อำนาจ‘ประชาชน’

อำนาจ‘ประชาชน’

เหมือนวันนี้แล้วจะได้รู้กันว่า “รัฐบาลชุดใหม่” หน้าตาจะเป็นอย่างไร ด้วยผลเลือกตั้งน่าจะปรากฏในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า

พรรคไหนชนะเลือกตั้ง พรรคนั้นจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

การเมืองประเทศเรามีประเพณีที่ได้รับการยอมรับร่วมกันของทุกฝ่ายมาช้านาน

Advertisement

พรรคการเมืองรู้มารยาทว่าจะต้องทำตามประเพณีนั้น

หัวหน้าพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งจะเป็นนายกรัฐมนตรี

แต่วันนี้ไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว

Advertisement

ผลเลือกตั้งเป็นแค่องค์ประกอบเดียวของการจัดตั้งรัฐบาล ชัยชนะในการเลือกตั้งไม่ถูกให้ราคาว่ามีความสำคัญสักเท่าไร ใครที่รวบรวมเสียงข้างมากได้ต่างหากจึงมีสิทธิต่อรองจัดตั้งรัฐบาล

เริ่มจากการต่อรองกับ “วุฒิสมาชิก” ที่มีอำนาจร่วมโหวตแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นต้องเคลียร์กับองค์กรมีอำนาจที่มีมากมาย ซึ่ง “ดีไซน์” มาตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เลยไปถึงหน่วยงานที่มีอิทธิพลต่อโครงสร้างอำนาจ ซึ่งสามารถแสดงบทบาทส่งผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างเหนือการคาดเดา แต่รับรู้ได้ว่าเป็นเครือข่ายที่ควบคุมความเป็นไปทางการเมืองได้จริง

ซึ่งพิสูจน์มาให้เห็นแล้วก่อนหน้านี้

องค์กรเหล่านี้มีอำนาจกำหนดรัฐบาลมากกว่าผลการเลือกตั้งที่เป็น “อำนาจที่มาจากประชาชน” เสียด้วยซ้ำ

จะเป็นการดีหากสามารถทำให้องค์กรเหล่านี้เคารพอำนาจประชาชนได้ แต่นั่นดูจะเป็นความฝัน หรือความหวังลมๆ แล้งๆ เนื่องจากพิสูจน์ให้ทราบตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ว่าองค์กรเหล่านี้ก่อกำเนิดมาเพื่อเป้าหมายอะไร และสัตย์ซื่อต่อภารกิจที่ได้รับมอบหมายมากแค่ไหน

ด้วยเหตุนี้ แม้ในไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าจะได้รับรู้กันแล้วว่า พรรคไหนจะได้รับเลือก แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนไหนจะได้รับฉันทานุมัติจากอำนาจประชาชน

แต่ชัยชนะและฉันทานุมัตินั้น ไม่สามารถเป็นหลักประกันอะไรได้เลยว่าจะเป็นไปอย่างที่ประชาชนตัดสิน

อย่าว่าแต่ “องค์กร” ที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนเลยที่พร้อมจะไม่เคารพการตัดสินใจของประชาชน

แม้แต่ “พรรคการเมือง” ที่ประกาศในช่วงหาเสียงว่า “รักและเคารพในอำนาจประชาชน” มีหลายพรรคที่รับรู้กันอยู่ว่า “นั่นเป็นการประกาศเรื่อยเปื่อย” ถึงวันที่จัดตั้งรัฐบาล ประชาชนไม่เคยมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ ไม่แค่ว่าประชาชนจะรู้สึกอย่างไร

หรือกระทั่ง “พรรคการเมือง” จะรักษาความเคารพประชาชนไว้ แต่ “นักการเมือง”
ในสังกัดจะมีอำนาจไม่น้อยที่เลือกผลประโยชน์เฉพาะหน้ามากกว่าที่จะรักษาหลักการและจุดยืนร่วมกับพรรค การทิ้งพรรคเพื่อประโยชน์ส่วนตัวมีให้เห็นมากมาย อย่างเช่นพวกที่ถูกเรียกว่า “งูเห่า”

อำนาจประชาชนถูกท้าทาย ถูกทรยศได้ทุกเมื่อในโครงสร้างอำนาจที่เป็นอยู่ เนื่องจากเป็นโครงสร้างที่ถูกออกแบบมาโดยไม่ให้คุณค่ากับอำนาจประชาชนนัก

การทรยศอำนาจประชาชน ถูกทำให้เป็นเรื่องปกติ องค์กรอำนาจที่ไม่ยึดโยงประชาชนทั้งหลายต่างเห็นดีเห็นงาม

การยึดโยงกับอำนาจประชาชนถูกด้อยค่า ด้วยกระบวนการตรวจที่เข้มข้น โดยมีกลไกที่สามารถจัดการกับผู้ที่ได้รับเลือกมาจากประชาชนอย่างไม่ต้องยุ่งยากอะไรมากนัก

ในนามของกฎหมาย และผู้มีอำนาจตามกฎหมาย สามารถจัดการกับผู้ที่มาด้วยอำนาจประชาชนได้อย่างสบายๆ ไม่ต้องคิดอะไรให้ซับซ้อน

ผลการเลือกตั้งซึ่งสะท้อนอำนาจประชาชน ซึ่งควรจะเป็นตัวชี้ขาดว่าจะมอบอำนาจการบริหารจัดการประเทศให้กับพรรคการเมืองใด ใครควรจะเป็นนายกรัฐมนตรีผู้นำประเทศ

กลับยังไม่มีความแน่นอนอะไร

ในยุคสมัยที่อำนาจประชาชนยังไม่ได้รับความสำคัญมากนัก

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image