การแบนหนังสือในโลกเผด็จการและโลกประชาธิปไตย

การแบนหนังสือในโลกเผด็จการและโลกประชาธิปไตย

อาจจะมีคนจำนวนไม่น้อยที่คิดว่าการแบนหนังสือ ทั้งห้ามขาย ห้ามมีไว้ในครอบครองห้ามอ่าน ห้ามจำหน่าย และนำเข้าเป็นเรื่องโบร่ำโบราณซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดครับ
เพราะในปัจจุบันการแบนหนังสือยังเกิดขึ้นทั้งในโลกเผด็จการและโลกประชา ธิปไตยทั้งสิ้น

ในโลกเผด็จการ การแบนหนังสือเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก เพราะใช้เงื่อนไขเรื่องความมั่นคง และการต่อต้านการท้าทายต่อคุณค่าที่มีในสังคม

แต่เอาจริงในโลกประชาธิปไตยการแบนหนังสือก็มีอยู่ และมีมากขึ้นในสหรัฐอเมริกาเช่นกัน ส่วนหนึ่งก็วางอยู่บนรากฐานเดียวกันคือ การกระทบต่อคุณค่าที่มีในสังคมนี่แหละครับ

Advertisement

อาจจะต่างกันนิดนึงคือในสังคมประชา ธิปไตย การแบนหนังสือ (ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปในรายละเอียด) นั้นมีการต่อสู้กันจากหลายฝ่าย และเกิดข้อถกเถียงกันสูง และมีการแบนในระดับท้องถิ่นมากกว่าในระดับชาติ โดยเฉพาะในกรณีของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน ตั้งแต่ทรัมป์มาจนถึงไบเดน

ในโลกเผด็จการหนังสือที่โดนแบนในปัจจุบันมีทั้งหนังสือประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยไม่ใช่มุมมองจากรัฐ และหนังสือที่ว่าด้วยความหลากหลายทางเพศ รวมไปถึงกรณีของรัสเซียที่มีการออกกฎหมายใหม่เมื่อ ค.ศ.2019 ที่มีการแก้ไขกฎหมายการเซ็นเซอร์ใหม่ที่สามารถลงโทษการจัดพิมพ์หนังสือที่แสดงออกซึ่งการไม่เคารพต่อรัฐ (ซึ่งในที่นี้หมายถึงการไม่เคารพประธานาธิบดีปูติน) (D.White. 2019. The Authoritarians Worst Fear? A Book. Nytimes.com. 10/3/2019)

ในตุรกีในปีเดียวกัน ก็มีการประกาศจากรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาภายใต้ระบอบของ แอร์โดอาน ว่าได้ถอดหนังสือสามแสนกว่าเล่มจากโรงเรียนและห้องสมุด โดยเอาไปทำลายเพราะเป็นหนังสือที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้นำกบฏของประเทศของเขา ทั้งนี้ ยังไม่รวมการปิดสื่อสิ่งพิมพ์และสำนักพิมพ์จำนวนไม่น้อย รวมทั้งการดำเนินคดีกับนักเขียนด้วยกฎหมายอาญาถึงแปดสิบคน (อ้างแล้ว)

Advertisement

กรณีของอียิปต์ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่ระบอบของเอลซีซี่ ก็จำคุกนักเขียนอิสระ บุกค้นร้านหนังสือ และบังคับให้ปิดห้องสมุด รวมไปถึงกรณีของฮ่องกงที่รัฐบาลภายใต้การกำกับดูแลของจีนก็บุกค้นร้านหนังสือในฮ่องกง (เพิ่งอ้าง)

ประเด็นที่น่าสนใจที่คนมักจะเชื่อกันก็คือ ว่านี่มันยุคดิจิทัลแล้วนะ จะมาแบนหนังสือไปหาอะไร

คำตอบหนึ่งก็คือในยุคสมัยแห่งอินเตอร์เน็ตนี้ หนังสือกลับมีจุดแข็งของมัน เพราะมันสามารถหลุดรอดการตรวจสอบจากระบบดิจิทัลได้ เพราะไม่ถูกตรวจสอบจากระบบ ไม่มีร่องรอยในโลกออนไลน์ และไม่มีใครรู้ว่าใครส่งให้ใคร แถมยังมีงานวิจัยว่าการอ่านหนังสือจากกระดาษทำให้มีความรู้สึกร่วมได้มากกว่าการอ่านออนไลน์ (เพิ่งอ้าง)

ในกรณีของสหรัฐอเมริกานั้นการแบนหนังสือก็มีอยู่มากมายเช่นกันจากอดีตสู่ปัจจุบัน แม้ว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั้น การกล่าวหาว่าพวกนาซีเผาหนังสือและแบนหนังสือจะเป็นข้อหาหนึ่งที่สหรัฐนำเอามาใช้โจมตีระบอบเผด็จการ แต่เมื่อเข้ามาในยุคสงครามเย็นอเมริกาภายใต้แนวนโยบายของแมคคาร์ธีเองก็มีการเซ็นเซอร์หนังสือมากมายรวมทั้งหนังสืออย่าง แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ด้วย

แต่ในสหรัฐอเมริกานั้นในยุคปัจจุบันการแบนหนังสือมักจะเกิดขึ้นในสองลักษณะหนึ่งคือการส่งคำร้องมาถึงสมาคมห้องสมุดแห่งอเมริกา (The American Library Association) และสองคือการออกคำสั่งของผู้ว่าการมลรัฐ ให้ถอดหนังสือจากห้องสมุดและห้องเรียน
อย่างเมื่อปี ค.ศ.2021 นี้สมาคมห้องสมุดได้รับคำร้องให้พิจารณาหนังสือถึงสามร้อยเล่ม ซึ่งเพิ่มมาจากปี 2020 ถึงเท่าตัว (K.Food. Book Banning: The Dystopia in Our Reality. The Eagle: Trinity College Law Gazette. 8:3)

ข้อหาหลักในปัจจุบันในสังคมประชาธิปไตยในสหรัฐใช้ในการแบนหนังสือก็คือ การทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายใจ (discomfort) รู้สึกผิด หรือปวดร้าว หรือรู้สึกเครียดในทางจิตวิทยา เนื่องจากเรื่องของเซ็กซ์ และสีผิว หรือทำให้เด็กเหล่านั้นที่มีสีผิวหรือเพศสภาพบางอย่างไปรู้สึกว่าพวกเขานั้นมีความเหยียดผิว มีอคติทางเพศ หรือกดขี่คนอื่นโดยจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ดังนั้นการที่ผู้ใหญ่ ผู้ปกครองจะปกป้องและป้องกันเด็กจากสถานการณ์ดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่พวกเขาเห็นว่าถูกต้อง (ดังนั้นถ้าต้องอ่านเรื่องราวของความโหดร้ายของการค้าทาส หรือการกีดกันไม่ให้คนบางกลุ่มมีสิทธิเลือกตั้ง ก็อาจจะทำให้เด็กๆ เกิดความเครียดและตื่นตระหนกได้) ซึ่งอาการหวังดีแบบนี้เองก็ดูจะขัดกับความคิดอีกฝ่ายหนึ่งที่บอกว่าการเตรียมคนเข้าสู่สังคมที่มีความหลากหลายและเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ความรู้สึกไม่สบายใจและกระอักกระอ่วนใจในการรับรู้ข้อมูลนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของความจริง (เพิ่งอ้าง)

ในการเมืองของอเมริกา กลุ่มที่ออกมามีบทบาทในการเซ็นเซอร์หนังสือในโรงเรียนและห้องสมุดมักจะเป็นกลุ่มที่เชื่อมโยงกับพวกรีพับลิกันในหลายมลรัฐ เช่น เทกซัส เวอร์จิเนีย โดยเฉพาะกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า Moms for Liberty (แม่เพื่่อเสรีภาพ) แต่กระนั้นก็ตามการสู้กลับของผู้คนก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเช่นกัน เช่นการต่อสู้ของบรรณารักษ์ในเท็กซัสที่สร้างแฮชแท็ก #Freedom หรือเสรีภาพ ในการรณรงค์เรื่องสิทธิในการเข้าถึงสิ่งพิมพ์ที่ถูกแบน (แต่ต้องย้ำว่าการแบนนี้ไม่ได้แบนแบบห้ามขาย แต่ห้ามมีในห้องสมุดโรงเรียนมากกว่า) หรืออย่างในกรณีของเพนซิลเวเนีย ก็มีการประท้วงของนักเรียนที่สู้กับการถอดหนังสือบางเล่มออกจากห้องสมุด โดยใส่เสื้อดำมาห้องเรียน หรืออ่านหนังสือเหล่านั้นในอินสตาแกรม หรือประท้วงในเวลาเดิมๆ คือเจ็ดโมงสิบห้านาที และสุดท้ายหนังสือเหล่านั้นก็กลับมาในห้องสมุดได้ (เพิ่งอ้าง)

ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่าในสหรัฐอเมริกา ในปีที่แล้วมีการร้องเรียนให้แบนหนังสือเพิ่มอีก 2,571 ชื่อ โดยพบว่าร้อยละสี่สิบของหนังสือเหล่านั้นมีตัวเอกเป็นคนผิวสี และร้อยละยี่สิบเอ็ดมีชื่อที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสีผิว หรือสะท้อนอคติเรื่องสีผิว (A.Restrepo. Book bans are getting everyone’s attention-including Bidens. Here’s Why. Npr.org. 26/1/2023)

ดังนั้นก็จะเห็นว่าการต่อสู้เรื่องการแบนหนังสือเล่มยังมีความสำคัญ โดยเฉพาะในอเมริกา สมรภูมิที่สำคัญอยู่ที่ห้องสมุดสาธารณะ และห้องสมุดรวมทั้งชั้นเรียน (โชคดีของคนไทยที่ห้องสมุดสาธารณะเราไม่แพร่หลาย และไม่คิดจะมีการลงทุนกับมัน เพราะเห่อกันแต่ศูนย์เรียนรู้และโครงการ 4.0 กระมัง)

