ผลการสอบ PISA 2015 ไทยแพ้จนชาชิน : โดยเพชร เหมือนพันธุ์

ส่งท้ายปีเก่าด้วยข่าวเศร้าทางการศึกษา เมื่อประกาศผลการสอบ PISA ประจำปี 2015 ในกลุ่มเด็กอายุ 15 ปี เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 ได้สะท้อนให้เห็นถึงสภาพผลสัมฤทธิ์การจัดการศึกษาของประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับทั่วโลก พบว่าใน 3 รายวิชา คือ วิทยาศาสตร์ การอ่านและคณิตศาสตร์ ไทยได้คะแนนอยู่ในระดับที่ 55 จาก จำนวน 72 ประเทศ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มเอเชีย ได้คะแนนในลำดับต้นๆ เช่น อันดับที่ 1 สิงคโปร์ อันดับที่ 2 ญี่ปุ่น อันดับที่ 3 เอสโตเนีย อันดับที่ 4 จีนไทเป อันดับที่ 5 ฟินแลนด์ อันดับที่ 6 จีนมาเก๊า (Macao China) อันดับที่ 7 แคนาดา อันดับที่ 8 เวียดนาม อันดับที่ 9 จีนฮ่องกง และอันดับที่ 10 จีนแผ่นดินใหญ่ (B-S-J- G-China) 7 ประเทศอยู่ในเอเชีย

เป็นการต้อนรับ นายแพทย์ธีรเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ และ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ด้วยความท้าทายอย่างยิ่ง

ยิ่งกว่าการถูกตบหน้าและน่าอับอายอย่างยิ่ง ไม่ทราบว่าใครจะรู้สึกเจ็บบ้าง ยิ่งเจ็บช้ำหนักเข้าไปอีกที่พบว่าประเทศเพื่อนบ้านของไทย อย่าง เวียดนาม คะแนนสอบอยู่ในระดับเลขตัวเดียว คือ ลำดับที่ 8 ลงทุนก็มากกว่าเขา สถาบันการศึกษาก็ดีกว่าเขา เครื่องไม้เครื่องมือทางการศึกษาก็ดีกว่าเขา แต่ผลลัพธ์กลับแพ้อย่างสิ้นลาย

ผลการสอบ PISA คือกระจกเงาที่สะท้อนให้เห็นคุณภาพของคนบนโลกใบนี้ในอนาคต ให้ได้ทราบว่าคุณภาพต้นทุนมนุษย์ของตนเองอยู่ในลำดับที่เท่าใด หรือเราจะปล่อยให้อนาคตของชาติเป็นไปตามชะตากรรมอย่างนี้ครับ
ผู้เขียนยังมีความหวังกับท่านนายแพทย์ธีรเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอย่างสูงอยู่นะครับ หวังว่าท่านและทีมงานจะนำนาวาการศึกษาเข้าฝ่าคลื่นของกระแสของการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในโลกยุคดิจิทัลไปได้โดยถูกทิศทาง

Advertisement

ตั้งโจทย์ผิดคำตอบก็ผิด ตั้งเป้าหมายการเดินทางผิด หันหัวเรือออกนอกเส้นทางแล้ว เราจะเดินไปถึงเป้าหมายได้อย่างไร เดินหมากผิดพลาดเพียงตัวเดียวก็จะทำให้การแข่งขันหมากรุกล้มได้ทั้งกระดาน ภัยพิบัติและความพินาศย่อมรออยู่ข้างหน้า

