ปมร้อนเก้าอี้ ‘ปธ.สภา’ ก้าวไกลกลืนเลือดถอย?

ปมร้อนเก้าอี้ ‘ปธ.สภา’ ก้าวไกลกลืนเลือดถอย?

หมายเหตุนักวิชาการวิเคราะห์ปมร้อนทางการเมืองในประเด็นตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย หากตกลงกันไม่ได้จะส่งผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลอย่างไร

สติธร ธนานิธิโชติ
ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรม
เพื่อประชาธิปไตยสถาบันพระปกเกล้า

Advertisement

การโหวตประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 4 กรกฎาคม ระหว่างพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และพรรคเพื่อไทย (พท.) จะลงตัวว่าจะเสนอใครในนาม 8 พรรค ถ้าทั้ง 2 พรรค ไม่ถอยจริง เกิดฟรีโหวต อีกฝ่ายที่ไม่ใช่ 8 พรรคร่วมจะชนะ แต่จริงๆ สุดท้ายต้องยอมกัน ถ้าพรรค พท.ไม่ยอม สุดท้ายพรรค ก.ก.ต้องยอม สมมุติพรรค ก.ก.ยอมถอยสนับสนุนพรรค พท. และพรรค พท.เสนอว่าเอาใคร เช่น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย 8 พรรคสนับสนุน นพ.ชลน่าน อีกพรรคหนึ่งเสนอนายสุชาติ ตันเจริญ ขึ้นมา ลองดูแล้วกันว่าพรรคเพื่อไทยจะโหวตให้หัวหน้าพรรคตัวเอง หรือจะโหวตให้นายสุชาติตามที่อีกฝั่งเสนอ

ส่วนพรรค ก.ก.ก็โหวตตามมติของพรรคร่วม ที่โหวตให้ นพ.ชลน่าน ให้รู้กันไปเลย อันนี้คือไม่ฟรีโหวต ถ้าฟรีโหวตจริงๆ อีกฝั่งชนะ นายสุชาติเป็นประธานสภาตามที่มีข่าวลือออกมา เพราะถ้าพรรค ก.ก.ยืนยันจะสนับสนุนตัวเอง 151 เสียง พรรคเพื่อไทยแค่ 141 เสียง บวกกับพรรคเพื่อนๆ ในกลุ่มพรรคประชาชาติ (ปช.) แต่อีกฝั่งมี 188 เสียง ถ้าฟรีโหวตจริง มี 3 ตัวเลือก ตัวเลือกที่ฝั่ง 188 เสนอ อย่างไรก็ชนะ อันนี้คือในกรณีที่ 2 พรรคไม่ยอมกัน

หาก 2 พรรค คือ พรรค ก.ก.และพรรค พท.ตกลงกันไม่ได้ และบอกว่าฟรีโหวต พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคภูมิใจไทย (ภท.) เสนอแน่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะเกิดการแก้เกมคือจะไม่ยอมให้เกิดฟรีโหวต สุดท้ายแล้วคิดว่าพรรค ก.ก.ถอยให้พรรค พท. ถ้าพรรค พท.ไม่ยอมถอย

Advertisement

 

ผศ.ปฐวี โชติอนันต์
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

การเลือกประธานสภาในวันที่ 4 กรกฎาคม 2566 ถือเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ประชาชน นักการเมือง นักธุรกิจ รวมถึงชาวต่างชาติที่สนใจในการเมืองไทย กำลังจับตาดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับการเมืองไทยต่อไป ที่ผ่านมาตำแหน่งประธานสภามีการต่อรองกันมาตลอดระหว่างพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ต้องการได้ตำแหน่งเพื่อควบคุมเกมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสภา ไม่ว่าจะเป็นการเสนอลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี การควบคุมสภาในช่วงการผ่านกฎหมายฉบับสำคัญๆ มากกว่านั้น ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนผ่านจากระบอบอำนาจนิยมที่อยู่กับสังคมไทยมายาวนานถึง 9 ปี การเลือกตั้งประธานสภาในรอบนี้จึงมีความหมายอย่างมากว่าตำแหน่งดังกล่าวใครจะได้ไป

