เศรษฐศาสตร์การเมืองของเผด็จการ และประชาธิปไตยไทย (2) : โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

แม้เจ้าสัวไทยจะอยู่ร่วมกับเผด็จการทหารอย่างสบายใจมาได้ทุกยุคทุกสมัย แต่เผด็จการทหาร คสช.มีความแตกต่างจากเผด็จการทหารในอดีตอยู่พอสมควร อาจเป็นเพราะ คสช.มี “ลูกค้า” อีกกลุ่มหนึ่ง คือคนชั้นกลางระดับกลางซึ่งมีจำนวนไม่น้อยอยู่ด้วย ทำให้ คสช.ต้องแสดงบทผู้มีประสิทธิภาพ และอาจจะแสดงอย่างกระตือรือร้นเกินไป ทำให้หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตาม ม.44 ในเรื่อง “ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ” โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายในระบบราชการ ไม่เฉพาะแต่ตัวหัวๆ ด้วย หากกินลงมาถึงระดับปฏิบัติงาน

กลไกรัฐกำลังกลายลักษณะเป็นบุคคล ไม่ต่างจากสมัยไทยรักไทย บางท่านอาจคิดว่าสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ทำอย่างเดียวกัน ไม่เห็นใครจะไม่สบายใจเลย ผมอยากท้วงว่าสฤษดิ์ไม่ได้ทำอย่างหัวหน้า คสช.นะครับ ไม่นับการจัดการกับกลไกรัฐส่วนที่เป็นของปรปักษ์อย่างเฉียบขาดฉับพลันแล้ว การขยายระบบราชการและการริเริ่มนโยบายพัฒนาของสฤษดิ์ กระทำไปพร้อมกับการนำเอาผู้คนอีกมากเข้ามาในสภาพัฒน์, สภาการศึกษา, สภาวิจัย, กรรมาธิการข้าราชการพลเรือน, กฤษฎีกา ไปจนถึงคณะกรรมการประจำกระทรวง เท่ากับว่าสฤษดิ์สร้างเสียงสนับสนุนในหมู่คนเสียงดังไปพร้อมกับการเปลี่ยนระบบ อย่างน้อยเจ้าสัว (สมัยนั้นยังไม่มีเจ้าสัวแท้ แต่มีหน่ออ่อนของเจ้าสัว) สามารถต่อรองได้ผ่านพลเรือนกลุ่มที่เข้าไปใหม่เหล่านี้

รัฐบาลทหารของ คสช.ไม่ได้สร้างสถาบันคนนอกไว้ถ่วงดุล หรือเป็นกลไกซาวเสียงเลย แม้แต่ สนช., สปท., คณะที่ปรึกษา, หรืออะไรอื่นก็ล้วนประกอบด้วยคนใน หรือคนแหยทั้งสิ้น

ผมออกจะสงสัยว่า เจ้าสัวไทยไม่รังเกียจเผด็จการทหารแน่ แต่ไม่น่าจะชื่นชอบเผด็จการทหารแบบ คสช.นัก ในตอนนี้พวกเขาคงหวังว่ารัฐธรรมนูญใหม่ ที่เขียนเองเออเอง จะช่วยทำให้เผด็จการทหารซึ่งจะอยู่ต่อไป เปลี่ยนบุคลิกไปบ้าง

Advertisement

โดยสรุปก็คือ ภัยคุกคามจากข้างบนแก่ทรัพย์สินและรายได้เจ้าสัวไทยเปลี่ยนไป ไม่ใช่พรรคคอมมิวนิสต์ และไม่ใช่มหาอำนาจต่างชาติอีกต่อไป สมัยนั้นเลือกข้างบนได้ง่าย ใครก็ได้ที่มีสมรรถภาพพอจะปกป้องเอกราชของชาติ และเอาชนะคอมมิวนิสต์ได้ ก็ควรคุมอำนาจรัฐ แต่ปัจจุบัน ตัดสินใจลำบาก แม้ไม่มีอำนาจรัฐฝ่ายใด (ไม่ว่าเผด็จการทหารหรือประชาธิปไตย) ที่จะคุกคามทรัพย์สินและรายได้ของเจ้าสัวโดยตรง แต่อำนาจรัฐจากทั้งสองฝ่ายมีแนวโน้มจะทำให้หลักประกันทางสังคมของทรัพย์สินและรายได้สั่นคลอน หลักประกันดังกล่าวคือกลไกรัฐดังที่กล่าวแล้ว