ปัญหาของระบบการศึกษาไทย เกิดจากการกำหนดนโยบายการปฏิรูปการศึกษาที่ผิดพลาด นักปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาได้วิเคราะห์สภาพปัญหาอย่างตื้นเขิน (Shallow Analysis) แล้วนำเหตุปัจจัยจากที่ได้มาจากการวิเคราะห์ที่ตื้นเขิน ใช้เพียงจินตนาการมากำหนดเป็นนโยบาย การปฏิรูปการศึกษาจึงล้มเหลว ล้มแล้วล้มอีก มันเกิดความผิดพลาดมาแล้วถึง 3 ทศวรรษ (พ.ศ.2521-2559) เรายังมองไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์เลย บรรยากาศแห่งความล่มสลายได้ครอบงำวงการศึกษาไทยมาโดยตลอด ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ที่พึ่งฟื้นไข้จากสงคราม สภาพโรงเรียนอาคารสถานที่ก็ด้อยกว่าเรา งบประมาณก็น้อยกว่าเรา สิ่งที่เขาเหนือกว่าเราก็คือความเป็นนักสู้ ความอดทน เขารบชนะมหาอำนาจใหญ่ถึงสองชาติคือ ฝรั่งเศสและอเมริกา เขามีวัฒนธรรมแห่งความอดทน แห่งความอุตสาหพยายาม แห่งการต่อสู้ดิ้นรนแข่งขัน ไทยจึงไม่ใช่เป้าหมายที่เวียดนามต้องการชนะเพราะเขามองข้ามเราไปแล้ว เจ็บปวดไหมครับ

สิ่งที่เราจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คือการปฏิรูประบบการศึกษาไทยทั้งระบบ เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรทางการศึกษา เปลี่ยนแปลงหลักสูตรเนื้อหาในทุกระดับให้เหมาะสมกับพัฒนาการของผู้เรียน ให้ทันกับยุคดิจิทัล ให้สอดคล้องกับวิถีการดำรงชีวิตในสังคมยุคปัจจุบัน จัดให้มีระบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นการได้ลงมือปฏิบัติจริง มีการฝึกประสบการณ์จริงและการฝึกทำงานระหว่างเรียน ให้ผู้เรียนได้รู้ว่าสิ่งที่เรียนมานั้นสร้างความเชื่อมั่นให้เขาได้จริง ต้องเปลี่ยนระบบของการวัดผลการศึกษาที่สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถจริงของเด็ก แล้วท้ายสุดคือต้องศึกษาความสำเร็จของคู่แข่งขันอย่างเข้าใจแล้วนำมาปรับปรุงใช้อย่างถูกต้อง

Advertisement

ถ้ารัฐบาล โรงเรียน หรือครูไทย ยังทำแบบเก่า คิดแบบเก่า ใช้หลักสูตรแบบเก่าๆ สอนแบบเก่าๆ วัดผลการเรียนแบบเก่าๆ ผลลัพธ์มันก็จะได้แบบเก่าๆ ได้เท่าเดิมหรืออาจน้อยกว่าเดิม เพราะคนอื่นเขาทิ้งไปไกลแล้ว

มาถึงวันนี้ ผู้เขียนอยากเสนอทางออกบางประการต่อท่านนายแพทย์ธีรเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการท่านใหม่และทีมงาน หลังจากที่ผู้เขียนได้เคยนำเสนอรีวิวการศึกษาของประเทศที่มีผลการศึกษาสูง จำนวน 5 ประเทศ คือ สิงคโปร์ เกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง และฟินแลนด์มาแล้วคือ อยากเสนอโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ คือการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจในปรากฏการณ์ที่เป็นอยู่จริงและความสำเร็จของประเทศที่จัดการศึกษาประสบผลสำเร็จ

ตัวอย่างกิจกรรมที่จะนำเสนอคือ ให้กระทรวงศึกษาธิการ หรือรัฐบาล และเขตพื้นที่การศึกษาคัดเลือกครู จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ในรายวิชา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาศาสตร์ และการบริหาร ส่งไปปฏิบัติการ วิจัยปฏิบัติการ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนและเก็บข้อมูลในประเทศเวียดนาม สิงคโปร์ เกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน ฟินแลนด์ ฯลฯ โดยให้แต่ละเขตพื้นที่การศึกษาคัดเลือกครู
ผู้สอน ผู้บริหาร เข้าร่วมโครงการเขตพื้นที่ละ 10-15 คน (ครูภาษาไทย อังกฤษ ครูคณิตศาสตร์ ครูวิทยาศาสตร์ ผู้บริหารการศึกษา และผู้ประสานงาน) ให้จัดทำเป็นโครงการและเปลี่ยนเรียนรู้ทางการศึกษาซึ่งกันและกัน ใช้เวลาในการศึกษา 2 ภาคเรียน (หนึ่งปีการศึกษา) โดยสร้างเครื่องมือเก็บข้อมูลและวิธีการเก็บข้อมูล การจัดประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับโรงเรียนที่ไปศึกษา สรุปอภิปรายผล นำผลจากการศึกษามาร่วมสัมมนา ภาคเรียนละหนึ่งครั้ง

