สุจิตต์ วงษ์เทศ : พ่อครัว “หัวป่าก์” สุนทรภู่รู้จักดี และมีในพระอภัยมณี

แม่ครัวหัวป่าก์ สำเนาตำรากับข้าวของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่หก โดยสมาคมกิจวัฒนธรรม พ.ศ. 2545

สุนทรภู่ รู้จักและคุ้นเคยคำ “หัวป่าก์” แล้วใช้ในนิยายกลอนเรื่องพระอภัยมณี (วรรณกรรมการเมืองต่อต้านล่าเมืองขึ้นของยุโรป) ว่า “พ่อครัวหัวป่าก์หาแกล้มเหล้า”

พระอภัยมณี ตอน 27 นางละเวง (เมืองลังกา) เตรียมการรับเจ้าละมาน (เมืองทมิฬ) ที่ยกกองทัพมาจะช่วยแก้แค้นตีเมืองผลึก จึงให้เตรียมอาหารเลี้ยงดูไพร่พลเจ้าละมานที่เหมือนยักษ์มักกะสัน ดังนี้

ฝ่ายพ่อครัวหัวป่าก์หาแกล้มเหล้า      จะเลี้ยงเหล่าพวกยักษ์มักกะสัน

สังหารแพะแกะควายลงหลายพัน         เอาแม่ขันรองเชือดเลือดเอาไว้

Advertisement

บ้างแล่เถือเนื้อสดรดน้ำส้ม                    ไม่แกงต้มตับดิบพอหยิบได้

ปรุงผักชียี่หร่าโรยพริกไทย                  ทำเตรียมไว้พร้อมเสร็จสำเร็จการ ฯ

อาหารที่สุนทรภู่กำหนดให้พ่อครัวหัวป่าก์ปรุงเป็นของกินแกล้มเหล้า โดยรวมๆ ล้วนของที่รู้จักคุ้นเคยจนทุกวันนี้

Advertisement

หัวป่าก์ หมายถึง คนทำอาหาร เรียก แม่ครัว, พ่อครัว ในกลอนสุนทรภู่ เรียก “พ่อครัวหัวป่าก์” เพราะเป็นเรื่อง (สมมุติ) เมืองฝรั่ง เชฟต้องเป็นผู้ชาย ได้แก่ พ่อครัวหัวป่าก์

หัวป่าก์ น่าจะเป็นคำมีใช้ทั่วไปแล้วในหมู่ชนชั้นสูง ตลอดจนขุนนางข้าราชการยุคอยุธยา (แต่ไม่พบหลักฐานตรง) สืบเนื่องถึงกรุงธนบุรีกับกรุงรัตนโกสินทร์

เพราะสมัย ร.1 มีใช้ทั่วไปในหมายรับสั่ง (ตามที่ ศ. ดร. นิยะดา เหล่าสุนทร ตรวจสอบพบ)

[สรุปจากหนังสือ รัตนมาลา พจนานุกรมแสดงความหมาย สมัย และที่มาของโบราณิกศัพท์ โดย ศ. ดร. นิยะดา เหล่าสุนทร สำนักพิมพ์ลายคำ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2553 หน้า 901-902]

 

แม่ครัวหัวป่าก์

ต่อมาเมื่อปลายแผ่นดิน ร.5 “แม่ครัวหัวป่าก์” หนังสือตำราอาหาร ของ ท่านผู้หญิง เปลี่ยน ภาสกรวงศ์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2451-2452

โดยยกคำ “หัวป่าก์” ที่มีและคุ้นเคยทั่วไปในหมู่คนชั้นสูงมาตั้งชื่อหนังสือ โดยเพิ่มคำว่า “แม่ครัว” ไว้หน้าหัวป่าก์ (แทนคำว่า “พ่อครัว” ที่คุ้นเคย)

 

ปาก จาก บาลี-สันสกฤต

คำว่า ป่าก์ มีรากจากคำสันสกฤตว่า ปาก (อ่าน ปา-กะ) เป็นคำนาม แปลว่า ความสุก (ดุจอาหารอันหุงต้มสุก หรือผลไม้อันบ่มสุกแล้ว); การหุงต้ม, การปรุง-หา-ตกแต่ง-หรือประกอบอาหาร ฯลฯ

[สรุปจาก สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน โดย นายร้อยเอก หลวงบวรบรรณรักษ์ (นิยม รักไทย) กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2511 หน้า 732]

“คำว่า หัวป่าก์ หรือ ป่าก์ เป็นคำบาลี ที่นำมาตกแต่งเป็นไทย โดยเติมไม้เอกกับไม้ทัณฑฆาตให้ดูเป็นคำพิเศษ

ป่าก์ เมื่อเอาไม้เอกและทัณฑฆาตออก ก็กลับเป็นรูปบาลีเดิม อ่านว่า ปากะ”

[สรุปจากจดหมายถึงบรรณาธิการ ของ ไพบูลย์ แพงเงิน อ้างถึงคำอธิบายของ ผ่อง พันธุโรทัย พิมพ์ในศิลปวัฒนธรรม (ปีที่ 23 ฉบับ 11) กันยายน 2545 หน้า 21]

 

หัวป่า

หัวป่า (ที่ไม่กร่อนคำจาก หัวปาก์ )หมายถึงบริเวณป่า ทำนองเดียวกับคำว่าหัวไร่ปลายนา มีใช้ในกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ (หมายถึงเบ็ดเตล็ด) ตราขึ้นก่อนยุคอยุธยา

ตำบลหัวป่า (อ. พรหมบุรี จ. สิงห์บุรี) หมายถึงชุมชนอยู่บริเวณพื้นที่เป็นป่า แต่ไม่ใช่ต้นเรื่องหัวป่าก์ที่หมายถึงแม่ครัว, พ่อครัว ซึ่งมีนานแล้วตั้งแต่ยุคอยุธยา

[ข้อมูล ต. หัวป่า อ. พรหมบุรี จ. สิงห์บุรี มีรายละเอียดอีกมากในข้อเขียนเรื่องกำเนิดศัพท์แม่ครัวหัวป่าก์ ของ เอนก นาวิกมูล ใน ศิลปวัฒนธรรม (ปีที่ 23 ฉบับที่ 8) มิถุนายน 2545 หน้า 126-131]

 

หัวปาก

หัวปาก (ที่ไม่มาจากบาลี-สันสกฤต) เป็นชื่อตำแหน่งผู้ควบคุมกำลังพล (เทียบเท่านายร้อย) ยุคต้นอยุธยา มีศักดินา 200 (จากบทพระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง หนังสือกฎหมายตราสามดวง)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image