ระบบอุปถัมภ์ โดย ปราปต์ บุนปาน

ปลายสัปดาห์ก่อน มีข่าว สนช.พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการไทยให้เป็นรูปธรรม

มาตรการต่างๆ ที่ กมธ. นำเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ก็ดี การสรุปว่าระบบราชการไทยประสบปัญหาเพราะระบบอุปถัมภ์ก็ดี

ล้วนบ่งชี้ว่า “ระบบอุปถัมภ์” มีสภาพเป็น “ปัญหา”

ประเด็นที่บทความชิ้นนี้อยากชวนคิด-ตั้งคำถามก็คือกลุ่มชนชั้นนำทั้งหมดในสังคมไทยนั้นมองว่า “ระบบอุปถัมภ์” เป็นปัญหาจริงหรือไม่? และมีผู้อธิบายความถึงแง่มุมอื่นๆ ของ “ระบบอุปถัมภ์” เอาไว้บ้างหรือไม่? อย่างไร?

Advertisement

ผู้ที่พยายามอธิบายถึง “หน้าที่” ของ “ระบบอุปถัมภ์” ภายใน “โครงสร้าง” สังคมไทย มาอย่างต่อเนื่อง เห็นจะเป็นนักมานุษยวิทยาอาวุโส ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์

ณ ที่นี้ จะขออ้างอิงถึงข้อเสนอ-คำอธิบายว่าด้วย “ระบบอุปถัมภ์แบบไทยๆ” จากหนังสือ “มองสังคมผ่านชีวิตในชุมชน” ของอาจารย์อคิน ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2553

อาจารย์เสนอว่า “ระบบอุปถัมภ์” ถือกำเนิดขึ้นมาจากสภาวะที่คนในสังคมมีโอกาสถือครองทรัพยากรอย่างไม่เท่าเทียมกัน

Advertisement

แน่นอนว่า “ผู้อุปถัมภ์” ย่อมหมายถึงคนที่ถือครองทรัพยากร (ทรัพย์สิน เงินทอง หรืออำนาจ) เอาไว้มากกว่า “และใช้ทรัพยากรนั้นแลกเปลี่ยนกับบริการที่ผู้ได้รับการอุปการะตอบแทนให้”

สำหรับอาจารย์อคิน ดูเหมือน “แบบอย่างอันบริสุทธิ์สูงส่ง” ของ “ระบบอุปถัมภ์แบบไทยๆ” จะได้แก่ ความสัมพันธ์ที่มิได้วางอยู่บนพื้นฐานของการซื้อขาย/จ้างงาน แต่เป็นความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ฉันเพื่อนหรือญาติ โดยสายใยเชื่อมโยงระหว่าง “ผู้อุปถัมภ์” กับ “ผู้ได้รับการอุปถัมภ์” คือบุญคุณ ความรัก และความภักดี

จากมุมมองเช่นนี้ ปัญหาใหญ่ของ “ระบบอุปถัมภ์” จึงไม่ได้อยู่ที่การแบ่งฝักฝ่ายช่วยเหลือพวกเดียวกันเอง โดยไม่คำนึงถึงความถูกผิดหรือยุติธรรม

ปัญหาใหญ่ไม่ได้อยู่ที่สายสัมพันธ์ทางสังคม “แนวดิ่ง” ซึ่งมีทรรศนะว่าความก้าวหน้าของบุคคล ขึ้นอยู่กับการเข้าไปพึ่งพิงผู้มีวาสนาบารมี

ทว่า ตามความเห็นของอาจารย์ “ระบบอุปถัมภ์แบบไทยๆ” เริ่มเสื่อมประสิทธิภาพลง เมื่อแนวคิดที่มองว่า “ผลประโยชน์ส่วนตัวและเงินตราสำคัญกว่าความสัมพันธ์ทางสังคม” ได้แผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาในสังคมไทย

ความเปลี่ยนแปลงที่ว่าส่งผลให้ “ลูกน้อง” ที่ผูกพันกับ “ลูกพี่” ด้วยสายสัมพันธ์เรื่องบุญคุณ กลายสถานะไปเป็น “ลูกจ้าง” ที่ผูกโยงกับ “นายจ้าง” ด้วยสัญญาค่าจ้างอันแน่นอน

ก่อนที่ทุกอย่างจะเลวร้ายลงไปอีก เมื่อ “ลูกจ้าง” ถูกเปลี่ยนสถานภาพเป็น “แรงงาน” ผู้โดนกดขี่ขูดรีด

ส่วน “ความเป็นชุมชน” ที่ยืดหยุ่น เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ซึ่งเชื่อมโยงกันผ่านความสัมพันธ์ “แนวดิ่ง” ประดุจครอบครัวขนาดเล็ก ก็ต้องปะทะกับลัทธิ “ทุนนิยม-วัตถุนิยม” ที่ครอบงำสังคม ผ่านการผลิตขนาดใหญ่ในระบบอุตสาหกรรม อันปราศจากความสัมพันธ์แบบส่วนตัว แต่เต็มไปด้วยกฎเกณฑ์ ตลอดจนคำสั่งแข็งกร้าวที่ไร้ความยืดหยุ่น

ในมุมมองของอาจารย์อคิน “ระบบอุปถัมภ์” จึงไม่ได้เป็นปัญหาโดยตัวของมันเอง แต่ระบบดังกล่าวกลับประสบปัญหาจากการรุกคืบของ “เศรษฐกิจทุนนิยม”

ซึ่งทำให้ “ผู้อุปถัมภ์” กลายร่างเป็น “นายทุน” ที่หมกมุ่นอยู่กับเงินตราและผลประโยชน์ส่วนตน มากกว่าประโยชน์สุขของ “ผู้รับการอุปถัมภ์”

จากจุดนั้น “ระบบอุปถัมภ์” จึงค่อยๆ กร่อนเซาะตัวเอง เมื่อ “ผู้ใหญ่” ไม่ประพฤติตัวให้สมกับเป็น “ผู้ใหญ่” โดยไปขูดรีดรังแก แทนที่จะเมตตาปรานี “ผู้น้อย”

ขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ “แนวดิ่ง” ใน “ระบบอุปถัมภ์ดั้งเดิม” ซึ่งเคย “เวิร์ก” ก็ต้องเผชิญหน้าอย่างตึงเครียดกับความสัมพันธ์ “แนวระนาบ” ที่เกิดจากการประสานงานกันระหว่าง “ผู้น้อย” ที่เห็นว่าพวกตนถูกเอาเปรียบโดยผู้มีอำนาจ

คำอธิบายของอาจารย์อคินแสดงให้เห็นว่ามุมมองที่ “ชนชั้นนำไทย” มีต่อ “ระบบอุปถัมภ์” นั้นอาจไม่สอดคล้องต้องตรงกันเสียทีเดียว

รวมไปถึงวิธีการแก้ปัญหา ซึ่งอาจารย์เสนอว่าความขัดแย้งอันเกิดจากการปะทะกันระหว่างแนวคิดว่าด้วย “ระบบอุปถัมภ์” และ “ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม” นั้น ไม่สามารถยุติลงได้ด้วยความรุนแรงหรือชัยชนะเด็ดขาดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

แต่จะคลี่คลายลงได้ด้วยการต่อรองภายใต้การควบคุมของระบบคุณธรรม-ธรรมาภิบาล ซึ่งนำไปสู่ความสมดุลตามวิถีทาง “ประชาธิปไตย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image