ผู้เขียน | พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก |
---|
รำลึกถึงฮานอยฮิลตัน…‘เตาเผาสู่นรก’
อเมริกาไปทำสงครามที่ไหน…จะมีเกร็ดประวัติศาสตร์มาบอกเล่าชนรุ่นหลัง มีเจ็บ มีตาย มีรัก มีชนะ-แพ้ เพื่อการศึกษา บันทึกเรื่องกระจุกกระจิก โหด เลว ดี แล้วจะมีบริษัทสร้างภาพยนตร์คัดสรรเอาเรื่องเด็ดๆ ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ออกฉายโกยเงินทั่วโลก
ภาพยนตร์เรื่อง Black Hawk Down ที่เจ็บปวดที่สุดสำหรับหน่วยทหารชั้นเยี่ยมของกองทัพบกสหรัฐ 18 นายต้องละลายไปในการสู้รบกับกองโจรในประเทศโซมาเลียเมื่อ พ.ศ.2536 ภาพยนตร์เปิดเผยความจริง ข้อบกพร่อง ข้อจำกัดของทหารสหรัฐ แต่เนื้อหาสาระแฝงไปด้วยความองอาจ กล้าหาญ เสียสละ ที่ชาวอเมริกันยกย่องกองทัพของตน
ช่วง พ.ศ.2507-2516 ทหารสหรัฐนับแสนนาย บก เรือ อากาศ นาวิกโยธิน พลเรือน ยกกำลังข้ามโลกมาทำสงครามในเวียดนาม เพื่อสกัดกั้น ทำลายการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์
กำลังทางอากาศที่มีแสนยานุภาพมากที่สุดของโลก (ส่วนหนึ่ง) มาตั้งฐานทัพที่นครพนม อุดรธานี อุบลราชธานี โคราช สัตหีบ ดอนเมือง ทหารช่างสหรัฐมาทำถนน สร้างฐานบินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก พลิกโฉมหน้าสาธารณูปโภคพื้นฐานในประเทศไทยแบบก้าวกระโดด
โครงข่ายถนนในภาคอีสาน ภาคตะวันออก ถูกออกแบบโดยทหารช่างสหรัฐร่วมกับกรมทางหลวงของไทย กลายเป็น “ถนนใยแมงมุม” เพื่อการส่งกำลังบำรุง (Logistics) เรือสินค้าขนาดยักษ์ที่บรรทุกระเบิดนับแสนตันทยอยมาเทียบท่าเรือสัตหีบ มะกันสร้างถนนนำระเบิดไปสู่ฐานทัพอากาศทั้งหลาย เพื่อเอาระเบิดไปทิ้งในลาว เวียดนามเหนือ
ตู้คอนเทนเนอร์แบบ “ตู้เย็น” บรรทุกอาหารสด นม ผลไม้ ไอศกรีม ฯลฯ จากฐานทัพสหรัฐในญี่ปุ่น จากรัฐฮาวาย มาส่งให้ทหารมะกันอย่างอิ่มหมีพีมัน ส่วนตู้คอนเทนเนอร์แบบธรรมดา บรรทุกสิ่งอุปกรณ์ทางทหาร 1-10 มาส่งให้ มีแม้กระทั่ง เหล้า บุหรี่ น้ำอัดลม หมากฝรั่ง (เป็นสิ่งอุปกรณ์ตามหลักการของกองทัพสหรัฐ)
ผู้เขียนพอจำได้ว่า คนไทยสูบบุหรี่ฝรั่งกันทั้งนั้น ทั้งราคาถูกและเท่ ไนต์คลับ บาร์เบียร์ สาวเต้นรูดเสา อุบัติขึ้นเป็นดอกเห็ด
เป็นเวลานานราว 10 ปี เครื่องบินทิ้งระเบิดของสหรัฐนำลูกระเบิดจากสนามบินทหารในไทยนับล้านตัน ไปทิ้งใส่ “กรุงฮานอย” เมืองหลวงของเวียดนามเหนือให้แหลกเป็นจุณ (รวมถึงในลาว)
ทหาร ประชาชนเวียดนามเหนือสู้ยิบตา ได้รับจรวด อาวุธปล่อยตระกูล SAM มาจากลูกพี่โซเวียต กองทัพหมีขาวฝึกนักบินให้ลาว เวียดนามเหนือขับ MiG ไปสู้กับเครื่องบินรบสหรัฐในท้องฟ้า