ในส่วนการคุกคามจากผู้พิชิตต่างชาตินั้น ลืมไปได้เลย เพราะไม่มีครั้งไหนที่ประเทศไทยจะปลอดพ้นจากศัตรูต่างชาติเท่าในช่วงนี้ แม้ในยุคสมัยแห่งการก่อการร้าย ไทยก็ไม่ใช่เป้า ถึงมีความเสี่ยงบ้างเหมือนคนอื่นทั้งโลก ก็ยังน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

คราวนี้หันมาดูภัยคุกคามเจ้าสัวจากข้างล่างบ้าง เพราะความรวยล้นฟ้า คณาธิปัตย์ในทุกสังคมย่อมไม่สบายใจกับคนส่วนใหญ่ซึ่งมีส่วนแบ่งของทรัพย์สินและรายได้น้อยนิดทั้งนั้น แต่ในบางสังคม การคุกคามจากคนข้างล่างมองเห็นได้ชัด และดูเหมือนจะระเบิดขึ้นได้ทุกขณะ ในอีกบางสังคม ไม่มีแววอะไรเลยว่าคนข้างล่างจะลุกขึ้นมาจัดส่วนแบ่งของทรัพย์สินกันใหม่

Advertisement

ว่าเฉพาะในกรณีสังคมไทย หลังการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยแล้ว ภัยคุกคามจากข้างล่างไม่เหลือร่องรอยอะไรให้เห็นอีก โดยเฉพาะภัยคุกคามตรงๆ คนเสื้อแดง, พรรคการเมืองทั้งหมด รวมทั้งพรรคที่มีฐานมวลชนอย่าง ทรท.และเพื่อไทย, ผู้นำชาวบ้าน, เอ็นจีโอ, หมอประเวศ ฯลฯ ไม่มีสักกลุ่มเดียวที่เคลื่อนไหวเพื่อจัดระบบการถือครองทรัพย์สินกันใหม่ แม้แต่รวมพลังผลักดันให้ปฏิรูปภาษีทรัพย์สิน, ภาษีรายได้, สิทธิพิเศษด้านการลงทุน ฯลฯ ยังไม่เคยทำด้วยซ้ำ

แต่ก็ไม่เคยมีครั้งใดในประวัติศาสตร์เหมือนกันที่คนข้างล่าง เคลื่อนไหวกันอย่างคึกคักเพื่อเข้าไปมีบทบาททางการเมืองเหมือนในช่วงนี้ นับตั้งแต่คนชั้นกลางในเมือง ซึ่งแม้ไม่ได้เป็นศัตรูกับเจ้าสัว แต่ก็เรียนรู้การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เพิ่มน้ำหนักให้แก่กลุ่มของตน ไปจนถึงคนชั้นกลางระดับล่างในชนบทและในเมืองเอง ก็เรียนรู้เสียแล้วว่า คะแนนเสียงของตนหากใช้เป็นกลุ่มก้อนได้จริง ก็ทำให้ตนมีอำนาจในการกำหนดนโยบายสาธารณะได้ในระดับหนึ่ง
ยังไม่ได้เป็นศัตรูกับเจ้าสัวก็จริง แต่กำลังสั่งสมสมรรถภาพทางการเมืองให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ด้วยเหตุดังนั้น รัฐบาลทหารจึงตอบโจทย์ให้เจ้าสัวได้ชั่วคราว เพราะรัฐบาลทหารสยบคนชั้นกลางระดับล่างไม่ให้เคลื่อนไหวได้ แต่รัฐบาลทหารเป็นมิตรกับคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไปในเมือง ซึ่งในตอนนี้ยังไม่เป็นศัตรูของเจ้าสัวโดยทั่วไปก็จริง แต่ก็อาจคุกคามผลประโยชน์และรายได้ของเจ้าสัวในระยะยาวได้อย่างน่ากลัว แม้ในปัจจุบันก็ต่อต้านโครงการหากำไรของเจ้าสัวบางกลุ่มอยู่ เช่น ปตท., เหมืองทอง, โรงไฟฟ้าถ่านหิน ฯลฯ เจ้าสัวก็อยากรู้เหมือนกันว่า รัฐบาลทหารจะสามารถกำราบคนชั้นกลางระดับกลางนี้ได้หรือไม่

