การเมืองของการงดออกเสียง โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

การเมืองของการงดออกเสียง ผ่านการประชุมคัดเลือกนายกรัฐมนตรี

ผ่านการประชุมคัดเลือกนายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม เมื่อ 13 กรกฎาคมไปแล้ว ผลก็คือ คุณพิธายังไม่ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี

เนื่องมาจากระบบของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ ผู้ได้เป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องได้คะแนน 375 เสียงจาก 750 เสียง

หมายถึงว่าในบทเฉพาะกาลจนสิ้นอายุของ ส.ว.ชุดนี้ที่มีที่มาจาก คสช.นั้น พวกเขามีสิทธิเลือกนายกฯกับเขาด้วย

ในสถานการณ์ปัจจุบันก็คือ ในฝ่ายร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค ซึ่งรวมเสียงได้ 312 เสียง ยังขาดอยู่ประมาณ 63 เสียง

Advertisement

ซึ่งมีสองทางเลือกหลักคือ ได้มาจากพรรคที่ไม่ได้ร่วมรัฐบาลด้วย 188 เสียง หรือวุฒิสมาชิก 250 เสียง

ปรากฏว่า ผลของการโหวตออกมาว่า คุณพิธา แคนดิเดตนายกฯจากพรรคก้าวไกลที่ได้เสียงเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 จากสภาผู้แทนฯ (151 เสียง) ได้รับเสียงเห็นชอบ 324 เสียง มาจาก ส.ส. 311 (ขาดคุณวันนอร์ ที่เป็นประธานสภา) และจาก ส.ว. 13 เสียง

และมีคะแนนไม่เห็นชอบ 182 เสียง โดยมาจาก ส.ส. 148 ส.ว. 34

Advertisement

มีคะแนนงดออกเสียง 199 เสียง มาจาก ส.ส. 40 และ ส.ว. 159

ข้อมูลในส่วนงดออกเสียงความจริงยังไม่ละเอียดพอ เพราะการงดออกเสียง 199 คนแล้ว ยังมีในส่วนของการไม่มาประชุม หรือไม่ลงมติอีก 44

เมื่อพิจารณาข้อมูลแล้วพบว่า 8 พรรคร่วมว่าที่รัฐบาลนั้นโหวตไปในทางเดียวกัน คือ เห็นชอบกับคุณพิธา

เว้นคุณวันนอร์จากประชาชาติด้วยเงื่อนไขทางการเมืองของการเป็นประธานในที่ประชุม

พรรคที่งดออกเสียง คือ พรรคที่ไม่ได้ร่วมรัฐบาล ได้แก่ ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา (ประชาชาติหนึ่งเสียง) ชาติพัฒนากล้า ครูไทยเพื่อประชาชน และพรรคใหม่

ส่วนพรรคที่ไม่เห็นชอบ คือ ภูมิใจไทย พลังประชารัฐรวมไทยสร้างชาติ ประชาธิปไตยใหม่ และท้องที่ไทย

พบว่า ส.ส.ด้วยกันเองไม่เห็นชอบกับคุณพิธาถึง 148 งดออกเสียง 40 และมีลักษณะของการโหวตตรงกันทั้งพรรค

ขณะที่ ส.ว. ไม่เห็นชอบคุณพิธา 34 แต่งดออกเสียงถึง 159

มีกูรูทางนิติศาสตร์ท่านหนึ่งกล่าวว่า ในกรณีนี้การงดออกเสียงนั้นก็คือ การไม่เห็นชอบ

และในสังคมนี้ก็โกรธแค้นการงดออกเสียง มากกว่าพวกที่ไม่เห็นชอบเสียอีก เพราะมองว่าไม่มีความกล้าหาญ

มิพักต้องกล่าวว่า ทั้งพวกที่งดออกเสียง และไม่เข้าประชุมนั้นจำนวนหนึ่งมีหลักฐานจากหน้าสื่อว่าเคยให้ทรรศนะว่าจะโหวตให้คุณพิธาอีกต่างหาก

แถมยังมีบางพวกที่อ้างว่า การงดออกเสียงนั้น เพราะต้องการปิดสวิตช์ตัวเอง เพราะไม่เห็นด้วยว่า ส.ว.ควรมีอำนาจเลือกนายกฯที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ผู้คนก็สงสัยว่าในกรณีนี้ ถ้าไม่เห็นด้วยกับหน้าที่ของ ส.ว.ก็ควรจะโหวตให้ใครก็ได้ที่รวมเสียงได้จากสภาล่างมิใช่หรือ เพราะไม่ใช่หน้าที่ของ ส.ว. แต่การไม่ออกเสียงยิ่งไปถ่วงทำลายให้การเลือกนายกฯจากสภาล่างไม่สำเร็จมากขึ้นอีกต่างหาก

ในงานวิชาการชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ G.M.Hayden. 2010. Abstention: The Unexpected Power of Withholding Your Vote. Connecticut Law Review. 43: 2. December 2010, 585-615. ได้ชี้ชวนให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจของปรากฏการณ์ และการตีความเรื่องของอำนาจของการงดออกเสียงในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะในการเมืองประชาธิปไตย

ส่วนหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ผู้เขียนพบว่าคนทั่วไปอาจจะมีความเข้าใจง่ายๆ ว่า การงดออกเสียง เป็นกระบวนการของการแสดงออกหลายอย่าง ทั้งความไร้เดียงสา โง่เง่าทางการเมือง คือ ไม่รู้ในอำนาจของตัวเองเลยไม่ไปใช้สิทธิใช้เสียง เพราะเลือกไม่ได้ว่าจะเลือกฝั่งไหนเลยไม่เลือกซะเลย

ไล่เรียงมาจนถึงความใสซื่อ หรือทำตามหน้าที่จะๆ “ธำรงความเป็นกลาง” เอาไว้ คือ ด้วยตำแหน่งที่ไม่ควรจะออกเสียง เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อน

อีกประการหนึ่งของการงดออกเสียงก็คือไปศึกษาดูว่า เป็นเรื่องของความน่าเสียดายทางการเมืองว่า หากนำคะแนนงดออกเสียงมารวมกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้ว ฝ่ายนั้นก็จะมีโอกาสชนะได้ในทันที หรือมองว่าการงดออกเสียงนั้นเกิดในกรณีที่สองฝ่ายมีคะแนนเท่ากัน เมื่องดออกเสียงส่งผลบางประการทำให้ตัดสินใจกันไม่ได้

หมายถึงว่า การงดออกเสียงนั้นเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก ไม่ได้ตั้งใจให้มันเป็น และอาจต้องหาทางออกให้ได้ เช่นในบ้านเราก็มีการกำหนดในรัฐธรรมนูญว่าจะต้องมีเกณฑ์หนึ่งในการพิจารณาว่า ถ้าไม่มีการลงแข่งในสนามเลือกตั้ง ก็จะต้องมีคนมาลงคะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละยี่สิบ เพื่อไม่ให้มีข้อครหามากนัก เพราะเอาเข้าจริงก็เป็นที่ตั้งคำถามได้เสมอว่าในหลายกรณีนั้น คนมาลงคะแนนเสียงน้อยกว่าไม่ลงคะแนนเสียง เราจะนับไหมว่า ถ้าชนะต่ำกว่าร้อยละ 50 ก็ไม่ควรนับว่าชนะเอาเสียเลย

(และนี้คือเงื่อนไขที่มีระบบการเลือกตั้งที่ซับซ้อน เช่นไม่ให้มีเสียงตกน้ำเหมือนการเลือกตั้งเมื่อปี’62 หรือมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีหลายรอบ เช่นในอินโดนีเซีย)

ยังไม่นับในเรื่องว่ามีการออกกฎว่าการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ เพื่อจูงใจให้มาลงคะแนน มิฉะนั้นจะเสียสิทธิบางอย่างชั่วคราว

อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจเรื่องของการงดออกเสียงนั้นมีความสลับซับซ้อน และขึ้นกับบริบทมากขึ้น มากกว่าการมานั่งเสียดาย หรือมาคำนวณว่าจะทำให้การงดออกเสียงนั้นมาออกเสียงได้แค่ไหนอย่างไร

สองตัวอย่างสำคัญจากงานเขียนของเฮเด้น ประการแรก มีการค้นพบว่า การไม่มาลงคะแนนเสียงนั้นอาจเป็นการจงใจเพื่อให้เกิดผลทางการเมืองบางอย่างที่ตนเองปรารถนา (No-Show Paradox) ตัวอย่างก็คือ หามีผู้สมัครหลายคน คือสี่คนขึ้นไป (บ้างว่าสาม) หมายถึงว่า ตัดสินใจว่าไม่ออกเสียง ไม่เข้าประชุมจะได้ผลมากกว่าเข้าประชุม หมายถึงว่า หากมีการแข่งขันแบบซับซ้อนหลายรอบแพ้คัดออก และฝ่ายที่ตัวเองอยากเลือกนั้นอาจจะชนะในรอบแรกที่เรามาเลือกอย่างตรงไปตรงมา แต่อาจแพ้ในรอบถัดๆ ไป การไม่มาเลือกอาจส่งผลดีกว่า หรือถ้าคนที่เราชอบน้อยสุดอาจจะได้รับเลือก ถ้าเราเลือกแบบตรงไปตรงมาในรอบแรกๆ ดังนั้นไม่มาเลือกก็มีผลให้คนที่เราไม่ชอบที่สุดไม่มีโอกาสได้รับเลือก

