ทุกข์ชาวนา ทุกข์ของแผ่นดิน โดย รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

ประเทศไทยนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นเกษตรกร และอาชีพเกษตรกรที่เป็นหน้าตาพร้อมกับนำรายได้มาหล่อเลี้ยงประเทศชาติคือชาวนา แม้โลกจะพัฒนาไปไกล มีอุตสาหกรรมใหม่เกิดขึ้นมากมาย แต่คนไทยส่วนใหญ่ไม่เคยละทิ้งการทำนา

ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวก็ว่าได้ที่พระมหากษัตริย์ทรงห่วงชาวนาและทรงลงเกี่ยวข้าวในท้องทุ่งนา ด้วยความสำคัญของอาชีพการทำนา ในหลวงพระองค์ท่านจึงได้ค้นคว้าวิจัยทดลองในการที่จะส่งเสริมชาวนาให้ได้รับการปลูกข้าวที่มีคุณภาพและสร้างรายได้เพื่อเลี้ยงครอบครัวได้อย่างมั่นคง

ครั้งหนึ่งพระองค์ท่านได้พระราชทานพระราชดำรัสแก่ผู้นำกลุ่มชาวนา เมื่อเดือนพฤษภาคม 2504 ความตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ศึกษาการทดลองและทำนามาบ้าง และทราบดีว่าการทำนานั้นมีความยากลำบากอยู่มิใช่น้อย จำเป็นจะต้องอาศัยพันธุ์ข้าวที่ดี และต้องใช้วิชาการต่างๆ ด้วยจึงจะได้ผลเป็นล่ำเป็นสัน อีกประการหนึ่ง ที่นานั้น เมื่อสิ้นสุดฤดูการทำนาแล้วควรปลูกพืชอื่นๆ บ้าง เพราะจะเพิ่มรายได้ให้อีกไม่ใช่น้อย ทั้งจะช่วยให้ดินร่วน ช่วยเพิ่มปุ๋ยกากพืช ทำให้ลักษณะเนื้อดินดีขึ้น เหมาะสำหรับจะทำนาใน
ฤดูต่อไป”

จากพระราชดำรัสดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เข้าใจเข้าถึงต่อวิถีและทุกข์ของชาวนาอย่างแท้จริง พระองค์ท่านจึงได้มีโครงการพระราชดำริต่างๆ ในการแบ่งเบาภาระอันเป็นปัญหาใหญ่ของแผ่นดิน ด้วยพระปรีชาสามารถและเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยที่มีต่อวงการข้าว รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ลงนามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเล่มที่ 133 ตอนพิเศษ 247 ง เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2559 ระบุว่า รัฐบาลสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและน้อมรำลึกในพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อการปฏิรูปข้าวไทย และพระบาทสมเด็จพระปรมินทร
มหาภูมิพลอดุลยเดชต่อการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย เป็นอเนกประการ รวมทั้งเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติทั้ง 2 พระองค์ ในโอกาสครบรอบ 100 ปี งานวิจัยข้าวไทย ในปี 2559 คณะรัฐมนตรีจึงได้ลงมติเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559 เห็นชอบ

Advertisement

โดยมีสาระสำคัญคือ 1.ให้เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็น “พระบิดาแห่งการปฏิรูปข้าวไทย” 2.ให้เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เป็น “พระบิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย”

ปัญหาของชาวนาไทยได้รับการแก้ไขจากรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในหลายๆ ครั้ง รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อาจจะยังคลำเป้าไม่เจอ หรือเจอแล้วแต่เกาไม่ถูกที่คัน ปัญหาหลักที่ชาวนาไทยประสบโดยเฉพาะความยากจนที่มายาวนาน รัฐบาลรู้ดีว่าชาวนามีผลผลิตต่ำแต่ก็ยังไม่สามารถนำแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์มาสู่ชาวนาได้ หลายๆ โครงการที่รัฐบาลในอดีตงัดออกมาเพื่อสร้างประชานิยมให้กับชาวนาได้ลิ้มรส แต่สุดท้ายปัญหาก็ยังหันกลับมาสู่ชาวนาอย่างปัจจุบัน

