กฎมนเทียรบาล โดย สมหมาย จันทร์เรือง

นับแต่ชาติไทยสถาปนาขึ้นในสุวรรณภูมินั้น สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันสูงสุดในการบริหารประเทศ แม้ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย คนไทยทั่วไปก็ยังคงเทิดทูนพระมหากษัตริย์ตลอดมา ประการสำคัญทรรศนะของคนไทยมีความคุ้นเคยกับศัพท์ในภาษาไทยที่ใช้เรียกองค์พระมหากษัตริย์ว่า “พระเจ้าอยู่หัว” หรือ “พระเจ้าแผ่นดิน”

คำทั้งสองมีผู้รู้ให้ความหมายเชิงอธิบายไว้ดังนี้ (คึกฤทธิ์ ปราโมช, 2525 : 14) พระเจ้าอยู่หัวเป็นศัพท์หนึ่งที่คนไทยเรียกพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา คำเต็มคือ “พระพุทธเจ้าอยู่หัว” มีความหมายในทางที่องค์พระมหากษัตริย์มีฐานะเป็นพระผู้เป็นเจ้า และเป็นที่เคารพสูงสุดเสมือนกับว่าประทับอยู่บนหัวของทุกคน

ส่วนคำว่า “พระเจ้าแผ่นดิน” หมายความว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าของแผ่นดินทั้งประเทศ พระมหากษัตริย์พระราชทานสิทธิให้ราษฎรเข้ามาหากินบนที่ดินของพระองค์ และสิทธิครอบครองโดยพระบรมราชานุญาตนั้น ซื้อขายหรือโอนให้แก่กันได้ โฉนดอันเป็นเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินในสมัยก่อนก็มีข้อความตามนัยนี้ แม้ในปัจจุบันทางราชการต้องการบังคับซื้อขายที่ดินจากเอกชนไปใช้การสาธารณประโยชน์ในราคาที่ทางการกำหนดก็ยังเรียกการบังคับซื้อว่า “เวนคืน” อันแสดงถึงความผูกพันอยู่กับความเป็นเจ้าของที่ดินดั้งเดิมของพระมหากษัตริย์ เมื่อทางราชการของพระองค์ต้องการเอาที่ดินไปใช้จึงเรียกว่าเวนคืนสู่เจ้าของเดิม

ความหมายและที่มาของกฎมนเทียรบาล

Advertisement

เมื่อทราบถึงฐานะของพระมหากษัตริย์ที่ทรงอยู่เหนือคนทั่วไป และทรงเป็นเจ้าของแผ่นดินทั้งประเทศแล้ว การปกครองสมัยก่อนจึงอยู่ในพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์แต่เพียงพระองค์เดียว การออกกฎระเบียบใดๆ ล้วนมาจากสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งอาจมีประยุกต์จากแบบแผนของชาติอื่นหรือทรงกำหนดขึ้นใหม่มาใช้กับสังคมไทยในแต่ละยุคสมัย โดยข้อบังคับหนึ่งที่เป็นหลักการปกครองและยังคงยึดถือปฏิบัติมาถึงทุกวันนี้ คือ “กฎมนเทียรบาล”

คำว่า “กฎมณเทียรบาล” ภาษาไทยเขียนได้ 2 แบบ คือ มณเทียรใช้ “ณ” สะกด อันเป็นภาษาที่ใช้มาแต่โบราณ นิยมใช้ในกฎหมายและรัฐธรรมนูญของไทย ส่วนมนเทียรที่ใช้ “น” สะกดเป็นภาษาที่ใช้ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม คำทั้งสองมีความหมายตามพจนานุกรม (ราชบัณฑิตยสถาน 2556 : 3 และ 4) คือ ข้อบัญญัติพิเศษเกี่ยวกับพระราชฐาน และพระราชวงศ์ หรือการปกครองภายในพระราชฐาน หรือผู้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวกับการปกครองภายในพระราชฐาน

สำหรับที่มาของกฎมนเทียรบาลนั้น ในสารานุกรมไทย (ราชบัณฑิตยสถาน, 2489-2499 : 40-45) กฎมนเทียรบาลเป็นตำราราชประเพณี ซึ่งพวกพราหมณ์นำเสนอแต่ดึกดำบรรพ์ตามหลักคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ของอินเดีย โดยกฎมนเทียรบาลนั้นแบ่งเป็น 3 แผนก คือ พระตำราว่าด้วยแบบแผน เช่น การพระราชพิธีต่างๆ พระธรรมนูญว่าด้วยตำแหน่งหน้าที่ราชการต่างๆ และพระราชกำหนดที่เป็นข้อบังคับสำหรับราชสำนัก

พระตำราว่าด้วยแบบแผนนั้นประกอบด้วยตำราพระราชานุกิจกำหนดเวลา ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤติพระราชกิจต่างๆ ประจำวันและเทศกาลอันถือว่า เป็นพระราชกรณียกิจสำคัญในการปกครองบ้านเมือง โดยแต่ก่อนอำนาจสิทธิขาดอยู่ที่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียว ตำรานี้เมื่อเอามาใช้ในประเทศของชาติอื่น อันมีประเพณีต่างกับอินเดียก็ต้องแก้ไขให้เหมาะสมแก่ภูมิประเทศ และถ้าเทียบพระราชานุกิจของพระเจ้าแผ่นดินเมื่อตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา และพระราชานุกิจที่พระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤติในกรุงรัตนโกสินทร์ เห็นได้ว่ามีการแก้ไขต่อมาอีกเป็นลำดับ พระราชานุกิจนี้มีลักษณะเป็นพระราชภาระในการปกครองประเทศประเภทหนึ่ง เป็นการส่วนพระองค์อีกประเภทหนึ่ง พระราชานุกิจในทางปกครองนั้น คือ การเสด็จออกที่ประชุมมุขมนตรีทรงพิพากษาคดี และว่าราชการบ้านเมือง นอกนั้นเป็นการส่วนพระองค์ของพระเจ้าแผ่นดิน ส่วนจะเว้นการอย่างใด หรือจะเปลี่ยนแปลงอย่างใดให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย

กฎมนเทียรบาลแผนกพระธรรมนูญว่าด้วยตำแหน่งหน้าที่ราชการ และแผนกพระราชกำหนดสำหรับราชสำนักนั้น เป็นข้อบัญญัติพิเศษเกี่ยวกับพระราชฐาน และพระราชวงศ์ ทั้งเป็นข้อบังคับว่าด้วยระเบียบการปกครองในราชสำนักอีกด้วย ซึ่งมีผลบังคับเป็นกฎหมายส่วนหนึ่ง

กฎมนเทียรบาลที่เป็นหลักราชการในประเทศไทยในชั้นเดิมเกิดขึ้นเมื่อปีชวด พ.ศ.2011 (จุลศักราช 830) ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และที่ยังปรากฏอยู่นี้บกพร่องเสียหายไปมาก เพราะฉบับเดิมสูญเสียเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง (พ.ศ.2310) ถึงกระนั้นเมื่อมีการประมวลบทกฎหมายต่างๆ เพื่อจัดหมวดหมู่ และรวบรวมเป็นกฎหมายชุดเดียวกันซึ่งเรียกว่า กฎหมายตรา 3 ดวง ในรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ได้รวบรวมกฎมนเทียรบาลนี้ไว้ด้วย และพระเจ้าแผ่นดินโดยเฉพาะในพระบรมราชจักรีวงศ์สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ได้ทรงประพฤติพระราชานุกิจตามกฎมนเทียรบาลเป็นนิตย์สืบมา

