การต่อรองคำรับสารภาพไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา : โดย กนกศักดิ์ พ่วงลาภ

การต่อรองคำรับสารภาพคืออะไร การรับสารภาพต่อรองกันได้ด้วยหรือ แล้วต่อรองด้วยอะไร

นั่นคือคำถาม หลายคนไม่คุ้นเคยกับคำว่า ต่อรองคำรับสารภาพเลย และอาจจะคิดไปว่ากำลังจะกล่าวถึงสิ่งที่อยู่นอกกฎหมาย หรือกระบวนการนอกลู่นอกทางต่างๆ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เรากำลังกล่าวถึงการต่อรองคำรับสารภาพที่ถูกกฎหมาย แม้คนไทยจะไม่คุ้นเคยกับคำว่าต่อรองคำรับสารภาพ แต่กระบวนการนี้เป็นเรื่องธรรมดามากในประเทศสหรัฐอเมริกา

การต่อรองคำรับสารภาพ คือ plea bargaining เป็นกระบวนการหนึ่งในการดำเนินคดีอาญาที่มีในหลายประเทศ เช่น สหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส ฯลฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินคดีอาญา ในคดีที่ขาดพยานหลักฐานบางส่วน หรือพยานหลักฐานไม่ครบถ้วน การต่อรองคำรับสารภาพที่ถูกกฎหมายมีมานานแล้วในสหรัฐ ดูเหมือนว่าอะไรที่ไม่ฝืนธรรมชาตินั้นอเมริกามีครบหมดเลย และได้ผลดีเสียด้วย

ในที่นี้ขอกล่าวเฉพาะการต่อรองคำรับสารภาพในกฎหมายสหรัฐ

Advertisement

การต่อรองคำรับสารภาพในสหรัฐเป็นไปตาม Rule 11 (e) (1) ของ Federal Rule of Criminal Procedure Rule เหตุผลที่ต้องมีการต่อรองคำรับสารภาพ เพราะกระบวนการพิจารณาคดีอาญาซึ่งต้องมีคณะลูกขุนเป็นผู้รับฟังข้อเท็จจริงแห่งคดีนั้นเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายสูง หากบางคดีมีพยานหลักฐานน้อย หรือหลักฐานอ่อน การดำเนินคดีนำสืบพยานในศาลแบบเต็มรูปแบบซึ่งต้องทำให้ลูกขุนเชื่อว่าจำเลยกระทำผิดจริง ย่อมจะไม่ง่ายสำหรับอัยการ คดีอาจแพ้หรือชนะได้พอๆ กัน ไม่มีอะไรแน่นอนเลย รัฐจึงต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อแก้ปัญหา

จึงมีการคิดกันว่าควรมีกฎหมายให้พนักงานอัยการต่อรองให้ผู้ต้องหารับสารภาพบางส่วน หรือรับสารภาพในฐานความผิดหรือข้อหาที่มีโทษน้อยกว่าที่จะถูกฟ้อง เพื่อแลกกับการไม่ฟ้องในข้อหาที่ใหญ่กว่า

สิ่งที่รัฐจะได้ คือ ความแน่นอนของการปราบปรามอาชญากรรม นั่นคือ ผู้ต้องหารับสารภาพแม้เป็นข้อหาที่มีโทษเบากว่า แต่ก็ลงโทษได้แน่นอนและรวดเร็ว ดีกว่าให้อัยการนำสืบในศาลไปทั้งๆ ที่พยานหลักฐานอ่อนแล้วก็มีความเสี่ยงที่ศาลจะยกฟ้อง ซึ่งหากศาลยกฟ้องเท่ากับรัฐจะไม่ได้อะไรเลย (ปราบปรามอาชญากรรมไม่ได้ผล เท่ากับสูญเปล่า เสียทั้งเวลาและงบประมาณ) การต่อรองคำรับสารภาพจึงเป็นวิถีทางสายกลางเพื่ออรรถประโยชน์อย่างหนึ่ง

ตัวอย่างเช่น มีผู้กล่าวหาว่าผู้ต้องหากระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น แต่พยานหลักฐานที่ตำรวจและพนักงานอัยการรวบรวมได้แค่เพียงบางส่วน ไม่แน่นหนาเท่าใดนัก (พยานหลักฐานอาจได้แค่ 60-70% ไม่เต็มร้อย) แต่ถ้าจะให้สั่งไม่ฟ้องเสียเลยก็ไม่ได้ เพราะผู้ต้องหาก็น่าจะกระทำผิด เนื่องจากคดีมีมูลเกิน 50% อาจมีพยานหลักฐาน เช่น ปรากฏรอยนิ้วมือของผู้ต้องหาในที่เกิดเหตุ แต่ขาดประจักษ์พยานที่เป็นพยานคนกลางที่รู้เห็นเหตุการณ์ หาอาวุธที่ใช้ทำร้ายไม่ครบถ้วน เจอเพียงชิ้นส่วนบางอย่างที่ที่น่าจะเป็นอาวุธ หรือพยานแวดล้อมมีน้อย เช่น กล้องวงจรปิดจับภาพได้แต่ไม่ชัด หากอัยการฟ้องศาลและนำสืบในข้อหาพยายามฆ่า ก็ไม่แน่ว่าศาล (โดยคณะลูกขุน) จะเชื่อว่าจำเลยทำผิดจริง ไม่มีทางรู้ล่วงหน้าเลยว่าลูกขุนจะฟังข้อเท็จจริงเห็นไปในทางใด อาจจะทำให้ศาลยกฟ้องหรือพิพากษาลงโทษได้ พอๆ กัน (เพราะพยานหลักฐานก้ำกึ่ง) คดีลักษณะนี้กฎหมายเปิดโอกาสให้อัยการต่อรองคำรับสารภาพกับผู้ต้องหาเสียก่อนที่จะฟ้องคดี ซึ่งแน่นอนว่า อัยการต้องเสนอข้อหาที่เบากว่าเพื่อต่อรองให้จำเลยรับสารภาพ (ไม่เช่นนั้นผู้ต้องหาก็คงไม่สนใจกระบวนการต่อรองนี้เลย) เช่น อาจจะต่อรองให้จำเลยรับสารภาพในข้อหาทำร้ายร่างกาย แทนการฟ้องในข้อหาพยายามฆ่าซึ่งเป็นข้อหาที่มีโทษหนักกว่า

ในส่วนของผู้ต้องหาก็มีอิสระในการตัดสินใจตามกฎหมายอยู่แล้ว ไม่มีการบังคับหรือตกอยู่ในสภาพจำยอมใดๆ ทั้งสิ้น จำเลยมีสิทธิเลือกโดยอิสระว่าจะรับสารภาพในข้อหาเบาและรับโทษไปตามนั้น (กล่าวคือ ยอมที่จะรับสารภาพในข้อหาทำร้ายร่างกาย) หรือจะให้การปฏิเสธแล้วไปเสี่ยงตายเอาดาบหน้า คือให้การปฏิเสธแล้วไปสู้คดีนำสืบเต็มรูปแบบในศาลในฐานพยายามฆ่า ซึ่งเป็นข้อหาหนักกว่า ผู้ต้องหาเองก็ไม่รู้ว่าศาลอาจจะพิพากษาอย่างไร ถ้าศาลเห็นว่าจำเลยผิดก็อาจลงโทษหนัก หรือไม่ก็ยกฟ้องเลยทีเดียว นั่นคือความไม่แน่นอนที่อาจปรากฏในอนาคต

ปรากฏว่าตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ผู้ต้องหาเลือกที่จะรับสารภาพในข้อหาเบามีจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะกลัวความไม่แน่นอนนั้น

จะเห็นว่า ข้อหาทำร้ายร่างกายเป็นข้อหาที่เบากว่าข้อหาพยายามฆ่าแน่อยู่แล้ว แต่ทั้งสองข้อหานี้เป็นกลุ่มความผิดที่มีการกระทำบางส่วนกลืนกันอยู่ จะผิดแค่ไหนแล้วแต่พยานหลักฐานจะมีมากน้อยแค่ไหน และพยานหลักฐานจะเอื้อมไปถึงแค่ไหน มิใช่นึกจะต่อรองอะไรได้ตามใจชอบ จะกำหนดข้อหาอะไรก็ได้ ทำอย่างนั้นไม่ได้เด็ดขาด เพราะการต่อรองคำรับสารภาพต้องมีเหตุผลที่เพียงพอ และต้องเสนอข้อหาที่เหมาะสม มิให้รัฐเสียประโยชน์จนเกินไป ดูๆ ไปแล้วดุลพินิจของอัยการสหรัฐก็มากอยู่ แต่ก็จำเป็นต้องมี

กระบวนการต่อรองคำรับสารภาพนี้ บางท่านอาจคิดว่าไม่สอดคล้องกับความยุติธรรมในอุดมคติเท่าใดนัก กระบวนการยุติธรรมในอุดมคติต้องว่ากันตามเนื้อผ้า ว่ากันตามข้อเท็จจริง บางท่านอาจคิดว่ากระบวนการยุติธรรมมิใช่สินค้า จะต่อรองได้อย่างไร จะมาให้ผู้ต้องหาเลือกได้อย่างไร

คำตอบเรื่องนี้คนที่ทำงานอยู่ในกระบวนการยุติธรรมต่างก็รู้ดีว่า พยานหลักฐานในคดีอาญาไม่ใช่สิ่งที่เสาะหามาได้ง่ายๆ ที่ว่าไม่ง่ายก็เพราะเป็นการรวบรวมสิ่งที่กระจัดกระจายอยู่ตามธรรมชาติ รวมถึงที่กระจัดกระจายอยู่ด้วยฝีมือคนที่พยายามทำลายหลักฐาน มีหลายคดีที่พยานหลักฐานมีไม่ครบถ้วน เจ้าหน้าที่พยายามอย่างหนัก ภายใต้ความตีบตันของพยานหลักฐาน จนได้พยานหลักฐานมาส่วนหนึ่ง ที่พอจะนำสืบต่อศาลได้

ในส่วนของอัยการนั้นถ้ามีพยานหลักฐานลักษณะที่พอจะฟ้องได้ อัยการก็จำเป็นต้องฟ้อง แต่จะฟ้องไปทั้งๆ ที่พยานหลักฐานเกินกว่าครึ่งหนึ่งเพียงนิดเดียวคงไม่เหมาะเท่าใดนัก เพราะการดำเนินคดีต้องใช้ระยะเวลานานและรัฐต้องมีค่าใช้จ่ายในการนี้ เพียงเพื่อจะรับผลแห่งความไม่แน่นอน ว่าศาลจะยกฟ้องหรือไม่ เท่านั้นเองหรือตรงกันข้าม หากมีหลักฐานน้อยมากจริงๆ กลับจะง่ายกว่า เพราะอาจจะทำให้อัยการสั่งไม่ฟ้องเสียเลย ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานงานคดีที่จะกันผู้บริสุทธิ์ออกไปอยู่แล้ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากที่จะตัดสินใจ แต่ที่ยากที่สุดคือ การที่พยานหลักฐานมีมูลว่ากระทำผิด เพียงแต่ไม่แน่นหนา ทำให้นำสืบในชั้นศาลยาก สหรัฐจึงมีกฎหมายให้ต่อรองคำรับสารภาพได้ เพื่อผ่อนคลายข้อจำกัดในเรื่องพยานหลักฐานที่ไม่สมบูรณ์นี้

ข้อดีของการต่อรองคำรับสารภาพอีกประการหนึ่ง คือ ความเสี่ยงในเรื่องความน่าเชื่อถือของพยาน เนื่องจากในหลายๆ คดี เมื่ออัยการนำพยานเข้าสืบต่อศาลนั้น พยานอาจให้การในชั้นศาลอ่อนกว่าคำให้การเดิมในชั้นสอบสวน ผู้ที่เป็นอัยการจึงต้องดูพยานให้ออกว่าแนวโน้มพยานจะกลับคำในชั้นศาลหรือไม่ เพราะการที่พยานกลับคำในชั้นศาลถือว่าเป็นตัวแปรสำคัญที่อาจส่งผลให้ศาลยกฟ้องได้ หากอัยการไม่มั่นใจในพยาน อัยการอาจใช้วิธีการต่อรองคำรับสารภาพเพื่อให้ได้ผลทางคดีที่แน่นอนกว่า โดยตัดตัวแปรเรื่องคำเบิกความของพยานออกไป

ข้อเท็จจริงในเรื่องที่ต้องระมัดระวังอย่างนี้ หากเป็นผู้ที่ไม่เคยคลุกคลีอยู่กับงานคดีจะไม่สามารถประเมินแนวโน้มของคดีว่าจะแพ้หรือชนะ ศาลจะลงโทษหรือยกฟ้อง และแนวโน้มการเบิกความของพยานได้ คือ ไม่รู้ว่าคดีประเภทไหนที่เสี่ยงต่อการที่พยานจะกลับคำ และบางกรณีพยานอาจจะไม่ได้ตั้งใจกลับคำ แต่ความทรงจำอาจจะเลือนไปด้วยระยะเวลาที่ผ่านมานาน หรือความชราของพยาน ดังนั้นคดีใดควรหรือไม่ควรจะใช้วิธีการต่อรองคำรับสารภาพมิใช่เหตุผลที่พิจารณาได้ตามความเห็นของคนทั่วไป