อาวุธต่อสู้อากาศยาน “สอย” เครื่องบินรบสหรัฐได้จุใจ ทหารเวียดนามเหนือทำงานได้ผล…ลูกพี่มอสโกและปักกิ่งพอใจ
เครื่องบินรบ เครื่องบินทิ้งระเบิด ส่วนหนึ่งถูกยิงตก นักบินสหรัฐส่วนใหญ่สามารถดีดตัวออกจากเครื่องบินได้ ลอยลงมาจากฟ้าด้วยร่มชูชีพ ไม่เคยรอดจากสายตาของทหารเวียดกง
นักบินสหรัฐ คือ ของขวัญที่พระเจ้าประทานมาให้แก่ทหารเวียดนามเหนือ เป็นหรือตาย ร่มจะไปตกในป่า ในเขา ในเมือง จับได้หมด
หน่วยโฆษณาการจะถ่ายภาพยนตร์-ภาพนิ่งเอาไว้ สอบสวนตามกรรมวิธี นำตัวไปที่คุมขังรวมกับบรรดานักโทษเชลยศึกอเมริกันรุ่นพี่ที่เข้ามาก่อน มีคุกหลายแห่งกระจายกันอยู่ในเวียดนามเหนือ ที่โด่งดังที่สุดคือ ฮั่วโล (Hoa Lo) ในขณะที่ฝ่ายอเมริกันเรียกแบบตลกร้ายว่า ฮานอยฮิลตัน
เชลยศึกจากสงคราม : Prisoner of War (POW)
กองทัพเวียดนามเหนือไม่ทำอะไรแบบตื้นเขิน ไม่ได้ “สิ้นคิด” ถึงขนาดจะต้องเอานักบินทหารสหรัฐไปยิงทิ้ง หากแต่จะใช้ตัวตนเชลยศึกเหล่านี้เพื่อการ “เขย่าขวัญ” สังคมอเมริกัน ครอบครัว ญาติพี่น้องในสหรัฐ ให้ครอบครัวของทหาร “เสียขวัญ” กดดันให้วอชิงตันต้องถอนทหารออกไปจากสงคราม โดยเอาตัวเชลยไว้แลกเปลี่ยนตามข้อตกลง
นานวัน…เชลยศึกมากขึ้น ภาพยนตร์ ภาพนิ่งของเชลยศึกเหล่านี้ถูกเผยแพร่โดยสื่อของอเมริกาเองที่หิวกระหาย ทำเอาสังคมอเมริกันปั่นป่วน เวียดนามเหนือ คือ ราชาแห่งการทำสงครามจิตวิทยา (ปัจจุบันเรียกว่า IO)
เวียดนามเหนืออดทน ทำงานได้ดี บดขยี้ทางจิตใจชาวอเมริกัน เรื่องเชลยศึก ในที่สุดประชาชนอเมริกันออกมาเดินขบวนนับแสนคนเพื่อให้รัฐบาลถอนทหาร… กดดันรัฐบาลให้พาเด็กหนุ่มอเมริกันกลับบ้าน หลังจากเสียชีวิตไปราว 58,000 นาย
เชลยศึกในสงครามเวียดนามส่วนใหญ่เป็นนายทหาร ทหารเรือ ทหารอากาศ นาวิกโยธิน โดยเฉพาะนักบิน
เรือนจำกลาง Hoa Lo ที่มีลักษณะเป็นป้อมปราการ สร้างขึ้นเมื่อเกือบ 1 ศตวรรษก่อนโดยชาวฝรั่งเศส ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ปกครองอาณานิคมของเวียดนาม
ชื่อ Hoa Lo หมายถึง “เตาเผาของช่างปั้นหม้อ” แปลคร่าวๆ ว่า “หลุมนรก” หรือ “เตาไฟ” กำแพงสูง 20 ฟุตที่กักขังทหารอเมริกันมุงด้วยลวดหนามและกระจกแตก ทำให้การหลบหนีแทบเป็นไปไม่ได้ บริเวณเรือนจำที่แสนจะโสโครกประกอบด้วยอาคารหลายหลัง แต่ละหลังได้รับชื่อเล่นเช่น Heartbreak Hotel, New Guy Village และ Little Vegas
“เรือนจำ” เป็นระบบเครือข่ายกระจายอยู่ในหรือใกล้กับกรุงฮานอย เงื่อนไขต่างกันในแต่ละค่าย มีการโยกย้ายนักโทษระหว่างกันเป็นประจำ
(สงครามในลาว ทหารประเทศลาวคอมมิวนิสต์จับและควบคุมตัวชาวอเมริกันจำนวนไม่มากนัก เชลยศึกในลาวมักถูกขังอยู่ในกรง กระท่อม หรือถ้ำ การขาดอาหารและน้ำเป็นเรื่องปกติ)
