สุนทรภู่แต่งเรื่องพระอภัยมณี มีฉากอยู่ทะเลอันดามัน ย่านภูเก็ต โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

ภูเก็ต ทะเลอันดามัน เป็นฉากสำคัญเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่ ผมเขียนบอกในมติชนออนไลน์ เมื่อวันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน 2566 มีผู้ประท้วงเชิงคัดค้านว่าพระอภัยมณีต้องอยู่กับทะเลตะวันออกแถบระยองเท่านั้น ถ้ายกไปทะเลอันดามันก็คลาดเคลื่อน

กรณีนี้ผมแสดงหลักฐานจำนวนหนึ่งไปแล้ว คราวนี้จะบอกหลักฐานเพิ่มอีกว่า  พระอภัยมณีมีฉากหลักอยู่ทะเลอันดามัน หรือ “ทะเลหน้านอก” อ่าวเบงกอล มหาสมุทรอินเดีย (มีรายละเอียดอีกมากอยู่ในหนังสือ ภูมิศาสตร์สุนทรภู่ ของ กาญจนาคพันธุ์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2490)

ฉากพระอภัยมณี ไม่ใช่อ่าวไทย หรือ “ทะเลหน้าใน” ฝั่งทะเลตะวันออกแถบ จ. ระยอง ตามที่เคยเชื่อถือกันมานาน สุนทรภู่เขียนบอกไว้ในพระอภัยมณีว่าศูนย์กลางของเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นบริเวณชื่อ “นาควารินทร์” ในทะเลอันดามัน และตอนต้นเรื่องสุนทรภู่ก็บอกเบาะแสซ่อนไว้ด้วย

พระอภัยมณี เปิดเรื่องด้วยกล่าวถึงท้าวสุทัศน์ ครองกรุงรัตนา มีโอรส 2 องค์ คือ อภัยมณี กับ ศรีสุวรรณ (สุทัศน์ แปลว่า พระอินทร์, รัตนา แปลว่า แก้ว ล้วนเป็นสัญลักษณ์ของกรุงรัตนโกสินทร์ คือ กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ เป็นเมืองสวรรค์ของพระอินทร์ มีแก้วสีเขียว)

Advertisement

เมื่อท้าวสุทัศน์ขับไล่พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณออกจากเมือง เพราะโกรธที่ไปเรียนวิชาเป่าปี่และกระบี่กระบอง สองพี่น้องเลยพากันเดินทางจากกรุงรัตนานานราวเดือนเศษไปทางช่องสิงขร (จ. ประจวบคีรีขันธ์) ออกไปทางทะเลอันดามัน มีร่องรอยอยู่ในกลอน ดังนี้

แต่เดินทางกลางเถื่อนได้เดือนเศษ                   ออกพ้นเขตเขาไม้ไพรสิงขร

ถึงเนินทรายชายทะเลชโลทร                            ในสาครคลื่นลั่นสนั่นดัง

Advertisement

สิงขร หมายถึงช่องสิงขร เป็นช่องระหว่างขุนเขาตะนาวศรีที่ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมไปมาระหว่างเขตแดนไทยกับพม่า เขตไทย เป็น จ. ประจวบคีรีขันธ์ ริมฝั่งอ่าวไทย ทะเลจีนมหาสมุทรแปซิฟิก เขตพม่า เป็นเมืองมะริด (Mergui) อ่าวเบงกอล ทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย

ช่องสิงขร นอกจากเป็นเส้นทางพระอภัยมณีเดินดงแล้วยังพบนางผีเสื้อ (สมุทร) ที่ชายทะเล (เป็นเส้นทางม้าสีหมอกของขุนแผนด้วย ส่วนกลอนเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน แต่งให้ม้าสีหมอกเป็นม้าเทศ (อาหรับ) ลงเรือจากเมืองเทศมาขึ้นฝั่งที่เมืองมะริด แล้วต้อนฝูงม้าเทศผ่านช่องสิงขรไปกุย, ปราณ, ชะอำ เลี้ยงไว้ที่เมืองเพชรบุรี)

ช่องสิงขรอยู่ในทิวเขาตะนาวศรีที่พาดผ่านจากทางทิศเหนือลงไปทางทิศใต้ถึงพื้นที่ทิศตะวันตกของ จ. ประจวบคีรีขันธ์ ตรงที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยด้านตะวันออกของ  จ. ประจวบคีรีขันธ์ เว้าลึกเข้ามา ทำให้แผ่นดินระหว่างชายฝั่งทะเลอ่าวไทยกับทิวเขาตะนาวศรีช่วงตรงนั้นคับแคบคอดกิ่ว หรือเป็น “คอคอด” จนได้ชื่อว่าเป็นบริเวณแคบ ที่สุดของประเทศไทย กว้างเพียง 10.96 กม. (อยู่ ต. ห้วยทราย อ. เมืองฯ จ. ประจวบคีรีขันธ์)

