กับดักเผด็จการ ทำไมเวลาเผด็จการหมดอำนาจแล้ว ถึงร่วงแรงกว่าประชาธิปไตย? โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ในการเรียนรัฐศาสตร์ เรามักจะสนใจศึกษาเปรียบเทียบระบอบการเมืองที่แตกต่างกัน และศึกษาการทำงานของระบบการเมือง ว่ามีการทำงานอย่างไร

สิ่งหนึ่งที่เราคุ้นชินก็คือ การศึกษาการเปลี่ยนผ่านจากระบอบการเมืองหนึ่งไปอีกระบอบการเมืองหนึ่ง และการศึกษาว่าระบบการเมืองหนึ่งมันทำงาน/ไม่ทำงานอย่างไร (คือเมื่อไม่ทำงานก็คือเมื่อไม่ทำหน้าที่ตามโครงสร้างที่ระบุเอาไว้)

อย่างไรก็ดีนักรัฐศาสตร์มักอธิบายได้ว่าเผด็จการล่มสลายลงได้อย่างไร (ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ การอธิบายว่าระบบการเมืองแบบเผด็จการมันไม่ทำงานแล้ว หรืออธิบายว่าขาดความชอบธรรม หรืออธิบายว่าการล่มสลายลงนั้นเป็นเพราะมีการลุกฮือขึ้นของประชาชนในการขับไล่เผด็จการ เพราะเผด็จการนั้นผิดพลาดอย่างนู้นอย่างนี้)

หรือนักรัฐศาสตร์อาจจะสนใจพัฒนาหรือสร้างสถาบันทางการเมืองภายหลังจากที่เผด็จการล่มสลายลง ด้วยตระหนักว่าประชาธิปไตยนั้นไม่ได้เท่ากับการขับไล่เผด็จการ หรือประชาธิปไตยนั้นไม่ได้เท่ากับการเลือกตั้ง แต่ต้องมีเงื่อนไขและสถาบันมากมายที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อทำให้ประชาธิปไตยนั้นยั่งยืนและมีคุณภาพ

Advertisement

ที่ผมอยากจะพูดถึงในวันนี้ก็คือ ยังไม่ค่อยมีคำอธิบายเท่าไหร่ว่าทำไมเวลาเผด็จการร่วงจากอำนาจมันถึงได้หนักหน่วง ถึงกับเก็บข้าวของไม่ทัน หรือเดินตรอกออกถนนไม่ได้อยู่มากกว่าระบอบที่ผู้นำที่เป็นประชาธิปไตยถูกโค่นล้ม (พูดแบบขำกึ่งเศร้า ก็คือ แบบหลังส่วนหนึ่งก็มักจะโดนฆ่าตายด้วยก็มี)

อันนี้ต้องนับพวกที่เป็นประชาธิปไตยแบบในนามแต่ถูกขับไล่เพราะเป็นเผด็จการและลุแก่อำนาจด้วยนะครับ ว่าทำไมเวลาร่วงแล้วร่วงหนัก หนักแบบหมอไม่รับเย็บ หรือถ้าเป็นตลาดหุ้นก็ร่วงกันแบบแขวนป้ายห้ามซื้อขายกันไม่ทัน

ผมมีคำอธิบายง่ายๆ ที่เราคาดไม่ถึง ทั้งที่คนที่เคยเรียนรัฐศาสตร์ทุกคนก็ผ่านหูผ่านตากันมาแล้ว แต่เราดันไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ประเด็นที่เราผ่านตาทุกวันเท่าไหร่

