คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ศักดิ์ศรีอย่าง ‘อนุรักษนิยม’ ที่ไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ต่อ ‘ประชาธิปไตย’

ธีรภัทร เจริญสุข อดีตผู้เขียนคอลัมน์เดือนหงายที่ชายโขงในมติชนรายวันเมื่อหลายปีก่อน ได้สำเร็จการศึกษาและเข้ารับปริญญาจากมหาวิทยาลัยตาร์ตู (University of Tartu) ประเทศเอสโตเนีย เข้ารับปริญญาด้วยชุดไทยราชปะแตนและโจงผ้ายกดอกประยุกต์ 

เขาเล่าว่าความสวยงามและโดดเด่นของชุดผ้าไทยของเขาในวันรับปริญญานั้น เพื่อนๆ ทุกคนพากันทักทายตั้งแต่เริ่มงานจนถ่ายรูปจบงาน ไปเดินในเมือง ชาวเอสโตเนียซึ่งปกติมีบุคลิกแบบอินโทรเวิร์ตที่ปกติไม่สนใจผู้คนรอบข้างก็ต่างมองตาม หรือก็มีคนที่เข้ามาทักทายไต่ถาม ขนาดอธิการบดีที่ตอนมอบปริญญายังชะงักยิ้มทักชมเชย

หากใครรู้จักส่วนตัว หรือติดตามผลงานคงจะทราบว่าธีรภัทรประกาศตัวอยู่เสมอ ทั้งต่อมิตรสหายและสาธารณชนว่า เขาเป็นผู้ที่มีความคิดทางการเมืองและสังคมแบบอนุรักษนิยม 

ชุดไทยและการประกาศตัวเป็นอนุรักษนิยมของธีรภัทรจึงทำให้นึกไปถึงดราม่าโต้เถียงกันล่าสุดในสังคม เรื่องของหยกนักเรียนสาววัย 15 ปี กับโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่งที่ควรจะเป็นสถานที่ศึกษาของเธอ ด้วยข้อเท็จจริงที่บอกตรงๆ ว่าตอนนี้มันเละตุ้มเป๊ะจนไม่รู้ว่าจะเป็นเรื่องอะไรกันแน่แล้ว แต่เรื่องที่ถูกโฟกัสที่สุดน่าจะเป็นประเด็นเรื่องการประท้วงของหยกว่าด้วยเรื่องเครื่องแบบ ทรงผม (ที่ตามท้องเรื่องขณะนี้ยังไม่มีฉากหน้าเสาธงและการใช้ไม้เรียว ตามชื่อหนังสือขายดีเล่มหนึ่งของสำนักพิมพ์มติชน)

Advertisement

การต่อสู้ท้าทายของหยกนำไปสู่วิวาทะของผู้คนทุกฝ่าย ทั้งต่อเนื้อหาที่เธอกำลังต่อสู้ และท่าทีที่ใช้ในการต่อสู้ผลักดันเนื้อหานั้น ท่าทีคนกลุ่มที่เราไม่จำต้องกล่าวถึงนั้นก็ไม่ต้องสงสัย หากสำหรับผู้คนในฝั่งฝ่ายประชาธิปไตยที่อาจจะเป็นผู้เลือกพรรคก้าวไกลและเพื่อไทย รวมถึงผู้ที่แสดงตัวชัดเจนว่าอยู่คนละฝั่งฝ่ายกับฝ่ายผู้ทำรัฐประหารและกลไกสืบทอดอำนาจมาช้านาน ที่ส่วนหนึ่งต่างก็ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง

ซึ่งก็ทำให้ผู้คนที่เห็นด้วย หรือเข้าใจในการต่อสู้ของเธอ ไม่ว่าจะเห็นด้วยเฉพาะในประเด็นเนื้อหา หรือรวมทั้งเนื้อหาและท่าทีแล้ว ก็แสดงความรู้สึกผิดหวังว่าทำไมมิตรสหายผู้คนที่เหมือนจะเป็นพรรคเป็นพวกเดียวกัน ต่อสู้กับพวกเผด็จการ หรือฝ่ายอนุรักษนิยมมาตั้งนาน รวมถึงการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงในเรื่องต่างๆ อย่างก้าวหน้า หากทำไมในที่สุดถึงมีจุดยืนในเรื่องของหยกไปในทางที่ปิดกั้นไปจนด่าทอ ไม่ผิดกับคนอีกฝั่งฝ่ายได้ถึงขนาดนี้