ในธรรมเนียมการปฏิบัติ พรรคที่ได้ ส.ส.มากที่สุดจากการเลือกตั้งของประชาชนควรได้ตำแหน่งหน้าที่ประธานสภาไป อย่างไรก็ตาม เมื่อการโหวตเลือก ประธานสภาเป็นการโหวตจากสมาชิก ส.ส.ในสภา 500 คน จากทุกพรรคที่มีจำนวน ส.ส.ได้รับเลือกตั้งเข้ามา การโหวตที่เกิดขึ้นจึงเป็นความพยายามของพรรคที่ได้เสียงข้างมากในการรวบรวมเสียงในสภาให้ได้เกินกึ่งหนึ่งเพื่อให้ได้ตำแหน่งประธานสภาไปในที่สุด

ปัญหาอยู่ที่ว่า ถ้าพรรคที่ได้อันดับหนึ่งอย่างพรรค ก.ก.ไม่สามารถรวมเสียงได้เกินครึ่ง แต่พรรค พท.ที่เป็นพรรคที่มีประชาชนเลือกมากอันดับสอง และมีจำนวน ส.ส.ต่างกัน 10 คน สามารถรวมเสียงได้เกินครึ่งและได้คนของพรรค พท.เป็นประธานสภาจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเกิดเหตุการณ์ฟรีโหวตของ ส.ส.พรรค พท.จริง สิ่งที่เกิดขึ้นด้านหนึ่งพรรค พท.อาจถูกมองว่าแพ้ไม่เป็น ต้องการเอาชนะ และทำให้เสียรูปขบวนประชาธิปไตย เพราะเสียง ส.ส.ที่โหวตให้พรรค พท.มีโอกาสมาจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) หรือพรรคภูมิใจไทย (ภท.) รวมกัน ส่งผลให้คะแนนรวมของ ส.ส.ของฝั่งพรรค พท.จะเกินครึ่ง

อย่างไรก็ตาม การที่พรรค พท.ได้ตำแหน่งประธานสภาไป จะนำไปสู่การมีม็อบประท้วงใหญ่ไหม คิดว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะมีม็อบใหญ่ และการเลือกในครั้งนี้เป็นการโหวตลับ ทำให้ไม่รู้ว่าใครโหวตให้ตัวแทนพรรค พท.หรือตัวแทนพรรค ก.ก.บ้าง ผู้คนทำได้เพียงคาดคะเนข้างต้นที่บอกว่ามีพรรคไหนจะโหวตให้

นอกจากนี้ ถ้ามองในเกมแข่งขันของสภา จะเห็นว่าพรรคการเมืองในสภาต้องรวมเสียง ส.ส.ให้ได้เกินครึ่ง ต้องพยายามโน้มน้าวพรรคต่างๆ ให้มาเลือกตนเองให้ได้ อย่าลืมว่า ระบอบประชาธิปไตยในรูปแบบรัฐสภาเปิดให้มีการต่อรองกันตลอดเวลา ที่สำคัญคือ ความพยายามดึง ส.ส.ของพรรคอื่นๆ มาสนับสนุนข้อเสนอหรือตัวแทนของพรรคตนเอง

ในมุมนี้อาจขัดใจกับผู้เชียร์พรรค ก.ก.จำนวนมาก รวมถึงผู้เคยเลือกพรรค พท.และต้องการยกระดับประชาธิปไตยของประเทศไปสู่อารยะ เพราะพรรค พท.เป็นพรรคอันดับสองสามารถได้ตำแหน่งประธานสภาไป แทนที่จะเป็นพรรค ก.ก.ที่มี ส.ส.มากเป็นอันดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยยังเล่นอยู่ในเกมการเมืองเดียวกัน คือ ใช้การลงคะแนนเสียงในการเลือกประธานสภา ยังไม่โดนอำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซงจนทำให้ระบอบประชาธิปไตยพังไปทั้งหมด ที่สำคัญ ประชาชนได้เรียนรู้ว่า ในการเลือกตั้งช้าสุดในอีก 4 ปีข้างหน้า หรือเร็วกว่านั้น ประชาชนที่เคยเลือกพรรค พท.และเขาไม่ชอบแนวทางที่พรรค พท.ทำแบบนี้ เขาจะไม่เลือกพรรค พท.และไปเลือกพรรคอื่นๆ หรือพรรค ก.ก.แทนในการเลือกตั้งครั้งหน้า อาจทำให้พรรค ก.ก.ชนะถล่มทลายจนได้ ส.ส.เกินครึ่งพรรคเดียวเหมือนอย่างที่พรรคไทยรักไทยเคยได้มาก่อนก็เป็นไปได้ เมื่อถึงเวลานั้น เกมโหวตเลือกประธานสภาไม่มีพรรคไหนจะชนะพรรค ก.ก.ได้อย่างแน่นอน