Advertisement

นั่นคือในทฤษฎีระบบ (การเมือง) ที่เราอธิบายว่าระบบการเมืองมันทำงานอย่างไร มีส่วนนำเข้า มีระบบการเมือง มีส่วนนำออก และมีส่วนที่เป็นการตอบกลับไปที่ส่วนนำเข้านั้น เรามักจะมองว่าทฤษฎีนี้แสนจะเชย อธิบายแบบ “หน้าที่นิยม” คือ เมื่อระบบไม่ทำหน้าที่ก็พัง แต่สิ่งที่เราละเลยไปก็คือ การพูดถึงประวัติทฤษฎีระบบการเมืองว่ามันมาจากทฤษฎี “การสื่อสาร” นั่นแหละครับ เพราะลูกศรที่เราวาดกันทุกเมื่อเชื่อวันในแผนภาพดังกล่าวนั้นมันคือลูกศรของอะไร

เห็นจะมีแต่สาขารัฐประศาสนศาสตร์หรือบริหารธุรกิจที่เอาจริงเอาจังกับการเรียนทฤษฎีระบบจะเข้าใจได้ง่ายว่า ลูกศรที่พูดถึงนั้นก็คือการไหลเวียนของข้อมูล หรือคำสั่งนั่นแหละครับ

ขอโทษที่สองย่อหน้าที่แล้วเข้าไปในสาขาวิชาลึกไปสักหน่อย จะขอไต่ระดับกลับมาใหม่ที่ผิวหน้าของคำอธิบาย ซึ่งเข้าใจได้ไม่ยาก นั่นก็คือ เมื่อระบอบเผด็จการนั้นล่มสลายลง เหตุผลที่เวลาล่มนั้นมันล่มสลายก็เพราะข้อมูลมันไม่ไหลจริงๆ จากข้างล่างขึ้นข้างบนไงครับ ระบอบเผด็จการนั้นมีระบบที่สำคัญก็คือข้อมูลมันไหลจากข้างบนลงสู่ข้างล่างมากกว่า

ในการพูดเช่นนี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า ตัวเผด็จการที่นั่งอยู่ในตึกบัญชาการ หรือออกอากาศทำทีว่าพบกับ

ประชาชนบ่อยๆ นั้น ไม่ได้เป็นทั้งหมดของระบอบเผด็จการครับ เพราะเขาพูดอยู่ฝ่ายเดียว หรือเขาเชื่อว่า สามารถ

“สั่งการ” ลงไปถึงประชาชนที่เขาปกครองได้

ไม่ว่าจะผ่านกลไกที่มีอยู่เดิม เช่นทหาร หรือระบบราชการ หรือที่เขาเชื่อว่าสามารถสั่งการกับสื่อให้ไปพูดกับประชาชนได้

สิ่งที่ต้องการอธิบายให้เข้าใจก็คือ เวลาที่เผด็จการมันล้มเนี่ย มันไม่ได้ล้มแค่เพราะมีประชาชนมาชุมนุมขับไล่ แต่มันล้มเพราะข้อมูลมันไหลแบบไม่เป็นจริง เผด็จการนั้นมีจุดขายว่าสามารถจัดการทุกอย่างได้อย่างเด็ดขาด และเผด็จการนั้นไม่คดไม่โกง (จริงหรือเปล่าไม่รู้ ก็ว่ากันไป ผมบอกตรงๆ ว่า เผด็จการมีหลายแบบ บางคนก็ไม่ได้คดได้โกงจริงๆ ก็มี) หรือจะพูดง่ายๆ ว่า เผด็จการนั้นมีจุดขายในเรื่องข้อมูลอยู่สองเรื่อง

หนึ่ง เมื่อเผด็จการเข้าสู่อำนาจ จะอ้างว่าตนนั้นรู้ข้อมูลดีกว่าคนอื่น จึงต้องตัดสินใจที่จะกระทำอย่างนั้นอย่างนี้

สอง เมื่อเผด็จการอยู่ในอำนาจ จะใช้อำนาจเด็ดขาด ด้วยการสร้างให้เห็นถึงการสั่งการที่เฉียบขาด ซึ่งการสั่งการต่างๆ ก็เปรียบเสมือนกับการส่งข้อมูลจากข้างบนลงมาสู่ข้างล่าง

