ยิ่งไม่ทำความผิดอะไร ยิ่งต้องกลัวกฎหมายความมั่นคงโลกดิจิทัล โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

แม้ว่าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์จะผ่านวาระที่สามในสภานิติบัญญัติแห่งชาติไปเรียบร้อยแล้ว โดยเป็นการผ่านแบบท่วมท้นไร้คนคัดค้าน (มีคนงดออกเสียงเพียงไม่กี่คน)

ท่ามกลางการรณรงค์จากเว็บไซต์ change.org เกือบสี่แสนคน และหาข้อมูลมาสนับสนุนไม่ได้ว่ามีคนสนับสนุนนอกสภาที่ไม่ได้แต่งตั้งมาจากคณะรัฐประหารกี่คน

ตอนนี้ก็เหลือแต่ขั้นตอนอีกไม่กี่ขั้นตอนก่อนที่กฎหมายนี้จะถูกนำมาบังคับใช้

ประเด็นที่จะต้องฝากทิ้งเอาไว้ก็คือ เราเรียนรู้อะไรจากประเด็นข้อถกเถียงในเรื่องการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้บ้าง โดยเฉพาะถ้าเราต้องการจะทำความเข้าใจพัฒนาการของการเมืองไทย โดยเฉพาะสิ่งที่เราเรียกกันว่า การเมืองไทยในโลกไซเบอร์/ดิจิทัล

Advertisement

ผมจึงขอบันทึกบางเรื่องราวเอาไว้เพื่อว่าเมื่อเราย้อนกลับมาพิจารณาประเด็นนี้อีกครั้งหนึ่ง เราจะได้มีเรื่องราวไว้เล่าหรืออ้างอิงให้คนรุ่นต่อๆ ไปมีโอกาสได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อตอนปลายเดือนธันวาคม 2559

สิ่งที่ต้องการจะให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ “สังคมวิทยาการเมืองของโลกดิจิทัล” มากกว่าเรื่องของตัวกฎหมายโดยตรง

ความหมายของสังคมวิทยาการเมืองและคำว่าโลกไซเบอร์นั้นควรได้รับการบันทึกไว้ก่อน

Advertisement

เรื่องแรกคือ สังคมวิทยาการเมือง ในความหมายกว้างๆ นั่นก็คือความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนระหว่างการเมืองกับสังคม ทำความเข้าใจการก่อตัวของสังคมและมิติ-เงื่อนไขทางการเมืองของการอยู่ร่วมกัน

ตรงนี้อาจจะแตกต่างจากความเข้าใจแต่เรื่องกฎหมายและเศรษฐกิจ ดิจิทัล แต่ต้องการชวนให้เราคิดก่อนว่า เรามีความเข้าใจโลกดิจิทัลอย่างไร และมากน้อยแค่ไหน งานวิจัยที่เรามีกับพฤติกรรมของผู้คนในโลกใหม่ หรือแผ่นดินใหม่นี้มีมากน้อยแค่ไหน สังคมใหม่มีลักษณะอย่างไร มีโครงสร้างและการเปลี่ยนแปลงอย่างไร การเมืองของมันหน้าตาอย่างไร เศรษฐกิจและวัฒนธรรมของมันเป็นอย่างไร

นั่นคือสิ่งสำคัญที่เราควรเข้าใจ เวลาที่เราพูดถึงสิ่งที่เราเรียกว่า “ผู้เชี่ยวชาญ” ในเรื่องกฎหมายและเศรษฐกิจดิจิทัล

ในเรื่องที่สองที่เชื่อมโยงกันก็คือ เมื่อเราต้องการทำความเข้าใจการเมืองและสังคมดิจิทัลนี้ เราจะต้องเข้าใจโดย “เชื่อมโยง” กับโลกเก่าอย่างไร

กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือเมื่อเราพูดเรื่องโลกดิจิทัล เราจะต้องเข้าใจด้วยว่าโลกดิจิทัลนั้นมีความจริงของมัน ไม่ใช่แค่เป็นความเสมือน และในขณะเดียวกันมันก็เชื่อมโยงมาสู่โลกนอกดิจิทัลเช่นเดียวกัน

ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือในสมัยก่อนเราอาจจะรู้สึกว่าโลกดิจิทัลนั้นไม่จริงเอาเสียเลย เราอาจจะอยากเป็นใครก็ได้ เช่นตั้งชื่อใหม่ เปลี่ยนเพศ หรือมีหลายชื่อก็ได้

แต่ในช่วงหลังชุมชนคนออนไลน์ทั้งหลายกลับเรียกร้องให้เราต้องลงทะเบียนและยืนยันตัวตน รวมทั้งการที่เราสามารถประกอบธุรกรรมทางการเงินได้

