การแก้ปัญหาน้ำท่วมโดย:ศจ.เกียรติคุณ ฉลอง เกิดพิทักษ์

การแก้ปัญหาน้ำท่วมทำได้หลายวิธีแต่ละวิธีจะเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประชาชนที่ถูกน้ำท่วมและบริเวณใกล้เคียงซึ่งแตกต่างกันออกไป ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างการแก้ปัญหาน้ำท่วมมาให้ทราบเพียงบางกรณีเท่าที่ได้พบเห็นดังนี้

กรณีแรก เมื่อปี พ.ศ.2508 ผู้เขียนได้เดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศแคนาดา เมืองที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่มีแม่น้ำ 2 สายไหลมาบรรจบกัน สายหนึ่งไหลมาจากรัฐนอร์ทดาโคตา (Red river) สหรัฐอเมริกา อีกสายหนึ่งมีขนาดใหญ่กว่าไหลมาจากแคนาดาตะวันตก ขณะนั้นกำลังก่อสร้างคลองผันน้ำอุทกภัย (Flood way) โดยผันน้ำจากลำน้ำที่ไหลมาจากสหรัฐอเมริกาอ้อมเมืองไปทิ้งน้ำลงลำน้ำเดิมทางด้านท้ายน้ำ จุดทิ้งน้ำลงลำน้ำเดิมด้านท้ายน้ำจะต้องมีระยะทางไกลมากพอซึ่งน้ำที่ทิ้งจะไม่ไหลย้อนมาท่วมเมือง โดยคลองผันน้ำอุทกภัยยาวประมาณ 75 กม. และคลองผันน้ำผ่านจุดตัดซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างประมาณ 42 จุด อาจารย์หัวหน้าสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำที่มหาวิทยาลัยนั้นเป็นผู้คำนวณทางด้านชลศาสตร์และอุทกวิทยา และได้นำมาสอนในชั้นเรียนด้วย

เมื่อคลองผันน้ำอุทกภัยใช้งานไปได้เป็นเวลาประมาณ 25 ปี ปรากฏว่ามีขนาดเล็กไป จึงได้เปลี่ยนจากคลองดินเป็นคลองดาด