กล่าวอีกอย่างก็คือ จุดที่สำคัญที่จะทำให้เผด็จการอยู่รอดนั้น นอกจากจะอยู่ที่ตัวเผด็จการและการบริหารความสัมพันธ์ที่มีระหว่างคณะปกครองด้วยกันเอง และระหว่างคณะปกครองเผด็จการกับพันธมิตรทางอำนาจของพวกเขาแล้ว ยังจะต้องอยู่ที่สิ่งที่เราเรียกว่างานการข่าว ซึ่งจะต้องทำหน้าที่ส่งข้อมูลที่เป็นจริงขึ้นสู่การตัดสินใจของผู้เผด็จการ

คำถามก็คือ ข่าวที่ส่งถึงตัวเผด็จการนั้นมันจะเป็นข่าวที่เป็นจริง หรือจะเป็นข่าวที่เผด็จการพอใจอยากจะฟังนั่นคือประการแรก

ในประการที่สอง ความสามารถในการหาข่าว ตีความข่าวนั้น นอกจากสำคัญแล้ว การบริหารจัดการการข่าวนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ลองคิดดูว่า ถ้าข่าวที่ถูกส่งขึ้นไปนั้นไม่ใช่ความจริง แต่เป็นข่าวที่ต้องการให้ผู้ปกครอง และพันธมิตรทางการเมืองของผู้ปกครองพึงใจ และเมื่อผู้ปกครอง พันธมิตรทางการเมืองของพวกเขา และทีมโฆษกของฝ่ายเผด็จการเองนั้นจำต้องแถลงหรือสื่อสารกับประชาชน โดยเฉพาะประชาชนผู้ถูกพรากอำนาจไปนั้น ถามว่าระบอบเผด็จการจะอยู่ได้อย่างไร และต้นทุนในการอยู่ในอำนาจนั้นอาจจะเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ถ้าเทียบกับต้นทุนในการแก้ปัญหาที่ย่อมจะต้องถูกเกลี่ยไปสู่ต้นทุนของการอยู่ในอำนาจมากขึ้น

เห็นไม่ยากหรอกครับ ลองดูงบประมาณด้านการประชาสัมพันธ์และด้านความมั่นคง ที่เพิ่มขึ้นในแง่ปฏิบัติด้านข้อมูลข่าวสาร ซึ่งต้องมาตั้งคำถามกันว่ามันเป็นไปเพื่อการส่งข้อมูลที่ถูกต้อง หรือเป็นเรื่องของการผลิตข้อมูลที่อยากฟัง และการจัดการเสียงที่ตนเองไม่อยากได้ยินกันแน่

เรื่องที่โหดร้ายที่สุดเรื่องหนึ่งในสังคมเผด็จการนั้นอาจเป็นเรื่องที่เรารู้ๆ กันอยู่ นั่นก็คือ การตัดสินใจของจอมเผด็จการที่มีต่อประชาชนของเขาเพื่อแสดงความเฉียบขาดทางอำนาจที่เขามีในมือ

แต่อีกเรื่องที่โหดร้ายไม่แพ้กัน เมื่อย้อนไปพิจารณาก็คือ เมื่อจอมเผด็จการนั้นไม่รู้ตัวว่าสิ่งที่ตนได้รับข้อมูลจากพวกตัวเองแล้วบอกให้ประชาชนนั้น ประชาชนเขารู้สึกอย่างไร และเขามี “ศิลปะ” ในการใช้ชีวิตอย่างไรในสังคมเผด็จการให้เผด็จการเข้าใจไปเองในแบบที่เผด็จการอยากเข้าใจ ทั้งที่มันไม่ใช่ความจริง

