบเพื่อให้บัญญัติตัวบทขึ้นมาโดยมีองค์ประกอบที่จะเข้าถึงความเป็นธรรมมากสุดเท่าที่จะมากได้

องค์ประกอบที่นำสู่ความเป็นธรรม จึงเป็นเป้าที่จะต้องไปถึงของการเขียนกฎหมาย

แต่เพราะที่สุดแล้ว คนเป็นผู้ใช้กฎหมายอยู่ดี ทำให้ไม่ว่าจะเขียนกฎหมายให้เข้าถึงความเป็นธรรมอย่างไร แค่ไหน ที่สุดแล้วจะไปถึงเป้าหมายได้ต้องอาศัยสำนึกของผู้ตีความองค์ประกอบของกฎหมายอยู่ดี

การตีความกฎหมายว่าสามารถเข้าถึงความเป็นธรรมหรือไม่ จะสะท้อนว่าสังคมนั้นมีศักยภาพการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้หรือเปล่า

เพราะไม่มีทางเลยที่สังคมจะสงบสุขให้หากอยู่ร่วมกันด้วยความรู้สึกว่ามีการใช้กติกาที่ไม่เป็นธรรม

ยิ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับ “การเมือง” การทำให้เกิดความเป็นธรรมยิ่งเป็นเรื่องจำเป็น

ทั้งนี้เนื่องจาก “การเมือง” เป็นเรื่องของการจัดการอำนาจ มีธรรมชาติของการช่วงชิงเพื่อให้ได้ครอบครอง

ระหว่าง “ครอบครองเพื่อประโยชน์ของตัวเอง และพวกพ้อง” กับ “เพื่อนำสู่ความเป็นธรรมคือความสุขสงบ เท่าเทียมกันของคนในสังคม” กฎหมายจะต้องทำให้การครอบครองอำนาจเป็นไปเพื่ออย่างหลัง จึงจะรักษาความสุขสงบของสังคมไว้ได้

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเมือง จึงจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องเขียนขึ้นเพื่อให้องค์ประกอบนำสู่ความเป็นธรรม และมีกระบวนการบังคับใช้ที่นำสู่การเข้าถึงความเป็นธรรม

เพราะการเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ ที่กำหนดความอยู่ดีมีสุขของคนในสังคม

การใช้อำนาจที่เป็นธรรมคือหัวใจของการอยู่ร่วมกัน

การใช้อำนาจที่เอารัดเอาเปรียบ ข่มเหงรังแก ยกชูตัวเองให้เหนือกว่า กดข่มเพื่อนร่วมสังคมให้เจ็บช้ำน้ำใจ สร้างการยอมรับว่าเป็นการอยู่ร่วมกันของความชอบธรรมไม่ได้ ย่อมเป็นเหตุของสังคมล้มเหลว

เป็น “รัฐล้มเหลว”

แม้จะใช้อำนาจบังคับให้ทุกคนอยู่ในความสงบได้ แต่นั่นเป็น “สงบราบคาบ” ที่อัดแน่นด้วยความคับข้องใจ เกลียดชังกันของผู้คน ไม่ใช่ “สุขสงบ” ที่นำสู่สังคมที่ “รักใคร่ปรองดอง”

ประเทศจะมีโอกาสพัฒนาไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง อันหมายถึงอยู่ร่วมกันอย่างสุขสงบ สะดวกสบายอย่างเท่าเทียมได้หรือไม่

ดัชนีชี้วัดที่เห็นง่ายที่สุดคือ “ประเทศนั้นมีและใช้กฎหมายให้เข้าถึงความเป็นธรรมได้หรือไม่”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image