ทำอย่างไรการคลอดจึงจะปลอดภัย (How to save mother’s lives) : โดย พญ.ชัญวลี ศรีสุโข

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ในเดือนพฤศจิกายน 2559 พบว่าทุก 24 ชั่วโมง มีมารดาทั่วโลกประมาณ 830 คน ตายเพราะการคลอดลูก แม้การตายนี้จะลดลงถึงร้อยละ 44 ของเมื่อ 25 ปีก่อน เพราะการแพทย์เจริญขึ้น มีธนาคารเลือด มีสูติแพทย์ วิสัญญีแพทย์ มีการผ่าตัดที่ปลอดภัย มียาปฏิชีวนะที่มีประสิทธิภาพ ฯลฯ ก็ตาม ส่วนใหญ่เป็นการตายที่ป้องกันได้ โดยร้อยละ 99 ของการตายอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา เป็นมารดาที่ยากจนในเขตชนบท ของภาคพื้นแถบแอฟริกาและเอเชีย

สาเหตุมารดาตายทั่วโลก 5 อันดับต้น ซึ่งเป็นสาเหตุการตายมากกว่าร้อยละ 75 ได้แก่

1.ตกเลือดหลังคลอด
2.ติดเชื้อ
3.ความดันโลหิตสูง ครรภ์เป็นพิษ
4.น้ำคร่ำอุดกั้นปอด
5.แท้งเถื่อน

ในประเทศไทย มีมารดาตายปีละไม่ต่ำกว่า 100 ราย สาเหตุการตาย ไม่ต่างจากสาเหตุมารดาตายทั่วโลก นับว่าเป็นโศกนาฏกรรมที่ไม่อาจยอมรับได้ การสูญเสียมารดา มีผลกระทบต่อครอบครัว บุตรหลานและบุพการีที่ผู้เสียชีวิตต้องเลี้ยงดู มีผลกระทบต่อสังคมและประเทศชาติ การตายของมารดาจึงเป็นตัวชี้วัดถึงความเจริญของระบบสาธารณสุขของแต่ละประเทศ

Advertisement

การป้องกันมารดาตาย จึงเป็นสิ่งที่รัฐต้องเร่งปฏิรูปอย่างเร่งด่วน

ขอเสนอ 15 ข้อ ทำอย่างไรการคลอดจึงจะปลอดภัย ดังนี้ค่ะ

1.ประชาชนต้องทราบข้อเท็จจริงของการคลอด ว่าการคลอดนั้นไม่ได้เป็นเรื่องปลอดภัย กระทรวงสาธารณสุขกำหนดตัวชี้วัดอัตราส่วนการตายมารดา ไม่เกิน 15 ต่อแสนการคลอด แต่ละปีมีการคลอดประมาณ 7 แสนคนต่อปี อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากกรมอนามัยพบว่า เกือบยี่สิบปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2538-2556) อัตราส่วนการตายมารดาสูงกว่าเกณฑ์ มีแนวโน้มลดลงเพียงเล็กน้อยอย่างช้าๆ เช่นในปี พ.ศ.2556 มารดาตายจากการคลอดและการแท้งโดยตรงมีจำนวน 138 ราย

Advertisement

2.ประชาชนต้องมีความรู้พื้นฐานในการดูแลสุขภาพ ในกรณีที่เป็นเด็กหญิงอายุน้อย หรือหญิงอายุมาก ไม่แข็งแรง มีความพิการ หรือมีโรคประจำตัว เช่น เป็นโรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคปอด โรคภูมิแพ้ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ หรือโรคที่แพทย์ห้ามตั้งครรภ์ ไม่ควรตั้งครรภ์ เพราะมีโอกาสเสียชีวิต

3.มีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ รัฐต้องสนับสนุนความรู้ในเรื่องคุมกำเนิดให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง ให้บริการคุมกำเนิดอย่างแพร่หลาย การคุมกำเนิดที่เหมาะสมสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ เว้นระยะการมีลูก ป้องกันการทำแท้งเถื่อน และป้องกันครรภ์เสี่ยงสูง จากโรคภัยไข้เจ็บของมารดา ทำให้ลดมารดาตายอย่างได้ผล

