ภาพเก่าเล่าตำนาน : เสืออากาศไทย ในกรณีพิพาทไทย-อินโดจีนฝรั่งเศส

ภาพเก่าเล่าตำนาน : เสืออากาศไทย ในกรณีพิพาทไทย-อินโดจีนฝรั่งเศส

ผู้เขียนไปพบหนังสือเก่าในกองเกะกะ…“แบกะดิน” หน้าปกสีฟ้า เก่าคร่ำคร่า กระดาษข้างในเหลืองกรอบ เหมือนถูกทอดด้วยน้ำมัน หนาประมาณ 60 หน้า ในตลาดนัดแห่งหนึ่งย่านจตุจักร

เมื่อหยิบขึ้นมาเปิดอ่านจึงพบว่านี่คือ 1 ในขุมทรัพย์ทางประวัติศาสตร์ บันทึกเอกสารทางราชการไว้อย่างเป็นระบบ

ปรากฏนามของบรรพบุรุษ ทหารบก เรือ อากาศ ตำรวจสนาม ที่ปฏิบัติการรบด้วยความกล้าหาญ (ในกรณีพิพาทไทย-อินโดจีนฝรั่งเศส พ.ศ.2483-2484) ชื่อหนังสือ ผู้กล้าหาญในสมรภูมิ 2483-2484 พิมพ์แจกในการพระราชทานเพลิง อำมาตย์ตรี พระจำนงสารบรรณ์ (อวบ อักษรนันทน์) ณ วัดไตรมิตต์วิทยาราม วันที่ 4 ธันวาคม 2484 โรงพิมพ์กรมยุทธศึกษาทหารบก

Advertisement

จึงขอคัดลอกมา (บางส่วน) ดังนี้ครับ (ใช้ตัวสะกดตามต้นฉบับ : ผู้เขียน)

•สำเนาที่ 1/2483 แจ้งความ บก.ทหารสูงสุด เรื่องชมเชยนักบินผู้กล้าหาญ

ด้วยเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2483 เวลา 08.00 ได้มีเครื่องบินตรวจการณ์ของฝรั่งเศส 1 เครื่องบินมาในระยะสูง 600 เมตร เข้ามาทางทิศใต้ของจังหวัดนครพนม เรืออากาศตรีศานิตย์ นวลมณี ผู้บังคับหมวดบินที่ 1 ฝูงบินตรวจการณ์ กองบินน้อยผะสม จังหวัดอุดรธานี ซึ่งได้รับหน้าที่เป็นผู้บังคับหมู่ยามอากาศยานประจำจังหวัดนครพนม จึงได้นำเครื่องบิน
แบบ 23 ขึ้นทำการบินขับไล่ โดยเรืออากาศตรีศานิตย์ นวลมณี เป็นนักบิน จ่าอากาศโทประยูร สุขุมาลจันทร์ นักบินประจำหมวดบินที่ 2 ฝูงบินตรวจการณ์ กองบินน้อยผะสม จังหวัดอุดรธานี เป็นพลประจำปืนกลอากาศหลัง

Advertisement

และได้สั่งให้เครื่องบินแบบ 17 อีก 2 เครื่องซึ่งเป็นเครื่องบินภายในหมู่ยามอากาศบินขึ้นตามไป โดยพันจ่าอากาศเอกทองใบ พันธุ์สบาย นักบินประจำหมวดบินที่ 2 ฝูงบินขับไล่ กองบินน้อยผะสม จังหวัดอุดรธานี เป็นนักบินเครื่องหนึ่ง และจ่าเอกนาม พุ่มรุ่งเรือง นักบินประจำหมวดบินที่ 1 ฝูงบินขับไล่กองบินน้อยผะสม จังหวัดอุดรธานี เป็นนักบินอีกเครื่องหนึ่ง

ในขณะเมื่อเครื่องบินตรวจการณ์ของฝ่ายไทยบินอยู่เหนือลำน้ำโขง เครื่องบินขับไล่ของฝ่ายฝรั่งเศส 5 เครื่อง มีลักษณะเหมือนเครื่องบินแบบ 16 แต่พับฐานได้ บินมาในระยะต่ำด้วยความเร็วไม่น้อยกว่า 300 กิโลเมตรต่อ 1 ชั่วโมง และแยกหมู่เข้าทำการโจมตีเครื่องบินแบบ 23 ซึ่งเรืออากาศตรีศานิตย์ นวลมณี เป็นนักบินพร้อมกันทั้ง 5 เครื่อง

เรืออากาศตรีศานิตย์ นวลมณี ได้ทำการต่อสู้ด้วยปืนกลอากาศที่มีไปกับเครื่องบิน ยิงกระสุนหน้า 2 ชุดและจ่าอากาศโทประยูร สุขุมาลจันทร์ ทำการยิงปืนกลอากาศหลัง 93 นัด แล้วทำการเลี้ยวมาบินอยู่เหนือจังหวัดนครพนม

เครื่องบินแบบ 17 ของฝ่ายไทยทั้ง 2 เครื่องได้เข้าช่วยทำการต่อสู้ ทั้งสองฝ่ายทำการต่อสู้กันประมาณ 20 นาที

เครื่องบินแบบ 17 ได้ขึ้นอยู่ในระยะสูงเหนือเครื่องบินฝ่ายฝรั่งเศสได้แล้ว เครื่องบินฝ่ายฝรั่งเศสก็แยกหมู่ไปบินวนเวียนอยู่เหนือเมืองท่าแขก มิได้เข้าทำการโจมตีอีก ทั้งสองฝ่ายได้ทำการบินคุมเชิงกันอยู่ฝ่ายละฝั่งลำน้ำโขง ประมาณ 20 นาทีเครื่องบินฝ่ายฝรั่งเศสก็รวมหมู่บินกลับไปทางทิศใต้

เครื่องบินฝ่ายไทยจึงได้กลับลงยังสนามบินโดยเรียบร้อย ผลของการต่อสู้ครั้งนี้เครื่องบินฝ่ายไทยมิได้เป็นอันตรายและบาดเจ็บแต่ประการใด ส่วนเครื่องบินของฝ่ายฝรั่งเศส 5 เครื่องนั้นคงบินกลับเพียง 4 เครื่อง ส่วนอีก 1 เครื่องเข้าใจว่าประสบอันตรายและบินลงในเขตของฝรั่งเศส

สำหรับเครื่องบินตรวจการณ์ของฝรั่งเศสได้หายไปในเมืองขณะเครื่องบินแบบ 17 เข้าทำการต่อสู้นั้นแล้ว

อนึ่งในขณะทำการต่อสู้ติดพันกันอยู่เครื่องบินฝ่ายฝรั่งเศสได้ทิ้งลูกระเบิดลงมา 3 ลูก ตกหน้าเมือง 2 ลูก และท้ายเมือง 1 ลูก

พฤติการณ์ตามที่นักบินทั้ง 4 นายได้ทำการยุทธนาการบนอากาศด้วยความสามารถและมีกำลังใจเข้มแข็งกล้าหาญโดยใช้เครื่องบินเพียง 3 เครื่องก็สามารถประหารและขับไล่เครื่องบินของฝ่ายฝรั่งเศสซึ่งมีจำนวนมากกว่าให้ล่าถอยไปได้

ดังนี้นับว่าเป็นการป้องกันภัยให้แก่ประเทศชาติไทยเป็นอย่างดีสมควรได้รับความชมเชยในฐานะที่ทำความชอบในราชการสนามเป็นพิเศษ

กระทรวงกลาโหม จึงได้สั่งเลื่อนยศและเลื่อนขั้นเงินเดือนเพื่อเป็นบำเหน็จความชอบต่อไปแล้ว

(ลงนาม) พล.ต.พิบูลสงคราม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ศาลาว่าการกลาโหมพระนคร 30 พฤศจิกายน 2483

•เอกสารอีก 1 ฉบับ ที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้…รายงานการปฏิบัติการรบ ของ นาวาอากาศตรีศานิตย์ นวลมณี

28 พฤศจิกายน 2483 เวลา 08:00 น เครื่องบินขับไล่ฝรั่งเศส 5 เครื่อง เครื่องบินตรวจการณ์ 1 เครื่อง ได้เข้ามาโจมตีจังหวัดนครพนม นาวาอากาศตรีศานิตย์ นวลมณี ได้เข้าทำการขัดขวางรบกับเครื่องบิน ที่ข้าศึกซึ่งมีจำนวนมากกว่าหลายเท่า ทั้งมีความเร็วสูงกว่าด้วย

จนกระทั่ง ว่าที่เรืออากาศตรีทองใบ พันธุ์สบาย ได้เข้าช่วยรบข้าศึกจึงได้หนีไป การที่นาวาอากาศตรีศานิตย์ นวลมณี ปฏิบัติการไปนี้ แสดงความองอาจกล้าหาญอย่างยอดยิ่ง เอาชีวิตเข้าแลกเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามหน้าที่ แม้ตนทราบดีแล้วว่าข้าศึกมีกำลังมากกว่าและมีความเร็วมากกว่าก็ตาม ก็หามีความย่อท้อต่ออันตรายแต่อย่างใดไม่ นับว่านาวาอากาศตรีศานิตย์ นวลมณี ได้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความองอาจจนเป็นผลสำเร็จและนำเครื่องบินกลับสู่สนามบินโดยสวัสดิภาพ แต่กะสุนปืนถูกเครื่องบินประมาณ 20 แห่ง นับว่านาวาอากาศตรีศานิตย์ นวลมณี ได้ฝ่าอันตราย ด้วยความกล้าหาญ โดยไม่คิดแก่ชีวิต มุ่งแต่จะปฏิบัติกิจในหน้าที่ให้ลุผลสำเร็จเท่านั้น สมควรยกย่อง

ได้รับคำสั่งให้ไปทำการโจมตีสนามบินเวียงจันทร์

10 ธันวาคม 2483 เวลา 07:50 น ได้บินออกจากสนามบินอุดรธานี ไปปฏิบัติการตามคำสั่ง ขณะที่เข้าทำการโจมตี ได้ถูกเครื่องปืนกลจากพื้นดินทำการยิงอย่างรุนแรง แต่นาวาอากาศตรีศานิตย์ นวลมณี ก็มิได้ย่อท้อต่ออันตรายอันพึงมีแก่ตน ได้พยายามปฏิบัติหน้าที่ด้วยความองอาจกล้าหาญจนบรรลุผลสำเร็จแก่ทางราชการ

ในการเข้าโจมตีครั้งนี้ เครื่องบินของนาวาอากาศตรีศานิตย์ นวลมณี ถูกยิงถังน้ำมันทะลุไฟไหม้ นักบินถูกไฟลวกและถูกกระสุนที่เข่าต้องกระโดดร่มชูชีพและถึงแก่กรรมใน 23 ธันวาคม 2483 ส่วนผู้ยิงปืนหลังคือ เรืออากาศโทเฉลิม ดำสัมฤทธิ์ ไฟลวกและตกลงพร้อมกับเครื่องบินถึงแก่กรรมทันที

(ข้อมูลเพิ่มเติม : การรบทางอากาศเมื่อ 10 ธันวาคม 2483 นาวาอากาศตรีศานิตย์ นวลมณี ที่ถูกยิง นำเครื่องบินข้ามโขงกลับมาได้ และโดดร่มลงที่หนองน้ำบ้านพรานพร้าว อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ได้รับบาดเจ็บสาหัส ถูกส่งตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลทหารกรุงเทพ และเสียชีวิตในวันที่ 23 ธันวาคม 2483 อายุ 23 ปี)