เวลาที่เผด็จการเปิดให้มีการเลือกตั้งแล้ว ผลการเลือกตั้งมันตอกหน้าเผด็จการทหารพม่าแบบเก็บของกลับบ้านไม่ทัน หรือเมื่อยุโรปตะวันออกเกิดการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ที่อ้างว่าเป็นเผด็จการของประชาชนชนชั้นกรรมาชีพนั้น เวลาพังนั้นแทบจะพังข้ามคืน

ผมยังจำได้ถึงวันที่ข่าวสามมิติไปทำข่าวการปิดเคมเปญหาเสียงของพรรครัฐบาลทหารพม่าในคืนก่อนการเลือกตั้ง ที่บรรยากาศดูจะเต็มไปด้วยชัยชนะ และความหวังถ้าอยู่ในพื้นที่นั้น แล้วทีมข่าวสามมิติก็เริ่มเดินถามประชาชน ซึ่งมีประชาชนตอบคำถามอยู่สองอย่าง หนึ่งคือบอกว่าจะเลือกพรรครัฐบาล

สองคือบอกว่า ยังไม่แน่ใจว่าจะเลือกพรรคไหน

คำถามคือในสังคมเผด็จการทหารของพม่านั้นการบอกว่าไม่แน่ใจว่าจะเลือกพรรคไหนนั้นคือเขาบอกว่าจะไม่เลือกพรรคไหนจริงหรือเปล่า? หรือนั่นคือคำตอบแล้วว่าเขาไม่เลือกพรรครัฐบาล?

หรือประเด็นที่มีการพูดถึงก่อนที่สังคมยุโรปตะวันตกล่มสลาย อย่างที่งานของอดีตประธานาธิบดีเชค คือ ฮาเวล เคยกล่าวถึงสังคมหลังเผด็จการเอาไว้โดยผมขอสรุปคร่าวๆ ว่า ประเด็นที่สำคัญของสังคมเผด็จการก็คือ ในขณะที่สังคมเผด็จการนั้นเชื่อว่าตนได้พูดความจริง และได้ทำทุกอย่างเพื่อให้ความจริงนั้นดำรงอยู่ในจิตใจของประชาชน สิ่งที่เผด็จการได้รับก็คือ เผด็จการนั้นบีบบังคับให้เกิดสถานการณ์ที่คนต้องโกหกกับเผด็จการ และไม่พูดความจริงซึ่งกันและกัน เพื่อให้พวกเขาได้อยู่รอดในสังคมนั้น คืออยู่รอดโดยไม่ถูกจับตา อยู่รอดในความหมายของการเป็นคนปกติ ดังนั้นในสังคมเผด็จการนั้นประชาชนจะมีลักษณะที่แปลกแยกมากขึ้นจากความจริงและกับตัวเขาเอง

เช่นการที่เจ้าของร้านค้าชูป้ายสนับสนุนพรรคเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ นั้นอาจจะไม่ได้แปลว่าเขาสนับสนุนพรรค เพราะมันอาจจะแปลว่าพวกเขานั้นต้องการให้พรรคเห็นว่าเขาทำตามสิ่งที่พรรคต้องการ ดังนั้นจงอย่าได้จับจ้องพวกเขาต่อไปเลย จงปล่อยให้เขาได้ดำเนินชีวิตตามปกติต่อไปเถิด

ประเด็นก็คือ ข้อมูลเหล่านั้นบางทีมันอาจจะดูไม่มีประโยชน์อะไรกับระบอบเผด็จการ เพราะวิธีการข่าวของเผด็จการอาจจะต้องการข้อมูลประเภทที่เชื่อว่าคนที่มีอิทธิพลทางความคิดกับผู้คน และเชื่อว่าพวกนั้นแหละที่ปลุกเร้าทำให้ประชาชนนั้นมีพฤติกรรมในแบบที่กระด้างกระเดื่องกับเผด็จการ กล่าวคือ เชื่อว่าจะมีคนที่ส่งข้อมูลผิดๆ ให้กับประชาชน และคนเหล่านั้นต้องมีเบื้องหลัง