อันกฎมนเทียรบาลที่เป็นระเบียบการปกครองในราชสำนักนั้น บางบทย่อมจะเลิกใช้หรือไม่มีโอกาสที่จะใช้บังคับ หรือเป็นหมันไปในตัวตามกาลสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ก็ไม่ปรากฏว่าได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประการใด จนกระทั่งในรัชกาลแห่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎมนเทียรบาลใช้บังคับเพิ่มเติมขึ้นหลายฉบับ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสมรสพระราชวงศ์แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2475 ขึ้นเป็นฉบับล่าสุด

แม้กฎหมายที่ปรากฏในกฎมนเทียรบาลจะมีไม่มากนัก แต่แท้จริงแล้วกฎหมายส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ และราชสำนักบางฉบับได้ตราขึ้นเป็นพระราชบัญญัติ และพระราชกฤษฎีกาเช่นเดียวกับกฎหมายธรรมดาและยังมีกฎมนเทียรบาลที่ไม่เป็นกฎหมายโดยตรงแต่เป็นพื้นฐานศิลปวัฒนธรรมอีกหลายด้าน เช่น การละเล่นในกฎมณเฑียรบาล (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2533 : 141) การละเล่นเหล่านั้นมิได้เพิ่งมีในสมัยที่ตรากฎมนเทียรบาล แต่เป็นสิ่งที่เคยมีมาก่อนนานแล้ว บางอย่างเป็นประเพณีดั้งเดิมของชุมชนดึกดำบรรพ์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในภูมิภาคอุษาอาคเนย์ แต่บางอย่างรับแบบแผนจากต่างประเทศ ได้แก่ อินเดีย จีน ฯลฯ มาประสมประสานกับสิ่งที่มีอยู่แต่ดั้งเดิมแล้วยกย่องเป็นการละเล่นศักดิ์สิทธิ์ สืบเนื่องมาจากบ้านเมืองยุคก่อนกรุงศรีอยุธยา คือ สมัยทวารวดี และสมัยละโว้

เมื่อพิจารณาลักษณะของกฎมนเทียรบาลตั้งแต่เริ่มมีมาสมัยบูรณาสิทธิราชย์ ซึ่งสิทธิขาดเป็นขององค์พระมหากษัตริย์แล้ว พระองค์ทรงเป็นหัวหน้าครอบครัวขนาดใหญ่ที่ปกครองไพร่ฟ้า การออกกฎหรือระเบียบใดๆ จึงเหมือนเป็นกฎหรือระเบียบของครอบครัว ที่ครอบคลุมการกระทำของสมาชิกในครอบครัวในทุกด้าน

ดังนั้น กฎมนเทียรบาลจึงเป็นกฎที่อยู่ในวิถีชีวิตของคนไทยมาตั้งแต่โบราณ แต่ที่รู้จักและยึดเป็นราชประเพณี กฎมนเทียรบาลที่เกี่ยวกับราชสำนัก เฉพาะอย่างยิ่งกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 เป็นกฎหมายลักษณะสำคัญที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับ

กฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467

กฎมนเทียรบาลลักษณะนี้ประกาศใช้ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2467 มีทั้งหมด 8 หมวด 21 มาตรา

หมวดที่ 1 มี 3 มาตรา ว่าด้วยนามและกำหนดใช้กฎมนเทียรบาลนี้

หมวดที่ 2 เป็นการบรรยายศัพท์ในมาตรา 4 ได้แก่

(1) “พระรัชทายาท” คือ เจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์ พระองค์ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สมมุติขึ้น เพื่อเป็นผู้ทรงสืบราชสันตติวงศ์สนองพระองค์ต่อไป

(2) “สมเด็จพระยุพราช” คือ พระรัชทายาทที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้นเป็นตำแหน่งสมเด็จพระยุพราช โดยพระราชทานยุพราชาภิเษกหรือโดยพิธีอย่างอื่นสุดแท้แต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

(3) “สมเด็จหน่อพุทธเจ้า” คือ สมเด็จพระบรมราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระอัครมเหสี

(4) “สมเด็จพระอัครมเหสี” คือ พระชายาหลวงของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามที่ปรากฏในประกาศกระแสพระบรมราชโองการทรงสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินี

