ภาพเก่าเล่าตำนาน : รวันดา…ตั้งสถานีวิทยุ ยุยง ปลุกปั่นตายเกือบ 1 ล้านคน

ภาพเก่าเล่าตำนาน : รวันดา…ตั้งสถานีวิทยุ ยุยง ปลุกปั่นตายเกือบ 1 ล้านคน

ความเกลียดชังที่เลวร้ายที่สุดได้ถูกผลิตซ้ำแล้วซ้ำเล่า ส่งต่อถ่ายทอดออกมา …เริ่มต้นด้วยคำพูดที่ “ลดทอนความเป็นมนุษย์” จบลงด้วยการนองเลือดแบบน่าอนาถ

ความคิดผูกขาดอำนาจ จิตใจที่แสนละโมบ ผ่านออกมาทางปากของปีศาจ มีพลัง สามารถสร้างความฉิบหายได้เหลือคณานับ

พ.ศ.2537 เกิดเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดครั้ง 1 ในโลกณ ประเทศรวันดา (Rwanda) ในทวีปแอฟริกา

Advertisement

ภายในช่วงเวลาแค่ 100 วัน กลุ่มหัวรุนแรงเชื้อสายฮูตู (Hutu) ได้สังหารชาวทุตซี (Tutsi) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในรวันดาไปราว 8 แสนคน รวมถึงศัตรูทางการเมืองโดยไม่สนใจว่าคนเหล่านั้นจะมีชาติพันธุ์อะไร แม้กระทั่งเด็กก็ไม่เว้น

รวันดา…ประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ซึ่งอยู่ทางใต้ของเส้นศูนย์สูตร ในแอฟริกาตะวันออก เป็นที่รู้จักจากทิวทัศน์อันน่าทึ่ง มักเรียกกันว่า… “ดินแดนแห่งเนินเขาหนึ่งพันลูก” เมืองหลวงคือ “คิกาลี” ตั้งอยู่ใจกลางเมืองริมฝั่งแม่น้ำรูกันวา

รวันดามีประวัติศาสตร์อันยาวนานเกี่ยวกับการปกครองแบบกษัตริย์ร่วมกับประเทศบุรุนดี พ.ศ.2505 ได้รับเอกราชจากเบลเยียม มีการปะทะกันทางชาติพันธุ์ระหว่างกลุ่มฮูตูกับทุตซี มีมายาวนาน ในระดับที่ไม่รุนแรงนัก

Advertisement

ปรากฏความแตกต่าง เหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่าง 2 เผ่าพันธุ์ มีภาษาราชการ 4 ภาษา ได้แก่ รวันดา อังกฤษ ฝรั่งเศส และสวาฮีลี (Swahili) 85 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในรวันดาเป็น “ชาวฮูตู”

“ชาวทุตซี” เป็นชนกลุ่มน้อยที่เข้มแข็ง มีพลังทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง กุมอำนาจการปกครองเกือบทั้งหมด

ชาวฮูตู ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ เป็นเกษตรกรที่ยากจน

พ.ศ.2502 ชาวฮูตูรวมตัวกันเพื่อล้มล้างระบอบกษัตริย์ที่เป็นของชาวทุตซี ผลักดันชาวทุตซีราว 150,000-300,000 คน ให้อพยพไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ยูกันดา

พ.ศ.2533 ผู้ลี้ภัยชาวทุตซีรวมตัวกันเป็นกลุ่มติดอาวุธชื่อ กลุ่มแนวร่วมผู้รักชาติรวันดา (RPF) บุกเข้าไปสู้รบอย่างดุเดือดในรวันดาเพื่อชิงอำนาจคืน… รบกันดุเดือด