และในหนังสือเล่มนี้ มีรายงานความกล้าหาญของ ร.ต.เฉลิมฯ

•รายงานการปฏิบัติการรบของ เรืออากาศตรีเฉลิม ดำสัมฤทธิ์

ได้รับคำสั่งให้เป็นผู้ยิงปืนหลัง ไปทำการโจมตีสนามบินเวียงจันทร์ 10 ธันวาคม 2483 เวลา 0750 นาวาอากาศตรีศานิตย์ นวลมณี พร้อมด้วยเรืออากาศตรีเฉลิม ดำสัมฤทธิ์ ได้ทำการบินไปปฏิบัติการตามคำสั่ง ขณะทำการโจมตีสนามบินเวียงจันทร์ ข้าศึกได้ทำการยิงจากพื้นอย่างรุนแรง แต่นักบินและผู้ยิงปืนหลังหาได้มีความย่อท้อต่ออันตรายอย่างใดไม่ ได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนจนเป็นผลสำเร็จ

ในการปฏิบัติของนักบินและผู้ยิงปืนหลังครั้งนี้ ได้มีการต่อสู้กันอย่างทรหด ในที่สุดกะสุนปืนของข้าศึกได้ถูกถังเบนซินทะลุ น้ำมันไหลออก เกิดเพลิงไหม้ นาวาอากาศตรีศานิตย์ นวลมณี บาดเจ็บสาหัสถึงแก่กรรมภายหลัง ส่วนเรืออากาศตรีเฉลิม ดำสัมฤทธิ์ ถึงแก่กรรมทันที นับว่าเรืออากาศตรีเฉลิม ดำสัมฤทธิ์ ได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความองอาจกล้าหาญ ฝ่าอันตรายอย่างยิ่งยอดรู้ผลสำเร็จตามหน้าที่จนตนเองเสียชีวิต สมควรยกย่อง

ก่อนวันถึงแก่กรรมเรืออากาศตรีเฉลิมได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนอีกหลายคราวแต่มิได้ฝ่าอันตรายร้ายแรงเช่นคราวที่เสียชีวิตนี้

นายทหารทั้ง 2 ท่านนี้ ได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญ ส่วนกำลังพลทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศที่รอดชีวิต ได้รับการพิจารณาเหรียญกล้าหาญ 41 ท่าน รวมถึงนักเรียนนายสิบ และพลทหาร ที่เข้าทำการรบ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกระทำพิธีมอบเหรียญกล้าหาญให้ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า ในวันที่ 7 กันยายน 2484

นายพลตรี หลวงสวัสดิรณรงค์ ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นผู้กล่าวรายงานท่ามกลางชุมนุมพิธีประดับเหรียญ

นาวาอากาศตรีศานิตย์ นวลมณี เป็นชาวอุดรธานี เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมที่ ร.ร.อุดรพิทยานุกูลแล้ว ได้เข้าเรียนต่อที่ ร.ร.เทพศิรินทร์ กรุงเทพฯ จากนั้นได้เข้าเป็นศิษย์การบินของกองทัพอากาศ และจบการศึกษาในปี พ.ศ.2481 ได้ประดับยศ “เรืออากาศตรี”

25 มกราคม พ.ศ.2484 ญี่ปุ่นเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ย… ตกลงให้มีการหยุดยิงเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2484 และมีการลงนามหยุดยิงบนเรือลาดตระเวนของญี่ปุ่นชื่อนาโตริ หน้าอ่าวเมืองไซ่ง่อน เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2484

อัฐิของทหารหาญทุกท่าน…บรรจุอยู่ในอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

จะขอทยอยนำวีรกรรมของ “บรรพบุรุษไทยผู้กล้าหาญ” มานำเสนออีกนะครับ

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image