1 ใน 3 ของทหารอเมริกันที่ถูกเวียดกงจับเข้าคุกจะเสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บ หรือมีบาดแผลที่ไม่มีการรักษา
กองทัพอากาศสหรัฐเองที่ทิ้งระเบิดแบบ “ขุดรากถอนโคน” เพื่อกดดันฮานอยให้ยอมแพ้สงคราม บีบให้เข้าสู่โต๊ะเจรจา ก็ทิ้งระเบิดไม่ “สะดวก” เพราะเกรงว่าจะไปตกลงในฮานอยฮิลตันที่เชลยศึกของตนอยู่นับร้อย
เรื่องความทุกข์ทรมาน ในคุกแทบไม่ต้องบรรยาย คุก คือ คุก
เรื่องเชลยศึกอเมริกันในฮานอยที่เป็นข่าวทางโทรทัศน์เป็น “ไฟนรกสุมทรวง” รัฐบาลและกองทัพ ในขณะที่รัฐบาลเวียดนามเหนือ “แสนสุโข” ที่มีตัวประกันไว้ต่อรอง จะสังหารทิ้งเมื่อไหร่ก็ย่อมได้
ทุกห้องขังมืดและอันตราย ในฮานอยมีเรือนจำขนาดเล็ก 6 แห่ง ภายในระยะ 100 ไมล์ของเมืองเป็นที่กักขังเชลยศึก
มีความพยายามหลบหนีของนักโทษตลอดเวลา ทุกรูปแบบ แต่ไม่มีนักโทษคนใดหนีออกจากฮานอยฮิลตันได้สำเร็จ
พอล แกลันตี (Paul Galanti) นักบินของเครื่อง A-4 Skyhawk บนเรือ USS Hancock เขาบินภารกิจการสู้รบมาแล้ว 96 ครั้งก่อนที่จะถูกยิงจากภาคพื้นดินและถูกจับโดยเวียดนามเหนือเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ.2509
เขาหายตัวไปขณะปฏิบัติหน้าที่…ครอบครัวในอเมริกาแทบเป็นบ้า ข่าวระบุว่าเขาดีดตัวออกมาอย่างปลอดภัยและถูกจับตัว
ตัวเลขความสูญเสียของเด็กหนุ่มมะกัน งบประมาณที่กองทัพสหรัฐใช้ในสงครามเวียดนาม ระยะเวลาที่ติดพันราว 10 ปี และบรรดาเชลยศึกนับร้อยที่มีสภาพเหมือนสัตว์ …เป็นสิ่งที่ชาวอเมริกัน “ต่อต้าน” อย่างหนัก
เวียดนามเหนือไม่ยอมแพ้ ไม่เข้าสู่โต๊ะเจรจา วอชิงตันยิ่งกระหน่ำทิ้งระเบิดให้ฮานอยหายไปจากแผนที่โลก
เวียดนามเหนือโคตรอึด จนในที่สุดฝ่ายวอชิงตันต้องอ่อนข้อให้
โต๊ะเจรจาสงบศึกอยู่ในปารีส เวียดนามเหนือรู้ดีว่า การเมืองในวอชิงตันกำลังเดือดพล่าน อเมริกาจะถอนตัวจากสงครามแน่นอน
การผ่อนสั้น-ผ่อนยาว จึงปรากฏต่อบรรดาเชลยศึก
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2513 เวียดนามเหนือมีไมตรีจิตสั่งปรับสภาพความเป็นอยู่ของนักโทษในเรือนจำ นักโทษส่วนหนึ่งถูกย้ายไปที่เรือนจำอีกแห่งซึ่งมีห้องขนาดใหญ่ และมีนักโทษประมาณ 50 คนต่อห้อง
อเมริกามีแผนเริ่มจะผละออกจากสงครามจากแรงกดดันของสังคม เวียดนามเหนือเล่นสงครามประสาท ทยอยปล่อยตัวเชลยศึกทีละน้อย ยอดรวมสูงสุดราว 600 นาย
เชลยศึกทหารอเมริกัน 114 คน เสียชีวิตในระหว่างการถูกจองจำในช่วงสงครามเวียดนาม เรือนจำกลางแห่งนี้ออกแบบให้รองรับนักโทษได้ 450 คน หากแต่มีนักโทษยัดทะนานกันอยู่ในคุกเกือบ 2,000 คน