พ.ศ.2536 เจรจาหยุดยิง สงบศึก

เหตุการณ์ตรงนี้ คือ จุดเปลี่ยน เป็นหนทางไปสู่นรก

6 เมษายน พ.ศ.2537 เครื่องบินโดยสารที่มี จูเวนัล ฮับยาริมานา ประธานาธิบดีรวันดา และไซเปรียน ทายามิรา ประธานาธิบดีของบุรุนดี “ถูกยิงตก” ทำให้ผู้โดยสารทั้งหมดเสียชีวิต

ประธานาธิบดีทั้ง 2 คนต่างก็เป็น “ชาวฮูตู” สงครามข่าวสาร (IO) เริ่มทำงาน กลุ่มหัวรุนแรงชาวฮูตู ชี้นิ้วกล่าวหาว่ากลุ่ม RPF อยู่เบื้องหลังการฆาตกรรม

2 เผ่าพันธุ์ที่เคยรบกันมาก่อนแล้ว ก็ไม่รีรอที่จะกระโจนเข้าสู่สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อีกครั้ง

7 เมษายน พ.ศ.2537 รัฐบาลหัวรุนแรงที่นำโดยฮูตูในรวันดาได้ทำการโจมตีอย่างเป็นระบบ ใช้ “วิทยุกระจายเสียง” ออกอากาศปลุกระดม ตำหนิชาวทุตซีที่ยังอาศัยอยู่ในรวันดา

ภายใน 100 วัน ภายใต้การสั่งการ ปลุกปั่นทางวิทยุ กลุ่มหัวรุนแรงฮูตู “สังหาร” ชนกลุ่มน้อยทุตซีราว 8 แสนคน

ดาบยาว (machete) คือ อาวุธที่ใช้ในการสังหาร

ชาวฮูตูที่เป็นฝ่ายที่ถืออำนาจรัฐ ถือโอกาสใช้กฎหมาย ใช้กองทัพ ตำรวจ จับกุมคุมขัง สังหารศัตรูทางการเมืองอย่างไม่ต้องพิจารณาคดี แถมในบัตรประชาชนของชาวรวันดาระบุเชื้อชาติ เมื่อตั้งด่านตรวจบนถนน ด่านเถื่อน จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะตัดสินว่า ใครต้องอยู่ ใครต้องตาย

ภายใน 100 วัน ทุกเวลา ทุกโมงยาม วิทยุกระจายเสียงไม่เคยหยุดการปลุกระดม สร้างความเกลียดชังที่ต้องการเห็นการทำลายล้าง

ฝ่ายที่ผลิตสื่อในรวันดาใช้ “หลักการ” เสี้ยม แยกแยะว่าคนบางกลุ่มว่าต่ำกว่ามนุษย์ โง่เขลา เบาปัญญา ไม่ใช่คนดี

กลุ่มชาติพันธุ์ฮูตูที่ได้รับข้อมูลการปลุกระดมส่วนใหญ่ ถืออาวุธมีดพร้า หอก กระบองตอกตะปู และอาวุธ ไม้ ของมีคม ตระเวนออกไปตามล่าเพื่อกำจัดชาวทุตซี

สถานีวิทยุ RTLM ซึ่งเป็นพันธมิตร ได้รับเงินจากผู้นำรัฐบาลยุยงชาวฮูตูจัดการขั้นเด็ดขาดกับทุตซี

โฆษกวิทยุอธิบายซ้ำๆ ว่า…ชาวทุตซี เปรียบเสมือน “แมลงสาบ” และ “งู” ที่ต้องถูกทำลายให้สิ้นซาก การปลุกระดมได้ผล มีผู้ฟังจำนวนมาก

โฆษกวิทยุเรียกร้องให้ชาวฮูตู “ตัดต้นไม้สูง” (เป็นคติที่เข้าใจกันของคนประจำถิ่น)

พื้นที่ในเมือง ทหารของรัฐบาลและสมาชิกติดอาวุธของกองกำลังติดอาวุธที่รัฐบาลสนับสนุน ตั้งสิ่งกีดขวางบนถนนเพื่อกรองชาวทุตซี สังหารพวกเขาข้างถนนแบบง่ายๆ เพราะบัตรประจำตัวประชาชนระบุเชื้อชาติ

ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลฮูตูในตอนนั้น ส่งกองกำลังพิเศษเพื่อไปช่วยเหลืออพยพคนชาติตัวเองมิได้ช่วยหยุดยั้งการสังหาร

ผู้หญิง คือ เหยื่อเสมอ… ผู้หญิงที่อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกกดขี่ ถูกทำให้ตั้งครรภ์โดยเจตนาผ่านการข่มขืนโดยทหารศัตรู ผู้หญิงทุตซีถูกข่มขืนอย่างเป็นระบบ

พรรคการเมืองฮูตูหัวรุนแรง ออกมาเรียกร้องอย่างเปิดเผยให้กำจัด “หนอนบ่อนไส้” ชาวทุตซี

เป็นที่รู้กันดีว่า…เมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลรวันดาประสบปัญหาทางการเมือง พลาดพลั้ง รัฐบาลจะหยิบประเด็นชาวทุตซีขึ้นมาเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ เพื่อปลุกม็อบ เคยเรียกร้องให้มีการสังหารชาวทุตซีจำนวนมากและให้นำศพของพวกเขาไปทิ้งในแม่น้ำ

สิ่งพิมพ์สุดโต่งผุดขึ้นมา โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ชื่อคังกุระ ที่รัฐบาลสนับสนุน

ตลอดวิกฤตการล่าสังหาร สถานีวิทยุส่วนตัวที่ทรงอิทธิพล ที่สุด คือ RTLM ซึ่งย่อมาจาก Radio Télévision Libre de Mille Collines คือ พลังของสื่อที่สร้างความเกลียดชัง หว่านเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความชิงชัง ผลิตกลุ่มหัวรุนแรงอย่างช้าๆ

เครื่องจักรปลุกปั่น ยุยงของรัฐบาลรวันดาทำงานอย่างเต็มสูบ

ชาวทุตซีในแผ่นดินรวันดา ตายเกลื่อน เลือดไหลนองเต็มพื้นถนน ชาวทุตซีถูกตามล่าอย่างไร้ความปรานี พวกเขาถูกฆ่าในโรงเรียน โบสถ์ โรงพยาบาล และแม้แต่ในเรือนจำ เพราะมีการปลูกฝังว่า…พวกเขาต่ำกว่ามนุษย์เนื่องจากเชื้อชาติ… ชาวทุตซี ต่ำช้า น่ารังเกียจประดุจแมลงสาบและงู

ในเวลาต่อมา…คดีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา ถูกนำไปสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC)

พฤษภาคม พ.ศ.2543 นายรักกิว (Georges Ruggiu) นักข่าวชาวเบลเยียม ซึ่งเคยทำงานสถานีวิทยุโทรทัศน์ RTLM ในรวันดา สารภาพว่ามีการยุยงให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

นักข่าวชาวรวันดาอีก 3 คน ยังถูกตั้งข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ

มีการถอดบทเรียน พุ่งไปที่บทบาทของวิทยุ RTLM ในการยุยง

ประเด็นแรกที่ควรทราบคือ RTLM เป็นเครื่องมือของกลุ่มหัวรุนแรงฮูตู ที่วางแผนและยุยงให้สังหารหมู่

ในช่วงต้นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเดือนเมษายน พ.ศ.2537 มีการเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อต่อต้านชาวทุตซีแบบนิ่มๆ เน้นให้ความบันเทิง-ผูกมิตร กับกลุ่มหัวรุนแรงฮูตู

เมื่อการฆ่าเริ่มต้นขึ้น โฆษกวิทยุ…เริ่มให้รายละเอียดเกี่ยวกับผู้ที่ถูกตามล่าและสังหาร ลงไปจนถึงรูปพรรณสัณฐานส่วนบุคคล บอกป้ายทะเบียนรถยนต์ “เพื่อชี้เป้า” ชาวทุตซีอย่างสนุกสนาน