(5) “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ” คือ พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระอัครมเหสี หรือพระมเหสีรอง

(6) “พระมเหสีรอง” คือ พระชายาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ที่ดำรงพระเกียรติยศรองลงมาจากสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินี มีพระเกียรติยศสูงต่ำเป็นลำดับกัน คือสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชเทวี พระนางเจ้า พระราชเทวี พระนางเธอ พระอัครชายาเธอ ดังนี้ เป็นต้น

(7) “พระเจ้าลูกยาเธอ” คือ พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระสนมเอก โท ตรี

(8) คำว่า “พระองค์ใหญ่” ให้เข้าใจว่าพระองค์ที่มีพระชนมายุมากกว่าพระองค์อื่นๆ ที่ร่วมพระมารดากัน

หมวดที่ 3 มี 3 มาตรา คือ มาตรา 5, 6 และ 7 ซึ่งว่าด้วยการทรงสมมตและทรงถอนพระรัชทายาทโดยขึ้นอยู่กับพระราชดำริเห็นสมควรและเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยเป็นสำคัญ

หมวดที่ 4 มี 2 มาตรา คือ มาตรา 8 และมาตรา 9 ว่าด้วยลำดับชั้นผู้ควรสืบราชสันตติวงศ์เมื่อมีเหตุอันไม่พึงปรารถนา คือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตลงโดยมิได้ทรงสมมตพระรัชทายาทไว้ให้เป็นหน้าที่ของเสนาบดีอันเชิญเสด็จเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์พระองค์ที่ 1 ในลำดับสืบพระราชสันตติวงศ์ ซึ่งจัดไว้ 13 ลำดับ มีสมเด็จหน่อพุทธเจ้าเป็นลำดับที่ 1

หมวดที่ 5 มี 4 มาตรา คือ มาตรา 10-13 ว่าด้วยผู้ที่ต้องยกเว้นจากการสืบราชสันตติวงศ์อันกำหนดลักษณะต้องห้ามไว้ 6 ลักษณะ ได้แก่ มีพระสัญญาวิปลาสต่อราชทัณฑ์ในคดีมหันตโทษ ไม่สามารถทรงเป็นอัครพุทธศาสนูปถัมภก มีพระชายาเป็นนางต่างด้าว เป็นผู้ที่ได้ถูกถอดถอนจากตำแหน่งพระรัชทายาทและเป็นผู้ที่ได้ถูกประกาศยกเว้นออกเสียงจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์

พระองค์ใดตกอยู่ในเกณฑ์มีลักษณะบกพร่องหรือต้องห้ามตามที่กล่าวมาในข้อหนึ่งข้อใด มีผลให้พระโอรสอีกทั้งบรรดาเชื้อสายโดยตรงของท่านพระองค์นั้น ถูกยกเลิกจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์ด้วยทั้งสิ้น

อนึ่ง มีข้อห้ามมิให้ราชนารีเสด็จขึ้นทรงราชย์ โดยมีเหตุผลว่ากาลสมัยนั้นยังไม่ถึงเวลาอันควร

หมวดที่ 6 มี 5 มาตรา คือ มาตรา 14-18 ว่าด้วยเวลาที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระเยาว์ คือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใดได้เสด็จทรงราชย์เมื่อมีพระชนมายุไม่ครบ 20 พรรษาบริบูรณ์ จะทรงสำเร็จราชการสิทธิขาดโดยพระองค์เองไม่ได้ ต้องมีการแต่งตั้งเจ้านายเชื้อพระบรมวงศ์พระองค์หนึ่งขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และมีเสนาบดีผู้อาวุโสมากที่สุดในราชการสองท่านเป็นสมุหมนตรีที่ปรึกษาของผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

