สุจิตต์ วงษ์เทศ : คนป่วยไข้ศิริราช ต้องการเพิ่มพื้นที่ตรวจรักษาในตึกผู้ป่วยนอก ไม่อยากได้สะพานคนเดินและทางจักรยานข้ามเจ้าพระยา

ถนนอรุณอมรินทร์ หน้าตึกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลศิริราช มองจากสี่แยกไปทางสะพานอรุณอมรินทร์ (ตอนบ่ายแก่ๆ วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม 2559)

คนป่วยคนไข้ต้องการเพิ่มพื้นที่ตรวจรักษาพยาบาลในตึกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลศิริราช อยู่ด้านติดถนนอรุณอมรินทร์ ฝั่งตะวันออก

ทิศเหนือ เป็นสะพานอรุณอมรินทร์ ข้ามทางรถไฟ กับคลองบางกอกน้อย มีการจราจรแออัดยัดเยียดเบียดเสียดอย่างยิ่ง ด้วยเหตุหลายอย่าง

ทิศใต้ ติดสี่แยก ตัดกับถนนวังหลัง (ปลายถนนด้านตะวันออกไปจรดแม่น้ำเจ้าพระยาที่วังหลัง ฝั่งตรงข้ามท่าพระจันทร์)

  1. ทุกวัน (จันทร์-ศุกร์) ในตึกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลศิริราช มีผู้ป่วยจากทุกสารทิศ เริ่มทยอยไปยืนรอคิวตั้งแต่ตี 4 เพื่อรับบัตรเจาะเลือดที่จะเปิด 6 โมงเช้า

พอหลัง 6 โมงเช้า จะเห็นผู้ป่วยและญาตินับร้อยนับพันคน แออัดยัดเยียดขวักไขว่ไปมา ด้วยอาการเกิด แก่ เจ็บ (เกือบจะ) ตาย ที่นั่งพักไม่พอรอตรวจรักษา อากาศอับ เพราะคนแน่นถึงชั้น 4

Advertisement

ผมเป็นคนป่วยไข้หลายโรคของหมอศิริราช ต้องปฏิบัติตามที่บอกมานี้ทุกเช้าตรู่อย่างทุลักทุเลเป็นประจำเมื่อหมอนัดตรวจ จึงเห็นตำตาตำใจ ไม่รู้จะหารือใครได้? ว่าต้องการพื้นที่เพิ่มเพื่อตรวจรักษาพยาบาลในตึกผู้ป่วยนอก ยังไม่อยากได้ทางคนเดินกับทางจักรยานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะส่วนมากเดินทางได้สะดวกด้วยรถยนต์ ยกเว้นคนที่มาทางสี่แยกตอนจะเลี้ยวเข้าตึกผู้ป่วยนอก

  1. ถนนอรุณอมรินทร์ด้านหน้าโรงพยาบาลศิริราช การจราจรหนาแน่นตลอดวัน ตั้งแต่เช้าถึงเย็นค่ำ เนื่องเพราะบ้านเมืองทันสมัย แต่ไม่มีพัฒนาการเป็นสมัยใหม่ จึงไม่ลงทุนล่วงหน้าสร้างทางสะดวกเข้าโรงพยาบาล ซึ่งต้องมีคนป่วยไข้เข้าออกมาก

รถที่มีผู้ป่วยแล่นทางฝั่งตรงข้ามตึกผู้ป่วยนอก ต้องเลี้ยวขวายูเทิร์นเข้าตึกผู้ป่วยนอก เพราะไม่มีทางเลือก จึงมีรถติดคับคั่งเพิ่มขึ้นบ่อยๆ ตามจังหวะ

คนป่วยคนไข้ไปศิริราชทางรถยนต์เกือบทั้งนั้น มีน้อยที่ลงเรือข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จึงอยากได้การแก้ปัญหาจราจรหน้าศิริราช แม้มีโครงการฯอยู่แล้ว แต่อีกหลายปีกว่าจะเริ่มลงมือจริง และอีกหลายปีกว่าจะเสร็จ

Advertisement

ดังนั้นขณะนี้ขอบรรเทาก่อนได้มั้ย? แทนจะไปสร้างสะพานข้ามแม่น้ำคนเดินและจักรยานบริการคนชั้นกลางใน กทม. หยิบมือเดียว

  1. หน้าตึกผู้ป่วยนอก สะพานข้ามถนนอรุณอมรินทร์สูงและชัน มีคนขึ้นสะพานข้ามถนนบ้าง แต่ไม่มาก คนเดินข้ามกับพื้นถนนมากกว่า ทำให้รถติดขัดเพิ่มอีก

ถ้ามีบันไดเลื่อนเหมือนย่านเพลินจิต จะช่วยคนป่วยไข้ได้มาก ควรลงทุนตรงนี้ จึงไม่อยากได้สะพานคนเดินกับทางจักรยานข้ามเจ้าพระยา

สะพานข้ามเจ้าพระยา ศิริราช-ท่าพระจันทร์

นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผอ. สำนักงานออกแบบ สำนักการโยธา (สนย.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการจ้างที่ปรึกษา สำรวจ และออกแบบสะพานคนเดินและทางจักรยาน ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าพระจันทร์-ท่าศิริราช ว่า

สนย. ได้ลงนามว่าจ้าง 4 บริษัทที่ปรึกษา เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 59 วงเงินงบประมาณ 49.4 ล้านบาท ระยะเวลา 9 เดือน

ที่ปรึกษาได้สรุปผลการศึกษาเบื้องต้น จากการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 ส่วนใหญ่ประชาชนเห็นด้วยกับโครงการฯ คณะที่ปรึกษาได้ประมาณค่าใช้จ่ายในการลงทุนและดำเนินงานประมาณ 2,458.4 ล้านบาท

ยืนยันว่าไม่มีการเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างโครงการ

รูปแบบสะพานสูงเท่าสะพานพระปิ่นเกล้า ยาวประมาณ 240 เมตร กว้างประมาณ 10-15 เมตร

หลังจากนั้นในเดือน ม.ค. 60 จะนำเสนอคณะกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์พิจารณาให้ความเห็นชอบ ควบคู่กับการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ (EIA)

ผู้สื่อข่าวถามว่าก่อนหน้านี้ทางกลุ่มเฟรน ออฟ เดอะ ริเวอร์ (Friends of the river) ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กแฟนเพจ ตั้งข้อสังเกตถึงความคุ้มค่าและความจำเป็นเมื่อเทียบกับเรือข้ามฟาก

นายไทวุฒิกล่าวว่าโครงการฯ มีความคุ้มค่าแน่นอน ทั้งการอำนวยความสะดวกผู้ที่สัญจรทั้งสองฝั่ง ซึ่งเฉลี่ยต่อวัน วันละ 7,000 คน ขณะเดียวกันเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศชาติ ซึ่งเรายังไม่มีสะพานคนเดินและทางจักรยานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเลย หากก่อสร้างสะพานเสร็จจะทำให้ผู้คนสัญจรได้เห็นทัศนียภาพ ภูมิทัศน์ริมแม่น้ำอีกด้วย

นอกจากนี้ บนสะพานจะออกแบบพื้นที่สำหรับรถพยาบาลขนาดเล็กเท่ารถกอล์ฟวิ่งรับส่งผู้ป่วยข้ามฝั่งได้อย่างสะดวก โดยจะเชื่อมต่อไปยังอาคารของโรงพยาบาลศิริราช แต่ไม่ได้ออกแบบสำหรับรถยนต์ทั่วไปใช้งาน

[สรุปจากไทยรัฐ ฉบับวันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม 2559 หน้า 10]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image