สุจิตต์ วงษ์เทศ : เพลงชาวบ้าน เป็นพิธีกรรมสมสู่

(ซ้าย) ร้องเพลงระบำบ้านนา บ้านบางลูกเสือ ต. บางลูกเสือ อ. องครักษ์ จ. นครนายก (ขวา) เล่นเพลงพวงมาลัย อ. โพธาราม จ. ราชบุรี (ภาพจากหนังสือเพลงนอกศตวรรษ ของ เอนก นาวิกมูล สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2550)

เพลงโต้ตอบ (เช่น เพลงฉ่อย, เพลงลำตัด ฯลฯ) มาจากพิธีกรรมสมสู่เสพสังวาสเพื่อความมั่งคั่งและมั่นคงของชุมชนดั้งเดิม (ไม่ส่วนตัว)

เพลงโต้ตอบแก้กัน (นักวิชาการไทยให้เรียกยากๆเป็นบาลีสันสกฤตว่า เพลงปฏิพากย์) ของหญิงชายชาวบ้านสามัญชนคนธรรมดา เป็นสัญลักษณ์ของพิธีกรรมเจริญพันธุ์โดยการเสพสมัครสังวาส เพื่อขอความมั่งคั่งและมั่นคงของชุมชนเป็นส่วนรวม (ไม่ใช่เพื่อความหฤหรรษ์ส่วนตัวของคู่หญิงชายนั้น)

ยุคดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว พิธีกรรมสมสู่สังวาสของหญิงชายมีหลักฐานอยู่บนภาพเขียนสี (พบทั่วไปทั้งในไทยและที่อื่นๆ) กับประติมากรรมสำริด (พบที่เวียดนาม) ตุ๊กตาขนาดเล็กรูปหญิงชายทำท่าสมสู่ โดยนอนเหยียดยาวประกบกันบนล่าง ประดับบนฝาภาชนะใส่ศพหรือบรรจุกระดูกคนตาย

แม้ยืนยันไม่ได้ว่ามีการกระทำสมสู่จริงๆ แน่หรือ? แต่ยังไม่พบเหตุผลอื่นใดจะชี้ให้เห็นว่าไม่มีจริง

Advertisement

การสมสู่ร่วมเพศทำให้มีน้ำอสุจิหลั่งออกมาจากอวัยวะเพศชาย ซึ่งคนแต่ก่อนเชื่อว่าจะบันดาลให้ฝนตกในไม่ช้า เรียกกันสืบมาว่า “เทลงมา เทลงมา” ทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์เลี้ยงชีวิตคนในชุมชนได้ตลอดปี

พิธีกรรมอย่างนี้ยังมีสืบเนื่องจนปัจจุบัน เรียกพิธีปั้นเมฆขอฝน โดยปั้นดินเหนียวเป็นรูปคน 2 คน สมมุติว่าหญิงชายทำท่าสมสู่กันกลางที่โล่งแจ้ง ให้คนทั้งชุมชนรู้เห็นพร้อมกันทั่วไป

แล้วร่วมกันร้องรำทำเพลงขอฝนด้วยถ้อยคำหยาบๆ เรียกกันว่ากลอนแดง หมายถึงคำคล้องจองโจ๋งครึ่มที่พาดพิงเรื่องเพศและร่วมเพศ

เพลงโต้ตอบแก้กันของหญิงชายชาวบ้านด้วยถ้อยคำโลดโผนสองง่ามสองแง่ แหย่ไปทางเรื่องสมสู่หยาบๆ อย่างยิ่งยวด ก็เป็นอีกแนวหนึ่งของพิธีกรรมขอความมั่งคั่งและมั่นคงให้ชุมชนนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image