กรณีที่ 2 ประมาณปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม 2521 เกิดน้ำท่วมใหญ่ในจังหวัดขอนแก่น มีประชาชนอพยพเข้าไปอยู่ในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นที่สูงประมาณ 3,000 คน และวัว-ควายประมาณ 2,000 ตัว (พื้นที่มหาวิทยาลัยเกือบ 6,000 ไร่) ปริมาณน้ำที่ระบายผ่านทางน้ำล้นของอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์มากกว่า 3,000 ลบ.ม.ต่อวินาที เมื่อน้ำเริ่มท่วมมีนักศึกษากลุ่มหนึ่งมาพบผู้เขียนซึ่งขณะนั้นเป็นรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ขอให้ปิดเรียนเพื่อรับผู้อพยพจากน้ำท่วม ผู้เขียนจึงเดินทางเข้าไปในตัวเมืองขอนแก่นพบว่าที่วัดศรีจันทร์ (เป็นพระอารามหลวง) ซึ่งตั้งอยู่ในตัวเมืองมีประชาชนอพยพเข้ามาอาศัยที่วัดมากเกินกว่าที่ทางวัดจะรับได้ เฉพาะที่นั่งก็ยังไม่เพียงพอ แล้วกลางคืนจะหลับนอนอย่างไร
ผู้เขียนจึงรีบกลับมาเรียนให้ท่านอธิการบดีทราบเพื่อสั่งปิดมหาวิทยาลัยและเตรียมรับผู้อพยพ และท่านได้มอบหมายให้ผู้เขียนเป็นผู้ดูแลผู้ที่อพยพเข้ามาพักอาศัยในมหาวิทยาลัยขอนแก่น
คืนแรกมหาวิทยาลัยก็เตรียมตัวแทบไม่ทันเพราะมีผู้อพยพเข้ามามากและรวดเร็ว ขณะนั้นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยก็ยังก่อสร้างไม่เสร็จ คืนแรกผู้เขียนได้ประกาศรับสมัครอาจารย์คณะแพทยศาสตร์มาอยู่เวรท่านละ 1 ชม. เพื่อดูแลผู้อพยพที่อาจเกิดเจ็บป่วยขึ้นได้ ปรากฏว่ามีอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ซึ่งอาวุโสกว่าผู้เขียนประมาณ 5-6 ปี (ได้ทราบว่าท่านเพิ่งกลับจากปฏิบัติงานในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ 2-3 ปี) 2 ท่าน (สามี-ภรรยา) มาสมัครอยู่เวรในเวลาตีสามและตีสี่ ท่านบอกผู้เขียนว่า เมื่อท่านไปสมัครอยู่เวรก็เหลือเฉพาะเวลาตีสามและตีสี่เท่านั้น ภายหลังอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ทั้ง 2 ท่านได้รับเลือกเป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นทั้ง 2 ท่าน โดยสามีได้เป็นคณบดี 2 วาระ (8 ปี) ส่วนภรรยาได้เป็น 1 วาระ ซึ่งทำให้ผู้เขียนรู้สึกดีใจมากและได้ทราบว่าท่านทั้งสองไม่ได้เปิดคลินิกส่วนตัว
ปรากฏว่าการดูแลผู้อพยพที่เข้ามาพักอาศัยในมหาวิทยาลัยเป็นไปด้วยดี เพราะมหาวิทยาลัยมีโรงครัวสำหรับทำอาหารแจกจ่ายให้ทั้งผู้อพยพและผู้เข้ามาดูแลวัว-ควาย และข่าวนี้ได้แพร่เข้าไปในตัวเมืองขอนแก่นทำให้ผู้อพยพจะขอย้ายเข้าไปอยู่ในมหาวิทยาลัย เผอิญทางมหาวิทยาลัยไม่มีที่จะรองรับผู้อพยพเพิ่ม อนึ่งผู้เขียนต้องขอขอบพระคุณทุกๆ ท่านที่ได้ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้อพยพหนีภัยน้ำท่วมเข้าพักอาศัยในมหาวิทยาลัยขอนแก่นในช่วงเวลาดังกล่าวแล้วด้วย
ภายหลังจากเกิดน้ำท่วมได้มีการศึกษาเพื่อสร้างเกณฑ์การใช้อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ใหม่ โดยในช่วงฤดูฝนที่อาจเกิดอุทกภัยได้ระดับน้ำในอ่างควรอยู่ที่ 180.50 ม.รทก. และที่ปลายฤดูฝนให้ยกระดับน้ำขึ้นสู่ระดับเก็บกักที่ 182.00 ม.รทก. (ความจุ 2,263 ล้าน ลบ.ม.) จากเกณฑ์ดังกล่าวนี้ถ้าเกิดอุทกภัยรอบ 100 ปี (100 ปีมีโอกาสเกิด 1 ครั้ง) ปริมาณน้ำที่ระบายลงท้ายน้ำสูงสุด 400 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งเท่ากับความจุของแม่น้ำพอง นอกจากนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบยังพัฒนาแบบจำลองสำหรับทำนายปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำอีกด้วย

Advertisement

อนึ่งในปี พ.ศ.2558 เกิดความแห้งแล้งขึ้นบนลุ่มน้ำพองทำให้ในต้นปี พ.ศ.2559 ปริมาณน้ำที่เก็บกักได้ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์แทบไม่เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคทางด้านท้ายอ่าง จึงเสนอแนะให้ศึกษาเพื่อสร้างเกณฑ์การใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูกฤดูแล้งของอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ใหม่ (Dry Season Area Reduction curve – DSAR curve)