รวมไปทั้งธุรกรรมทางสังคม ทางการเมือง และเริ่มมีการบันทึกเรื่องราวอ้างอิง กระทำซ้ำและเปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นวัฒนธรรมบางอย่างไปแล้ว

สิ่งที่น่าสนใจเพิ่มเติมไปอีกก็คือ โลกดิจิทัลกับโลกนอกดิจิทัลอาจจะเชื่อมโยงกันด้วย ไม่ใช่แยกขาดจากกัน แต่ระดับและความเข้าใจในเรื่องการเชื่อมโยงนั้นก็มีความซับซ้อน อาจไม่ได้ซ้อนทับกันเสมอไป

ไม่ใช่เป็นเรื่องเดียวกันแต่อาจต่อเชื่อมกันในลักษณะที่สลับซับซ้อน

เรื่องบางเรื่่องอาจจะเชื่อมโยงกันพอดี เช่นเรื่องธุรกรรมการเงิน (เงินในบัญชีของเราเป็นบัญชีเดียวกัน โอนไปแล้วก็ไม่มีเหลือจริงที่ธนาคาร)

บางเรื่องก็เหลื่อมซ้อนกัน เช่นด่ากันในโลกออนไลน์ จริงๆ แล้วเจอหน้ากันก็อาจไม่รุนแรงเท่านั้นก็อาจเป็นได้ หรือก่อนจะมีการเมืองบนท้องถนน ก็มีการเมืองในโลกออนไลน์อยู่นานแล้ว

หรือโลกออนไลน์อาจจะกลายเป็นพื้นที่ใหม่ที่คนเริ่มมาปรึกษาหารือกันแล้วนำไปสู่ความร่วมมือใหม่ๆ ที่ข้ามพ้นข้อจำกัดในแบบเดิม เช่นแลกเปลี่ยนความรู้ข้ามพรมแดนก็อาจเป็นได้

ประเทศไทยเป็นประเทศใหม่ในโลกดิจิทัล การคำนึงถึงความมั่นคงในโลกดิจิทัลเป็นเรื่องที่ต้องมาปรึกษาหารือกัน คนที่ออกมาแสดงความกังวล หรือถูกมองว่าออกมาคัดค้าน พ.ร.บ.นี้ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ต้องการความมั่นคง เพียงแต่ว่าเขาอาจจะต้องการมีส่วนร่วมในการกำหนดกติกาเหล่านี้ในเนื้อหาสาระอื่นๆ

การพยายามมองว่าคนที่ออกมาห่วงใยเรื่องนี้ทั้งหลายเป็นพวกที่พยายามบิดเบือน หรือเป็นพวกที่กลัวความผิดนั้นเป็นเรื่องที่ควรถูกตำหนิอย่างยิ่ง ควรเอาเวลาไปอธิบายให้ประชาชนเข้าใจเพิ่มเติมน่าจะดีและสร้างสรรค์กว่า และควรน้อมรับฟังความห่วงใยของผู้คนในเรื่องนี้ให้มากขึ้น

ด้วยว่าประเด็นที่สำคัญก็คือ เรากำลังก่อร่างสร้างแผ่นดินใหม่ที่เรียกว่าแผ่นดินหรือโลกดิจิทัลร่วมกัน โลกดิจิทัลนี้มันกำลังงอกออกมาและเชื่อมโยงกับโลกเดิม ดังนั้นจะต้องคิดให้ดีว่าเราอยากให้โลกใหม่นี้มันเป็นอย่างไร เราเข้าใจมันแค่ไหน

เราพร้อมหรือเราจะเข้าใจโลกใหม่นี้ร่วมกันอย่างไร

ในโลกตะวันตกนั้นมีการยอมรับร่วมกันบางประการว่าเขาเชื่อว่าเกิดคนสองกลุ่มในโลกใหม่

คือพวก “ชนพื้นเมืองในโลกดิจิทัล” (digital native) กับพวก “คนต่างด้าว/คนอพยพในโลกดิจิทัล” (digital immigrant)

ชนพื้นเมืองในโลกดิจิทัล คือ คนที่เกิดมาในยุคดิจิทัล ใช้ชีวิตในโลกดิจิทัล

คนต่างด้าวในโลกดิจิทัล คือคนที่เพิ่งอพยพเข้าสู่โลกดิจิทัล แม้ว่าจะใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลแต่ก็ยังมี “สำเนียง” บางอย่างที่บ่งบอกว่า เขาเป็น “คนนอก” ในโลกดิจิทัลอยู่ดี

คำถามสำคัญก็คือสำหรับบ้านเรานั้น เราสามารถใช้กรอบคิดแบบนี้ได้ไหมว่าคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่ามีไหม หรือว่ามีใครที่เกิดในแผ่นดินโลกดิจิทัลแล้วบ้าง