เป็นเหตุให้ควรที่จะมาตั้งหลักกันว่า ที่นักเขียน นักวิชาการ และนักวิเคราะห์วิพากษ์ทางการเมืองแบ่งฝ่ายคู่ขัดแย้งทางการเมืองที่ครอบอวลสังคมไทยตลอดเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมาว่าเป็นการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมที่สนับสนุนระบบ ระบอบ และพรรคการเมืองและขั้วอำนาจเดิม กับฝ่ายเสรีนิยมหรือฝ่ายประชาธิปไตยได้แก่กลุ่มคนที่ไม่ยอมรับการรัฐประหารไปจนถึงการสืบทอดอำนาจ และสนับสนุนขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้ามนั้นน่าจะเป็นการแบ่งแยกที่คลาดเคลื่อนจากที่ควรไปไกล และน่าจะมาถือโอกาสนี้เพื่อทบทวนกัน

Advertisement

อนุรักษนิยมกับเสรีนิยมคืออุดมการณ์ หรือความคิดทางการเมืองหลักสองฝ่ายที่อยู่ขั้วตรงข้ามกันโดยสภาพ

ฝ่ายอนุรักษนิยม” (Conservative) นั้นเชื่อในคุณค่าและการจัดระเบียบความสัมพันธ์ของผู้คนแบบดั้งเดิม ผู้สมาทานให้แก่ความคิดทางการเมืองแบบอนุรักษนิยมจึงพยายามรักษาระเบียบสังคมที่สะท้อนคุณค่านั้น เช่น การจัดลำดับชั้นทางสังคมเพื่อกำหนดขอบเขตหน้าที่ของสมาชิกที่สังกัดในแต่ละชนชั้นอย่างเข้มแข็งตายตัว รวมถึงการสร้างรูปแบบปฏิบัติทางสังคมที่เรียกว่ามารยาทหรือธรรมเนียมประเพณีในแต่เรื่องมากำกับพฤติกรรมการปฏิบัติต่อกัน

ส่วนแนวคิดแบบเสรีนิยม (Liberalism) จะเป็นอุดมการณ์ หรือความคิดทางการเมืองที่เชื่อในสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ภายใต้ความคิดว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมความเป็นมนุษย์โดยเท่าเทียมกัน ความแตกต่างอื่นใดที่ติดตัวมากับการเกิดไม่เป็นเหตุให้สมควรปฏิบัติต่อมนุษย์แต่ละคนแตกต่างกัน หลักการพื้นฐานของเสรีนิยมจึงสอดคล้องกับแนวคิดของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ได้แก่ การปกครองด้วยเสียงข้างมากของสังคมที่ยอมรับในสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายที่กำกับโดยหลักนิติรัฐ นิติธรรม หรือศุภนิติกระบวน การที่ผู้คนอยู่ในสังคมร่วมกันได้โดยสงบสุข อาจไม่จำเป็นต้องมีมารยาท หรือธรรมเนียมประเพณีมากำกับปัจเจกชน หากเพียงถือปฏิบัติกันตามหลักที่ว่าไม่มีกฎหมายห้าม ไม่ละเมิดสิทธิของผู้ใด หรือเป็นอันตรายต่อความเป็นอยู่ร่วมกันในสังคมก็ย่อมทำได้ 

ทั้งนี้ แม้ว่าดูเผินๆ แล้วจะเหมือนกับว่าฝ่ายอนุรักษนิยมเป็นค่านิยมที่ไม่สอดคล้องต่อหลักการ หรือคุณค่าแบบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแบ่งแยกและกำกับผู้คนเป็นชนชั้นต่างๆ แต่อันที่จริงแล้วฝ่ายอนุรักษนิยมก็ไม่ได้ถือเอาการแบ่งแยกเช่นนั้นมาเพื่อบังคับกีดกัน หรือเอารัดเอาเปรียบ เพราะยังมีคุณค่าเบื้องหลังที่พวกเขายึดถือ คือการยึดถือหลักของคุณธรรม เมตตาธรรม ความเป็นเลิศ (Merit) และศักดิ์ศรี ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้สร้างความเป็นธรรมและหล่อลื่นให้ผู้คนในแต่ละชนชั้นในสังคมแบบอนุรักษนิยมนี้อยู่ร่วมกันได้อย่างดีมีความสุข 