ถ้าพรรค พท.มีการฟรีโหวตและพรรค พท.ได้ประธานสภาไป ระหว่างพรรค พท.กับพรรค ก.ก.น่าจะมีการเคืองกันและไม่พอใจกันพอสมควร อย่าลืมว่า พรรค ก.ก.ยังต้องอาศัยพรรค พท.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของพรรค ก.ก. บางครั้งพรรค ก.ก.อาจต้องกลืนเลือดเพื่อเดินต่อไปกับพรรค พท.ในการโหวตนายกรัฐมนตรี เพราะการโหวตเลือกนายกฯในรอบนี้ มีนัยยะและความหมายทางการเมืองอย่างมากในการนำสังคมไทยไปสู่ความหวังและออกจากระบอบเผด็จการอำนาจนิยม เหมือนที่พรรค ก.ก.เคยหาเสียงไว้ คือ ไม่เอา 2 ลุง จนได้รับคะแนนเสียงไปจำนวนมาก ดังนั้นคิดว่าจุดที่จะทำให้เกิดม็อบใหญ่ไม่ใช่ตำแหน่งประธานสภา แต่เป็นตำแหน่งนายกฯ เพราะถ้าพรรค ก.ก.ไม่ได้ แต่เป็นคนของพรรค พท.ได้ไป น่าจะมีม็อบออกมาแสดงความไม่พอใจ ยิ่งถ้าได้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. ตามที่เป็นข่าว จะยิ่งมีม็อบใหญ่ออกมากดดันให้ยุบสภาและบริหารประเทศไม่ได้ เพราะผู้สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยและต้องการออกจากระบอบการเมืองเดิมคงไม่ยอมอย่างแน่นอน

สุดท้ายการเลือกประธานสภาที่จะถึงนี้ เป็นหมุดหมายหนึ่งของการเมืองไทยที่สำคัญ พอทำให้เห็นว่าอนาคตของการเมืองไทยจะออกไปในทิศทางไหน พรรคฝ่ายประชาธิปไตยระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยยังจะทำงานร่วมกันต่อไปได้มากน้อยเพียงใด เป็นการทดสอบปฏิกิริยาของสังคมว่าจะเป็นอย่างไรก่อนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

ผศ.นพพร ขุนค้า
นักวิชาการ มรภ.ราชนครินทร์ จ.ฉะเชิงเทรา

ช่วงวินาทีนี้อาจมองว่าพรรค พท.และพรรค ก.ก.ยังคงตกลงกันไม่ได้ แต่สุดท้ายเชื่อว่าการเมืองย่อมมีทางเดินร่วมกันได้ ส่วนประเด็นเรื่องการฟรีโหวตนั้นพรรค พท.คงไม่กล้าทำ เพราะจะแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นเอกภาพและความไม่จริงใจในการร่วมรัฐบาล โดยจับสัญญาณได้จากที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค พท. ให้สัมภาษณ์ว่า พรรค พท.ถูกผูกมัดโดยอาณัฐของประชาชนกว่า 25 ล้านเสียง ที่เลือกพรรค พท.และพรรค ก.ก.มารวมกับทั้ง 8 พรรคการเมืองในการร่วมจัดตั้งรัฐบาลกัน หากจะเปลี่ยนซีกรัฐบาล พรรค พท.คงไม่กล้าทำ ถ้าหากดำเนินการเช่นนั้น แล้วปล่อยให้เกิดการฟรีโหวต มีการเสนอชื่อประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรค พท.แข่งกัน โดยที่ไม่มีข้อตกลงร่วมกันไว้ การจัดตั้งรัฐบาลจะล่ม เชื่อว่าสุดท้าย เมื่อใกล้ถึงวันแล้วจะตกลงกันได้ โดยไม่ถึงขั้นเลวร้ายตามที่หลายฝ่ายมองไม่ว่าจะเป็นด้อมส้ม แฟนคลับเสื้อแดงเกิดความกังวล