เชลยศึกที่รอดมาได้รายหนึ่ง เล่าด้วยความขมขื่นว่า… การทรมานของเวียดนามที่เลวร้ายที่สุดคือ ผู้คุมในคุกมัดแขนและขาของเชลยศึกด้วยเชือกที่แน่นหนา ใส่เหล็กรัดข้อเท้าเป็นเวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ การเฆี่ยนตีอย่างรุนแรงเป็นเรื่องปกติ หลายครั้งส่งผลให้เชลยศึกเสียชีวิต
ไม่ใช่มีเฉพาะทหารที่ถูกจับเป็นเชลย ยังมีนักการทูต ชื่อแมนฮาร์ด (Philip W. Manhard) จากรัฐเวอร์จิเนีย วัย 52 ปีที่ถูกจับตัวไป
ภาพที่ทรมานใจที่สุด คือ ให้นักโทษผอมแห้ง เจ็บป่วย มีบาดแผล พูดหน้ากล้องโทรทัศน์แล้วนำไปเปิดแพร่ภาพทางโทรทัศน์ในอเมริกา
นักโทษในฮานอยฮิลตันคนหนึ่งที่ถูกปล่อยตัวออกมาและมีชื่อเสียงโด่งดัง คือ เรือเอก จอห์น แมคเคน (John Sidney McCain III) นักบินกระดูกเหล็กคนนี้ใช้เวลา 5 ปีครึ่งในฮานอยฮิลตัน (เขาบันทึกไว้ในหนังสือเรื่อง Faith of My Fathers ในปี ค.ศ.1999)
ตุลาคม พ.ศ.2510 ในช่วงสงครามเวียดนาม แมคเคนบินไปทิ้งระเบิดระหว่างปฏิบัติการโรลลิ่งธันเดอร์เหนือฮานอย เครื่องถูกยิงตกได้รับบาดเจ็บสาหัส และถูกจับกุมโดยเวียดนามเหนือ
พ.ศ.2516 เขาได้รับการปล่อยตัวพร้อมเชลยคนอื่นๆ เคยถูกทรมานหลายครั้ง มีบาดแผลที่ทำให้เขาพิการทางร่างกายตลอดชีวิต เมื่อกลับสู่อเมริกายื่นขอลาออกจากราชการ
พ.ศ.2524 ย้ายไปอยู่รัฐแอริโซนา หันเข้าสู่ถนนการเมือง ได้รับเลือกเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกาดำรงตำแหน่ง 2 วาระ
พ.ศ.2530 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐ และชนะการเลือกตั้งต่อเนื่องถึง 5 สมัย
25 สิงหาคม พ.ศ.2561 เสียชีวิตในรัฐแอริโซนาจากมะเร็ง ศพถูกฝังในสุสานแห่งชาติกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในฐานะวีรบุรุษสงคราม
ที่เล่ามาแบบย่อๆ นี้ ผู้เขียนขอให้คนไทยทั้งหลายได้ทราบว่า ในคุกฮานอยฮิลตัน เคยมีนายทหารไทย ชื่อ ชัยชาญ หาญนาวี เป็นเชลยศึกอยู่ด้วยราว 9 ปีเศษ กลายเป็น “เพื่อนรัก” ร่วมเรือนจำกับ จอห์น แมคเคน
ชัยชาญ หาญนาวี เป็นชาวพระนครศรีอยุธยา เข้ารับราชการเป็นนายสิบทหารพลร่มของกองรบพิเศษที่ 1 ค่ายวชิราลงกรณ์ ลพบุรี ถูกส่งไปรบในลาวเป็นพลวิทยุ
21 พฤษภาคม พ.ศ.2508 นักบินอเมริกันกลุ่มแอร์อเมริกา (Air America) ชวนสิบโทชัยชาญขึ้นเครื่องบินขนาดเล็กไปเป็นผู้ชี้เป้า-นำทางจากเมืองเชียงลมไปส่งเสบียงตามฐานในลาว เครื่องถูกยิงตก ทหารในเครื่องเสียชีวิตหมด เหลือเพียงผู้หมู่ชัยชาญกับนักบิน ทั้ง 2 ถูกนำไปขังคุกที่ค่ายเดียนเบียนฟู