“กับดัก” ของเผด็จการ จึงอยู่ในเรื่องของการพังทลายด้วยการไม่เข้าใจธรรมชาติของการสื่อสารและการเคลื่อนที่ของข้อมูลนั้นแหละครับ เพราะเชื่อในสงครามจิตวิทยามากไป เพราะเชื่อในปฏิบัติการตอบโต้ข้อมูลข่าวสารมากไป เชื่อว่าทีมโฆษกจะต้องดีและเก่งในการโต้ตอบ

หรือเชื่อว่าการมีนักหนังสือพิมพ์ประเภทที่คอยโจมตีคนอื่นด้วยการปลุกระดมและกล่าวหาคนอื่นว่ามีเบื้องหลัง ทั้งที่ไม่ได้หัดมีมุมมองใหม่ๆ ข้อมูลใหม่ๆ และพัฒนาความรู้ความสามารถอะไร นอกจากทำให้ทุกเรื่องเป็นเรื่องของความลึกลับและฉันคือผู้เปิดโปงความลึกลับด้วยการเต้าข่าวในนามของการทำเพื่อชาติบ้านเมือง เพื่อทำให้ข้อมูลข่าวสารนั้นเป็นไปในทิศทางที่ตนต้องการ และทำให้สามารถสั่งการได้สำเร็จ กองเชียร์ประเภทนี้แหละครับที่ยิ่งทำให้เผด็จการติดกับดักมากขึ้นเรื่อยๆ อาจจะมากกว่าพวกที่สอพลออย่างจงใจด้วยซ้ำ

คำว่าประชาชนนั้นตื่นรู้แล้ว ไม่ใช่แค่ว่าเขามีความเข้าใจที่ถูกต้องเท่านั้นหรอกครับ แต่มันกินความไปถึงการที่เขาสามารถที่จะส่งข้อมูลข่าวสารผิดๆ กลับไปให้เผด็จการติดกับดักที่ยิ่งอยู่ก็ยิ่งห่างไกลความเป็นจริงได้มากขึ้นทุกวัน นั่นก็คือสภาพที่ข้อมูลที่ส่งกลับไปหาตัวเผด็จการนั้นมันเป็นข้อมูลที่ “เห็นแต่ไม่จริง” มากขึ้นเรื่อยๆ นี่ยังไม่ได้นับเรื่องของการที่คนสมัยนี้ใครๆ ก็ส่งข้อมูลถึงกันได้ ไม่จำเป็นต้องเชื่อว่าการผูกขาดอาชีพการสื่อสารนั้นเป็นของคนกลุ่มเดียวที่มีอภิสิทธิ์มากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ อีกต่อไป

วันนี้สังคมไม่ได้อยู่ในยุคที่รอฟังมุมมองใหม่ๆ เท่านั้นหรอกครับ หลายครั้งที่ผู้รับสารนั้นตอบง่ายๆ ว่าที่เขาชื่นชอบคนใดคนหนึ่งนั้นไม่ใช่เพราะว่าคนเหล่านั้นชี้ทางสว่างอะไรให้ แต่เพราะว่ามันตรงใจกับเขา ซึ่งก็แปลว่าเขาก็คิดได้เช่นกัน มันเป็นเรื่องของการแบ่งปันความหมายมากกว่าการเดินตามกันอย่างไม่ลืมหูลืมตาครับผม

กล่าวย้ำอีกครั้งก็คือ กับดักของเผด็จการนั้นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการที่เผด็จการจัดการกับข้อมูลข่าวสารไม่ได้ ไม่ใช่แค่ว่าควบคุมไม่ได้เพราะมีคนอื่นส่งข้อมูลแข่ง แต่เพราะตัวเองไม่ได้รับรู้ข้อมูลจริงๆ และที่สำคัญ ยิ่งส่งข้อมูลใหม่ๆ ออกมาสู้สังคมก็ยิ่งห่างไกลจากความเป็นจริงประหนึ่งกับเพิ่มดอกไม้จันทน์ไว้ให้รอบตัวเองรอจังหวะที่เพลิงมันจะจุดติดด้วยเรื่องเล็กๆ ที่อาจจะดูไม่สำคัญราวกับสะเก็ดไฟเล็กๆ เท่านั้นเอง

