เครื่องมือ-เป้าหมาย โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

การยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูก 4 ฉบับ ที่จำเป็นต้องใช้ในการเลือกตั้ง ดูเหมือนจะเป็นข่าวซ้ำๆ วนๆ แต่ที่จริงเป็นเรื่องสำคัญ ผู้สนใจการเมืองต้องติดตามกันให้ดี

เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญใหม่มีผลบังคับใช้ สนช.ต้องพิจารณากฎหมายลูก 4 ฉบับนี้ให้เสร็จใน 60 วัน จากนั้นจะมีการเลือกตั้งทั่วไป

โอกาสที่จะเกิดการเลือกตั้ง เป็นไปได้ตั้งแต่ประมาณกลางปี 2560 ไปจนถึงปลายปี 2560 หรือต้นปี 2561

จะช้าเร็ว ส่วนหนึ่งอยู่ที่ กม.ลูกเหล่านี้ หากมีบทบัญญัติบังคับพรรค และผู้สมัครมากหน่อย ก็จะต้องใช้เวลาหรือให้เวลาเตรียมตัวกันมากหน่อย

Advertisement

การที่ต้องมาเขียนรัฐธรรมนูญกันจนจะ 20 ฉบับ เขียนกฎหมายเลือกตั้งกันบ่อยๆ ที่จริงไม่ใช่เรื่องปกติ แต่คนไทยอาจจะชาชินกันแล้ว

อย่างไรก็ตาม คนอีกไม่น้อยที่ได้รับรู้ หรือเห็นตัวอย่าง หรือเปรียบเทียบกับการเมืองในประเทศอื่น ไม่ยอมชาชินด้วย และตั้งคำถามก็มีอยู่

วงจรการเมืองไทยจะดำเนินไปซ้ำๆ หมุนวนไปเรื่อยๆ คือเลือกตั้ง มีรัฐบาลจากพรรคการเมือง สักพักจะเปิดประเด็นทุจริต โกงกิน สารพัดความไม่ชอบมาพากล แล้วล้มกระดาน ฉีกรัฐธรรมนูญ ร่างใหม่ ระหว่างนั้นมีรัฐบาลรูปแบบพิเศษ แล้วเลือกตั้ง

Advertisement

ขั้นตอนสำคัญ คือการร่างรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบ เพื่อใช้เป็น “เครื่องมือ” ในการกำหนดการเมืองให้เป็นไปในแบบที่ผู้มีอำนาจ หมายมั่นปั้นมืออยากจะเห็น

จากรัฐธรรมนูญ 2550 มาถึงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การเมืองในอุดมคติของผู้มีอำนาจมีแนวทางคล้ายๆ กัน

เริ่มจากความเชื่อว่า นักการเมืองโกงเลือกตั้ง หาเสียงด้วยการสัญญิงสัญญา ลงทุนมหาศาลเพื่อมาถอนทุนในภายหลัง

รัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก คือความพยายามคิดค้นมาตรการมาพิฆาต และป้องกันไม่ให้นักการเมืองโกงกิน กลับเข้ามามีตำแหน่งใหม่อีก

ในช่วงที่ยกร่างและเริ่มบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ดีกรีของความหวั่นกลัวนักการเมืองโกง อาจจะยังไม่สูงมาก

แต่เมื่อผลการเลือกตั้งในปี 2551 และ 2554 กลับโอละพ่อว่า พรรคการเมืองที่อุตส่าห์ล้มกระดาน เพื่อขับไล่ไปให้พ้นๆ ดันชนะทั้งสองรอบ

ส่งผลต่อความคิดของผู้มีอำนาจ จึงต้องเพิ่มความเข้มข้นของบทบัญญัติต่างๆ เป็นรายการ “ล้างตา” ดังที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

รอบนี้ มีประเด็นท้าทายว่า ผลการเลือกตั้ง และการเมือง จะไปตามความต้องการของผู้ยกร่างและกลุ่มอำนาจหรือไม่

“เครื่องมือ” คือ รัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก จะทำงานได้ผลอย่างที่ตั้งใจไว้หรือไม่

คำตอบในขณะนี้ คือ อาจเป็นไปได้ และไม่ได้ พอๆ กัน

ตัวแปรสำคัญ ที่สถานการณ์เศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของประชาชน

ไหนยังปัญหาจากสภาพธรรมชาติ อย่างความแห้งแล้ง ที่ดูเหมือนปรากฏตัวเร็วกว่าปกติ

ถ้ารัฐบาลแก้ปัญหา บรรเทาความเดือดร้อนได้เร็วทันการณ์ ก็เป็นเรื่องหนึ่ง

แต่ถ้าตรงกันข้าม อาจถึงเวลาจะต้องปรับแผน ปรับเป้ากันบ้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image