ไทยพบพม่า : พลวัตของขบวนการต่อต้านรัฐประหารและหนทางสู่ความสำเร็จ ตอนที่ 2/2

ไทยพบพม่า : พลวัตของขบวนการต่อต้านรัฐประหารและหนทางสู่ความสำเร็จ ตอนที่ 2/2

ในตอนที่แล้วคอลัมน์ “ไทยพบพม่า” พูดถึงที่มาของความขัดแย้งทางเชื้อชาติในพม่า และชี้ให้เห็นว่ามีความสลับซับซ้อนขนาดที่แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ช่างดูริบหรี่เหลือเกิน ในตอนต่อไปนี้ ผู้เขียนอยากเล่าเพิ่มเติมว่าขบวนการต่อต้านรัฐประหาร อันสืบเนื่องมาจากรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 นั้นมันมีโฉมหน้าอย่างไร

ถ้าผู้อ่านติดตามมาจากตอนที่แล้ว คงพอจะเห็นภาพว่าพม่าเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์อย่างมาก ด้วยภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่ในยุคอาณานิคมเรื่อยมา กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ไม่ไว้วางใจกลุ่มชาติพันธุ์หลัก คือ คนพม่า หรือบะหม่า ที่เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดและเป็นผู้นำปกครองพม่ามาช้านาน ก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองต่อเนื่องมาหลายสิบปี กลุ่มชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มมีองค์กรทางการเมืองและมีกองกำลัง (Ethnic Armed Organizations หรือ EAO) เป็นของตนเอง ระดับความเข้มข้นของการต่อสู้ของกองกำลังแต่ละกลุ่มก็ต่างกันในแต่ละช่วงเวลา

ที่ผ่านมา 2 ปี เราอาจได้ยินชื่อของ KNU ที่มีกองกำลังในนามว่า KNLA และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน หรือ PDF ในฐานะขบวนการและกองกำลังที่มีบทบาทมากที่สุด แต่ในความจริง ขบวนการต่อต้านรัฐประหารมีมากมายหลายกลุ่ม และเป็นประเด็นที่ผู้เขียนอยากอธิบายในวันนี้

Advertisement

ท่ามกลางความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ความคิดทางการเมือง ชนชั้น ฯลฯ การรวมกลุ่มก้อนที่มีเป้าหมายต่อต้านรัฐประหารเข้าไว้ด้วยกันเป็นเรื่องยาก หลังเกิดรัฐประหาร คณะรัฐมนตรีจากพรรค NLD เกือบทั้งหมดถูกควบคุมตัว ทำให้ไม่มีแกนนำฝั่งต่อต้านรัฐประหารที่สามารถดำเนินงานได้ สมาชิกพรรค NLD บางส่วน ผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์อีกบางส่วน และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองจึงรวมตัวกันจัดตั้ง CRPH (Committee Representing Pyithu Hluttaw) หรือคณะกรรมการตัวแทนรัฐสภาแห่งสหภาพในพม่าขึ้นมา โดยมี อู อ่อง จี ยุ้น (U Aung Kyi Nyunt) หนึ่งในสมาชิกอาวุโสของพรรค NLD เป็นประธาน แนวคิดของการตั้ง CRPH ขึ้นมาคือการประณามรัฐประหารว่าไม่ถูกต้องชอบธรรม และอ้างสิทธิความชอบธรรมของรัฐบาลพรรค NLD โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกือบ 300 คน ที่ไม่ได้ถูกควบคุมตัวโดยคณะรัฐประหาร ร่วมกันก่อตั้งขึ้น และประชุมกันแบบออนไลน์ หรือถ้าจะเรียกเป็นภาษายุคโควิด CRPH คือรัฐสภาเสมือนจริงที่พบปะและหารือกันทางออนไลน์

อย่างไรก็ดี CRPH ไม่ได้มีอำนาจที่ชอบธรรมในทางกฎหมาย เนื่องจากคณะรัฐประหาร ภายใต้ SAC (State Administration Council) ได้ยึดอำนาจไปแล้ว และสั่งจำคุกคณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่จากพรรค NLD อีกทั้งตั้งรัฐบาลของตนเองขึ้นมาเพื่อบริหารประเทศ ฝ่ายต่อต้านรัฐประหารจึงร่วมกันตั้งรัฐบาลคู่ขนาน หรือรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government หรือ NUG) ขึ้นมา โดยที่ยังคงรักษาตำแหน่งบริหารสูงสุดให้กับประธานาธิบดีวิน มยิ้น และตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐยังคงเป็นของด่อ ออง ซาน ซูจี ตามเดิม

ในบรรดา “รัฐมนตรี” ที่ถูกคัดเลือกมาให้ดูแลงานในรัฐบาลคู่ขนานด้านต่างๆ ทั้ง 17 กระทรวง ล้วนเป็นนักการเมือง นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียง ที่น่าสังเกตคือในจำนวนรัฐมนตรีของรัฐบาลคู่ขนานจำนวนหนึ่งก็เป็นตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ด้วย งานหลักๆ ของ NUG คือการทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนรัฐบาลที่มีความชอบธรรม และพยายามอธิบายให้ประชาคมโลกเข้าใจเพื่อให้ร่วมสนับสนุน NUG ให้ต่อสู้กับคณะรัฐประหาร ในปัจจุบัน NUG มีสำนักงานของตนเองในหลายประเทศทั่วโลก จุดมุ่งหมายของ NUG คือการกดดันให้หลายชาติรับรอง NUG คว่ำบาตรคณะรัฐประหาร และช่วยเหลือให้พม่ากลับคืนสู่สถานการณ์ปกติโดยเร็วที่สุด

Advertisement

พัฒนาการของ NUG ที่โดดเด่นที่สุดคือการจัดตั้งกองกำลังของตนเองขึ้นมาในนามกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (Peoples Defence Force หรือ PDF) คล้ายกับที่ขบวนการของชาวกะเหรี่ยงมี KNU เป็นปีกการเมือง และมี KNLA เป็นกองกำลังติดอาวุธภายใต้การควบคุมของ KNU การเคลื่อนไหวของ NUG มีอยู่ทุกระดับ ตั้งแต่ระดับ ทั่วๆ ไป ไปจนถึงการมีกระบอกเสียงของตนนั่งอยู่ในสหประชาชาติ อย่างเอกอัครราชทูต จ่อ โม ตุน (Kyaw Moe Tun) อดีตเอกอัครราชทูตที่เคยไปชูสามนิ้วในที่ประชุมสหประชาชาติหลังเกิดรัฐประหารในพม่าขึ้น

ในปัจจุบัน กองกำลังพิทักษ์ประชาชนมีปริมาณมากขึ้นและขยายออกไปตามเมืองและภูมิภาคต่างๆ ทั่วพม่า อีกทั้งยังมีกองกำลังประชาชนย่อยอีกเป็นจำนวนมาก กองกำลังมากมายนี้ไม่ได้มีความเป็นเอกภาพ บางกลุ่มก็มีจุดยืนที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะระดับของการตอบโต้คณะรัฐประหาร ในขณะที่ PDF ส่วนใหญ่พุ่งเป้าการโจมตีไปที่เจ้าหน้าที่ของรัฐและกองทัพ PDF บางส่วนมีเป้าหมายรวมไปถึงพลเรือนที่เป็นสายให้กับกองทัพ หรือสมาชิกในครอบครัวของคนในกองทัพ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นที่ถกเถียงกันอย่างหนักในกลุ่มขบวนการต่อต้านคณะรัฐประหารในพม่า

หากเราตามข่าวจากพม่าในแต่ละวัน ก็จะมีข่าวการปะทะกันระหว่างกองกำลัง PDF กับกองทัพพม่าให้เห็นทุกวัน ผลกระทบที่ตามมาจากการสู้รบดังกล่าวคือมีประชาชนจำนวนมากที่ได้รับผล กระทบจากสงครามกลางเมืองนี้ ทำให้มีผู้อพยพที่หนีภัยสงครามเข้ามาในฝั่งไทยมากขึ้นเรื่อยๆ กองทัพพม่าเองก็มีนโยบายโจมตีหมู่บ้าน หรือพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ที่สืบรู้ว่าให้แหล่งพักพิงกับกองกำลัง PDF คำถามที่มักตามมาคือกองกำลัง PDF ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มใดจึงสามารถต่อสู้กับกองทัพของพม่าได้มาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อ PDF เป็นกองกำลังของ NUG รัฐบาลคู่ขนานก็มีหน้าที่ระดมทุนเพื่อช่วยเหลือ PDF ด้วยส่วนหนึ่ง เงินส่วนหนึ่งเป็นเงินบริจาคจากชาวพม่าจากทั่วโลก และอาวุธที่ PDF ใช้จำนวนมากก็มาจากกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่มากมายในพม่า อาวุธอีกจำนวนหนึ่งเป็นอาวุธที่ทำขึ้นมาเอง เช่น การผลิตอาวุธปืนจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ

นอกเหนือจาก NUG ที่เป็นรัฐบาลคู่ขนานหลักที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลพม่าที่ถูกรัฐประหารไป ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ทำหน้าที่คู่ขนานกันไปในนามสภาที่ปรึกษาเพื่อเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Consultative Council หรือ NUCC) ผู้เขียนเคยเข้าร่วมประชุมกับตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์จากพม่าหลายกลุ่ม และทุกครั้งก็จะสัมผัสได้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์เองก็วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ NUG อย่างรุนแรง ครั้งหนึ่งนักเคลื่อนไหวชาวกะเหรี่ยงเคยกระซิบให้ผู้เขียนฟังว่า NUG ก็ไม่ต่างจาก NLD ที่มีผู้นำเป็นคนพม่าแท้ และมีวาระหลักเป็นการนำพรรค NLD กลับมาเป็นพรรครัฐบาลอีกครั้ง มากกว่าการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างสหพันธรัฐที่เท่าเทียม ที่กลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อสู้กับรัฐพม่ามายาวนานจะมีสิทธิปกครองตนเอง ในขณะที่ NUCC จะมีภาพลักษณ์ที่ก้าวหน้ามากกว่า NUG เพราะจุดเน้นของ NUCC อยู่ที่การสร้างระบบการปกครองแบบสหพันธรัฐที่เท่าเทียม และยังชูว่าสหพันธรัฐของตนให้ความสำคัญกับกลุ่มชาติพันธุ์และการพูดคุยเจรจาทางการเมือง และการเจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์อย่างสร้างสรรค์

ท่ามกลางการต่อสู้ของคนมากมายหลายกลุ่ม แม้เป้าหมายของพวกเขาจะเป็นการล้มล้างคณะรัฐประหารและการพิชิตกองทัพพม่าให้ได้ แต่ด้วยวาระที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งชี้ให้เห็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะระหว่างชาวพม่าแท้ที่เป็นคนพุทธกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ได้เป็นอย่างดี หากแม้นวันหนึ่งกองกำลังฝ่ายประชาชนจะชนะ แต่ก็ยังมีโจทย์อีกมากมายที่ต้องแก้ เพื่อทำให้พม่าเป็นสหพันธรัฐที่กลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มจะได้รับสิทธิที่พวกเขาพึงมีอย่างเท่าเทียมกันจริงๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image