การเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมือง การปกครอง และการบริหารประเทศ โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

การเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมือง การปกครอง และการบริหารประเทศ

พยายามหามุมมองอื่นจากเรื่องของการกระทบกระทั่งกันของว่าที่พันธมิตรพรรคร่วมรัฐบาลตั้งแต่เรื่องโหวตนายกรัฐมนตรี การเซ็นเอ็มโอยู และการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร

ดูเหมือนสื่อจะมีความสุขในการเล่นข่าวการทะเลาะกัน

และดูเหมือนด้อม หรือติ่งแต่ละฝ่ายก็มีความสุขในการซัดกัน เชียร์กันรายวัน

Advertisement

จากข้อสังเกตของผมและคนรอบตัว มีความเห็นสามประการ

หนึ่ง ควรปรับเปลี่ยนการเจรจาการตั้งรัฐบาลในแง่ของการเจรจาลับมาสู่การอธิบายระบบการเจรจาและสร้างความโปร่งใสของการเจรจา

สอง ควรปรับเปลี่ยนระบบการทำงานเจรจาการตั้งรัฐบาลใหม่ที่เป็นอยู่ไปสู่ระบบการสร้างการเปลี่ยนผ่านการเมือง การปกครอง และการบริหารให้มีความเป็นสถาบัน

Advertisement

สาม ควรตั้งระบบการสื่อสารใหม่ของการเปลี่ยนผ่านการเมือง การปกครองและการบริหารที่เชื่อมโยงกับระบบการสื่อสารที่รวมศูนย์ เป็นแถลงการร่วม

โดยสรุปทั้งสามประการนี้ เงื่อนไขใหญ่คือการทำการเมืองใหม่ที่ใฝ่ฝันกันไว้นั่นแหละครับ

การโจมตีว่าไม่มีใครเขาทำเอ็มโอยูกันนั้นเอาเข้าจริงก็คงมีทั้งส่วนที่ถูกและผิด ส่วนที่ถูกคือไม่มีการทำในประเทศไทยมาก่อน

แต่กระแสการเซ็นเอ็มโอยู หรือข้อตกลงร่วม (memorandum of understanding-MOU) ในการสนับสนุนการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ของการเมืองในภูมิภาคนี้

มาเลเซียเป็นประเทศที่มีการเซ็นเอ็มโอยูในการจัดตั้งรัฐบาลก่อนหน้านี้ในช่วงวิกฤตทางการเมืองในรอบหลายปีนี้

โดยมีการเซ็นเอ็มโอยูของกลุ่มพันธมิตรทางการเมืองและพรรคการเมืองที่สนับสนุนอัลวาร์ อิบบราฮิม ในการตั้งรัฐบาลเมื่อปลายปีที่แล้วหลังการเลือกตั้ง และวางหลักไว้ในเรื่องของการสนับสนุนให้เกิดความเชื่อมั่นในรัฐบาลใหม่ที่จะส่งเสริมให้เกิดการบริหารตามหลักธรรมาภิบาล และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีชีวิตชีวา

ทีนี้กลับมาสู่ประเทศไทย ผมคิดว่าในห้วงเวลาที่สำคัญนี้เราคงต้องเข้าใจเงื่อนเวลาก่อนว่า เวลาที่สำคัญในตอนนี้มีอยู่สามเรื่อง คือการรอการรับรองผล อย่างเป็นทางการของ กกต. การเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เลือกประธานรัฐสภาที่มาจากสภาผู้แทนราษฎร และเลือกนายกรัฐมนตรี

การรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ของ กกต.นั้นขนาดยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการก็มีการประกาศผลใหม่จนมีความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญในภูมิทัศน์การเมืองไปแล้ว เช่น การลด ส.ส.เขตหนึ่งเสียงของก้าวไกล เพิ่มไปที่ภูมิใจไทย และทำให้ ส.ส.เขตของก้าวไกลกับเพื่อไทย (แม้ว่าในบัญชีรายชื่อก้าวไกลจะชนะอยู่สี่ล้านหรือประมาณสี่เก้าอี้) ภูมิใจไทยได้เพิ่มหนึ่งเก้าอี้ ส.ส.เขต ประชาธิปัตย์ได้เพิ่มหนึ่งเก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อทำให้ประชาธิปัตย์สามารถเสนอรายชื่อจุรินทร์เป็นนายกรัฐมนตรีได้ด้วยเพราะมี ส.ส. 25 คน

ในส่วนของการเจรจาตั้งรัฐบาลนั้น ผมคิดว่าคงมีการเจรจากันหลายรอบหลายพื้นที่และหลายคน แต่สิ่งที่ควรจะได้รับการผลักดันเพิ่มไปจากเรื่องของเอ็มโอยูคือกระบวนการเจรจาที่ชัดเจน มีตัวแทนแต่ละพรรคการเมืองที่ชัดเจน มีกระบวนการที่ประชาชนรับรู้

ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ แต่มีการแถลงการณ์ให้ชัดเจนในแต่ละวัน

ที่สำคัญคือการเซ็นเอ็มโอยูนั้นควรจะเพิ่มเรื่องของกลุ่มทางการเมือง ขบวนการประชาชนเข้าไปด้วย ไม่จำเป็นต้องเป็นพรรคการเมืองเฉยๆ

และในการแถลงการณ์นั้นก็ควรมีทีมโฆษกที่แบ่งงานกันทำอย่างชัดเจน

ในส่วนของการสร้างการเปลี่ยนผ่านนี้ ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องเดียวกับการจัดตั้งรัฐบาลเท่านั้น แต่ควรประยุกต์ใช้แนวคิดจากประสบการณ์ประเทศอื่น เข้ามาใช้ อย่างกรณีของสหรัฐอเมริกาที่มีการตั้งทีมเปลี่ยนผ่านอำนาจ (transition team) อย่างเป็นเรื่องเป็นราว และมีกรอบกฎหมายในระดับสาธารณรัฐบัญญัติ เพื่ออำนายความสะดวกในเรื่องนี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว

กล่าวโดยสรุปก็คือการสร้างระบบการเปลี่ยนผ่านอำนาจของประธานาธิบดีนั้นจะเริ่มทำงานตั้งแต่ก่อนจะมีการเลือกตั้งด้วยซ้ำ เพื่อทำให้การเปลี่ยนผ่านอำนาจเป็นไปอย่างราบรื่น

มีข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจคือ องค์กรเพื่อการเปลี่ยนผ่านการบริหารของประธานาธิบดี (presidentialtransition.org) ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญทั้งให้กับตัวแทนพรรคการเมืองและประชาชนได้เข้าใจระบบการเปลี่ยนผ่านอำนาจ ทั้งข้อมูลระบบกฎหมาย ทรัพยากรอื่นๆ อาทิ โครงสร้างของทีมเปลี่ยนผ่านอำนาจ

มองอีกมุมหนึ่งระบบการเปลี่ยนผ่านอำนาจในสหรัฐอเมริกานั้นทำงานตลอดเวลา ตั้งแต่ก่อนจะมีการเลือกตั้งก็เริ่มมีการวางแปลนกันแล้ว เมื่อมีการประกาศรายชื่อก็เริ่มทำงานเกี่ยวข้องกับทำเนียบขาวเลย และเมื่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีก็จะมีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจอย่างเป็นระบบจนกระทั่งประธานาธิบดีคนใหม่ หรือคนเดิมสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง

และแม้ว่าการบริหารจะเปลี่ยนมือแล้ว การเตรียมการเพื่อเปลี่ยนผ่านอำนาจครั้งใหม่ก็มีการเตรียมตัวกันอย่างเนิ่นๆ

ภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงนั้นมีทั้งในส่วนของผู้บริหารใหม่ที่จะเข้ามา และตัวข้ารัฐการด้วย

ในมุมมองของผม การเปลี่ยนผ่านอำนาจนั้นควรประกอบด้วยภาคส่วนสำคัญก็คือ ตัวทีมที่จะมีอำนาจใหม่ ทีมอำนาจเก่า ข้าราชการ ประชาชน และคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาคประชาสังคมและภาควิชาการ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านอำนาจนำมาซึ่งความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนที่มีต่อกฎกติกา และเพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมกันเปลี่ยนผ่านอำนาจให้สำเร็จให้ประเทศเดินหน้า

และชี้ให้เห็นว่ากระบวนการเลือกตั้งกับกระบวน การปกครอง-บริหารประเทศ อาจไม่ใช่เรื่องเดียวกันเสียทั้งหมด

ในตอนที่เปลี่ยนผ่านอำนาจจากทรัมป์มาที่ไบเดน เรื่องการเปลี่ยนผ่านไม่ได้เกิดง่ายๆ เพราะทรัมป์ไม่ยอมรับการเลือกตั้งในช่วงแรก ทำให้เกิดวิกฤตทางการเมืองและความล่าช้าในการเปลี่ยนผ่านอำนาจ โดยเฉพาะในเรื่องของการคลังและงบประมาณในการบริหารประเทศ รวมทั้งการเข้ามาบริหารประเทศทำให้การสื่อสารกับข้าราชการในช่วงแรกล่าช้า รวมทั้งทีมบริหารบางส่วนของทรัมป์เองก็ไม่ให้ความร่วมมือในการเปลี่ยนผ่านอำนาจ