เช่นนี้ แม้ว่าระบอบอนุรักษนิยมจะเชื่อว่าเมื่อมนุษย์เกิดมาโดยแตกต่างกัน จึงเป็นการถูกแล้วที่จะมีสิทธิและหน้าที่ที่แตกต่างกันตามแต่ชนชั้น หรือสภาพการเกิด แต่การที่ผู้ใดถือเอาว่าตัวเองมีกำเนิดสูง หรือมีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่า แต่ใช้ความเหนือกว่ามารังคัดรังควานผู้คนที่อยู่ในศักดิ์ต่ำกว่า บุคคลเช่นนั้นก็จะถูกมองว่าเป็นคนไร้เมตตา ขาดคุณธรรม และพาไปสู่ความเสื่อมเสียเกียรติยศของตนเองซึ่งเป็นเหตุที่ในที่สุดเขาจะถูกลดชั้น หรือไม่ได้รับการยอมรับจากผู้คนในชนชั้นเดียวกันหรือสูงกว่า 

เช่น การมองว่ากลุ่มที่สนับสนุนและส่งเสริมผู้มีอำนาจในรัฐบาลก่อนและคณะรัฐประหารสืบทอดอำนาจเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมนั้นจึงไม่เป็นธรรม และเหมือนเป็นการดูหมิ่นเกียรติของผู้คนที่มีอุดมการณ์อนุรักษนิยมตัวจริงเป็นอย่างยิ่ง

เพราะอนุรักษนิยมจะต้องยึดถือเคร่งครัดต่อมารยาทได้แก่ การวางตัวที่จะต้องสุภาพและสง่างามสมเป็นผู้ดีที่ถึงพร้อม อนุรักษนิยมตัวจริงจึงไม่มีวันยอมรับกิริยาหยาบทรามไร้มารยาทปราศจากการให้เกียรติผู้อื่นของนายกรัฐมนตรีรักษาการที่ปรากฏให้เห็นมาตลอดแปดเก้าปีที่เขาอยู่ในอำนาจ นอกจากนี้ฝ่ายอนุรักษนิยมก็ยังเชื่อในเรื่องน้ำใจนักกีฬาอันเป็นคุณธรรมแห่งการรู้แพ้รู้ชนะ ก็ไม่อาจยอมรับได้เป็นอันขาดที่พวกเขาไม่แม้แต่จะออกมายอมรับต่อความพ่ายแพ้ของตัวเองในสนามเลือกตั้งและแสดงความยินดีกับผู้ชนะการเลือกตั้ง

เพราะผู้มีแนวคิดอนุรักษนิยมเชื่อว่าผู้ปกครอง หรือมีตำแหน่งหน้าที่ใช้อำนาจรัฐบริหารบ้านเมืองนั้น เรื่องการต้องมีที่มาหรือยึดโยงกับประชาชนเป็นเรื่องรองจากความรู้ความสามารถอย่างเพียบพร้อมที่สมควรได้ทำงานนั้นๆ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ก็ไม่มีทางยอมรับการบริหารประเทศที่ขาดประสิทธิภาพแบบแตะไปตรงไหนก็เจอปัญหาทุกเรื่องของรัฐบาลที่แล้วได้ รวมถึงอนุรักษนิยมเชื่อในคุณธรรมแห่งความรับผิดชอบ ย่อมไม่มีทางรับได้กับการใช้คำพูดประเภทที่อ้างแต่ว่าตัวเองยังเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจอยู่ แต่พอมีปัญหาต้องแก้ไข หรือถามหาความรับผิดชอบก็โบ้ยให้ไปเรียกร้องเอาจากรัฐบาลใหม่  

เช่นเดียวกับถ้าอนุรักษนิยมเชื่อในสถาบันองค์รวมที่เรียกว่าชาติและแผ่นดินว่าสำคัญยิ่งกว่าสิทธิเสรีภาพ หรือประโยชน์ใดๆ ของปัจเจกชนแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะยอมรับเรื่องที่ผู้มีอำนาจรัฐรู้เห็น หรือแม้แต่ปล่อยปละละเลยเสียจนทุนผิดกฎหมายสีดำสีเทาจากต่างชาติเข้ามาอาศัยประเทศไทยเป็นที่ทำมาหากินในทางฉ้อฉลมอมเมา และอยู่กินกันแบบเหิมเกริมเอาเปรียบคนร่วมชาติได้

ดังนั้น ผู้คนที่สมาทานเข้ากับความเลวร้าย หยาบคาย ฉ้อฉล ที่กล่าวมา หรือยอมรับเรื่องพวกนั้นได้ก็ไม่สมควรถูกเรียก หรือตู่เรียกตัวเองเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมได้เด็ดขาด ผู้คนซึ่งมีพฤติกรรมหน้าไหว้หลังหลอกเหล่านั้นเป็นเพียงอำนาจนิยมที่เชื่อในการเข้ามามีอำนาจและใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องอย่างไร้ความรับผิดชอบ ไม่สนใจใดๆ ไม่ว่าจะเป็นหลักคุณธรรม หรือศักดิ์ศรีเกียรติยศแบบอนุรักษนิยม หรือสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และหลักนิติรัฐนิติธรรมของฝ่ายเสรีนิยม 