ถูกจับใส่ขื่อคาอยู่นานถึง 2 ปี 10 เดือน ต้องนอนแช่ขี้แช่เยี่ยวของตัวเอง ได้อาบน้ำเดือนละครั้ง ไม่ได้พูดไม่ได้คุยกับใครเป็นเวลาถึง 5 ปี เนื่องจากถูกขังเดี่ยว และสุดท้ายเข้าห้องมืดอีก 6 เดือน
ต่อมา…ถูกส่งไปคุกฮานอยฮิลตัน รับหน้าที่เป็นคนทำความสะอาด จึงทำให้ได้พบปะเชลยศึกคนอื่น จนไปเจอเชลยนักบินเวียดนามใต้ ทีแรกก็พูดกันไม่รู้เรื่องต้องใช้ภาษามือกัน จนกระทั่งเรียนรู้ภาษาได้บ้าง นายทหารเวียดนามก็ให้ช่วยแอบลักลอบส่งกระดาษรหัสลับติดต่อกับเชลยศึกคนอื่นๆ ซึ่งส่วนมากก็เป็นทหารอเมริกัน
ในที่สุดนายทหารเวียดนามก็สอน Tap Code ให้เชลยศึกจากไทย และก็พยายามศึกษาภาษาอังกฤษจนใช้สื่อสารได้ เชลยศึกชัยชาญขโมยกระดาษดินสอให้พวกเชลยศึก แม้กระทั่งลักลอบแบ่งอาหารให้เชลยคนอื่น เป็นที่ชื่นชอบของบรรดาเชลยศึกอเมริกัน
รัฐบาลอเมริกาเจรจากับเวียดนามเหนือให้ปล่อยตัวเชลยศึกเป็นผลสำเร็จ ชัยชาญยังไม่ได้รับการปล่อยตัว แต่ถูกส่งไปที่เมือง Pho Yen ซึ่งมีเชลยศึกทหารไทยอยู่ 216 นาย
หลายเดือนต่อมา อดีตเชลยศึกชาวอเมริกันที่ชัยชาญช่วยพวกเขาไว้ก็เริ่มติดตามหา อดีตเชลยศึกเหล่านี้จึงรวมตัวกันไปร้องเรียนต่อรัฐบาลสหรัฐให้ช่วยตามหา สุดท้ายหาเจอและนำไปสู่การเจรจากันระหว่างอเมริกา-ไทย และขอให้เวียดนามเหนือปล่อยเชลยศึกทหารไทย
ถูกกักขังเป็นเวลา 9 ปี 4 เดือน 8 วัน ซึ่งเป็นเชลยศึกที่ถูกกักขังนานที่สุดในสงครามเวียดนาม กองทัพไทยแทงบัญชี “หายสาบสูญ” และให้ยศ “พันโท” ไปแล้ว แต่เมื่อไม่เสียชีวิต กลับคืนสู่มาตุภูมิจึงให้ดำรงยศนั้นไว้
ต่อมาทางราชการพิจารณาเลื่อนยศให้เป็น “พันเอกชัยชาญ”
วีรบุรุษท่านนี้ได้รับการยกย่องเชิดชูจากกองทัพสหรัฐสูงสุด เมื่อครั้งวุฒิสมาชิก จอห์น แมคเคน ลงสมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรครีพับลิกัน พันเอกชัยชาญเคยให้สัมภาษณ์ว่าเคยเป็นเชลยศึกอยู่ด้วยกัน พักห้องขังติดกัน ทหารไทยเลยเป็นคนกลางส่งข่าวให้กันโดยเคาะเป็นรหัสมอร์ส
กระทรวงกลาโหมสหรัฐเชิญท่านไปรับเหรียญกล้าหาญชั้น Silver Star จัดพิธีสวนสนามกองทหารเกียรติยศเพื่อเป็นเกียรติ จัดให้แขวนรูปถ่ายของท่าน
ไว้ที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐใน Hall of Heros ท่านเป็นทหารต่างชาติเพียงคนเดียวที่ได้รับเกียรติอันสูงส่งนี้
พันเอกชัยชาญ หาญนาวี วีรบุรุษของกองทัพสหรัฐ ป่วยเนื่องจากเส้นเลือดใหญ่ในสมองอุดตัน จากนั้นเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาล และเสียชีวิตอย่างสงบในเวลา 23.45 น. ของวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ในวัย 87 ปี
ขอแสดงความเคารพ ยกย่องต่อทหารหาญทุกท่าน…
พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก