ร้อนในร้อน

ร้อนในร้อน

ขบวนประชาธิปไตยผ่านสถานี “สัปปายะสภาสถาน” ไปแล้ว โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” จากพรรคประชาชาติ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร มี “ปดิพัทธ์ สันติภาดา” จากพรรคก้าวไกล เป็นรองประธานสภาคนที่ 1 และ “พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน” จากพรรคเพื่อไทย เป็นรองประธานสภา คนที่ 2

แม้ก่อนหน้านั้นจะมีการแย่งชิงเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรกันอย่างดุเดือด ระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย แต่สุดท้ายหวยมาออกที่ “วันนอร์”

ขณะที่การลงคะแนนในสภา ปรากฏว่า “วันนอร์” และ “พิเชษฐ์” ผ่านฉลุยไม่มีพรรคไหนส่งชิง จะมีก็แต่ “ปดิพัทธ์” ที่ต้องแข่งกับ “วิทยา แก้วภราดัย” จากพรรครวมไทยสร้างชาติ

Advertisement

ผลการนับคะแนนลับ 496 คน “ปดิพัทธ์” ได้ 312 คะแนน ส่วน “วิทยา” ได้ 105 คะแนน งดออกเสียง 77 คะแนน และบัตรเสีย 2 ใบ

หลายฝ่ายมองว่าคะแนนครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณทางการเมืองบางอย่างถึงการโหวตเลือกนายกฯ โดยเฉพาะ 77 คะแนนที่งดออกเสียง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากพรรคภูมิใจไทย

จากสถานีรัฐสภา เน็กซ์สเตชั่นคือทำเนียบรัฐบาล ต้องลุ้นกันว่า 13 กรกฎาคมนี้จะไปจอดได้ไหม เพื่อส่ง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ เพราะต้องได้ 376 เสียง

Advertisement

พรรคก้าวไกล มั่นใจว่าได้เกินแน่ และ 13 กรกฎาคมโหวตรอบเดียวจบ ได้ “พิธา” เป็นนายกฯ โดยนัด 8 พรรคที่ร่วมกันตั้งรัฐบาล วันที่ 11 กรกฎาคมนี้เพื่อเช็กเสียงกันอีกครั้ง

ขณะที่ หลายฝ่ายทั้งในแวดวงการเมืองและนักวิชาการหลายคน คาดกันว่า 13 กรกฎาคมนี้ไม่จบ อาจต้องวนที่สภา 2-3 รอบถึงจะไปต่อที่ทำเนียบรัฐบาลได้ แล้วอาจไม่ใช่ “พิธา” ที่จะได้ลงไปจัดตั้งขบวนรัฐบาล เพราะหา 64 เสียงมาเติมไม่พอ ทาง ส.ส.อีกขั้วก็ไม่หนุน ส่วน ส.ว.หลายคนก็ประกาศไม่โหวตให้

ระหว่างวนรอบสภา อาจมีสูตรใหม่โผล่ขึ้นมา ไม่ว่าจะเปลี่ยนให้พรรคเพื่อไทย ส่งชื่อแคนดิเดตนายกฯแทน “พิธา” โดย 8 พรรคยังจับมือแน่น แล้ว ส.ว.อาจเปลี่ยนใจยกมือให้ หรืออาจมีสูตรพิสดาร เปลี่ยนขั้วกันใหม่ ก็ต้องรอดูกัน

แต่การเมืองไทยอะไรก็เกิดขึ้นได้ อยู่ที่ว่าใครจะใช้ชั้นเชิงศิลปะให้เกิดสิ่งที่เป็นไปได้ตามความมุ่งหวังของตัวเอง อย่างวลีที่ว่า “การเมืองเป็นศิลปะของสิ่งที่เป็นไปได้” (Politics is the Art of the possible)

13 กรกฎาคมนี้จึงเป็นอีกวัน ที่จะชี้วัดปรอทการเมืองไทยร้อนแรงอีกกี่องศา

แต่ขณะที่การเมืองระอุ ยังมีสถานการณ์ร้อนๆ รอรัฐบาลใหม่เข้ามาจัดการ นอกจากภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่แล้ว อีกเรื่องที่ดูท่าจะเป็นเรื่องใหญ่นั่นคือปรากฏการณ์ “เอลนิโญ”

ทั้งภาคเอกชนและนักวิชาการออกมาเรียกร้องให้เตรียมรับมือโดยด่วน เพราะคาดว่าจะมีผลกระทบรุนแรงเป็นวงกว้างมากกว่าที่เคยเจอมา

“ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เตือนว่า ไทยเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนิโญแล้วจะอยู่ยาวไปถึงมีนาคม 2567 ที่น่าหวาดกลัวก็คือมีความเป็นไปได้สูงว่าเอลนิโญจะลากยาวต่อไปอีก เรียกว่า “ดับเบิลเอลนิโญ”

ปัญหาที่ตามมาคือน้ำกิน น้ำใช้ น้ำเพื่อการเกษตร และน้ำเพื่ออุตสาหกรรมไม่เพียงพอ อาจเกิดแย่งชิงน้ำกัน โดยเฉพาะระหว่างเกษตรกรกับโรงงานต่างๆ

หากน้ำไม่พอใช้ในการเกษตร ผลผลิตจะเสียหาย หากโรงงานมีน้ำไม่เพียงพอการเดินเครื่องจักรต่างๆ อาจหยุดชะงัก ผลก็คือรายได้จะลดลง ฉุดเศรษฐกิจย่ำแย่ลงอีก

ไม่รวมผลกระทบกับสภาพแวดล้อม เพราะน้ำทะเลอุณหภูมิจะสูงขึ้น จะเกิดปะการังฟอกขาว น้ำทะเลเปลี่ยนสี แพลงตอนบลูม ปลาจะตายจำนวนมาก

ขณะที่ “ธารา บัวคำศรี” ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย ระบุว่า เป็น “ซุปเปอร์เอลนิโญ” ที่มีความรุนแรง ส่อว่าจะเกิด “ทุพภิกขภัย” จากความแห้งแล้งทั่วทุกหัวระแหง อาจได้เจอยุคข้าวยากหมากแพง

ในสถานการณ์ “ร้อนในร้อน” นี้ เป็นที่หวาดหวั่นไม่น้อย

สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image