ผมรู้สึกว่าแนวคิดเช่นนี้อาจจะยังใช้ไม่ได้เสียทีเดียว แต่แน่นอนว่าโลกใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นภายหลังจากการจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลและภายใต้ พ.ร.บ.ความมั่นคงใหม่นี้ย่อมจะมีขึ้นแน่ๆ

ในแง่นี้เป็นไปได้ว่าพวกเราที่อยู่ในวันนี้น่าจะยังเป็น “คนต่างด้าวในโลกดิจิทัลของไทย” ร่วมกันนั่นแหละครับ

เราทิ้งร่องรอยเอาไว้ในโลกนั้น และเราก็คงจะทิ้งร่องรอยของความเป็นทั้ง “คนนอก” และ “คนใน” ของโลกนั้นอยู่ตลอดเวลา

คงเป็นเรื่องง่ายที่เราจะมองว่า พ.ร.บ.โลกไซเบอร์นั้นออกจากคนที่เป็นคนแก่หรือคนที่ไม่เข้าใจโลกดิจิทัลดีพอ

หรืออีกกลุ่มก็เชื่อว่าไม่ต้องเข้าใจโลกดิจิทัล เพราะโลกดิจิทัลกับโลกไม่ใช่ดิจิทัลก็เหมือนๆ กัน

ผมกลับคิดว่าเราควรจะมองว่าทุกคนเป็นคนที่อพยพเข้ามาสู่โลกดิจิทัลด้วยกัน เราเป็นคนนอกร่วมกันนั่นแหละครับ เราควรมาร่วมกันคิดร่วมกันร่างกติกา

หลักคิดสองข้อที่สำคัญในการร่างกฎหมายสำหรับโลกใหม่ร่วมกันน่าจะประกอบด้วย

1.หลักคิดที่ว่าเมื่อร่างกฎหมายใหม่ ประชาชนควรจะมีส่วนรับรู้ร่วมกันว่าอะไรคือปัญหาบ้าง เรื่องเหล่านี้ไม่ควรมองแค่ว่ากฎหมายจะต้องมีร่างกฎหมายมาให้พิจารณา แต่ควรประกอบด้วยเอกสารประกอบร่างกฎหมายที่ชี้ให้เห็นประเด็นต่างๆ ร่วมกันว่าทำไมจึงต้องมีกฎหมายนี้ขึ้น มีเหตุผล ข้อมูลสนับสนุนอะไร เรื่องเหล่านี้เมื่อประชาชนเข้าถึงได้ เขาจะได้สามารถถกเถียงอภิปรายร่วมกันด้วยข้อมูล ไม่ใช่ด้วยความกลัว

2.หลักคิดที่ว่าเมื่อเราต้องการดูแลโลกใหม่ เราก็ควรจะมีการกำกับดูแลด้วยมาตรฐานเดียวกับโลกอื่นๆ อาทิ ในโลกของสื่อสิ่งพิมพ์ เรามีระบบศาล เรามีระบบการดูแลกันเองของสื่อ ในโลกของสื่อวิทยุโทรทัศน์ เรามีคณะกรรมการ กสทช. ที่มีระบบระเบียบที่มาที่ไปและความพร้อมรับผิดและความโปร่งใสที่ประชาชนตรวจสอบได้อย่างเป็นระบบ

ดังนั้นเมื่อเราจะเข้าสู่โลกใหม่ที่เรียกว่าโลกดิจิทัล เราก็ควรจะต้องคิดพิจารณาไปในทำนองเดียวกันว่าเราจะมีการกำกับดูแลโลกดิจิทัลด้วยหลักการ มาตรฐานเช่นไร โดยเทียบเคียงกับโลกอื่นๆ เช่นสื่อสิ่งพิมพ์ หรือสื่อวิทยุโทรทัศน์ด้วย

นอกจากนั้นก็จะต้องเทียบเคียงกับโลกทั่วไปที่เรามุ่งสู่ประชาธิปไตยเหมือนที่เราบัญญัติไว้ในหลักรัฐธรรมนูญในหมวดสิทธิเสรีภาพ

โลกดิจิทัลเป็นโลกคู่ขนานกับโลกอื่น บางส่วนเชื่อมต่อกัน บางส่วนทับซ้อนกัน บางส่วนไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เราต้องทำความเข้าใจให้ดีถึงธรรมชาติของมันที่มีพลวัตสูง และการที่บอกว่าจะเข้าใจให้ดีไม่ได้หมายความว่าคนไม่กี่คนนั้นจะรู้ดีกว่าคนอื่นๆ ดังนั้นเราก็ต้องเปิดกว้างให้ทุกคนมีโอกาสได้ปรึกษาหารือกันให้ดี อย่าเพิ่งรีบร้อนมองว่านี่คือความเร่งด่วนแบบไม่ต้องฟังใคร