หมวดที่ 7 มี 2 มาตรา คือ มาตรา 19 และ 20 ว่าด้วยการแก้กฎมนเทียรบาล ซึ่งเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ โดยกำหนดให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนัดประชุมองคมนตรีสภาและให้องคมนตรีมาในที่ประชุมนั้นไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนองคมนตรีทั้งหมด ใช้ความเห็นจำนวน 2 ใน 3 ของผู้ที่มาประชุมเพื่อลงความเห็นว่าควรแก้ไขหรือเพิกถอนกฎมนเทียรบาลนั้นได้

การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ มีปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ขอยกเป็นตัวอย่าง คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517

มาตรา 25 การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 และปกครองด้วยความเห็นชอบและรัฐสภา หากไม่มีพระราชโอรส รัฐสภาอาจให้ความเห็นชอบในการให้พระราชธิดาสืบราชสันตติวงศ์ก็ได้

การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 ให้กระทำได้โดยวิธีการอย่างเดียวกันกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกี่ยวกับกฎมนเทียรบาล ซึ่งแต่เดิมห้ามราชนารีสืบสันตติวงศ์โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้บัญญัติให้พระราชธิดาสืบราชสันตติวงศ์ได้ หากไม่มีพระราชโอรสที่เกิดขึ้นดังนี้มาจากเหตุผลของรัฐธรรมนูญซึ่งยอมรับความเสมอภาคของบุคคลมากขึ้น ดังปรากฏในมาตรา 28 บัญญัติว่า

บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน

หมวดที่ 8 มีมาตราเดียวเป็นมาตราสุดท้าย (มาตรา 21) ของกฎมนเทียรบาล ว่าด้วยผู้มีหน้าที่รักษากฎมนเทียรบาลนี้ ได้แก่เสนาบดีกระทรวงวังในสมัยนั้น

นอกจากนี้ กฎมนเทียรบาลดังกล่าวในการบังคับใช้ต้องประกอบกับกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการเสกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์ ซึ่งประกาศเมื่อ พ.ศ.2461 เกี่ยวกับการเสกสมรสของเจ้านายในพระราชวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป ต้องนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อนและกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสมรสพระราชวงศ์แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2475 เกี่ยวกับเจ้าหญิงพระองค์ใด ถ้าจะทำการสมรสกับผู้อื่นซึ่งมิใช่เจ้านายในพระราชวงศ์ อันเป็นการไม่ต้องด้วยพระราชประเพณีนิยม ต้องกราบถวายบังคมลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์เสียก่อน

ถ้าไม่ปฏิบัติตามให้ถอดเสียจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์

กล่าวโดยสรุป

กฎมนเทียรบาลนี้ประชาชนส่วนใหญ่ขาดความรู้ความเข้าใจ เนื่องจากประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย และมีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นหลักในการบริหารประเทศ แต่กฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 ก็ยังเป็นหลักในการปกครองที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นกฎหมายลักษณะพิเศษกว่ากฎหมายใด มีระดับเทียบได้กับรัฐธรรมนูญที่มีฐานะเป็นกฎหมายระดับสูงสุด

ถ้าเปรียบศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย กฎมนเทียรบาลย่อมนับเป็นรัฐธรรมนูญได้เช่นกัน เพราะมีฐานะไม่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญตามที่นำเสนอมาแล้วข้างต้น ประการสำคัญเมื่อวิเคราะห์รัฐธรรมนูญทุกฉบับต่างให้การเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์เด่นชัด โดยบัญญัติไว้เป็นหมวดแรกต่อจากบททั่วไป เฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการสืบราชสมบัติได้กลับหลักการมาสู่การถวายพระราชอำนาจให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ไว้เป็นการเฉพาะ

ดังนั้น ถือว่ากฎมนเทียรบาลเป็นกฎหมายขององค์พระมหากษัตริย์ที่ได้รับการยอมรับมานานจนถึงปัจจุบันและมีฐานะเทียบได้กฎหมายสูงสุดของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งนับเป็นเอกลักษณ์ของการเมืองการปกครอง และเป็นวัฒนธรรมของกฎหมายไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image