เป็นพวกอำนาจนิยมที่ได้อำนาจรัฐในการปกครองประเทศมาจากการที่มีอำนาจบังคับบัญชากองกำลังติดอาวุธออกมาทำรัฐประหาร ด้วยการจุดชนวนของพวกอันธพาลทางการเมืองประกอบการสนับสนุนของมวลชนขี้แพ้ชวนตีไม่มีน้ำใจนักกีฬาที่พร้อมทำทุกอย่างที่จะเหนี่ยวรั้งมิให้ฝ่ายที่ตัวเกลียดชังไม่ชอบหน้าได้บริหารประเทศไปได้ตามครรลองของเสียงข้างมาก คนพวกนี้รู้แก่ใจว่าตัวไร้ความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย พวกเขาเลยต้องรีบทำลายคุณค่าของระบอบนี้ แล้วยกตัวเองสมอ้างว่าเป็นอนุรักษนิยมที่อยู่ตรงข้ามฝ่ายเสรีนิยมที่เชื่อในคุณค่าแห่งประชาธิปไตยดังกล่าว

เช่นนี้ ฉันทามติของผู้คนที่เลือกอดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านจึงไม่ใช่ฉันทามติที่อยู่ตรงกันข้ามกับฝ่ายอนุรักษนิยมแต่เป็นฉันทามติที่ผสมรวมทั้งฝ่ายเสรีนิยมและอนุรักษนิยมที่ต่างร่วมกันปฏิเสธฝ่ายเผด็จการอำนาจนิยมที่ไม่ได้มีอุดมการณ์ทางการเมือง หรือคุณธรรมใดๆ นอกจากแสวงหาอำนาจเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ส่วนตน และรักษาสืบทอดอำนาจเพื่อเอื้อต่อผลประโยชน์นั้นๆ ต่อไป 

เช่นเดียวกับที่ธีรภัทรเชื่อว่าเสรีภาพไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นไปเพื่อจะขบถ สุดโต่ง ออกนอกกรอบ หรือแหวกขนบธรรมเนียมเสมอไป หากเสรีภาพคือการเปิดโอกาสให้มีทางเลือกตามหัวใจของตัวเอง เป็นเสรีที่จะอนุรักษ์ด้วยความชอบหลงใหลในความงดงามตามแบบแผน โดยไม่ต้องถูกบังคับ เป็นเสรีที่จะรักษาประเพณีด้วยความสร้างสรรค์ และมีพลังต่อยอดยิ่งกว่ากรอบแคบๆ ที่มากำหนด

เช่นนี้เรื่องของหยก ถ้ามองด้วยมุมมองของฝ่ายเสรีนิยมก็แน่นอนว่าไม่อาจจะยอมรับได้กับการใช้อำนาจและแสดงออกของทางโรงเรียนที่ไม่ต้องถามว่าตรงไหนที่ผิด หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย เอาเป็นว่าถูกกฎหมายตรงไหนจะดีกว่า ดังนั้น จึงชอบแล้วที่เธอจะแยกเขี้ยวคำรามต่อสู้กับอำนาจที่ไม่เป็นธรรม ที่ขัดต่อสิทธิเด็ก เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน 

ส่วนผู้ที่มีมุมมองอนุรักษนิยมที่เชื่อในความดีงามและเมตตาธรรมก็ไม่อาจยอมรับให้มีการละเมิดสิทธิของเด็กรุ่นลูกที่เพิ่งลืมตาดูโลกมาได้สิบกว่าปี โดยอ้างกฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่ไร้น้ำจิตน้ำใจและขาดคุณธรรมและเมตตาธรรมของทางโรงเรียนที่เป็นผู้ใหญ่อันควรมีคุณวุฒิและวัยวุฒิมากกว่า รวมถึงพฤติกรรมที่ผู้ใหญ่ที่มีวัยวุฒิและคุณวุฒิด่าทอว่าร้ายเด็กผู้หญิงต่างๆ นานาอย่างหยาบคายไร้ศักดิ์ศรีนั้นไม่ได้เป็นอันขาด 

อย่างน้อยทั้งฝ่ายเสรีนิยมและอนุรักษนิยมตัวจริงก็จะอยู่ฝ่าย “#Saveหยกส่วนเรื่องเนื้อหาและท่าทีในการต่อสู้ของเธอ เป็นสิ่งที่โต้แย้งถกเถียงกันได้ในอีกยกหนึ่ง

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image