พระอภัยมณีมีฉากหลังอยู่ทะเลอันดามันในอ่าวเบงกอล มีตอน “สานุศิษย์” พระอภัยมณีที่มาช่วยรบป้องกันเมืองผลึก

สุนทรภู่กำหนดให้เกาะแก้วพิสดารเป็นสถานชุมนุมพวกเรือแตก เมื่อพระอภัยมณีมีอันเป็นไปต้องอาศัยอยู่เกาะเมื่อเรือแตก จึงมี “สานุศิษย์” เป็นชาวหลายภาษานานาชาติ

ครั้นหมดเคราะห์ได้ครองเมืองผลึก พระอภัยมณีก็ต้องปูนบำเหน็จศิษย์สำนักเกาะแก้วพิสดารมาด้วยกัน เสร็จแล้วพวก “สานุศิษย์” ก็แยกย้ายกันไปบ้านเมืองของตน โดยเฉพาะพวกจีนต้องแล่นเรือกลับเมืองจีนจากทะเลอันดามันอ้อม “แหลมเรียว” ปัจจุบันคือแหลมมลายู-สิงคโปร์ ดังนี้

พวกจีนแล่นแผนที่ตะวันออก                             ออกเส้นนอกแหลมเรียวเลี้ยวเฉลียง

ไปถึงตั๋งกันจิ๋วจุนติ๋วเสียง                          เข้าลัดเลี่ยงอ้ายมุ้ยแล่นฉุยมา

ข้างพวกแขกแยกเยื้องเข้าเมืองเทศ                 อรุมเขตคุ้งสุหรัดปัตหนา

ไปปะหังปังกะเราะเกาะชวา                       มะละกากะเลหวังตรังกะนู

วิลันดามาแหลมโล้บ้านข้าม                              เข้าคุ้งฉลามแหลมเงาะเกาะราหู

อัดแจจามข้ามหน้ามลายู                         พวกญวนอยู่เวียดนามก็ข้ามไป

ข้างพวกพราหมณ์ข้ามไปเมืองสาวถี              เวสาลีวาหุโลมโรมวิสัย

กบิลพัสดุ์โรมพัฒน์ถัดถัดไป                            เมืองอภัยสาลีเป็นที่พราหมณ์

ข้างพวกไทยได้ลมก็แล่นรี่                       เข้ากรุงศรีอยุธยาภาษาสยาม

พม่ามอญย้อนเข้าอ่าวพุกาม                            ฝรั่งข้ามฟากเข้าอ่าวเยียระมัน

ที่บางเหล่าก็เข้าอ่าววิลาส                        เมืองมะงาดมะงาดามะงามสวรรค์

ข้ามเกาะเขามาลีกปิตัน                            หาพงศ์พันธุ์พวกพ้องพี่น้องตัว

ทั้งหมดนี้อยู่รอบๆ ทะเลอันดามันเป็นส่วนมาก ซึ่งสะท้อน “ความรู้” ของสุนทรภู่ว่ามีกว้างไกลไปถึงนานาชาติจริง การพิจารณาเรื่องฉากใน “นิยาย” เรื่องพระอภัยมณี ไม่อาจจับตัววางตาย แน่นอนให้ตรงใจสุนทรภู่ได้ทั้งหมด เพราะ “นิยาย” ก็คือ “นิยาย” ที่ใช้ทั้งสถานที่จริงเป็นฉากก็ได้ และใช้จินตนาการที่สร้างขึ้นเองโดยไม่จำเป็นต้องมีอยู่จริงในโลกเป็นฉากก็ได้

สุนทรภู่มีความรู้ภูมิศาสตร์ทะเลนดามัน, อ่าวเบงกอล, ฯลฯ อย่างแท้จริง มีหลักฐานตรงๆ อยู่ในรำพันพิลาป (แต่งเมื่อ พ.ศ. 2385 ขณะเป็นภิกษุอยู่ในวัดเทพธิดาราม กรุงเทพฯ) กล่าวถึงตัวเอง “ฝัน” ว่า “จริงจริงนะจะไปอุ้มเนื้อนุ่มน่วม ลงนั่งร่วมเรือ กลพยนต์ผยอง” ไปเที่ยวไกลถึงท้องทะเลและบ้านเมืองแถบอ่าวเบงกอลในมหาสมุทรอินเดีย ที่ศึกษาหา “ความรู้” ด้วยตนเองจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ในยุคนั้น เช่น หนังสือเก่า และชาวต่างชาติ ฯลฯ ดังมี “รำพันพิลาป” ถึงสถานที่อันมีจริงในยุคนั้น