4.รับประทานโฟเลทก่อนตั้งครรภ์ หากพร้อมจะมีลูก การรับประทานโฟเลทก่อนการตั้งครรภ์ 1 เดือน ช่วยลดการแท้งบุตร และลดความพิการทางประสาทสมองของทารกได้

5.พบแพทย์เพื่อเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์ การปรึกษาแพทย์ก่อนตั้งครรภ์ สามารถป้องกันครรภ์เสี่ยงสูงได้จากการแก้ไขโรค หรือภาวะที่อาจเสี่ยงอันตรายจากการตั้งครรภ์ ในบางกรณีแพทย์อาจไม่แนะนำให้ตั้งครรภ์ เช่น เป็นโรคธาลัสซีเมีย โรคภูมิแพ้ตนเอง โรคไธรอยด์เป็นพิษ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ ไตวาย โรคหัวใจ เป็นต้น

6.ฝากครรภ์ การฝากครรภ์ทันทีที่รู้ว่าตั้งครรภ์ หรือก่อนท้องสามเดือน สามารถลดการตายของมารดาจากการตั้งครรภ์ผิดปกติ เช่น ตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก หรือตั้งครรภ์นอกมดลูก การที่มารดามีความรู้ในการดูแลตนเอง ทราบกำหนดคลอด แพทย์พยาบาล ดูแลการฝากครรภ์ตามมาตรฐาน สามารถค้นหาความเสี่ยง แก้ไขภาวะแทรกซ้อน ลดการตายของมารดาได้

7.การคลอด โดยทั่วไป มารดาสามารถคลอดตามธรรมชาติได้อย่างปลอดภัย ประมาณร้อยละ 80-85 แต่ต้องมีผู้เฝ้าคลอดและผู้ทำคลอดที่มีประสบการณ์ มีความรู้ในการคลอดปกติและผิดปกติ มีเครื่องมือและยาเตรียมพร้อม ดูแล เอาใจใส่ ตามมาตรฐานการเฝ้าคลอด

8.การเรียนรู้ แพทย์ พยาบาล และผู้เกี่ยวข้องกับการทำคลอดต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างสม่ำเสมอ มีการจัดอบรม ผ่านเกณฑ์การประเมิน ในหัวข้อที่สำคัญ เช่น การแปลผลการเต้นของหัวใจทารก การใช้กราฟดูแลการคลอด การประเมินภาวะเสี่ยงในการคลอด หัตถการช่วยคลอด แก้ไขภาวะฉุกเฉินในการคลอด การกู้ชีพมารดาและทารก การป้องกันและรักษาการตกเลือดหลังคลอด การเย็บแผลฝีเย็บและเนื้อเยื่อที่ฉีกขาดมาก เป็นต้น

9.โรงพยาบาลที่ดูแลการคลอด คุณสมบัติโรงพยาบาลที่ดูแลการคลอด ควรมีธนาคารเลือด มีบุคลากรที่มีความชำนาญในการดูแลการคลอด และวิสัญญี มีเครื่องมือช่วยคลอดที่จำเป็น มีเครื่องอัลตราซาวด์ เครื่องตรวจติดตามการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ ใช้กราฟพาร์โทแกรมติดตามการเปิดของปากมดลูก กรณีไม่มีห้องผ่าตัด ไม่มีสูติแพทย์ ไม่สามารถผ่าตัดคลอดได้ ต้องมีรถฉุกเฉินพร้อมเจ้าหน้าที่ สามารถส่งต่อได้ภายในครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมง หากไม่มีคุณสมบัติดังกล่าวครบ โรงพยาบาลไม่ควรรับทำคลอด

10.การส่งต่อ การคลอดในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้ใช้สิทธิในโรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโรงพยาบาลชุมชน การตายของมารดา ส่วนใหญ่เกิดในช่วงกำลังจะคลอดและหลังคลอด ไม่สามารถทำนายการเกิดเนื่องจาก เกิดกะทันหัน เพราะส่วนหนึ่งเกิดจากพยาธิสภาพของโรค ต้องช่วยเหลือให้ทันท่วงที หากไม่สามารถผ่าตัดได้ควรส่งต่อก่อนวิกฤต การส่งต่อต้องรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ มีระบบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด ในกรณีส่งต่อมารดาที่อยู่ในภาวะเสี่ยงจะคลอดกลางทาง หรืออยู่ในภาวะวิกฤต แพทย์พยาบาลผู้มีความชำนาญในการช่วยชีวิตควรมากับรถฉุกเฉิน