นักวิชาการพบว่า… บทบาทของวิทยุกระจายเสียงถือเป็นบทเรียนที่สำคัญ ความล้มเหลว คือ ไม่สามารถตรวจสอบควบคุมระบบการกระจายเสียง ไม่มีกระบวนการที่เป็นอิสระและโปร่งใสในการออกใบอนุญาตผู้แพร่ภาพกระจายเสียง

ยอมให้ RTLM โฆษณาชวนเชื่อเพื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มตน

ในศาล…ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จะถูกพิจารณาคดี ผู้ต้องสงสัยบางคนที่หลบหนีจากรวันดาถูกพิจารณาคดีในประเทศที่พวกเขาถูกพบ

ศาลเสร็จสิ้นคดีแรกเมื่อพฤษภาคม พ.ศ.2541 อดีตนายกรัฐมนตรีรวันดา นายคัมบานดา (Jean Kambanda) สารภาพในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ 6 ข้อหา และถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต

เมษายน พ.ศ.2545 นายทหารระดับสูง 4 นาย รวมทั้งอดีตพันเอกบาโกโซราซึ่งถูกตั้งข้อหาวางแผนฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตั้งแต่ต้นปี 2535 และกล่าวหาว่าทั้ง 4 คน ฝึกกองกำลังติดอาวุธที่สังหารชาวทุตซี สังหารเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของสหประชาชาติ 10 คนจากเบลเยียม รวมถึงการสังหารนายกรัฐมนตรีอูวิลิง กิยิมานา ในปี 2537

จำเลยอีก 3 คน เป็นผู้บังคับหน่วยทหาร ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต รวมถึงอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

24 เมษายน พ.ศ.2541 มีการประหารชีวิตจำเลย 22 คน โดยเปิดเผยต่อสาธารณะโดยกองทหาร-ตำรวจ

หลังเหตุสยอง….รัฐบาลประกาศแผนการเปลี่ยนสัญลักษณ์ประจำชาติ ธงชาติและเพลงชาติที่ผูกติดกับลัทธิชาตินิยม ฮูตู สุดโต่ง

ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในประเทศ

พ.ศ.2546 มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยแบบหลายพรรคครั้งแรกในรวันดานับตั้งแต่ได้รับเอกราช

พ.ศ.2549 รัฐบาลรวันดาได้ดำเนินการปรับโครงสร้างการบริหารครั้งใหญ่ จัดตั้ง 12 จังหวัดซึ่งเดิมมี 5 จังหวัด เพื่อแบ่งปันอำนาจและลดความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ นอกจากนี้ยังสร้างอนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ขึ้นหลายแห่งทั่วประเทศ

แถมท้ายครับ…รวันดาได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อตรวจสอบบทบาทของฝรั่งเศสในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การค้นพบซึ่งเผยแพร่ในปี 2551 พบว่า…ทหารและนักการเมืองของฝรั่งเศสมากกว่า 30 คน เกี่ยวข้องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ตุลาคม พ.ศ.2550 รัฐบาลรวันดาได้เปิดการสอบสวนย้อนอดีตเกี่ยวกับ “เหตุการณ์เครื่องบินตก” ในปี พ.ศ.2537

ผลการสอบสวนระบุว่า ทหารหัวรุนแรงฮูตู “เป็นผู้รับผิดชอบ” การยิงเครื่องบินที่ผู้นำทั้ง 2 ตก เสียชีวิต มีเจตนาที่จะทำให้การเจรจาสันติภาพ “ล้มเหลว”

ยุยง ปลุกปั่น เสี้ยม ให้เป็นปรปักษ์ บงการให้ทำลายล้างกัน เป็นอาชีพทำเงิน สร้างตัวของ “ปีศาจในร่างของมนุษย์” ที่มีอยู่จริง มีให้เห็นในทุกสังคม ลองพิจารณาดูนะครับ…

พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image