วันนี้การที่รัฐบาลได้หยิบยกประเด็นในการแก้ปัญหาให้พี่น้องชาวนาซึ่งอาจจะเป็นการแก้เฉพาะหน้าเพื่อบรรเทาทุกข์ในระยะสั้น ทั้งนี้ รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องกำหนดมาตรการช่วยเหลือชาวนาอย่างยั่งยืน หรือประกาศเป็นวาระแห่งชาติ และมอบหมายภารกิจที่สำคัญนี้ต่อให้รัฐบาลหน้า เพื่อขับเคลื่อนแผนงานยุทธศาสตร์ให้ชาวนาอยู่ได้ สามารถยืนบนขาตนเองได้อย่างเข้มแข็งและมั่นคง

Advertisement

การเสริมสร้างแนวคิดเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของชาวนาให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ได้อย่างมีคุณภาพ และมีคำตอบที่สามารถจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม ถือได้ว่านั่นคือการสร้างทางสว่างให้ชาวนาอยู่อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี

นายกสมาคมชาวนาไทยได้ให้สัมภาษณ์รายการวิทยุคลื่นหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ต้องขอบคุณรัฐบาลและทุกภาคส่วนที่กระโดดเข้ามาช่วยเหลือพี่น้องชาวนาในห้วงที่กำลังประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำ และวิงวอนให้รัฐบาลดำเนินการอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนั้นได้ฝากไปยังบรรดานักการเมืองทั้งหลายว่าอย่าได้นำชาวนาไปเกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะชาวนาไม่ใช่ตัวประกันของใคร ถ้านักการเมืองจะช่วยเหลือขอให้มีความจริงใจตลอดไป จากการกล่าวของนายกสมาคมชาวนาไทยสะท้อนให้เห็นว่าที่ผ่านมาบางครั้งเกมการเมืองเข้ามาเกี่ยวพันและดึงชาวนาเข้าไปเกลือกกลั้วในวงจรอำนาจ โดยไม่คำนึงว่าทุกข์ที่แท้จริงของชาวนา
คืออะไร

และในระยะนี้จะเห็นได้ว่าเริ่มมีนักการเมืองบางกลุ่มบางคนเริ่มโหนกระแสใช้วาระความเดือดร้อนของชาวนามาเป็นฐานเรียกคะแนนนิยม จนนักการเมืองบางคนสังคมได้ตั้งข้อสังเกตว่าสร้างกระแส ดราม่ากับชาวนาก็มี

แต่อย่างไรก็ตาม หากนักการเมืองเหล่านั้นมีเจตจำนงที่ดี แสดงความมีน้ำใจโอบอ้อมอารีและเอื้อเฟื้อต่อชาวนาอย่างแท้จริง ก็ถือว่าเป็นบุญและอานิสงส์ที่ชาวนาจะได้รับ

คนไทยไม่เคยแล้งน้ำใจเมื่อภาครัฐออกมาระดมความคิดและอัดฉีดงบประมาณเพื่อช่วยดับทุกข์ให้ชาวนา กลับพบว่าวันนี้องค์กรภาครัฐและเอกชนต่างตื่นตัว มีจิตอาสาออกมาร่วมเพื่อแก้วิกฤตให้ชาวนาผ่านพ้น เช่น การเปิดพื้นที่ให้ชาวนาได้ขายข้าว หรือการช่วยระดมคนไปเก็บเกี่ยว แม้กระทั่งพระสงฆ์และสามเณรในบางพื้นที่ก็ไม่นิ่งดูดาย ในขณะที่บางมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดโอกาสให้ลูกชาวนานำข้าวมาจ่ายเป็นค่าหน่วยกิต

ด้านมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตก็ระดมพลังสมองของคณาจารย์ จัดโครงการช่วยลูกชาวนาขายข้าว ด้วยการเปิดโอกาสให้นักศึกษาลูกชาวนา นักศึกษาและบุคคลทั่วไปเข้าร่วมการอบรมหลักสูตรดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง (การขายระบบออนไลน์) รวมทั้งเปิดพื้นที่ให้ชาวนานำข้าวมาขาย และยังมีอีกหลายสถาบันการศึกษาที่ไม่แล้งน้ำใจในกิจกรรมครั้งนี้ การดำเนินการลักษณะนี้ภาครัฐต้องเป็นเจ้าภาพในการบริหารจัดการให้ต่อเนื่องและยั่งยืน ไม่ควรเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในลักษณะโหนกระแสตามธรรมเนียมไทย