กรณีที่ 3 ประมาณปี พ.ศ.2545 ผู้เขียนมีโอกาสไปศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดระบบป้องกันน้ำท่วมในเขตเทศบาลและชุมชนต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกของหน่วยราชการหนึ่ง เมื่อเริ่มงานไปได้ประมาณ 7 เดือน เกิดฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วม อบต.ริมรั้วมหาวิทยาลัยนเรศวร ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งดูแลงานนี้อยู่ได้เรียกทีมงานของบริษัทที่ปรึกษาไปพบเพื่อหาทางแก้ปัญหา ผู้เขียนในฐานะผู้จัดการโครงการของบริษัทที่ปรึกษาก็ได้ศึกษาถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจนทราบถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วม จึงเดินทางไปพบท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ศาลากลางจังหวัด ท่านก็ได้อธิบายถึงปัญหาและได้นัดหมายให้ตัวแทนบริษัทไปพบกับผู้แทนของมหาวิทยาลัยซึ่งท่านได้แจ้งวันเวลาไว้แล้ว เพื่อปรึกษาหารือในการแก้ปัญหา ก่อนออกจากห้องท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดท่านก็ได้แนะนำว่าขอให้ไปปรึกษาหารือในการแก้ปัญหากันอย่างสร้างสรรค์ อย่าไปทะเลาะกัน

ผู้เขียนก็นึกอยู่ในใจ (โดยไม่ได้เรียนให้ท่าน รองผู้ว่าทราบ) ว่าผู้แทนมหาวิทยาลัยที่มาพบผู้เขียนน่าจะเป็นลูกศิษย์ของผู้เขียน เพราะในเวลานั้นคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มีอาจารย์ที่สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาเอกทางด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำอยู่ 2 ท่าน และทั้ง 2 ท่าน ผู้เขียนเป็นกรรมการวิทยานิพนธ์ขั้นปริญญาเอก (หลักสูตรนานาชาติ) เมื่อไปถึงมหาวิทยาลัยก็เป็นจริงดังที่คาดคิดไว้ ผู้เขียนจึงได้อธิบายถึงปัญหาและได้เดินไปดูร่องระบายน้ำเดิมที่มีอยู่ทั้งภายนอกและภายในมหาวิทยาลัย เพราะมหาวิทยาลัยได้ก่อสร้างบนพื้นที่จัดรูปที่ดินซึ่งมีร่องระบายน้ำ และมหาวิทยาลัยก็ได้เว้นร่องระบายน้ำไว้  แต่ในขณะนั้นเกิดการอุดตัน ผู้เขียนจึงขอร้องให้ทางมหาวิทยาลัยช่วยปรับปรุงดูแลร่องระบายน้ำที่ผ่านพื้นที่มหาวิทยาลัยให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดเวลา และร่องระบายน้ำดังกล่าวถึงแม้ว่าจะตัดผ่านพื้นที่มหาวิทยาลัย (เป็นความยาวไม่มากนัก) แต่ก็ไม่ได้ทำให้ภูมิทัศน์ของมหาวิทยาลัยเสียหาย ซึ่งผู้แทนมหาวิทยาลัยก็รับจะไปดำเนินการให้ และผู้เขียนก็ได้นำผลการเจรจาดังกล่าวไปเรียนให้หน้าห้องท่านรองผู้ว่าฯ เพื่อเรียนให้ท่านรองผู้ว่าฯ ทราบต่อไป
เมื่อเวลาผ่านไปได้ไม่นานนัก ผู้แทนของมหาวิทยาลัยท่านนั้นก็ได้รับเลือกเป็นคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ถึง 2 วาระ (วาระละ 4 ปี) ปัจจุบัน (ธันวาคม 2559) อาจอยู่ในปีท้ายๆ ของวาระที่ 2