ว่าที่จริง กลุ่มคนที่เสนอความคิดที่คุกคามรายได้ของเจ้าสัวอย่างเป็นรูปธรรมเวลานี้ เช่น ปฏิรูประบบภาษี, ลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้, หรือความโปร่งใสในการบริหารกิจการทั้งของรัฐและเอกชน ล้วนเป็นคนชั้นกลางระดับกลางทั้งสิ้น เป็นสัญญาณว่าภัยคุกคามต่อเจ้าสัวในอนาคต น่าจะมีคนกลุ่มนี้เป็นหัวหอก

อนึ่ง เจ้าสัวที่มีสมองอาจเป็นห่วงด้วยว่า ทหารรู้วิธีสยบคนข้างล่างในระยะยาวได้ดีพอหรือไม่ เพราะหากทำไม่ดี คนข้างล่างซึ่งไม่ได้เป็นศัตรูกับเจ้าสัวโดยตรง อาจจะเพิ่มเจ้าสัวไปกับอำมาตย์ด้วย ก็ยิ่งทำให้เจ้าสัวถูกคุกคามมากขึ้น

ที่น่ากลัวสุดคือภัยคุกคามจากคนข้างๆ คือเหล่าเจ้าสัวด้วยกัน และนี่คือภัยคุกคามที่จัดการยากที่สุดของเจ้าสัวทั้งโลก
แต่การแย่งชิงผลประโยชน์ระหว่างเจ้าสัวไทยนั้นถูกทำให้ดูไม่ฉกาจฉกรรจ์นัก เหตุผลข้อแรกที่ทำได้อย่างนี้ก็เพราะเจ้าสัวไทยไม่มีกองกำลังติดอาวุธส่วนตัว เจ้าสัวเมืองไทยรบกันด้วยการเอาเหล้าไปพ่วงเบียร์ หรือเอาเบียร์ไปพ่วงโซดา ไม่เคยจ้างกองทัพส่วนตัวออกทำสงครามกันเลย ซ้ำร้ายเมื่อรบกันด้วยสินค้าแล้ว ฝ่ายใดดูท่าจะเพลี่ยงพล้ำ ก็ฟ้องศาล
อันนี้น่าสนใจนะครับ คือมันมีขีดจำกัดของการแย่งผลประโยชน์กันในหมู่เจ้าสัว และถึงที่สุดแล้วพวกเขาต้องการคนกลาง เพื่อทำให้ความขัดแย้งยุติลงอย่างที่พอรับได้ทั้งสองฝ่าย

ผิดจากในฟิลิปปินส์ เจ้าสัวที่นั่นมี “แคว้น” ของตนเองในต่างจังหวัด รวมทั้งแต่ละแคว้นก็มีกองทัพ ใช้ความรุนแรงในการขู่บังคับเรียกเอาทรัพยากรจากคนในแคว้น รวมทั้งใช้สำหรับแย่งและป้องกันผลประโยชน์จากเจ้าสัวใน “แคว้น” อื่นด้วย ดังนั้นความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธจึงเป็นส่วนหนึ่งของการปกป้องทรัพย์สินและรายได้ของเจ้าสัวฟิลิปปินส์เป็นปกติ

แต่ก่อนสมัยของประธานาธิบดีมาร์กอส พวกเขามีกติกาทางการเมืองที่ยึดถือกันมั่นคง นั่นคือเจ้าสัวตระกูลใดจะขึ้นไปเป็นประธานาธิบดีได้ ก็ต้องผ่านการเลือกตั้ง และไม่ควรที่เจ้าสัวคนใดจะครองตำแหน่งประธานาธิบดีเกิน 1 สมัย เพราะประธานาธิบดีย่อมเข้าถึงกำลังของชาติหลายอย่าง อาจนำมาใช้เพื่อแย่งผลประโยชน์จาก “แคว้น” อื่นได้ นับว่าอันตรายที่จะปล่อยให้อยู่ในตำแหน่งนานๆ ก่อนมาร์กอส ฟิลิปปินส์ไม่เคยมีประธานาธิบดีคนใดที่อยู่ในตำแหน่งเกิน 1 สมัยเลย