เราควรมองว่าความเร่งด่วนนี้คือความเร่งด่วนที่ต้องร่วมกันหารือ และอยู่ร่วมกันให้ได้ด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่ความหวาดกลัว

พูดอีกอย่างหนึ่ง พ.ร.บ.การกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ควรถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “รัฐธรรมนูญดิจิทัล” ในแผ่นดิน/ดิจิทัล ที่เชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญและแผ่นดินนอกดิจิทัล ดังนั้นเราควรจะปรึกษาหารือกันให้มาก และเราจะเห็นว่าโลกดิจิทัลนั้นต้องการกฎหมายหลายตัวเพื่อกำกับ และสร้างระบบนิเวศวิทยาดิจิทัลให้มันดี ให้มันน่าอยู่ และให้มันเป็นธรรม

หนึ่งในระบบนิเวศวิทยาดิจิทัลก็คือ รัฐบาลดิจิทัล ที่คอยกำกับดูแลและให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพให้กับเรา

อย่าเพิ่งคิดว่ากฎหมายความมั่นคงดิจิทัลเป็นเพียงกฎหมายที่เอาไว้จัดการผู้คนให้สงบเรียบร้อย

แต่ควรร่วมกันคิดก่อนว่า แผ่นดิน/โลกดิจิทัล มันจะเป็นอย่างไร มันจะมีมิติ การเมือง สังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจอย่างไร แบบเดียวกับที่เราอยากมีแผนยุทธศาสตร์ อยากมีรัฐธรรมนูญ และอยากมีกฎหมายลูกตัวอื่นๆ

อย่าเพิ่งมองแบบง่ายๆ แบบว่ารัฐธรรมนูญมีไว้จัดการนักการเมืองเลวและ พ.ร.บ.คอมพ์ มีไว้จัดการพวกอาชญากรทางคอมพิวเตอร์

เวลาที่มีผู้คนทักท้วงขึ้นมาในเรื่องหลายๆ เรื่อง ผมคิดว่ามันเป็นการดีที่เราจะมีการเปิดเผยให้เห็นความใฝ่ฝันของสังคมเราที่จะสถาปนาโลกใบใหม่ที่ทุกคนเข้าถึงได้ และดึงเอาข้อดีของความเป็นดิจิทัลออกมาให้ได้มากที่สุด

อย่าเพิ่งเอาอะไรที่เราเคยมีในโลกออฟไลน์มาคิดกับโลกดิจิทัลแบบง่ายๆ

แต่พยายามคิดก่อนว่าเรากำลังสร้างแผ่นดินใหม่/โลกใหม่ และสถาปนาอารยธรรมใหม่ร่วมกัน และเรากำลังสร้างสิ่งนี้ให้ลูกให้หลานเราภูมิใจและต้องอยู่กับโลกใหม่นี้อย่างมีศักดิ์ศรี มั่นคง ปลอดภัย

เรากำลังสร้างสังคมใหม่ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน (trust) และความโปร่งใส หรือเราจะสร้างสังคมใหม่ด้วยความกลัว?

การที่เราไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่ได้แปลว่าเราต้องยอมให้คนที่ไม่ได้มีอำนาจจากความยินยอมของเราเขียนกฎหมายอะไรก็ได้

คนที่ไม่ได้รับอำนาจจากเราแต่ใช้อำนาจโดยไม่ฟังเสียงของคนร่วมโลกดิจิทัลหรือโลกใหม่ด้วยกันต่างหาก ที่ควรจะถามตัวเองว่า ถ้าไม่คิดว่าจะทำผิดอะไรแล้วกลัวคนอื่นเขาถามทำไม? จะไปกล่าวหาคนอื่นเขาทำไม?

สำหรับบ้านเรา ผมอยากชวนให้คิดว่า ในเมื่อเราเป็นคนที่อพยพเข้าสู่โลกดิจิทัลทั้งสิ้น เว้นแต่คนที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ในไม่กี่วันนี้ ดังนั้นเราควรจะยอมรับข้อจำกัดของพวกเราทุกคน และเปิดใจรับฟังกันทุกฝ่าย และมองเรื่องโลกดิจิทัลว่ามันเป็นเรื่องที่ใหม่ไม่ต่างจากโลกออฟไลน์

การก้าวสู่โลกใหม่เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การหยุดมโนว่าโลกใหม่เต็มไปด้วยภัยนั้นทำได้

เราควรก้าวสู่โลกใหม่โดยมิติของการมีส่วนร่วม และถามคำถามว่าเราจะสร้างความสมดุลระหว่างเสรีภาพกับความมั่นคงอย่างไร ไม่ใช่ก้าวสู่โลกใหม่ด้วยการสร้างความแตกแยกและใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือในการปกครองครับผม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image