ยังไม่รวมถึงความขัดแย้งทางสังคมเองก็มีผลต่อการเปลี่ยนผ่านอำนาจ อย่างในครั้งล่าสุดในอเมริกา นอกจากการปลุกระดมมวลชนของทรัมป์ สังคมอเมริกายังเต็มไปด้วยปัญหาของการระบาดของโควิด และเรื่องของความขัดแย้งในเรื่องสีผิวที่รุนแรงมากในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา

ในอีกมุมหนึ่งในแง่ของกรอบกฎหมายนั้น สหรัฐอเมริกามีกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านอำนาจของประธานาธิบดีที่ออกมาในปี ค.ศ.1962 ซึ่งหลังจากออกมาแล้วก็มีการปรับปรุงมาโดยตลอด

หลักใหญ่ใจความคือการที่ระบบการบริหารรวมของสหรัฐจะต้องจัดหาทรัพยากรในการเปลี่ยนผ่านอำนาจให้กับทีมใหม่ และว่าที่ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ทั้งนี้ ยังรวมไปถึงการให้พื้นที่สำนักงานกับทีมงานของตัวเต็งประธานาธิบดีตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง

การพิจารณาการเปลี่ยนผ่านอำนาจในการเมืองการปกครองและการบริหารนั้นทำให้เราเห็นว่ามีความจำเป็นในแง่ของการจัดวางทีมงานที่จะเข้ามาสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลใหม่ ออกแบบกระบวนการตัดสินใจ และเตรียมพร้อมเข้ามารับงานเพื่อให้เข้าใจว่ามีอะไรที่ต้องรับผิดชอบบ้าง ยิ่งในกรณีบ้านเรา รอบนี้มีรัฐบาลผสมจากฝ่ายประชาธิปไตย ก็คงต้องทำความเข้าใจให้มากขึ้นว่าระบบการตัดสินใจร่วม และแก้ปัญหาความขัดแย้ง

เตรียมตัววางแผนว่าเมื่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีใหม่เข้ามา จะต้องเตรียมตัวอะไรบ้างในการทำงานร่วมกับฝ่ายข้าราชการ จะมีการแต่งตั้งตำแหน่งอะไรบ้าง

เชื่อมโยงระบบการบริหารใหม่กับหน่วยงานมากมายของราชการ

สร้างความเข้าใจในนโยบายร่วมของฝ่ายรัฐบาลที่มาทั้งจากที่สัญญาไว้กับประชาชน และการประนีประนอมซึ่งกันและกัน และเตรียมตัวถอดตัวนโยบายมาแปรเปลี่ยนเป็นกฎหมายและการตัดสินใจอื่นๆ อาทิ มติ ครม.

วางแผนการบริหารในช่วงต้นที่จะต้องทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในช่วงสามเดือนแรก

ออกแบบยุทธศาสตร์ในการสื่อสารกับประชาชนในประเทศ และกับชุมชนนานาชาติ รวมทั้งกับหน่วยงานอื่นๆ

อย่าลืมว่าระบบการเปลี่ยนผ่านอำนาจนี้ยังหมายถึงการวางแผนเปลี่ยนผ่านอำนาจของรัฐบาลเดิมในกรณีที่สามารถรักษาอำนาจเอาไว้ได้

ผมคิดว่าการประกาศระบบการเปลี่ยนผ่านอำนาจของพันธมิตรฝ่ายประชาธิปไตยในวันนี้ ดึงเอานักวิชาการ ภาคประชาชน และแรงสนับสนุนจากกองเชียร์หลายฝ่ายมาทำงานร่วมกันน่าจะสร้างความร่วมมือในเชิงสร้างสรรค์ของหลายฝ่ายได้ และใช้โอกาสนี้ในการทำให้เรื่องการเปลี่ยนผ่านอำนาจไม่เป็นเรื่องที่ลึกลับซับซ้อนจนเรารู้สึกว่าอำนาจของประชาชนมันหายไปทันทีเมื่อการเลือกตั้งหมด

ในแง่ของพันธมิตรกับสื่อ ควรจะเริ่มสำรวจปัญหาของการบริหารในรัฐบาลที่แล้ว และไล่เรียงกระทรวงไปด้วยเลย ประชาชนจะได้รับทราบอีกครั้ง รวมทั้งฝ่ายรัฐบาลด้วย

รวมไปถึงการทบทวนยุทธศาสตร์ชาติ และแนวนโยบายแห่งรัฐในรัฐธรรมนูญ ก็จะเป็นการช่วยให้การเปลี่ยนผ่านนั้น เป็นไปอย่างราบรื่น สร้างสรรค์ และมีความหวังมากขึ้น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image