ภาพเก่า เล่าตำนาน : มัสยิดต้นสน…พระเจ้าตากเคยเสด็จฯ

ภาพเก่า เล่าตำนาน : มัสยิดต้นสน…พระเจ้าตากเคยเสด็จฯ

มัสยิดซุนนีที่ “เก่าแก่ที่สุด” ของกรุงเทพฯ อยู่ในเขตบางกอกใหญ่ เคยมีชื่อเรียกว่า กุฎีบางกอกใหญ่ หรือเรียกสั้นๆ ว่า กุฎีใหญ่

เป็นมัสยิดตั้งแต่ก่อนสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ.2153-2171) ในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา

ADVERTISMENT

ชื่อ “กุฎีบางกอกใหญ่” หรือ “กุฎีใหญ่” ก็เพราะมัสยิดตั้งอยู่ปากคลองบางกอกใหญ่ ส่วนชื่อ “มัสยิดต้นสน” นั้น ได้มาจาก “ต้นสนคู่” ที่ปลูกใหม่ในสมัย รัชกาลที่ 3 ตรงหน้าประตูกำแพง

สมัยกรุงศรีอยุธยารุ่งเรืองเฟื่องฟู ดึงดูดพ่อค้าและผู้คนหลากหลายเข้ามาตั้งถิ่นฐาน รวมถึงกลุ่มชาวมุสลิมจากเปอร์เซีย เป็นชุมชนใหญ่ เข้มแข็ง เก่งทั้งการค้าการปกครอง การทหาร

ADVERTISMENT

พ.ศ.2310 พม่าตีอยุธยาแตก กลุ่มชาวมุสลิมที่เรียกกันว่า “แขกแพ” (คำเรียกชาวมุสลิมที่อาศัยเรือนแพประกอบอาชีพค้าขายในกรุงศรีอยุธยา) ได้ถอดแพอพยพหนีลงมาสมทบกันอยู่ที่ชุมชนปากคลองบางกอกใหญ่ด้วยมีมัสยิดอยู่ตรงนี้ก่อนแล้ว

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ตั้งกรุงธนบุรี เคยเสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีศาสนกิจฝังศพ เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ (หมุด) นายทหารนักรบคู่พระทัย ที่เป็นมุสลิม

โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ พระราชทานที่ดินขยายพื้นที่จากเดิมที่เจ้าพระยาราชวังสันเสนีย์ (มะฮ์มูด) บุตรเจ้าพระยารามเดโชชัยสร้างไว้ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ในอดีตมุสลิม “ชีอะฮ์” ไม่มีมัสยิดสำหรับประกอบศาสนกิจ ก็ได้ใช้มัสยิดนี้ในการปฏิบัติศาสนกิจทั่วไป รวมทั้งกิจในเดือนมะหะหร่ำของชีอะฮ์ หรือแม้แต่การใช้กุโบร์ร่วมกัน

“มัสยิดต้นสน” รวมอดีต 3 สมัยเข้าด้วยกัน คือกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ ร่างของบรรพชนมุสลิมที่ได้รับราชการมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาได้นำมาฝัง ณ สุสานแห่งนี้ ซึ่งท่านเหล่านี้ได้มีส่วนในการกู้บ้านเมืองให้กลับคืนสู่อิสรภาพ

ร่างของ “เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์” หรือ หมุด พระยาราชบังสัน (ฉิม ) แม่ทัพเรือในสมัยรัชกาลที่ 3 หลวงโกชาอิศหาก (นาโคดาลี) ผู้ปฏิสังขรณ์มัสยิดต้นสนใน พ.ศ.2370

เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ หรือ “หมุด” ปรากฏนามตามพระราชพงศาวดารสมัยธนบุรีว่า …ท่านผู้นี้รับราชการตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ เป็น “หลวงศักดิ์นายเวร” ได้เก็บส่วยเมืองจันทบุรีสมทบแก่พระยาตากเป็น “ทุนรอน” สร้างกองเรือรบเพื่อกอบกู้บ้านเมืองในปี พ.ศ.2310

หลังพระยาตากทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าตากสิน ณ กรุงธนบุรี ทรงแต่งตั้งท่านผู้นี้เป็น “เจ้าพระยาจักรี” หรือ “แขก” ต่อมาได้ยกทัพไปตีเมืองนครศรีธรรมราชแล้วจึงได้รับเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาจักรีองครักษ์และถึงแก่อสัญกรรมในช่วงปี พ.ศ.2317

