FUTURE PERFECT พลังของหนึ่งเสียง : เมื่อการลงนามออนไลน์ ไม่ได้เป็นแค่ภารกิจของคนขี้เกียจ :โดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

ผมไม่แน่ใจว่าขณะที่คุณได้อ่านคอลัมน์นี้ ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จะผ่านการพิจารณาวาระ 2-3 เพื่อเป็นกฎหมายแล้วหรือยังนะครับ มันอาจจะไม่ผ่านก็ได้ แต่จากการหยั่งเสียงข่าวที่ออกมาจากฝ่ายรัฐบาล, มันน่าจะผ่านฉลุย ถึงแม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านจากผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมากกว่า 350,000 คนก็ตาม ผ่านทางแพลตฟอร์มการลงชื่อรณรงค์ change.org

ผมเป็นคนหนึ่งที่เห็นปัญหาในเรื่องนี้ และคิดว่าเป็นปัญหาของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทุกคน จึงร่วมรณรงค์ทั้งผ่านทางสำนักข่าวออนไลน์ The MATTER และผ่านแอคเคาต์ส่วนบุคคล ต้องขอขอบคุณองค์กรผู้ใช้อินเตอร์เน็ตประเทศไทยอย่าง ThaiNetizen และศูนย์กฎหมาย iLaw ที่ติดตามเรื่องร่าง พ.ร.บ.คอมฯ และสรุปมาอย่างดีไว้ทันเหตุการณ์ตลอด (มีคนที่ทำงานในองค์กรนี้บางคนบอกผมว่าเขาตามเรื่องนี้มาเป็นสิบปี เห็นความพยายามควบคุมอินเตอร์เน็ตมาทุกรัฐบาล!) นอกจากพวกเราแล้วก็มีการรณรงค์บนอินเตอร์เน็ตกันอย่างกว้างขวางในหลากหลายเพจ และสื่อออนไลน์ต่างๆ ก็ช่วยกันทำข่าวกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

คำถามหนึ่งที่เราต้องตอบเมื่อรณรงค์คือ “ลงชื่อไปแล้วได้อะไร” “ยังไงๆ เขาก็ไม่ฟังเราหรอก” ไปจนถึงกระทั่ง “การลงชื่อเป็นภารกิจของคนโง่” (ที่หวังว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้จริง)

ผมมักเรียกความคิดแบบนี้ว่าเป็นความคิดของ Defeatist คือความคิดว่าแพ้ ตั้งแต่ยังไม่เริ่มสู้ – เข้าใจได้นะครับว่าเมื่อตกอยู่ในสภาพที่ลืมตาอ้าปากไม่ขึ้นนานๆ ก็คงหมดความคิดที่จะต่อสู้ไปบ้าง แต่หลายครั้ง การแสดงออกมาว่า “ลงชื่อไปทำไม ไร้สาระ” มันก็ทำให้คนที่รณรงค์เรื่องนี้ และยังเห็นว่าเป็นปัญหาอยู่ รู้สึกไม่ดีได้บ้างเหมือนกัน (ใช่แหละครับ – คนทำงานไม่ควรจะมาสนใจเรื่องเล็กน้อยพวกนี้ แต่หลายคนก็ยังไม่สามารถมองข้ามได้)

Advertisement

“การลงชื่อ” หรือ “การทำแคมเปญออนไลน์” นั้นมักจะถูกปรามาสว่าเป็น Slacktivism หรือที่ผมชอบเรียกว่าเป็น “เกียจการเพื่อสังคม” ฝรั่งบอกว่านี่เป็นสิ่งที่ Armchair Activist หรือนักเคลื่อนไหวที่ไม่ได้ลุกขึ้นมาขยับเขยื้อนอะไรจริงๆ ชอบทำ – ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าทำไมจึงมองไปเป็นอย่างนั้นได้ แต่เอาเข้าจริงแล้ว Slacktivism นี่ก็มีคุณค่าของมันอยู่นะครับ

ไม่ต้องยกตัวอย่างไปไหนไกล คุณจำ Ice Bucket Challenge ได้ไหม?

Ice Bucket Challenge ไวรัลแคมเปญแห่งปี 2014 ที่เราเอาน้ำแข็งมาราดตัวกันโครมๆ เมื่อปีก่อน และถูกค่อนขอดกันไปใหญ่ว่าเล่นกันสนุกๆ แต่ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วมีไว้ทำไมนั้น ทำให้สังคมสนใจโรค Amyotrophic Lateral Sclerosis จนในปี 2016 สมาคม ALS ออกมาประกาศว่า พวกเขาได้รับเงินทุนเพื่อวิจัยโรค ALS จนมีความรุดหน้าอย่างยิ่ง (เป็น Breakthrough) แล้ว