รัฐจึงมีบทบาทน้อยในการปกป้องทรัพย์สินและรายได้ของเจ้าสัวฟิลิปปินส์ รัฐเองนั่นแหละที่น่ากลัวที่สุดในการเป็นผู้คุกคามทรัพย์สินและรายได้ของเจ้าสัว หากปล่อยให้รัฐตกอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าสัวของตระกูลใดตระกูลหนึ่ง เช่นรัฐในสมัยของมาร์กอส ตรงกันข้ามกับเจ้าสัวไทย ที่ใช้รัฐเป็นปราการสำคัญในการปกป้องทรัพย์สินและรายได้ของตน และรัฐไทยก็พิสูจน์ตนเองให้เห็นแล้วว่า สามารถปกป้องภัยคุกคามได้ดี และเป็นธรรมระหว่างเจ้าสัวกลุ่มต่างๆ พอสมควร (ส่วนค่าต๋งนั้นก็เป็นธรรมดาที่ต้องเสีย ไม่มีเจ้าสัวในสังคมใดที่ไม่ต้องเสียค่าคุ้มครองเลย ในประเทศที่มีนิติธรรม-นิติรัฐ ก็ต้องเสียภาษี) ในขณะเดียวกัน รัฐไทยก็สามารถระงับยับยั้งการลุกขึ้นสู้ของคนระดับล่างได้ ไม่ว่าในฐานที่มั่นของ พคท. หรือที่ราชประสงค์

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองจากสายตาเจ้าสัวไทย หลัง 14 ตุลาเป็นต้นมา รัฐไทยไม่มีระบบตายตัว เราเคยมี “ประชาธิปไตย” แบบสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน ก็มี “ประชาธิปไตย” แบบ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งแตกต่างจากกันอย่างมาก เช่นเดียวกับ “ประชาธิปไตย” ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ, คุณบรรหาร ศิลปอาชา, คุณชวน หลีกภัย และ “ประชาธิปไตย” แบบคุณทักษิณ ชินวัตร ก็ไม่เหมือนกัน แม้แต่ “เผด็จการ” ทหาร ก็แตกต่างกันมากระหว่าง “เผด็จการ” คมช. กับ คสช. ดังนั้นในทรรศนะของเจ้าสัวไทย รัฐไทยกำลังอยู่บนทางสองแพร่ง หรือสาม-สี่-ห้าแพร่ง

รัฐไทยซึ่งเคยปกป้องทรัพย์สินและรายได้ของเจ้าสัวจากข้างบน, ข้างๆ และข้างล่างได้ดี กำลังเปลี่ยนไปแล้ว แต่เจ้าสัวดูไม่มีทางเลือกอะไรดีไปกว่าอาศัยรัฐในการปกป้องทรัพย์สินและรายได้ต่อไป หากทว่าอำนาจในสังคมไทยกระจัดกระจายอยู่ในสถาบันและกลุ่มต่างๆ มากเกินกว่าที่เจ้าสัวจะเป็นผู้กำหนดลักษณะของรัฐได้แต่ผู้เดียว มองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ เจ้าสัวไทยอาจไม่เคยเป็นผู้กำหนดลักษณะของรัฐเลย

ดังนั้น ผมจึงคิดว่ามองจากแง่การปกป้องทรัพย์สินและรายได้ของเจ้าสัว รัฐไทยมีความเป็นไปได้จะพัฒนาไปเป็นรัฐประเภทใด ดีกว่าพิจารณาว่าเจ้าสัวไทยต้องการรัฐแบบใด

