ความเสี่ยงจากอุทกภัยและความเปราะบางของครัวเรือน หลักฐานเชิงประจักษ์รายอำเภอจากกระทรวงมหาดไทย

ความเสี่ยงจากอุทกภัยและความเปราะบางของครัวเรือน
หลักฐานเชิงประจักษ์รายอำเภอจากกระทรวงมหาดไทย

ภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงส่งผลต่อความเสี่ยงของประชาชนจากภัยธรรมชาติหลายรูปแบบ ในประเทศไทยและประเทศเขตมรสุม อุทกภัยสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนเรือกสวนไร่นาของประชาชน รวมทั้งทรัพย์สินของรัฐ เช่น ถนน สะพาน เขื่อน ความเดือดร้อนต่อสภาพเป็นอยู่ของประชาชน บางกรณีต้องอพยพย้ายบ้านชั่วคราว ฯลฯ ในโอกาสนี้ขอนำสถิติอุทกภัยในปี 2565 ที่ได้จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อเข้าใจ ความเสี่ยงมิติพื้นที่จากอุทกภัย จำแนกตามภูมิภาค พร้อมข้อสังเกตบางประการต่อบทบาทการจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและการคลังท้องถิ่น

ทีมวิจัยมีความสนใจศึกษาความเปราะบางของครัวเรือนจากสาเหตุภัยธรรมชาติ ได้รับความกรุณาจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ซึ่งบันทึกข้อมูลสถิติอุทกภัยรายพื้นที่ ระบุวันเวลา ผลกระทบต่อประชาชน และความเสียหาย
ต่อทรัพย์สินราชการ (ถนน-สะพาน เป็นต้น) โดยเฉพาะอย่างยิ่งความแตกต่างมิติพื้นที่ (จังหวัด/อำเภอ) สรุปว่า ในปี 2565 จำนวนประชาชนที่รับผลกระทบรวมกัน 4.08 ล้านคน ครัวเรือน 1.78 ครัวเรือน ในตารางที่ 1 แสดงจังหวัด/อำเภอที่มีความเสี่ยงสูง วัดจากจำนวนประชากร-บ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบและจำนวนเหตุการณ์ (ครั้ง) เพื่อยืนยันว่า ความเปราะบางของครัวเรือนแตกต่างกันตามภูมิภาค

กราฟแท่งข้างล่างเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้เห็นภาพชัดเจน (รหัสจังหวัดเป็นตัวเลขสามหลักตามแบบสภาพัฒน์) สะท้อนว่า ครัวเรือนในภาคเหนือ-ภาคใต้-และภาคอีสาน รับความเสี่ยงจากอุทกภัยสูงสุด

Advertisement

ทรัพย์สินของราชการเสียหายในรูปถนน-สะพาน ความจริงเป็นเรื่องรู้ๆ อยู่แล้ว แต่เมื่อสถิติก้าวหน้าไปไกลก็เป็นการสมควรนำมาวิเคราะห์แสดงให้เห็นความถี่และการเปรียบเทียบ (ความแตกต่างมิติพื้นที่) ที่แม่นตรง

ในฐานะนักวิจัยสาขาสังคมศาสตร์เราสนใจหัวข้อการจัดการ-ป้องกัน “การช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ประชาชน ซึ่งเป็นบทบาทหน้าที่ขององค์กรปกครองท้องถิ่นคือ เทศบาล อบต. อบจ. และหน่วยงานรัฐที่กระจายในพื้นที่ คณะวิจัยได้ขอความรู้โดยการสัมภาษณ์ผู้บริหารท้องถิ่นและ
ผู้เชี่ยวชาญในกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รับข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์อย่างน้อยสามประเด็น หนึ่ง ท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญด้านการให้ความช่วยเหลือ เยียวยาและฟื้นฟูเพราะว่าทำงานใกล้ชิดประชาชน เทศบาล อบต. และ อบจ. มีกำลังคน-งบประมาณ-เครื่องจักรเครื่องมือช่วยประชาชนได้รวดเร็ว และเงินสะสมที่นำมาจับจ่ายได้รวดเร็วกว่ารอเงินชดเชยจากส่วนกลาง แต่มีข้อสังเกตว่า ยังขาดการรวบรวมค่าช่วยเหลือประชาชน หรือซ่อมแซมถนนสะพานเขื่อน” จึงมีข้อสังเกตว่าควรจะพัฒนาฐานข้อมูลใหม่โดยรวบรวมค่าใช้จ่ายชดเชย-เยียวยา-ซ่อมแซมทรัพย์สินของรัฐ จัดทำบัญชีผลกระทบจากภัยพิบัติ เพื่อนำมาวิเคราะห์ “ต้นทุนของสังคมจากความเสี่ยงภัยพิบัติ” ในโอกาสต่อไป สอง ในพื้นที่เสี่ยงสูง “การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เตือนภัยควบคู่กับการอบรมทักษะผู้ปฏิบัติงาน ช่วยลดความเสียหายได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่ปัญหาคือ ยังมิได้ตระหนัก หรือนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ สาม นัยต่อการคลังท้องถิ่น” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดสรรเงินอุดหนุน พื้นที่เสี่ยงเสี่ยงสูงสมควรได้รับน้ำหนักเพิ่มขึ้นในการจัดสรรเงินอุดหนุน เท่าที่ผ่านมาการจัดสรรเงินอุดหนุนท้องถิ่นของเรายังใช้ “สถิติขั้นพื้นฐาน” มากๆ เช่น จำนวนประชากร ขนาดพื้นที่ ความหนาแน่น

เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคข้อมูลข่าวสาร ควรหาตัวชี้วัดใหม่เพื่อจัดเงินอุดหนุนตามหลักความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image