Advertisement

กรณีที่ 4 ในปี พ.ศ.2554 เกิดน้ำท่วมใหญ่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในช่วงเวลาที่ปริมาณน้ำสูงสุดในแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ เขื่อนภูมิพลระบายน้ำลงท้ายน้ำประมาณ 500 ลบ.ม.ต่อวินาที ผู้เขียนจึงได้ศึกษาเบื้องต้นเพื่อคำนวณหาเกณฑ์ในการควบคุมน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ถ้าใช้เกณฑ์ที่ผู้เขียนศึกษาควบคุมระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลแล้วเกิดอุทกภัยใหญ่เช่นปี พ.ศ.2554 ขึ้นมาอีก เขื่อนภูมิพลไม่จำเป็นต้องระบายน้ำลงท้ายน้ำเป็นปริมาณมากในช่วงที่ปริมาณน้ำสูงสุดในแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ โดยนำปริมาตรน้ำดังกล่าวไปใช้ในการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตโครงการชลประทานเจ้าพระยาแทน และบทความนี้ได้ลงพิมพ์ในวิศวกรรมสาร วสท. ปีที่ 6, ฉบับที่ 66

กรณีที่ 5 ประมาณปี พ.ศ.2555 ได้มีการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดระบบป้องกันน้ำท่วมในเขตเทศบาลและชุมชนต่อเนื่องของหน่วยราชการหนึ่งในเขตจังหวัดปราจีนบุรี ผู้เขียนสนใจเทศบาลตำบลบ้านสร้าง เป็นพิเศษว่าทำไมจึงเกิดน้ำท่วมบ่อย เมื่อศึกษาจากแผนที่มาตราส่วน 1:50,000 ของกรมแผนที่ทหาร พบว่าแม่น้ำปราจีนบุรีท้ายจุดที่ตั้งเทศบาลตำบลบ้านสร้างมีความคดเคี้ยวมากโดยมีระยะทางตรงประมาณ 1 ใน 3 ของระยะทางตามลำน้ำ นอกจากนี้ยังมีคลองสียัด และแม่น้ำนครนายกไหลมาลงบริเวณดังกล่าวอีก 2 สายด้วย ในการประชุม 2 ครั้งสุดท้ายก่อนงานการศึกษาและการออกแบบรายละเอียดจะแล้วเสร็จ ผู้เขียนได้อธิบายให้ท่านนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบ้านสร้างทราบว่า ถ้าในอนาคตจะมีการขุดลอกแม่น้ำปราจีนบุรีเหนือเทศบาลตำบลบ้านสร้าง อย่ายอมให้ขุดลอก ซึ่งจะทำให้เกิดน้ำท่วมบริเวณบ้านสร้างเพิ่มมากขึ้น เพราะปริมาณน้ำจะไหลลงมาถึงบ้านสร้างได้เร็วขึ้นและมากขึ้น แต่ปริมาณน้ำยังไหลออกจากบ้านสร้างลงไปทางท้ายน้ำได้เท่าเดิม ปรากฏว่าเมื่อประมาณ 6 เดือนที่แล้ว (ปัจจุบันเดือนธันวาคม 2559) มีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งลงข่าวว่าหน่วยราชการแห่งหนึ่งจะทำการขุดลอกแม่น้ำปราจีนบุรี ผู้เขียนจึงได้เขียนจดหมายถึงท่านนายก บ้านสร้างว่าระยะทางตามลำน้ำปราจีนบุรีจากตำบลบ้านสร้างขึ้นไปทางด้านเหนือน้ำประมาณ 30 กม. อย่ายอมให้ขุดลอก นอกจากนี้การขุดลอกลำน้ำยังจะทำให้ตลิ่งของแม่น้ำบริเวณขุดลอกและด้านท้ายน้ำพังทลายได้อีกด้วย

ขณะที่เขียนต้นฉบับนี้น้ำกำลังท่วมพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งการแก้ปัญหาน้ำท่วมทำได้ง่ายกว่าภาคกลางเพราะเป็นแม่น้ำสายสั้นๆ ซึ่งเมื่อเกิดน้ำท่วมและภัยแล้งครั้งใด ทำให้ผู้เขียนนึกถึง “การปฏิรูปการจัดการน้ำทั้งระบบ” ซึ่งผู้เขียนได้เขียนบทความลงพิมพ์ในวิศวกรรมสาร วสท. ปีที่ 68 ฉบับที่ 1 พร้อมทั้งส่งบทความให้ผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image