เมื่อจบโครงการให้กลุ่มบุคคลที่ไปศึกษากลับมาจัดทำข้อสรุปเสนอทางเลือกให้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาของตนเอง และสรุปร่วมเป็นต้นแบบของประเทศ เราอาจใช้งบประมาณ 100-200 ล้านบาท ข้อมูลที่ค้นพบจะได้คำตอบช่วยแก้ปัญหาการใช้จินตนาการ หรือการวิเคราะห์ข้อมูลปัญหาและข้อสรุปอย่างตื้นเขิน (Shallow Analysis) ได้ จะได้ข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือสูงในการนำมากำหนดทิศทางนโยบายและรูปแบบการปฏิรูปการศึกษาที่ถูกต้อง

ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ในการเข้าร่วมโครงการอย่างนี้ในมหาวิทยาลัยของรัฐของสหรัฐอเมริกา ที่ State University at ONEONTA, New York USA ,1996.) ได้รับประสบการณ์จากโครงการแบบนี้มามากจึงอยากแบ่งปัน ได้ทั้งเทคนิคการสอน หลักสูตร การวัดผลประเมินผล กิจกรรมนักเรียน กิจกรรมของผู้ปกครองและครู การให้เด็กสามารถหารายได้ระหว่างเรียน ได้เรียนรู้วัฒนธรรมองค์กร ได้เห็นรูปแบบความร่วมมือระหว่าง ผู้ปกครอง ชุมชนและครู

วิธีการจัดการศึกษาวิจัย รัฐบาล หรือกระทรวงศึกษาธิการต้องให้นักวิจัยที่มีความสามารถนำเสนอเค้าโครงการวิจัย (Proposal Writing in Research) ในรูปแบบ วิจัย ดุษฎีบัณฑิต ให้อิสระกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในแต่ละภูมิภาค ให้เลือกว่าจะส่งครู (ผู้ร่วมวิจัย) ไปศึกษาหรือเข้าร่วมโครงการ ณ ประเทศใด เช่น เขตพื้นที่การศึกษาในภาคอีสาน ให้ไปศึกษาประเทศเวียดนาม จีน
ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น เขตพื้นที่การศึกษาในภาคใต้ ให้ไปศึกษาโรงเรียนในประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง ภาคเหนือให้ไปศึกษาในประเทศจีน เซี่ยงไฮ้ หรือจีนฮ่องกง ฟินแลนด์ เขตพื้นที่การศึกษาในภาคกลาง อาจให้ไปศึกษาที่ เกาหลี ญี่ปุ่น ฟินแลนด์ เป็นต้น

ค่าใช้จ่ายในโครงการรัฐบาล หรือกระทรวงศึกษาธิการต้องกล้าจ่าย เพราะงบประมาณรัฐที่จ่ายในงบประมาณทางการศึกษามีจำนวนมากมายอยู่แล้ว หรือจะไปขอมาจากสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาชาติไทย (TDRI) ในส่วนทางเขตพื้นที่การศึกษา ต้องสอบคัดเลือกผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการที่มีความรู้ มีความสามารถในทางการสอน การวิจัย หรือการบริหาร เขตอาจมีงบประมาณสนับสนุนโครงการวิจัยนี้

และอีกส่วนคือ ผู้ที่เข้าร่วมโครงการต้องมีจิตอาสา และอาจใช้งบประมาณส่วนตัวช่วยด้วย (เหตุผลเพราะจะมีผู้เข้าร่วมแข่งขันจำนวนมาก ต้องสอบคัดเลือก หรือมีวิธีการคัดเลือกที่เหมาะสม)

