ไทยพบพม่า : การเยือนพม่าครั้งสุดท้ายของ รมว.ดอน กับท่าทีของอาเซียน

ไทยพบพม่า : การเยือนพม่าครั้งสุดท้ายของ รมว.ดอน กับท่าทีของอาเซียน

ก่อนการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียนครั้งล่าสุดจะเริ่มต้นขึ้นระหว่าง 11-12 กรกฎาคม เกิดเหตุการณ์แสนประหลาด และกลายเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์อื้ออึงไปทั่วภูมิภาคและทั่วโลก กล่าวคือนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของไทย เดินทางเยือนพม่าอีกครั้ง (และคงจะเป็นครั้งสุดท้ายในฐานะรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์) รายงานข่าวหลายสำนักพูดตรงกันว่านักการทูตทั่วอาเซียนต่างรู้สึก “อึ้ง” กับท่าทีดังกล่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย

ไฮไลต์ของการเดินทางไปพม่าครั้งนี้ คือ นายดอนให้สัมภาษณ์ว่ามีโอกาสได้เข้าพบด่อ ออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐที่ถูกยึดอำนาจไปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 นายดอนให้สัมภาษณ์ AFP ว่าได้พบกับด่อ ออง ซาน ซูจีจริง และกล่าวว่า “เธอสนับสนุนให้เกิดการเจรจา” แม้ว่าจะไม่มีแหล่งข่าวใดที่สามารถยืนยันได้ว่าทั้งสองได้พบกันจริง จากรายงานข่าวอีกหลายสำนักยังอ้างว่านายดอนได้พูดคุยหลายเรื่อง กับด่อ ออง ซาน ซูจี และยังได้อัพเดตสถานการณ์ภายในพม่า และสถานการณ์สำคัญในโลก โดยเฉพาะสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ให้เธอฟังด้วย

“ข่าว” ของการพบปะระหว่างทั้งสองนี้เรียกว่า ช็อกแวดวงนักการทูตในอาเซียน เพราะไม่มีใครรับทราบมาก่อนว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยจะได้เข้าพบผู้นำ NLD ประเด็นเรื่องการเข้าพบด่อ ออง ซาน ซูจีนี้เป็นเหมือนยาขมที่สร้างความขุ่นข้องหมองใจให้กับอาเซียนเป็นอย่างมาก เพราะไม่ว่าคณะผู้แทนของอาเซียนจะพยายาม “เจาะ” ทางใด ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปพบกับเธอได้

Advertisement

อาเซียนเองตอบโต้ท่าทีของไทยโดยการออกแถลงการณ์ร่วม โดยเน้นย้ำว่าอาเซียนเป็น “ชุมชน” ที่ชาติสมาชิกทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของภูมิภาค นอกจากนี้ อาเซียนยังเน้นย้ำว่าฉันทามติ 5 ข้อ (5PC) เป็นเหมือนกับคัมภีร์ตั้งต้นที่จะช่วยให้อาเซียนแก้ไขปัญหาในพม่าร่วมกัน อาเซียนยังคงยึดมั่นในหลักการสิทธิมนุษยชน ประณามความรุนแรงทุกประเภท และเรียกร้องให้บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกส่วนหยุดใช้ความรุนแรงกับประชาชน

แม้ในแถลงการณ์จะชื่นชมท่าทีของไทยว่าเป็น “พัฒนาการในเชิงบวก” ที่สอดคล้องกับฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน แต่น้ำเสียงในแถลงการณ์ก็ยังมีความไม่พอใจของชาติสมาชิกบางชาติ โดยเฉพาะมาเลเซียและสิงคโปร์ ที่มองว่าท่าทีของไทยเป็นประหนึ่งนโยบายต่างประเทศแบบ “one man show” จนเกินไป และละเลยบทบาทของชาติสมาชิกอื่นๆ ในอาเซียนออกไป จนมีผู้พูดถึงท่าทีนี้ว่าเป็น “นโยบายการต่างประเทศแบบคาวบอย” (Cowboy Diplomacy)

แผ่นพับที่กองทัพใช้เผยแพร่ข่าวการเยือนพม่าของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย และการได้เข้าพบผู้นำ NLD

การไปเยือนพม่าในครั้งนี้ของนายดอนอาจเป็นการทิ้งทวนในช่วงปลายรัฐบาลประยุทธ์ หลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยพยายามเข้าหากองทัพพม่า และหลังเกิดรัฐประหาร ก็แสดงออกอย่างชัดเจนว่าต้องการผูกมิตรกับคณะรัฐประหาร โดยไม่ได้สนใจท่าทีของอาเซียน ที่มีนโยบายคว่ำบาตรผู้นำคณะรัฐประหารอย่างชัดเจน การเจรจาระหว่างไทยกับพม่าโดยมากเป็นการเจรจาทวิภาคี ที่มีเพียงตัวแทนจากพม่าและไทย ในขณะที่การเจรจาที่นำโดยคณะผู้แทนจากอาเซียนมักล้มเหลว และไม่สามารถเจรจากับคณะรัฐประหารพม่าได้แบบเป็นชิ้นเป็นอัน ในความคิดของผู้นำระดับสูงในกระทรวงการต่างประเทศบางส่วน ไทยไม่สามารถมีความสัมพันธ์กับพม่าเหมือนกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนได้ เพราะไทยเป็นเพียงประเทศเดียวที่มีชายแดนติดกับพม่ากว่าสองพันกิโลเมตร ดังนั้น สถานการณ์ความไม่สงบในพม่าจึงมีผลกระทบกับไทยมากกว่าทุกชาติในอาเซียน