นั่นหมายความว่าบางครั้งคนเราก็ควรมอบความไว้วางใจให้แก่เจ้าหน้าที่บ้าง เพราะอย่างน้อยเจ้าหน้าที่ก็มีระเบียบปฏิบัติที่รัฐกำหนดไว้แล้ว และกว่าจะมาเป็นเจ้าหน้าที่ได้ก็ผ่านการกลั่นกรองคุณสมบัติมาชั้นหนึ่งแล้ว

สําหรับประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายให้มีการต่อรองคำรับสารภาพในลักษณะนี้ แต่ก็เคยมีการกล่าวถึงบ้างว่าควรมี อย่างไรก็ตามมีเสียงคัดค้านว่าประเทศไทยยังไม่พร้อม หลายคนเห็นว่าจะเป็นการมอบดุลพินิจให้แก่เจ้าหน้าที่มากเกินไปหรือไม่ ท้ายที่สุดในปัจจุบันประเทศไทยก็ยังไม่มีกระบวนการต่อรองคำรับสารภาพที่กำหนดโดยกฎหมาย

สภาพบังคับกฎหมายทางกฎหมายของไทยนั้นจึงเป็นในลักษณะที่ไม่เฉียบคมเหมือนสหรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐมีกระบวนการทางเลือกมากมาย การปราบปรามอาชญากรรมโดยใช้กระบองทื่อๆ นั้นคงไม่ทำให้ผู้ที่คิดจะกระทำความผิดเกรงกลัวสักเท่าใด

สถานการณ์กลับกลายเป็นว่าขณะที่ผู้ร้ายไม่มีเส้นแดงของขีดจำกัด จะทำอะไรก็ได้ ร้ายอย่างไรก็ไม่มีกฎเกณฑ์ การกระทำของผู้ร้ายคือหลุมดำที่น่ากลัว แต่เจ้าพนักงานของรัฐกลับตรงกันข้าม ถูกบีบด้วยกฎเกณฑ์และข้อจำกัดมากเหลือเกิน (แสวงหาหลักฐานต้องทำอย่างถูกต้อง การจับ การแจ้งข้อหา การค้น ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ฯลฯ) เครื่องไม้เครื่องมือทางกฎหมายก็มีน้อยอีก (ต่อรองคำรับสารภาพก็ไม่มี กระบวนการทางเลือกอื่นก็ไม่มี) จะออกไปจับผู้ร้ายแต่ละที ก็จะต้องประพฤติตนถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง ต้องเป็นสุภาพบุรุษเสมอ

กลายเป็นว่าผู้ร้ายสร้างความหวาดกลัวเกินมาตรฐานให้แก่ประชาชนได้เสมอ ในขณะที่เจ้าหน้าที่จืดชืดมาก (ผู้ร้ายเดาได้เลยว่าเดี๋ยวต้องจับอย่างนี้ ค้นอย่างนี้ อีกสักพักต้องพูดอย่างนี้แน่ๆ) ไม่เคยสร้างฝันร้าย หรือความรู้สึกแบบไม่นึกไม่ฝัน คาดเดาไม่ถูกให้แก่ผู้ร้ายเลยแล้วจะอยู่กันอย่างไร

อีกอย่าง การที่กฎหมายไม่มีทางเลือกให้เจ้าหน้าที่มากนัก ก็น่ากลัว

หากไม่มีการต่อรองคำรับสารภาพที่ถูกต้องตามกฎหมาย แล้วคิดหรือว่าการต่อรองที่มิชอบหรือนอกกฎหมายจะไม่มี

หรือไม่ก็เป็นในทางกลับกัน เมื่อกฎหมายใช้ไม่ได้ผล ก็มีการเล่นบทโหด เมื่อก่อนเรื่องไหนมันยากนัก ก็มีการอุ้มหายกันไปเลยก็มี หากประชาชนแก้แค้นกันเองมากๆ ย่อมไม่เป็นผลดีแก่รัฐ

กนกศักดิ์ พ่วงลาภ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image