การเมืองรอมชอมกันได้ เพียงแต่วินาทีนี้อาจยังไม่ลงตัว เนื่องจากพรรค พท.และพรรค ก.ก.มีเสียงของประชาชนจับมือกันไว้อยู่ เชื่อว่าวิวาห์ไม่ล่มและมั่นใจว่าไม่มีฟรีโหวตเลือกประธานสภา เชื่อว่าในวันโหวตเลือกประธานสภา จะไม่มีม็อบอะไรออกมากดดัน เนื่องจากเป็นกระบวนการที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยต้องจับมือไปด้วยกัน

สิ่งที่น่าจับตา คือ วันที่โหวตนายกรัฐมนตรี อาจมีมวลชนออกมาแสดงพลังเพื่อให้วุฒิสภาเห็นว่าต้องรับฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน วันที่ 4 กรกฎาคมไม่น่าจะมี เนื่องจากเป็นหน้าที่ของ 2 พรรคที่จะทำหน้าที่ของตัวเองตามที่ประชาชนเลือกมาแล้ว ส่วนรอยร้าวในอนาคตระหว่าง 2 พรรคการเมืองนี้จะมีต่อไปหรือไม่ ในวันนี้อาจมีเหตุเคืองใจกันบ้าง เพราะต่างฝ่ายมีข้อที่ไม่ลงตัวกัน แต่สุดท้ายจะลงตัวกันได้ เมื่อผ่านจุดนี้ไปแล้ว และได้เดินร่วมกันไม่ว่านายกฯจะเป็นฝั่งพรรค ก.ก.หรือพรรค พท. ถ้าได้จับมือร่วมรัฐบาลกัน สุดท้ายจะทำงานร่วมกันได้ และต่างฝ่ายต่างมุ่งดำเนินการตามนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนตามที่หาเสียง ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่การทำงานร่วมกันต้องมีข้อขัดแย้ง แต่สุดท้ายจะไปด้วยกันได้ไม่ถึงขั้นแตกหัก หรือสลับขั้ว ตามที่หลายคนวิเคราะห์ไว้ว่าเพื่อไทยจะสลับร่างสร้างรักใหม่

อยากฝากถึงวุฒิสภาว่า ไม่ว่าท่านจะมาจากที่ไหนก็ตาม ต้องฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่ที่เขาเลือกฝ่ายนี้มาแล้ว ถือเป็นตัวแทนของประชาชน หากเขาไม่ดีจริง อีก 4 ปีก็มาเลือกตั้งกันใหม่ ประเทศชาติต้องเดินไปตามครรลองคลองธรรมที่ควรจะเป็น การที่พรรค พท.หวังตำแหน่งประธานสภามาตั้งแต่แรก ถ้าจะแข็งกร้าวไปโดยไม่ลดเพดานลงมามันไปต่อได้ยาก เป้าหมายใหญ่ของพรรค พท.คือ ต้องเป็นรัฐบาลให้ได้ แม้บางคนอาจพูดว่าพรรค ก.ก.ขาดเพื่อไทยไม่ได้ แต่พรรค พท.ขาดพรรค ก.ก.ได้ แต่ถ้าพรรค พท.ไปพลิกชิงตั้งรัฐบาลโดยไม่มีพรรค ก.ก. การเลือกตั้งครั้งหน้าพรรค พท.จะเหนื่อย ความเชื่อมั่นของประชาชนจะลดลง

เพราะแสดงให้เห็นเครดิตและความเชื่อถือทางการเมือง ฉะนั้นแล้วอะไรที่ถอยได้ก็ควรถอย เพราะประชาชนเขาผูกมัดให้ 2 พรรคร่วมกันแล้ว อยากเห็นสองพรรคการเมืองนี้เดินไปด้วยกัน แม้พรรค พท.หวังในตำแหน่งนี้ แต่หากพรรค ก.ก.จะเพิ่มตำแหน่งรัฐมนตรีให้ และให้ตำแหน่งรองประธานสภา ถือว่าไม่น่าเกลียดที่พรรค พท.จะได้ในสิ่งแลกเปลี่ยนกลับคืนมา ไม่ใช่เอาจุดนี้มาทะเลาะกันและสร้างเงื่อนไขแล้วไปสลับขั้ว

ย้ำอีกครั้งว่าไม่ดีกับพรรค พท.อย่างมาก อยากให้จัดตั้งรัฐบาลให้ได้ภายในเดือนนี้ อะไรถอยกันได้ก็ต้องถอย การเมืองอย่าไปกำหนดเพดานไว้สูง การเมืองจะเดินได้ต้องมีความยืดหยุ่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image