ประธานาธิบดีไบเดนเองเมื่อเจอกับเรื่องราวเหล่านี้เขาถึงกับออกปากว่าเขาไม่นึกไม่ฝันว่าจะต้องมาสู้กับบรรดานักการเมืองที่ร่วมมือกับบรรดาผู้ปกครองที่ออกมาแบนหนังสือ (เพิ่งอ้าง) และในหลายกรณีกลายเป็นเรื่องคนแบนหนังสือยังไม่ได้อ่าน แต่แค่ได้ยินชื่อก็ออกมาห้ามอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า กรณีของเทกซัส ส.ส.รีพับลิกันรวบรวมรายชื่อหนังสือ 850 เล่ม ที่บอกว่าไม่เหมาะกับการเรียนการสอนในโรงเรียน ซึ่งมีเรื่องของเซ็กซ์ (ข้ามเพศก็เป็นส่วนหนึ่ง หรือโป๊) การเหยียดผิว และประวัติศาสตร์อเมริกา ในเวอร์จิเนียเองผู้ว่าการรัฐก็รณรงค์ให้ผู้ปกครองควบคุมตรวจสอบว่าลูกหลานควรจะอ่านอะไรบ้างและยังมีกรณีของเวอร์จิเนีย ที่นักการเมืองท้องถิ่นฟ้องร้านหนังสือให้ห้ามขายหนังสือสองเล่ม ได้แก่ Gender Queer และ A Courtof Mist and Fury (C.Moses. The Spread of Book Banning. Nytimes.com. 27/02/2023)

โดยเฉพาะหนังสือเรื่อง Gender Queer: A Memoir นี้กลายเป็นหนังสือที่ถูกแบนมากที่สุดในอเมริกา ส่วนหนึ่งเพราะเป็นหนังสือที่มีภาพประกอบ เป็นการ์ตูน และมีเนื้อหาเกี่ยวกับเพศทางเลือกที่เป็นบันทึกของผู้เขียนที่เติบโตและค้นพบตัวตนของตนเอง (ดูรายละเอียดที่ F.V. Banned Book Week: Why is Gender Queer the Most Challenged Book? Toledolibrary.org. 19/09/2022)

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของอเมริกานั้น เนื่องจากการแบนหนังสือนั้นไม่ได้เป็นเรื่องกฎหมายความมั่นคงอะไร และยังมีเรื่องของสิทธิเสรีภาพอยู่ด้วย การต่อสู้นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้วยังมีการต่อสู้ในแนวทางอื่นเพิ่มเติม ได้แก่ การที่มีการรวมหนังสือที่ถูกแบนไปไว้ในห้องสมุดพิเศษหรือมีการแจกหนังสือให้ฟรีๆ ในการรณรงค์ รวมทั้งห้องสมุดสาธารณะอย่าง Brooklyn Public Library ก็เปิดให้มีการเข้าถึงหนังสือที่ถูกแบนได้ (อย่าลืมว่าห้องสมุดนี้ไม่ได้อยู่ในมลรัฐที่แบน แต่อยู่ในนิวยอร์ก) หรือที่โหดกว่านั้นคือในเมือง Liano ของเท็กซัส มีความพยายามในการสู้กลับคำสั่งของศาลสหพันธรัฐที่ให้เอาหนังสือที่โดนแบน 17 เล่ม กลับเข้าชั้นหนังสือ แต่ทางคณะกรรมการท้องถิ่นเรียกประชุมว่าอาจจะปิดระบบห้องสมุดทั้งหมดแทนยอมรับคำสั่งศาลส่วนกลาง (A.Restrepo.อ้างแล้ว)

หรือที่สนุกไปอีกแบบคือบรรดานักการเมืองเดโมแครตในฟลอริดาพยายามเรียกร้องให้ใช้กฎหมายแบนหนังสือที่ออกโดยผู้ว่าการรัฐคือ Ron DeSantis แห่งรีพับลิกันที่พยายามเปิดแคมเปญหาเสียงแข่งเป็นตัวแทนพรรคในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแข่งกับทรัมป์ในครั้งหน้า โดยนักการเมืองเหล่านี้อ้างว่าหนังสือของผู้ว่าการ Ron ท่านนี้ขัดกับหลักการที่เขาวางไว้เองในการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการตีพิมพ์ เพราะมีข้อความหลายแห่งที่สะท้อนเรื่องของการทำให้สังคมแตกแยกเหมือนที่เขาไปกล่าวหาหนังสือเล่มอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่มีแต่เฉพาะหนังสือที่ไม่ให้เด็กอ่าน แต่ยังรวมไปถึงเรื่องของหนังสือที่เกี่ยวกับนักเบสบอลที่ต้องเผชิญกับการเหยียดผิวในสมัยก่อนอย่าง Roberto Clamente (M.Pengelly. Democrats bid to use censorship law against DeSnatis and ban his book. Theguadian.com. 4/5/23)

ที่เขียนมาก็ถือเป็นการรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกนะครับ ว่าการต่อสู้ในเรื่องการแบนหนังสือนั้นมีอยู่หลากหลายรูปแบบและน่าจะดำเนินต่อไปอีกยาวนานเหมือนประวัติศาสตร์การเขียนหนังสือที่คงจะดำเนินต่อไปครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image