11.มีข้อตกลง หรือเกณฑ์การส่งต่อ ควรมีข้อตกลงของเกณฑ์การส่งต่อของจังหวัดและของเขต ซึ่งมีทั้งข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ และข้อบ่งชี้ทางสังคม เช่น คนไข้และญาติไม่ไว้วางใจ แพทย์ไม่มีประสบการณ์ในการใช้เครื่องมือช่วยคลอด เป็นต้น มีช่องทางลัดในการส่งต่อ ไม่ให้ยุ่งยาก มากขั้นตอน โรงพยาบาลที่ผ่าตัดคลอดไม่ได้ ต้องเฝ้าระวังมารดาผู้มีความเสี่ยงสูง ในบางรายอาจส่งต่อก่อนที่จะมีความเสี่ยงเกิดขึ้น เช่น ในบางจังหวัดมีข้อตกลงส่งต่อมารดาที่มีความเสี่ยงสูงที่จะคลอดยาก ตามการให้คะแนน

12.การผ่าตัดคลอด ควรทำตามข้อบ่งชี้ เพราะการผ่าตัดคลอดซ้ำมีความเสี่ยงสูงที่มารดาจะตกเลือดและเสียชีวิต มารดาที่เคยผ่าตัดคลอดจะต้องฝากครรภ์อย่างดี ทราบกำหนดคลอด ได้ตรวจอัลตราซาวด์ ได้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หากซีดหรือเสี่ยงต่อการตกเลือด ควรเตรียมเลือดให้พร้อมก่อนผ่าตัด หากมารดามีรกเกาะต่ำที่สงสัยเกาะทะลุ ควรส่งตัวไปยังโรงพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีอุปกรณ์พร้อมที่จะช่วยชีวิตมารดาและทารก

13.การบริหาร คณะกรรมการอนามัยแม่และเด็กทุกระดับควรประชุมหาข้อตกลง จัดทำคู่มือส่งต่อมารดาคลอดอย่างเป็นระบบ มีผู้รับผิดชอบดูแลระบบการส่งต่อเป็นพิเศษ ต้องมีทางออกเมื่อโรงพยาบาลขนาดใหญ่ปฏิเสธรับการส่งต่อ หรือโรงพยาบาลขนาดเล็กส่งต่ออย่างไม่มีประสิทธิภาพ จัดให้มีการวิเคราะห์ข้อมูลผลการดำเนินงานการคลอด ทบทวนแก้ไขปัญหา มารดาและทารกที่เสียชีวิต อย่างเป็นระบบ สม่ำเสมอ และเป็นจริง

14.การสื่อสารคุณภาพ แพทย์ควรมีความรู้ ความสามารถในการสื่อสาร มีมนุษยสัมพันธ์อันดีระหว่างแพทย์ด้วยกัน และระหว่างคนไข้กับญาติ สามารถสื่อสารอธิบายคนไข้และญาติให้เข้าใจ การดูแลตนเองในขณะตั้งครรภ์ ความเสี่ยงที่อาจจะเกิด ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะคลอดและหลังคลอด ในกรณีที่หากตั้งครรภ์ต่อ มารดาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนเสี่ยงเสียชีวิต แพทย์ควรให้คำปรึกษาคนไข้และญาติ ถึงการยุติการตั้งครรภ์

15.เยียวยาอย่างมีคุณภาพ รัฐควรให้ความช่วยเหลือเยียวยา เมื่อมารดาได้รับความเสียหายจากการคลอดบุตรอย่างสุดวิสัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ทุกสิทธิการรักษา ไม่ว่าจะเป็นหลักประกันสุขภาพ ประกันสังคม ข้าราชการ และอื่นๆ

พญ.ชัญวลี ศรีสุโข
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image