การไปอยู่ร่วมศึกษา จะต้องมีการบันทึกการเก็บข้อมูลที่มีเครื่องมือที่เหมาะสม จะได้ข้อสรุป รายงานผลงานการศึกษาออกมาเป็นระยะ หรือมีการประชุมใหญ่ในกลุ่มผู้ศึกษาที่ไปประเทศเดียวกัน ภาคเรียนละหนึ่งครั้ง เมื่อเสร็จสิ้นโครงการจะต้องกลับมาจัดทำข้อสรุป ส่งให้หน่วยงานต้นสังกัดนำไปปรับปรุงใช้

การจัดทำโครงการนี้จะต้องมีที่ปรึกษาที่มีความรอบรู้เชี่ยวชาญจริง มีผู้ประสานงานในกลุ่มทั้งที่เป็นคนไทยและคนในประเทศที่ไปศึกษา มีการจัดสัมมนาสรุปผลเป็นระยะ มีเจ้าหน้าที่ในสำนักงานเขตเป็นผู้ประสานงาน และมีเจ้าหน้าที่ในระดับกระทรวงเข้าไปดูแลโครงการ

การศึกษาวิจัยจะต้องมีการศึกษาทั้งภาคสนาม และการศึกษาเอกสาร การศึกษาจากสื่อ หรือศึกษาข้อมูลบทความต่างๆ ที่มีทั้งที่เคยเผยแพร่ผ่านสื่อทีวี หนังสือพิมพ์ หรือวงการสัมมนา เป็นต้น เช่น ข่าวการศึกษาที่นายแพทย์ธีรเกียรติเคยนำเสนอผ่านสื่อ ท่านทูตไทยประจำฟินแลนด์ เยอรมนี ญี่ปุ่น ที่เคยนำเสนอผ่านสื่อ และที่นักธุรกิจไทยนักวิชาการอิสระเคยไปเห็นมานำเสนอไว้ในอินเตอร์เน็ต ที่ไปพบไปเห็นไปศึกษามา รายการทีวีที่มีการสัมภาษณ์นักการศึกษา นักการทูต นักธุรกิจระดับประเทศ และต่างประเทศที่เคยเผยแพร่ผ่านสื่อ ฯลฯ ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้สามารถหาได้อยู่แล้ว

เวลาหนึ่งปี ไม่นานเลยสำหรับความเสียหายที่ผ่านมา งบประมาณที่จะใช้จ่ายในโครงการแบบนี้ ไม่ได้มากมายเลยเมื่อเทียบกับเวลาที่สูญเสียไปและกับผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต บุคลากรที่จะร่วมโครงการก็หาไม่ยาก เพราะทุกเขตพื้นที่การศึกษาครูมีความตื่นตัวอยู่แล้ว

ในช่วงที่ผู้เขียนไปศึกษาในโครงการลักษณะนี้ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐของอเมริกา มีเพื่อนร่วมโครงการ 13 คน แต่ละคนมีพื้นฐานต่างกัน แต่ละคนที่ไปก็มีความสนใจต่างกัน ผู้เขียนเป็นผู้บริหารเพียงคนเดียวที่ไปครั้งนั้น ในสายตาของผู้เขียนก็มุ่งเข้าไปศึกษาถึงวิธีการบริหารการศึกษาของสถาบัน ของชุมชน ศึกษารูปแบบการจัดกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ส่วนเพื่อนที่เป็นครูผู้สอนเขาก็ไปสนใจในเรื่องการจัดการเรียนการสอน การวัดผลประเมินผล ครูที่จบวิชาเอกพลศึกษา ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ศิลปศึกษา เขาก็มุ่งไปสนใจในกิจการการเรียนการสอนในสายวิชาของเขา ต่างคนต่างสนใจในเรื่องของตนเอง เมื่อเวลาประชุมกลุ่มย่อย สัมมนากันก็จะพบความหลากหลาย ได้ข้อมูลที่หลากหลาย ที่ทุกคนได้ข้อมูลมา นำเป็นข้อสรุป

เพราะเป็นห่วงการศึกษาไทยและให้กำลังใจท่านนายแพทย์ธีรเกียรติ เจริญเศรฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการทุกท่าน จึงนำเสนอทางเลือกนี้เพื่อโปรดพิจารณา

เพชร เหมือนพันธุ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image