1.มีเผด็จการคนเดียวที่ถืออำนาจเด็ดขาดไว้ในมือแต่ผู้เดียว แล้วเปิดโอกาสให้เจ้าสัวขูดรีดทรัพยากรส่วนกลางและท้องถิ่นเข้ากระเป๋า แต่ก็ขอส่วนแบ่งให้ตนเอง, ลูกน้อง และสมัครพรรคพวก อย่างที่เคยเกิดขึ้นในอินโดนีเซียสมัยซูฮาร์โต, ฟิลิปปินส์สมัยมาร์กอส และกัมพูชาปัจจุบันภายใต้นายกฯฮุน เซน
ผมคิดว่ารัฐไทยจะกลายเป็นอย่างนั้นได้ยาก แม้ว่ารัฐไทยจะรวมศูนย์มาก แต่มีความแตกแยกที่ศูนย์อย่างมากไปพร้อมกัน จึงยากที่ใครจะรวบอำนาจที่ศูนย์ไว้ในมือของตนแต่ผู้เดียวได้ แม้แต่สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เกือบทำได้ แต่ก็ไม่ได้ อาจคุมกองทัพได้เด็ดขาดด้วยการแบ่งผลประโยชน์และลงโทษเฉียบขาดไปพร้อมกัน แต่สฤษดิ์ก็ยังต้องแบ่งอำนาจให้กับกลุ่มและสถาบันต่างๆ อีกมาก

ผู้นำ คสช.นั้นห่างไกลจากสฤษดิ์มาก แม้แต่คุมกองทัพก็ยังไม่เด็ดขาดเท่า ซ้ำยังแสดงให้ผู้อื่นเชื่อว่าเล่นพวกเสียอีก (บูรพาพยัคฆ์, รุ่น, เพื่อน, ลูกน้องเก่า-ไม่ว่าจะเล่นพวกจริงหรือไม่) จึงยากจะได้ใจกองทัพทั้งหมด

ระบอบใหม่ที่รัฐธรรมนูญ คสช.พยายามสร้างขึ้นคือการกระจุกอำนาจไว้ในกลุ่มคนที่มีความหลากหลายมาก (ทหาร, นักวิชาการ, ข้าราชการนักปกครอง, เจ้าสัว, เอ็นจีโอ, หมอ, ตุลาการ, พ่อค้าระดับกลาง) ก็ไม่น่าจะเป็นระบอบที่มีความมั่นคงนัก ความหลากหลายของคนที่เอาอำนาจไปกระจุกเอาไว้มีมากเสียจนไม่มีวันที่จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ แม้ว่า “ตั้งมากับมือ” เองก็ตาม

2.หากรัฐเสื่อมลงจนถึงระดับที่หมดสมรรถภาพจะปกป้องทรัพย์สินและรายได้ของเจ้าสัว ก็เป็นไปได้ที่เจ้าสัวจะเข้ามาควบคุมรัฐเสียเอง วิธีคุมรัฐที่เป็นไปได้ที่สุดของเจ้าสัวก็คือ ทำให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตรงกลาง รวมทั้งรัฐบาลท้องถิ่นด้วย หากท้องถิ่นได้สิทธิเลือกตั้งปกครองตนเอง แต่รัฐบาลนั้นจะอยู่รอดหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าเหล่าเจ้าสัวยังพร้อมจะเก็บไว้หรือไม่ นี่คือลักษณะของรัฐแบบอินโดนีเซียหลังซูฮาร์โต และฟิลิปปินส์หลังมาร์กอส

แต่รัฐแบบนี้มีข้อเสียตรงที่ว่า รัฐบาลจากการเลือกตั้งในรัฐที่ไม่เป็นนิติรัฐ ไม่สามารถสร้างระเบียบที่มั่นคงปลอดภัยแก่เจ้าสัวได้ ใครๆ ที่พอจะมีอำนาจรัฐอยู่ในมือบ้าง แม้เพียงน้อยนิด (เช่น ผู้กำกับการตำรวจ หรือนายอำเภอ-ผู้ว่าฯ หรือตุลาการ) ก็สามารถรีดไถเจ้าสัวได้เสมอ แม้แต่ผู้นำชาวบ้านก็อาจพาชาวบ้านไปประท้วงโน่นประท้วงนี่เพื่อเรียกเงินจากเจ้าสัว