เมื่อแรกสร้างเป็นเพียงเรือนไม้ยกพื้น ฝาขัดแตะ และหลังคามุงจาก หลังจากที่ชาวมุสลิมที่มาประกอบพิธีทางศาสนามีจำนวนมากขึ้น จึงมีการขยายมัสยิดให้กว้างขวาง โดยเปลี่ยนเป็นเรือนไม้สักและหลังคามุงกระเบื้อง

ในสมัยในหลวง ร.2 ทรงสถาปนามัสยิดให้เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หน้าบันเป็นลายลงรักปิดทองประดับช่อฟ้า ใบระกาคล้ายวัดในพุทธศาสนา

ในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯให้ยกช่อฟ้า ใบระกาออก เพื่อมิให้เกิดความเข้าใจผิด จากนั้นมัสยิดได้ทรุดโทรมลง จึงมีการสร้างมัสยิดขึ้นใหม่ โดยรักษาสถาปัตยกรรมเดิมไว้ ส่วนโดมนั้นเป็นทรงอียิปต์ สมัยฮิจเราะห์ศักราช 800 ภายในมีกระดานโบราณแกะสลักเป็นภาษาอาหรับ วิหารกะอ์บะฮ์ และผังมัสยิดในนครเมกกะ

นับศตวรรษที่ผ่านมา เป็นสถานที่ประกอบกิจทางศาสนา พื้นที่ภายนอกเป็นกุโบร์ สำหรับฝังศพ ได้รับการดูแลจากราชสำนักเสมอมา

ในอาคาร ปรากฏโคมไฟพระราชทาน ปรากฏข้อความจารึกอยู่ที่โคมไฟ “ที่รฤกในงานพระบรมศพ ร.ศ.129” โคมไฟดังกล่าวเป็นเครื่องสังเค็ดที่ได้รับพระราชทานเนื่องในงานพระบรมศพของในหลวง รัชกาลที่ 5 ที่เสด็จสวรรคตในปีพุทธศักราช 2453 ตรงกับรัตนโกสินทรศก 129 พบเห็นได้เฉพาะมัสยิดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เท่านั้น

ในหลวง ร.8 และพระอนุชา เคยเสด็จฯ มัสยิดต้นสน

26 เมษายน พ.ศ.2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมพร้อมด้วยพระอนุชา (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ )

“สมาคมสนธิอิสลาม” อยู่ด้านในของมัสยิด เคยเป็นอาคารรับเสด็จในหลวง ร.8 มีการปรับปรุงอาคารไม้สองชั้นหลังคาทรงปั้นหยาประดับลวดลายขนมปังขิง

ด้านนอก….มีแท่นหลุมศพออกญาราชวังสันเสนีย์ (มะฮ์มูด) เคยมีการขุดสำรวจบูรณะและศึกษาในรายละเอียด รูปทรงสถาปัตยกรรม ขนาดการเรียงอิฐ ตำแหน่งทิศที่ตั้ง และข้อมูลเอกสาร ทำให้ทราบว่างานดังกล่าวเป็นลักษณะฐานปัทม์ ตกท้องสำเภา อันเป็นศิลปะนิยม “ในสมัยอยุธยา” ที่สร้างขึ้นในเมืองธนบุรีขณะนั้น

ปรากฏหินสลักชื่อตำแหน่งการฝังศพของออกญาราชวังสันเสนีย์ (มะฮ์มูด) บุตรออกญารามเดโชชัย (ทิพ) ซึ่งเป็นแม่ทัพเรือกำกับพลทหารฝรั่งเศส ณ ป้อมวิชาเยนทร์ ปากคลองบางกอกใหญ่ และเป็นผู้ปฏิสังขรณ์กุฎีใหญ่แห่งนี้ ในช่วงปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ.2231

“กุโบร์” หรือสุสานของมัสยิด ซึ่งเป็นสถานที่ฝังศพของชาวมุสลิมมีบทบาทสำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทยอย่างแนบแน่น รวมถึง หลวงโกชาอิศหาก (นาโคดาลี) ผู้ปฏิสังขรณ์มัสยิดต้นสนเมื่อ พ.ศ.2370

มัสยิดต้นสน เป็นสุสานที่ฝังศพของจุฬาราชมนตรีทั้ง 9 ท่าน ตลอดสมัยรัตนโกสินทร์จนถึงเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475

ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ “เจ้าจอมหงส์” เจ้าจอมองค์สำคัญที่เป็นมุสลิมสมัยในหลวง ร.1 “เจ้าจอมจีบ” ในสมัยในหลวง ร.2 “เจ้าจอมละม้าย” ในสมัยในหลวง ร.5 ก็ถูกฝังอยู่ในสุสานแห่งนี้

สถานที่ฝังร่างพร้อมทั้งนามที่ปรากฏทำให้เห็น “ความผูกพัน” ของมุสลิม ในฐานะ “แม่ทัพ” ที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช รวมถึง “ทักษะ” อื่นๆ โดยเฉพาะด้านการเดินเรือ การจัดทัพทางเรือ ที่มุสลิมมีประสบการณ์สูง

มีร่างของบุคคลสำคัญอีกหลายท่าน เช่น หลวงเสน่ห์สรชิต (อาหมัด) เจ้ากรมพระแสงปืนต้นขวา หลวงโกชาอิสหาก (นาโคดาลี) ผู้ทำหน้าที่ล่ามหลวงรับรองเซอร์จอห์น ครอเฟิร์ด ผู้แทนของอังกฤษครั้งเข้ามาเจรจาทำสนธิสัญญาพระราชไมตรีในสมัยรัชกาลที่ 3

พันเอกพระยากัลยาณภักดี (ยะกูบ กัลยาณสุต) ผู้นำอิหม่ามมัสยิดต่างๆ ในจังหวัดพระนครและหัวเมืองสำคัญเข้าถวายพระพรชัยมงคลรัชกาลที่ 6 ใน พ.ศ.2458-2459 พร้อมได้รับพระราชทานเสื้อครุยประจำตำแหน่งอิหม่าม

นับเป็นกุโบร์ที่รวมความแตกต่างทางด้านสำนักคิดของชาวมุสลิมนิกายซุนนี-ชีอะฮ์ (เจ้าเซ็น) อยู่ร่วมกัน เป็นเครื่องยืนยันความถ้อยทีถ้อยอาศัยของผู้คนในอดีตถึงปัจจุบันมายาวนานร่วม 300 ปี

ผู้เขียนเดินสำรวจภายนอก รู้สึกได้ว่า.. ตรงนี้เป็นพื้นที่แห่งประวัติศาสตร์ที่ล้ำลึก มีคุณค่าทางจิตใจต่อแผ่นดิน …

ทำให้ทราบว่า…พี่น้องมุสลิมตั้งแต่ในสมัยอยุธยา กรุงธนบุรี รัตนโกสินทร์ เป็นกำลังสำคัญในราชสำนัก ดูแลการค้าขาย การต่างประเทศ ดูแลความมั่นคงปลอดภัยของอาณาจักร เป็นทหารเอกคู่พระทัยของพระมหากษัตริย์ ช่วยพระยาตากกอบกู้เอกราช สร้างกรุงธนบุรีขึ้นมาเป็นราชธานี

แถมเป็นข้อมูลครับ…การทำศพของมุสลิมนั้นไม่อนุญาตให้ทำสิ่งอื่นใดนอกจากการฝัง สถานที่ฝังศพกรุงเทพฯ ชั้นในยังมี “สุสานไทยอิสลาม” เขตสาทร เป็นสถานที่จัดเก็บศพมานานกว่า 100 ปี ซึ่งละแวกนั้นในสมัยก่อนมีชาวชวา มลายู อาหรับ เปอร์เซีย

ปกติการฝังศพตามศาสนาอิสลามจะมี 2 แบบ คือ นำศพใส่โลงกับใช้ผ้าขาวหุ้มศพก่อนฝัง ซึ่งอย่างหลังจะต้องมีกระดานปิด เพื่อไม่ให้ดินโดนตัวศพ โดยผู้ที่จะใกล้ชิดมากที่สุดในการทำพิธี คือลูกหลาน แล้วหน้าที่ในสุสานจะเป็นหน้าที่ของผู้ชาย หน้าที่ลูก ภรรยา หรือสามี

การวางศพจะต้องหันปลายเท้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นที่ตั้งของหินกะอ์บะฮ์ที่ตั้งอยู่นครเมกกะ

ฝั่งธนบุรี…มีเรื่องราว เหตุการณ์ สถานที่ทางประวัติศาสตร์ให้ค้นหาอีกมหาศาลนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image