“ความรู้” เหล่านี้สุนทรภู่น่าจะได้จาก “ประสบการณ์” นอกระบบ คือสนทนาหาความรู้จากบรรดาประชาชาติพันธุ์ต่างๆ และกะลาสีเรือที่เข้ามาค้าขายกับกรุงสยามในสมัยรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 รวมทั้งจากเอกสารต่างๆ

ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่มีลักษณะเศรษฐกิจเพื่อ “ตลาด” ทำให้สุนทรภู่เป็น “กระฎุมพี” ที่มีโลกกว้างขวางกว่ายุคก่อนๆ (ดังอาจารย์นิธิ เอียวครีวงศ์ อธิบายไว้ในหนังสือ ปากไก่และใบเรือ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2527)

บรรยากาศของการแสวงหา “ความรู้” ที่กว้างขวางย่อมมีอยู่จริง เพราะอย่างน้อยที่สุดก็มีหนังสืออีก 2 เล่ม ที่แสดงให้เห็นโลกทรรศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากยุคก่อนๆ คือเรื่อง “นางนพมาศ” พระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 3 และ “แสดงกิจจานุกิจ” ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)

ศูนย์กลางของเรื่องพระอภัยมณี อยู่บริเวณนาควารินทร์สินธุ์สมุทร คือ หมู่เกาะนิโคบาร์ สุนทรภู่ได้ชื่อทะเล “นาควารินทร์สินธุ์สมุทร” มาจากชื่อนาควารี (หรือนิโคบาร์) ในสมุดภาพไตรภูมิ แล้วสมมุติให้ทะเลนาควารินทร์นี้กว้างไกลมหาศาล หมายถึงทะเลอันดามัน-อ่าวเบงกอล-และมหาสมุทรอินเดียทั้งหมดก็ได้

สุนทรภู่สร้างเรื่องให้เรือแตกบริเวณ “นาควารินทร์” เมื่อท้าวสิลราชเจ้าเมืองผลึก พาลูกสาวชื่อสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเลแล้วถูกพายุ จึงตั้งพิธีเซ่นปู่เจ้าถามทางว่าอยู่ที่ไหน? ปู่เจ้าบอก (ตอนเมาๆ) ว่า

ฝ่ายปู่เจ้าหาวเรอเผยอหน้า                          นั่งหลบตาเซื่องซึมดื่มอาหนี

แล้วว่ากูปู่เจ้าเขาคีรี                                   ทะเลนี้มิใช่แคว้นแดนมนุษย์

ปรอทแร่แม่เหล็กก็มีมาก                             ชื่อว่านาควารินทร์สินธุ์สมุทร

ฝูงนาคมาอาศัยด้วยไกลครุฑ                       ถ้ำยั้งหยุดอยู่ที่นี่จะมีภัย

“นาควารินทร์สินธุ์สมุทร” เป็นชื่อที่สุนทรภู่เอามาจากเกาะนาควารี หรือ Nicobar Islands อยู่กลางทะเลอันดามัน มีเกาะใหญ่น้อยจำนวนมากเรียงรายตามแนวเหนือใต้     แต่มีหมู่เกาะใหญ่และสำคัญ 2 หมู่ ยาวต่อเนื่องกันคือ หมู่เกาะอันดามัน (Andaman Islands) อยู่ตอนบน กับหมู่เกาะนิโคบาร์ (Nicobar Islands) อยู่ตอนล่าง (สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นยึดเป็นฐานทัพ แต่หลังสงครามตกเป็นเขตของอินเดียจนถึงปัจจุบัน)

หมู่เกาะ 2 หมู่นี้อยู่บนเส้นทางคมนาคมการค้าสมัยโบราณ ระหว่างภูมิภาคอุษาคเนย์กับบ้านเมืองแถบตะวันตก คือ อินเดีย, ลังกา, ตะวันออกกลาง, และยุโรป จึงมีเอกสารกล่าวถึงเสมอๆ โดยเฉพาะหมู่เกาะนิโคบาร์เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “นาควารี” และชื่ออื่นๆ อีกหลายชื่อ

ชื่อ “นิโคบาร์” เพี้ยนมาจากชื่อ “นาควาระ” หมายถึงถิ่นนาค หรืองู หรือคนเปลือย เป็นชื่อเรียกเหยียดคนพื้นเมือง ในสมุดภาพไตรภูมิทำขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา, กรุงธนบุรี, และยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เขียนแผนที่โบราณระบุเมืองท่าชายฝั่งจนถึงลังกา ต้องมีชื่อและภาพ “นาควารี เกาะคนเปลือย” ทุกฉบับ แสดงว่าเป็นสถานที่สำคัญระหว่างทางไปอินเดีย-ลังกา และเป็นที่รู้จักกว้างขวางในหมู่นักเดินเรือครั้งนั้น

สมัยปลายกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ มีคณะสงฆ์จากราชอาณาจักรสยามเดินทางไปประดิษฐานสยามวงศ์ในลังกา เมื่อ พ.ศ. 2298 ต้องไปทางเรืออ้อมแหลมมลายูผ่านเมืองมะละกา มีบันทึกอยู่ในหนังสือ “เรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป” (พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ว่า ต้องผ่านเกาะอันดามันกับเกาะนาควารีหรือนิโคบาร์ แล้วเล่าเรื่องเกาะนาควารีไว้ด้วยว่าจากเกาะนาควารี สำเภากำปั่นแล่นไป 7 วัน 7 คืนก็ไปถึงแนวหินเชื่อมระหว่างอินเดียใต้ (ทมิฬ) กับลังกา (สิงหล) เรียก “ถนนพระราม” มีชื่อในพระอภัยมณี

ครั้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์แผ่นดิน รัชกาลที่ 2 ก็ส่งพระสงฆ์ไปลังกาอีกเมื่อ พ.ศ. 2357 (น่าสงสัยว่าคราวนี้จะมีสุนทรภู่ไปในคณะด้วย) ให้พระสงฆ์อาศัยเรือค้าช้างของพ่อค้าลงเรือที่ควนธานี เมืองตรัง ผ่านเกาะยาวหน้าเกาะถลาง แล้วไปเกาะนาควารีใช้เวลา 6 วัน มีบันทึกดังนี้

บันทึกของพระสงฆ์ไปลังกายังบอกอีกว่า “แลเกาะเล็กน้อยมีอยู่ใกล้เคียงเกาะนาควารีย์ที่แลไปเห็นนั้นจะนับประมาณมิได้” และนับเวลาตั้งแต่ออกจากเมืองตรัง 18 วัน ก็ถึงเมืองลังกา แล้วบันทึกถึงคำบอกเล่าเกี่ยวกับคนบนหมู่เกาะอันดามันว่า

“คนในเกาะนั้นกินคน ถ้าแลเรือชัดเข้าไปเถิงที่นั้นแล้ว มันช่วยกันไล่ยิงด้วยหน้าไม้ จับตัวได้เชือดเนื้อกินเป็นอาหาร อันนี้เป็นคำบอกเล่าหลายปากแล้ว ก็เห็นจะมีจริง แต่มิได้เห็นด้วยจักษุ”

เรื่องมนุษย์กินคนคงมีหลายเกาะ ในนิราศลอนดอนของหม่อมราโชทัยก็เขียนไว้ว่า ที่สุมาตรามีมนุษย์กินคน สุนทรภู่คงได้ยินเรื่องมนุษย์กินคนอยู่ตามหมู่เกาะจากคำบอกเล่าของชาวเรือแล้วจึงสร้างตัวละครชื่อ “เจ้าละมาน” ขึ้นมา แม้จะไม่ได้กินคน แต่ก็กินของสดๆ คาวๆ ดังนี้

ฝ่ายลำหนึ่งถึงละมานสถานถิ่น                 เมืองทมิฬฟันเสี้ยมเหี้ยมหนักหนา

ไม่กินข้าวชาวบุรินทร์กินแต่ปลา               กันช้างม้าสารพัดสัตว์นกเนื้อ

ถึงเวลาฆ่าชีวิตเอามีดเชือด                     แล้วคลุกเลือดเข้าสักหน่อยอร่อยเหลือ

ทั้งน้ำส้มพรมพล่าน้ำปลาเจือ                  ล้วนเถือเนื้อดิบกินสิ้นทุกคน

เจ้าละมานนี้ “กาญจนาคพันธุ์” ว่าหมายถึงเจ้าแห่งเกาะละมาน หรือสุละมาน ก็คือเกาะนิโคบาร์หรือนาควารีนั่นเอง จะเห็นว่าข้อมูลตรงกับบันทึกของพระสงฆ์ที่พบชาวเกาะนาควารี

สุนทรภู่ยังบรรยายรูปร่างหน้าตาของเจ้าละมานไว้อีกว่า “เห็นองค์ท้าวเจ้าละมานเหมือนมารร้าย” และ “จมูกแหลมแก้มแฟบซีกฟันเสี้ยม ดูหน้าเหี้ยมหาญหนักเหมือนยักษี” ต่อมาทำศึกกับพระอภัยมณี แล้วถูกจับได้ จึงให้เอาไปปล่อยเกาะ เพราะสุนทรภู่คงรู้ดีอยู่แล้วว่าชาวเกาะอันดามันเป็นพวก “เงาะ” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบันว่า “ชาวเล” หรือ “ชาวน้ำ” จึงกำหนดเรื่องให้เอาเจ้าละมานไป “ปล่อยเสียที่แดนเงาะตามเกาะเกียน”

ทั้งหมดที่ยกหลักฐานมานี้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับอ่าวไทย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image