นอกจากนี้ ผมคิดว่าเจ้าสัวไทยไม่อาจเข้าไปคุมรัฐได้โดยตรงอย่างฟิลิปปินส์หรืออินโดนีเซียด้วย ไม่ว่าจะดูจากปูมหลัง, เงื่อนไขของรัฐไทยที่ศูนย์แตกแยกมากดังที่กล่าวแล้ว, หรือการไม่มีกองทัพส่วนตัวของเจ้าสัว ฯลฯ ดังนั้นความเป็นไปได้ในข้อนี้จึงมีน้อยอย่างยิ่ง

3.ไทยกลายเป็นนิติรัฐ ส่วนจะเป็นประชาธิปไตยแบบสหรัฐอเมริกา หรือเสี้ยวประชาธิปไตยแบบสิงคโปร์ก็ตาม แต่กฎหมายต้องเป็นใหญ่ ความเป็นนิติรัฐทำให้เจ้าสัวไม่ต้องห่วงกังวลกับการปกป้องทรัพย์สินอีกเลย เพราะกฎหมายที่ไหนๆ ก็ประกันทรัพย์สินส่วนบุคคลอย่างแข็งแรงทั้งนั้น แม้แต่ในประเทศที่ประกาศตนเป็นคอมมิวนิสต์ในปัจจุบัน สิ่งที่ต้องห่วงก็คือรายได้ เพราะรัฐสภาอาจออกกฎหมายเรียกเก็บภาษีสูงขึ้นได้ เจ้าสัวต้องใช้ทรัพยากรในมือไปแทรกแซงการออกกฎหมาย และ/หรือสร้างกองทัพผู้เชี่ยวชาญการหลบเลี่ยงภาษี ด้วยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย (โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าเขาไม่เคยเสียภาษีเลย และได้รับการยกย่องว่าฉลาดเสียด้วย)

แต่ประเทศที่ห่างไกลจากนิติรัฐอย่างประเทศไทย ซ้ำในระยะหลังมานี้ กลไกของกระบวนการยุติธรรมยังถูกแทรกแซงอย่างหนักจนไม่น่าวางใจยิ่งขึ้น จะเปลี่ยนตัวเองให้เป็นนิติรัฐในเร็ววัน ย่อมเป็นไปไม่ได้

ในขณะเดียวกัน จะวางใจให้เผด็จการทหารสร้างนิติรัฐขึ้น ก็ไม่มีวี่แววใดๆ ที่จะเป็นไปได้ อย่างน้อยโอกาสที่จะมีผู้นำทหารที่เฉลียวฉลาดอย่างสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือ ป.พิบูลสงคราม อีกก็ยาก (มีเงื่อนไขหลายอย่างที่ไม่มีในประเทศไทยเวลานี้เสียแล้ว) ทั้งสองคนเคยเอารัฐมนตรีของตนเองเข้าคุกมาแล้ว (จำนนต่อสถานการณ์มากกว่ามุ่งสร้างนิติรัฐกระมัง) ความเป็นจริงที่ได้มาก็แค่นี้แหละครับ-สุจินดา คราประยูร, สนธิ บุญยรัตกลิน, และประยุทธ์ จันทร์โอชา

ผมไม่ทราบว่าเจ้าสัวไทยคิดอย่างไรในเรื่องนี้ แต่ผมอยากเดาว่านี่เป็นเรื่องที่เจ้าสัวไทยคิดไม่ตก ถึงเจ้าสัวบางคนคิดตก ก็ไม่มีประโยชน์อะไรนัก คณาธิปัตย์ไทยไม่มีกลไกที่จะรวบรวมความเห็นให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างเจ้าสัวอเมริกัน โอกาสที่จะเคลื่อนไหวร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิผลทางการเมืองจึงไม่มี

ผมอยากเดาว่า เจ้าสัวไทยที่มีสติปัญญาพอจะมองอะไรยาวๆ คงอึดอัดน่าดู เพราะรู้ว่าสถานการณ์ใหม่กำลังมาถึงประเทศไทย ไม่ว่าการเมืองไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร กลไกการปกป้องทรัพย์สินและรายได้ซึ่งเคยใช้ได้มานานแล้ว กำลังจะหมดสมรรถนะลง แต่เจ้าสัวไทยก็ไม่อยู่ในฐานะจะกำกับให้ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดกับรัฐไทยเป็นไปตามครรลองที่ประกันความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินและรายได้ของตนได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image