Advertisement

แน่นอนครับ บางคนก็ทำ Ice Bucket Challenge ไปสนุกๆ ไม่ได้คิดอะไร แต่ว่าอย่างน้อยมันก็ทำให้ไอเดียของโรค ALS แพร่กระจายมากขึ้น ซึ่งก็อาจทำให้คนที่สงสัยไปหาข้อมูลต่อ และก็นำมาซึ่งการบริจาค หรือการติดต่อกับองค์กรที่สนใจบริจาคเป็นอย่างน้อย

แคมเปญใน change.org หลายแคมเปญในไทยก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งทางตรงและทางอ้อมได้จริง เช่น แคมเปญหยุด พ.ร.บ.จีเอ็มโอ, เรียกร้องให้วาฬบรูด้าเป็นสัตว์สงวน หรือขอให้ตั้งคณะกรรมการควบคุมราคา รพ. เอกชน ทีมงาน change.org ในประเทศไทยอธิบายถึงความสำคัญของการส่งเสียงออนไลน์กับผมว่า

“การรณรงค์ในโลกออนไลน์ผ่าน Change.org ไม่ได้มีความหมายอยู่ที่แค่การลงชื่อ แต่เป็นคือการต่อยอดเพื่อสร้างความเคลื่อนไหวในสังคม เกิดเป็น dialogue รวบรวมเสียงของคนธรรมดาที่ออกมา ‘จุดประเด็น’ ‘ตั้งคำถาม’ ‘เรียกร้อง’ ‘ร้องเรียน’ ในเรื่องที่ตัวเองสนใจ และกระทบกับพวกเขาโดยตรงปรากฏการณ์พลังเสียงของคนในลักษณะนี้ หากมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะดังขึ้นจนผู้มีอำนาจตัดสินใจหันมารับฟัง และขณะเดียวกันก็ทำให้ทุกคนที่ร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงเชื่อมั่นในพลังของตัวเองและสังคม เพราะแต่ละคนไม่ได้ต่อสู้อยู่ตัวคนเดียว แต่มีเพื่อนอีกตั้งหลายคน (ที่อาจไม่รู้จักกันเลยก็ได้) คอยสนับสนุนอยู่”

ถึงแม้ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จะผ่านออกมาเป็นกฎหมาย เพราะผู้มีอำนาจไม่ฟังเรา (อีกครั้งและอีกครั้ง ก็ตาม) ผมก็คิดว่าการลงชื่อออนไลน์เพื่อรณรงค์ในเรื่องนี้มีประโยชน์อยู่อย่างน้อยสี่ข้อ

1.ประโยชน์ทางตรง คนทำงาน ได้เอาเสียงที่คุณพูดไปขยายต่อ และมีประโยชน์ในเชิงสถิติ

2.การเปลี่ยนแปลงเป็น incremental process ดังนั้น คุณอาจจะยังไม่ชนะในการต่อสู้ (เพื่อเรียกร้อง) ในครั้งนี้ แต่การที่คุณไม่หยุดพูดจะทำให้มีการต่อสู้ครั้งต่อไป หากคุณพูดทุกครั้ง คนที่เห็นด้วยกับคุณอาจจะเพิ่มขึ้นๆ ก็ได้

3.ในกรณีที่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น (เช่น มีคนต้องคดีจาก พ.ร.บ.คอมพ์) เราสามารถย้อนความมาอ้างได้ว่ามีการต่อต้านมากแล้ว เพื่อให้เห็นภาพว่ารัฐนั้นไม่ฟังเสียงของประชาชน

4.เป็นการส่งเสียงไปในระดับนานาชาติด้วยว่า เรายังไม่ยอมแพ้ เรามีประชาชนที่เป็น active citizen ไม่ได้เป็นรัฐที่ประชาชนไม่ทำอะไรแล้ว อย่างน้อยหากคุณอยากได้รับความช่วยเหลือ คุณต้องส่งเสียงขอความช่วยเหลือก่อน ไม่ใช่ว่ากำลังจะจมน้ำ แล้วก็ยอมแพ้ ไม่ดิ้นทุรนทุรายแล้ว ไม่ตะโกนขอความช่วยเหลือแล้ว เรือวิ่งผ่านมา ก็คงไม่เห็น
แค่สี่ข้อนี้ก็นับว่ามีประโยชน์มากแล้วนะครับ แต่การลงชื่อออนไลน์ยังมีประโยชน์กับตัวคุณเองอีกข้อหนึ่ง นั่นคือ ทำให้รู้สึกว่า “อย่างน้อยก็ได้พูดแล้ว” “อย่างน้อยก็ได้พยายามแล้ว”

การได้แสดงออกว่าตัวเองควบคุมอะไรบางอย่างได้ อย่างน้อยก็ได้ทำแล้ว นี่แหละครับคือเมล็ดพันธุ์ที่จะทำให้เราเติบโตเป็นประชาชนที่แข็งแรงได้ในอนาคต เมื่อมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image