เรื่องอีกเรื่องที่เราไม่ค่อยได้มองจากมุมมองของการสื่อสารก็คือ ในระบอบเผด็จการนั้นเรามักจะถูกทำให้บูชาความเด็ดขาดของจอมเผด็จการหรือองค์กรที่จอมเผด็จการนั้นสั่งการได้ โดยเฉพาะพวกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงนั้นจะมีอำนาจอยู่ในมืออย่างมหาศาล แต่สิ่งที่เป็นตัวเร่งให้เผด็จการนั้นล่มสลาย หรือวันหนึ่งเมื่อบุญเก่าหมดไป ก็ร่วงลงอย่างที่กู่ไม่กลับก็คือ การใช้อำนาจของเผด็จการนั้นบางทีกลับมีลักษณะที่กระจัดกระจาย หาต้นตอของการสั่งการไม่เจอ เช่นการที่มีหน่วยความมั่นคงนั้นอ้างว่าจำเป็นจะต้องขอความร่วมมือในการขอให้ทำอะไรหรือไม่ทำอะไรในนามของความมั่นคง หรือลดความแตกแยกนั้น บางทีก็หาหลักฐานเอกสารสั่งการไม่ได้ หรือมองอีกด้านว่าผู้ที่เป็นจอมเผด็จการนั้นไม่สามารถได้รับข้อมูลการตัดสินใจของคนที่อยู่เบื้องล่างของเขาได้เลย (ในกรณีที่เขาไม่ได้โกหก)

เมื่อการใช้อำนาจในลักษณะนี้กระจายตัวออกไป ในระยะสั้นความมั่นคงของระบอบอาจจะสูงขึ้น เพราะดูเป็นความฉับไวของการตัดสินใจในการตอบโต้ แต่ในระยะยาวแล้ว ถามว่านี่คืออีกกับดักของเผด็จการหรือไม่ที่ทำให้ฐานอำนาจต่างๆ นั้นสั่นคลอนจากการใช้อำนาจที่กระจัดกระจายเช่นนี้ ถ้าดูตัวอย่างของรัฐเผด็จการในหลายๆ ที่กลไกแบบนี้แหละครับ ทั้งตัวรัฐและประชาชนที่อ้างว่ากระทำในนามของรัฐ มันจะยิ่งทำให้เมื่อเผด็จการล่มสลายนั้นมันล่มสลายในความเร็วที่มหัศจรรย์มาก

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้ต้องการจะพูดอะไรที่เกี่ยวกับการประเมินค่าว่าระบอบเผด็จการนั้นไม่ดีเลยสักนิด เผด็จการที่ถูกมองว่าดี หรืออยู่รอดได้นั้นเขาย่อมมีประชาชนสนับสนุน และการสนับสนุนมันมาจากการที่เขาเปิดให้มีการพูดความจริงในระบอบได้มากกว่าที่จะลดตัวมาเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน หรือกล่าวหาประชาชนรายวันว่าประชาชนนั้นไม่รู้เรื่องอะไร หรือประชาชนนั้นตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของผู้อื่น

กับดักที่สำคัญของเผด็จการก็คือการที่เผด็จการเองนั่นแหละครับไม่รู้ว่าอะไรจริงหรือไม่จริง เพราะแสดงให้เห็นกระบวนการรับฟังและเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ตนรับฟังให้เป็นรูปธรรมอะไรไม่ได้ แต่ดันไปมุ่งเน้นการตอบโต้และความเด็ดขาดมากจนเกินไปนั่นแหละครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image