อธิบายแบบง่ายๆ ก็คือ อย่างในกรณีของการเลือกตั้งด้วยระบบเลือกตั้งใบเดียวสองแบบเหมือนคราวที่แล้ว การไปเลือกเพื่อไทยมากเกินไปก็ไม่ได้มีผลให้เพื่อไทยได้เก้าอี้เพิ่ม (ถึงมีพรรคพี่น้องแบบไทยรักษาชาติ ซึ่งสุดท้ายก็ถูกยุบ) หรืออธิบายง่ายๆ ว่า ถ้ามีคนไปเลือกเพื่อไทยเพิ่มอีกหนึ่งเสียงในพื้นที่ที่ชนะอยู่แล้วก็ไม่ได้มีผลอะไรในระบบสัดส่วนผสมนั่นแหละครับ (อีกกรณีดูที่ระบบเลือกตั้งในสโลเวเนีย V.Dancisin. No-show paradox in Slovak party-list proportional system. Human Affairs. 27:1. February 2017).

ตัวอย่างที่สอง เฮเด้นเห็นว่า บางครั้งคนที่งดออกเสียงเขาไม่ได้แสดงออกซึ่งความเป็นกลางอะไรหรอกครับ เขาแค่ตั้งใจแสดงออกว่าเสียงงดออกเสียงของเขาจะไปช่วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตั้งแต่ต้น ผ่านการคำนวณมาแล้วอย่างดี

ดังนั้น การงดออกเสียงจึงเป็นการออกเสียงอย่างหนึ่งอย่างชัดแจ้ง ขึ้นว่าจะไปช่วยฝ่ายนั้นมากกว่า และจะยิ่งสะท้อนอำนาจของการลงคะแนน (ที่การงดลงคะแนนก็เป็นการลงคะแนนแบบหนึ่ง) เมื่อการงดลงคะแนนนั้นมีผลทำให้เกิดการสร้างพันธมิตรกับอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อให้อำนาจของคนที่มีคะแนนเยอะที่สุดแต่ไม่ใช่เสียงข้างมากเด็ดขาดนั้นแพ้ไป เพราะฝ่ายที่มีคะแนนมากที่สุดนั้นยังมีคะแนนไม่มากพอจะชนะตามเกณฑ์ ดังนั้น การแสร้งทำเป็นว่าเราไม่มา หรืองดออกเสียงก็ไปบวกเพิ่มให้กับคะแนนฝ่ายตรงข้ามของฝ่ายที่ต้องการชนะให้ไม่สามารถชนะได้นั่นแหละครับ

กล่าวอีกอย่างก็คือ ในกรณีที่มีการออกแบบระบบการโหวตให้เป็นแบบเสียงข้างมากเด็ดขาด การงดออกเสียงก็จะมีค่าเท่ากับการโหวตไม่เห็นชอบนั่นเอง เพราะการงดออกเสียงนั้นจะมีผลทำให้ฝ่ายที่เสียงมากที่สุดแพ้ได้

ทำให้ในบางกรณีหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องการจัดการประชุมเคยชี้ชวนว่า การออกแบบระบบการลงคะแนนแบบเสียงข้างมากเด็ดขาด คือ ต้องเกินครึ่งของจำนวนสมาชิก ไม่ใช่แค่องค์ประชุมอาจก่อให้เกิดปัญหาในการตัดสินใจได้เช่นกัน

และทำให้เราเห็นว่า ในโลกของการลงคะแนนนั้นมีคนหลายจำพวก คือ

พวกที่ไม่รู้สี่รู้แปด คือ เลือกไม่ถูกว่าจะเลือกฝ่ายใด
พวกที่จ้องการดำรงความเป็นกลางจะด้วยเงื่อนไขหน้าที่ใดๆ ก็ตาม
หรือพวกที่จงใจจะออกมาไม่เห็นชอบนั่นแหละ แต่ไม่กล้าออกมาบอกตรงๆ ว่าไม่เห็นชอบแต่ก็คิดมาอย่างดิบดีแล้ว (ไม่นับว่าสุมหัวคิดกันมาก่อน)

มารอดูกันครับว่า ในการโหวตเลือกพิธาในรอบที่สองนั้น ผลจะออกมาเป็นอย่างไรกันแน่ และจะมีอะไรที่เปลี่ยนไปบ้าง ในเรื่องของการไม่เห็นชอบ การงดออกเสียง การไม่เข้าประชุม และในเรื่องของเหตุผลในการอภิปรายต่างๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image