พ.ศ.2484 โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

ดินแดนเขมรที่ได้คืนมาแบ่งการปกครองเป็น 3 จังหวัด

เมื่อ 2-3 วันมานี้ลูกศิษย์คนหนึ่งของผู้เขียนได้มาเยี่ยมเยือนที่บ้าน ซึ่งเธอได้ถือหนังสือแปลเรื่อง “1984” ที่เขียนโดย จอร์จ ออร์เวลล์ ติดมือมาด้วย นัยว่ายังอ่านติดพันอยู่ ผู้เขียนเลยเย้าไปว่า อ่านเรื่อง “1984” ของฝรั่งแล้วรู้เรื่อง “2484” ของไทยบ้างหรือเปล่า? จึงเป็นที่มาของบทความเรื่องนี้ ซึ่งก็เหมาะสมกับจังหวะเวลาพอดี เพราะอีกไม่กี่วันก็เป็นวันครบรอบ 76 ปีของการประกาศใช้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2483 โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พ.ศ.2484 เป็นปีแห่งประวัติศาสตร์สำหรับประเทศไทยจริงๆ เพราะนอกจากจะเป็นปีแรก ครั้งแรกที่ประเทศไทยเริ่มนับเอาวันขึ้นปีใหม่มาเป็นวันที่ 1 มกราคม แทนวันที่ 1 เมษายนที่ถือกันมาตั้งแต่สมัย ร.5 นอกจากนี้ก็อาจถือได้ว่าเป็นปีแห่งการเสมอตัวของประเทศไทยที่รบกับฝรั่งเศสตั้งแต่ต้นปีจนได้ดินแดนที่เคยเสียไปให้กับฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ 5 กลับคืนมาเป็นดินแดนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขงคือหลวงพระบาง, จำปาศักดิ์, ศรีโสภณ, พระตะบอง และดินแดนในกัมพูชา โดยได้นำมาแบ่งเป็น 4 จังหวัดคือ จังหวัดพระตะบอง, จังหวัดพิบูลสงคราม, จังหวัดนครจำปาศักดิ์ และจังหวัดลานช้าง รวมพื้นที่ประมาณ 24,039 ตารางกิโลเมตร หรือร่วม 15 ล้านไร่ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2484 แต่แล้วก็ต้องคืนกลับไปให้กับฝรั่งเศสทั้งหมดเมื่อ พ.ศ.2489

ดินแดนเขมรที่ได้คืนมาแบ่งการปกครองเป็น 3 จังหวัด ตราประจำ จ.พิบูลสงคราม (น่ารักดี) กองทัพญี่ปุ่นบุกไทย 8 ธันวาคม พ.ศ.2484

ตราประจำ จ.พิบูลสงคราม(น่ารักดี)
ตราประจำ จ.พิบูลสงคราม(น่ารักดี)

 

Advertisement

แต่ก็ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 เช่นเดียวกันที่กองทัพญี่ปุ่นก็ได้ส่งกองกำลังบุกเข้าประเทศไทยทางชายแดนด้านภาคตะวันออก และยกพลขึ้นบกทางชายฝั่งทะเลอ่าวไทยจังหวัดปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และตำบลบางปู สมุทรปราการ รวมทั้งที่จังหวัดพิบูลสงครามด้วย

โดยทหาร ตำรวจ ยุวชนทหาร ลูกเสือ อาสาสมัครต่างๆ ในจังหวัดเหล่านั้นได้ต่อสู้อย่างเหนียวแน่นในทุกแห่งที่ถูกโจมตี และได้พลีชีพเพื่อชาติเป็นจำนวนมาก เนื่องจากไทยยังไม่พร้อมที่จะรบกับกองทัพญี่ปุ่นซึ่งมีกำลังและยุทโธปกรณ์มากมายมหาศาล ประกอบกับญี่ปุ่นได้แจ้งความประสงค์เพียงแค่เดินทัพผ่านประเทศไทย โดยมีสัญญาว่าจะเคารพเอกราช อธิปไตยของไทย รัฐบาลไทยจึงมีคำสั่งให้หยุดยิงและยุติการสู้รบลง โดยยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยได้ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 นั้นเอง

กองทัพญี่ปุ่นบุกไทย 8 ธันวาคม พ.ศ.2484
กองทัพญี่ปุ่นบุกไทย 8 ธันวาคม พ.ศ.2484

เนื่องจากญี่ปุ่นทำการรบรุกอย่างรวดเร็วจนสามารถยึดครองดินแดนส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้ได้ ความได้เปรียบของญี่ปุ่นในสงครามครั้งนี้ทำให้รัฐบาลไทยตกลงทำสัญญาเป็นพันธมิตรทางทหารกับญี่ปุ่น รวมทั้งพันธมิตรทางการรุกรานและการป้องกันเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2484 ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยต้องประกาศสงครามอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2485 รัฐบาลไทยได้ให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่นตามข้อเรียกร้อง ซึ่งเป็นผลให้ญี่ปุ่นยอมให้การบริหารประเทศของรัฐบาลไทยดำเนินไปตามปกติ และผลของการเป็นพันธมิตรทางการรบกับญี่ปุ่นก็เกือบทำให้ไทยเราต้องสูญเสียเอกราชให้กับอังกฤษภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง แต่ไทยเราก็เอาตัวรอดไม่ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ แบบว่าเสมอตัวจากการเป็นพันธมิตรร่วมรบกับญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้แพ้ในสงครามโลกครั้งนั้น

ที่มาของการเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่ของไทยจากวันที่ 1 เมษายนมาเป็นวันที่ 1 มกราคม มีประวัติความเป็นมาดังนี้คือ นับแต่ปี พ.ศ.2431 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯเปลี่ยนจากปฏิทินจันทรคติมาใช้ปฏิทินสุริยคติแบบสากล โดยกำหนดแบ่งให้ 1 ปีมี 12 เดือน และในแต่ละเดือนจะมี 28-31 วันตามปฏิทินสากล ทรงให้กรมพระยาเทววงศ์วโรปการตั้งชื่อเดือน ได้แก่เดือนแรกของปีคือเดือนเมษายน จนถึงเดือนสุดท้ายของปีคือเดือนมีนาคม โดยใช้ 1 เมษายน พ.ศ.2432 เป็นวันขึ้นปีใหม่

ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการปรับเปลี่ยนปฏิทินอีกครั้ง โดยมีหนังสือประกาศให้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2483 โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ และการใช้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่ โดยเริ่มใช้ในปี พ.ศ.2484 เป็นต้นมา

ครับ! จึงเป็นอันว่าปี พ.ศ.2483 จึงมีเพียง 9 เดือนเท่านั้น เนื่องจากตัด 3 เดือนสุดท้ายของปี 2483 ออก ทำให้เดือนมกราคม 2483, กุมภาพันธ์ 2483 และมีนาคม 2483 หายไปนั่นเอง

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image