วันนี้ราคาข้าวตกต่ำไม่ใช่กระทบเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ที่สำคัญจากการศึกษาการผลิตข้าวยอดรวมของผลผลิตข้าวโลก ประมาณการเมื่อเดือนตุลาคม 2559 พบว่าจะอยู่ที่ 483.26 ล้านตัน เพิ่มจากปีที่แล้ว 11.17 ล้านตัน ขณะที่ประเทศซึ่งปลูกข้าวมากอย่างจีนเพิ่มขึ้น 1 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่อินเดียปลูกมากเป็นอันดับสองเพิ่มราว 2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อผลผลิตของสองประเทศที่มีประชากรสูงอันดับต้นๆ ของโลกเพิ่มขึ้น แน่นอนผลย่อมส่งต่อมาที่ราคาข้าวไทยจึงตกต่ำลงอย่างในวันนี้

มีการรายงานข่าวต่างประเทศของสื่อฉบับหนึ่งระบุว่า ราคาข้าวในประเทศไทยร่วงลงโดยเฉลี่ยประมาณตันละ 13 เหรียญสหรัฐ ของอินเดียลงไป 5 เหรียญสหรัฐ ปากีสถานหนักหน่อย ร่วงถึง 15 เหรียญสหรัฐ ส่วนเวียดนามคู่แข่งไทยร่วงลงที่ 10 เหรียญสหรัฐ ในขณะเดียวกันพบว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้วิเคราะห์การผลิตข้าวเปลือกต่อไร่ต่อปี เฉลี่ยในปี 2558/2559 เฉลี่ยจากทั่วโลกอยู่ที่ 710 กก. ขณะที่ผลผลิตของไทยอยู่ที่ 450 กก.ต่อไร่ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก และไทยยังอยู่อันดับรองสุดท้ายในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งข้อมูลอ้างอิงยืนยันว่าเวียดนามมีผลผลิตเฉลี่ย 942 กก.ต่อไร่ อินโดนีเซีย 760 กก.ต่อไร่ ฟิลิปปินส์ 653 กก.ต่อไร่ มาเลเซีย 646 กก.ต่อไร่ ลาว 466 กก.ต่อไร่ พม่า 454 กก.ต่อไร่ กัมพูชา 402 กก.ต่อไร่ ประเทศไทยแพ้ต่อลาวและพม่า

ในขณะที่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาผลิตได้ 1,357 กก.ต่อไร่ จีน 1,098 กก.ต่อไร่ และญี่ปุ่น 1,078 กก.ต่อไร่

จากข้อมูลและสาระที่นำเสนอมาทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นโจทย์และการบ้านที่รัฐบาลตลอดจนทุกภาคส่วนต้องร่วมกันในการผลักดันให้ปัญหาที่ชาวนาประสบลดน้อยลง แต่อย่างไรก็ตาม บรรดาชาวนาทั้งหลายก็ต้องมีจุดร่วมในการที่จะต้องอยู่ให้ได้ยืนให้เป็น การน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่พระองค์ท่านได้พระราชทานไว้เป็นแนวทางในการดำเนินการจะเป็นคาถานำพาให้ชาวนาลืมตาอ้าปากได้ การมีแนวคิดรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์หรือช่วยกันในลักษณะช่วยตนเองก่อนให้คนอื่นยื่นมือเข้ามาจึงเป็นภาระและหน้าที่ที่พี่น้องชาวนาต้องตระหนัก

คำกล่าวที่บอกว่าชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ และชาวนาต้องเอาหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน คำกล่าวนี้ย่อมจะยังคงจะอยู่คู่กับชาวนาไทยตลอดไป แต่วันนี้เพื่อเป็นการเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ขอให้ชาวนายืนอยู่บนความมั่นคงแน่วแน่ต่ออาชีพที่ทรงเกียรติ นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อมาแลกกับการนำหยาดเหงื่อแรงงานในการที่จะได้ข้าวซึ่งมีคุณภาพดีและราคาสูง จึงเป็นสิ่งที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ทุกข์ของชาวนาที่บอกว่าเป็นทุกข์ของแผ่นดิน หากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนขับเคลื่อนกลยุทธ์เพื่อนำมาซึ่งการดับทุกข์ตั้งแต่บัดนี้ เชื่อได้ว่าชาวนาไทยจะห่างไกลจากความทุกข์ และสามารถก้าวสู่ชาวนา 4.0 ได้ตามแนวนโยบายของรัฐบาลในการที่จะส่งผลต่อการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนแห่งอนาคต

รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image