Advertisement

ไม่ว่าท่าทีของอาเซียนที่มีต่อการไปเยือนพม่าของผู้นำระดับสูงของรัฐบาลไทยจะเป็นอย่างไร แต่คณะรัฐประหารใช้โอกาสนี้เผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อ เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายต่อต้านตน จากการรายงานของสื่อออนไลน์ Khit Thit Media (แปลว่า “สื่อยุคใหม่”) กองทัพแจกจ่ายแผ่นพับพร้อมข้อความดังกล่าวตามเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศ เนื้อหาในแผ่นพับและข่าวในสื่อออนไลน์มีเนื้อหาว่าด่อ ออง ซาน ซูจี กล่าวกับนายดอนว่าเธอไม่สนับสนุนรัฐบาล NUG และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน PDF ซึ่งเป็นรัฐบาลคู่ขนานและกองกำลังที่ต่อต้านคณะรัฐประหารและกองทัพพม่าอย่างเข้มข้นในปัจจุบัน

ข่าวนี้เป็นที่สนใจในพม่าอย่างมาก เพราะไม่บ่อยครั้งนักที่สังคมพม่าจะรับรู้ความเป็นไปของด่อ ออง ซาน ซูจี และในเมื่อมีผู้นำต่างประเทศที่ได้เข้าไปเยี่ยมเธอเป็นคนแรก อีกทั้งยังให้สัมภาษณ์พูดถึงชีวิตความเป็นอยู่ของเธอ จึงเป็นที่จับตามองเป็นธรรมดา ที่สำคัญอีกอย่างคือในบรรดาผู้นำอาเซียนทั้งหมด มีเพียงผู้นำจากไทยที่ได้รับอนุญาตให้เข้าพบเธอ แม้แต่โนลีน เฮเซอร์ (Noeleen Heyzer) ผู้แทนพิเศษที่สหประชาชาติแต่งตั้งเพื่อเจรจากับพม่าโดยเฉพาะ ยังไม่มีโอกาสได้เข้าพบด่อ ออง ซาน ซูจี แม้จะมีทั้งการกดดันจากนานาชาติ ทั้งจากระดับรัฐบาลไปจนถึงระดับนานาชาติ แต่ก็ไม่สามารถทำให้คณะรัฐบาลพม่าเปลี่ยนใจให้ใครเข้าไปพูดคุยกับอดีตผู้นำพรรค NLD ได้

ในอนาคต ไม่ว่าโฉมหน้าของรัฐบาลใหม่ของไทยจะเป็นอย่างไร ท่าทีของพม่าที่มีต่อไทยคงจะเป็นเหมือนเดิม หรือหากมีความเปลี่ยนแปลง ก็อาจมีเพียงเล็กน้อย เพราะรัฐบาลพลเอกประยุทธ์มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับรัฐบาลทหารพม่า และผู้เขียนเองก็เชื่อมั่นว่าการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยไปเยือนพม่าบ่อยครั้งชี้ให้เห็นว่าความสัมพันธ์นี้ไม่ธรรมดา หากเราคาดเดาว่ารัฐบาลใหม่เป็นรัฐบาลลูกผสม ที่ไม่ได้มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โอกาสที่รัฐบาลชุดใหม่จะมีทีท่าต่อพม่าที่เปลี่ยนไปจากรัฐบาลประยุทธ์ก็คงเป็นเรื่องยาก เพราะไทยเองก็ไม่ต้องการเสียผลประโยชน์ของตนในพม่า ทั้งผลประโยชน์ของบริษัทขนาดใหญ่ และความสัมพันธ์ส่วนบุคคลของผู้นำระดับสูง

ในฐานะที่ไทยเป็นเพียงประเทศเดียวที่กล้าเอ่ยปากว่า เป็นหนึ่งในมหามิตรที่คณะรัฐประหารของพม่าไว้วางใจที่สุด การแก้ปัญหาพม่าก็จำเป็นต้องมีไทยเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยไม่มากก็น้อย เพราะปัญหาหลักๆ ไม่ได้มีเพียงการเจรจากับคณะรัฐประหาร แต่ยังมีปัญหาผู้หนีภัยสงครามจำนวนหลายหมื่นคนที่หลั่งไหลเข้ามาในไทย และปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ที่นานาชาติก็ต้องใช้ไทยเป็นเหมือนสะพานเชื่อม เข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามในพม่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image