เกม‘ลึก’กว่าที่เห็น

เกม‘ลึก’กว่าที่เห็น

หลายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ก่อนและระหว่างการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของรัฐสภา คงก่อจินตนาการให้กับผู้ติดตามสถานการณ์การเมืองไปกว้างขวาง

กองบัญชาการตำรวจนครบาล ประชุมวางแผนอย่างละเอียดเพื่อรับ “ทักษิณ ชินวัตร” กลับประเทศไทยอย่างปลอดภัย

แม้จะอ้างว่าเป็นความปกติที่ต้องเตรียมการไว้ตามประกาศจะกลับประเทศภายในเดือนกรกฎาคมของ “ทักษิณ” ก่อนหน้านั้น แต่คนที่คุ้นชินกับวิธีทำงานของตำรวจเชื่อว่า “ตำรวจน่าจะทำงานการข่าวมากกว่านั้น”

Advertisement

คำถามก็คือ การกลับมาของ “ทักษิณ” ส่งผลต่อการวางเกมอำนาจอย่างไร

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศวางมือทางการเมืองลาออกจากสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ด้วยเหตุผลเบื้องหน้าที่คือไม่ต้องการให้ใครเอาไปเป็นข้ออ้างจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย แต่ก่อคำถามขึ้นในทุกวงสนทนาว่า “เหตุผลเบื้องหลังคืออะไร”

เกิดการวิเคราะห์กันไปว่าเป้าหมายที่แท้จริงคืออะไร เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเป็นการวางหมากที่ซับซ้อนสักหน่อยใน “เกมอำนาจ” ตามที่ “พล.อ.ประยุทธ์” มีความถนัดสูง เป็นการต่อรองกับอะไรหรือไม่

Advertisement

คณะกรรมการการเลือกตั้งสรุปผลการสอบสวนเรื่อง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ว่าถือหุ้นสื่อซึ่งเป็นข้อห้ามของผู้สมัคร ส.ส.ให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน

ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการเร่งรัด ทำให้เกิดผลได้เสียต่อการโหวตนายกรัฐมนตรีในวันรุ่งขึ้น

ศาลรัฐธรรมนูญ ประกาศว่าคำร้อโดยตรงเรื่อง “พิธา” และ “พรรคก้าวไกล” ประกาศนโยบายแก้ไข ม.112 นั้นมีมูลต้องนำมาพิจารณาว่าเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่

ทำให้เกิดการประเมินว่าจะถูกนำไปใช้ในการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาในวาระโหวตนายกรัฐมนตรีในวันรุ่งขึ้น

ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และ ส.ว.กลุ่มหนึ่งประกาศไม่เข้าร่วมประชุมรัฐสภาในวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จนทำให้มีการมองกันว่าเท่ากับคนเหล่านี้ ไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ปล่อยให้การเมืองเป็นเรื่องของสมาชิกสภา
ผู้แทนราษฎร

สมาชิกวุฒิสภากลุ่มหนึ่ง ประกาศปิดสวิตช์จตัวเองด้วยการ “งดออกเสียง” ในการประชุมโหวตนายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุผลว่าจะไม่เข้ายุ่งเกี่ยวกับเจตนารมณ์ของประชาชน

สมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนกลุ่มหนึ่ง หยิบยก มาตรา 112 ขึ้นมาเป็นประเด็นถกเถียงกันในรัฐสภาด้วยท่าทีร้อนแรงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี มีการเสนอชื่อ “พิธา” เพียงคนเดียว ไม่มีคู่แข่งเหมือนที่เคยเป็นมา แต่การอภิปรายกับเป็นไปอย่างกว้างขวางยิ่ง และไม่ใช่ชี้ให้เห็นว่า “ใครดีกว่าใคร” แต่เป็นการโจมตีในเรื่อง “นโยบายของพรรคก้าวไกล” อย่างดุเดือด

เรื่องราวทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน

ฟังเผินๆ เหมือนเรื่องปกติของเกมอำนาจ แต่หากมองอย่างพินิจจะเห็นความ “ผิดปกติ” และที่สำคัญคือ
“มันเป็นเกมอำนาจที่แต่ละกลุ่มมีอะไรอยู่เบื้องหลัง”

พล.อ.ประยุทธ์เล่นเกมอะไรมากกว่า “ไม่อยากเป็นข้ออ้างของรัฐบาลเสียงข้างน้อยหรือไม่” เครือข่าย ส.ว.ของกองทัพที่ไม่ยุ่งกับการประชุมครั้งนี้ของรัฐสภาด้วยเจตนาอยากให้ใครเห็นอะไร

ภารกิจนำ “ทักษิณ” กลับบ้านของเพื่อไทย จะต้องยอมปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง ใครคือคีย์สำคัญของภารกิจนี้

เป้าหมายของ “ก้าวไกล” คืออะไร เกมที่เป็นอยู่ได้หรือเสียมากกว่า

คำตอบทั้งหมด คือตัวกำหนดที่ซับซ้อนของ “เกมการเมือง” ที่น่าจะเล่นกันโหดกว่าที่ประเมินกันอยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image