ดุลยภาพดุลยพินิจ : ญี่ปุ่น-ชาติชนชรา (2)

ดุลยภาพดุลยพินิจ : ญี่ปุ่น-ชาติชนชรา (2)

เมื่อตอนที่แล้วผู้เขียนพูดถึงภาวะชาติชนชราและภาระการดูแลผู้สูงอายุในญี่ปุ่น วันนี้ต่อด้วยเรื่องของบทบาทของชุมชนและนวัตกรรมในการดูแลผู้สูงอายุ

ปัจจุบันเขตเทศบาลกว่าครึ่งในญี่ปุ่น (885 เทศบาลจาก 1,718 เทศบาล ยกเว้นโตเกียว) ถูกกำหนดให้เป็นเขตที่ประชากรลดลงเนื่องจากประชากรลดลงร้อยละ 30 หรือมากกว่า ตั้งแต่ปี 2523 เทศบาลที่ประชากรลดลงทำให้เกิดปัญหา 2 ประการ คือปัญหาหนี้สาธารณะสูงและการที่ประชากรย้ายเข้าไปอยู่โตเกียวจนแน่นขนัดเป็นปัญหากับโตเกียว รัฐบาลจึงพยายามแก้ปัญหาโดยใช้มาตรการฟื้นฟูเทศบาลเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม ในเทศบาลดังกล่าวหลายแห่ง ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่พยายามรวมตัวกันปรับชุมชนของตนให้เข้ากับภาวะปกติใหม่ อาทิ การพัฒนาที่อยู่อาศัยในโยโกฮามาที่อยู่อีกด้านหนึ่งของเกาะฮอนชูนับเป็นสัญลักษณ์ของการที่สังคมสูงวัยกำลังปรับโฉมญี่ปุ่น

ที่ คามิโกะ นีโอโพลิส มีบ้านเดี่ยวเกือบ 900 หลังอยู่บนเนินเขาชัน บ้านเหล่านี้ บริษัท ไดวาเฮาส์ บริษัทรับสร้างบ้านที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งสร้างไว้ตั้งแต่ปี 2517 เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัวคนหนุ่มสาวที่เกิดสมัยเบบี้บูม (ทารกเกิดเพิ่มเร็ว) เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นชุมชนห้องนอน (Bedroom community) สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่ต้องขึ้นรถไฟเข้าไปทำงานในโตเกียวโดยใช้เวลาชั่วโมงครึ่ง ที่ชุมชนคามิโกะนี้ มีร้านค้าและโรงเรียนประถมศึกษา

Advertisement

หลังจากเวลา 50 ปี ปัจจุบันกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรคามิโกะ 2 พันคน อายุ 65 หรือแก่กว่า โรงเรียนที่นี่ปิดไปหลายปีแล้ว ร้านค้าก็หายไป สวนสาธารณะที่เคยมีอยู่ 4 แห่งหญ้าขึ้นเต็ม นีโอโพลิส ที่แปลว่า “เมืองใหม่” ตอนนี้ เป็น “เมืองเก่า” ไปแล้ว

ที่สถานีรถไฟคามิโกะ ห่างจากคามิโกะประมาณ 18 นาทีโดยรถประจำทาง มีศูนย์การค้าอีออนที่มีสินค้าสำหรับผู้สูงอายุ เช่น ผ้ากันเปื้อนสำหรับอาบน้ำให้กับพ่อแม่ที่สูงอายุ ถุงขยะสำหรับใส่ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ผ้าซับกลิ่นสำหรับพาดที่ราวเตียง แป้งโทโรมิ บรรจุถุงไว้สำหรับใส่ในเครื่องดื่ม หรือซุปเพื่อเติมความหนืดกันลำลัก

เมื่อประชากรของคามิโกะลดลงและแก่ลง ชาวบ้านมีความรู้สึกว่าถูกโดดเดี่ยวทั้งทางกายและสังคม จึงเกิดเครือข่ายหลวมๆ ขึ้นที่พัฒนามาเป็นคณะกรรมการเรียกว่า “คามิโกะ มาชิซูคุริ” ซึ่งหมายถึงการรวมตัวร่วมมือของชุมชนจากล่างสู่บน ในปี 2559 คณะกรรมการเริ่มขอให้บริษัทไดวาเฮาส์ช่วยตั้งพื้นที่ส่วนกลางเพื่อเป็นศูนย์ที่มีร้านค้าและที่สำหรับชาวบ้านได้พบปะสังสรรค์กัน จึงเกิดอาคารชั้นเดียวที่มีมินิมาร์ต มีโต๊ะสำหรับวางผลผลิตขาย มีโต๊ะ 5 ตัวพร้อมเก้าอี้และจอวิดีโอ มีระเบียงพร้อมม้านั่ง ห้องน้ำของศูนย์มีอ่างลึกตั้งไว้สำหรับทิ้งถุงขับถ่ายทางหน้าท้องหรือทวารเทียม (ostomy bag) ที่ใช้แล้ว ซึ่งอ่างดังกล่าวเป็นที่แพร่หลายในญี่ปุ่นในปัจจุบันโดยมีป้ายบอกไว้ที่หน้าห้อง

Advertisement

“เรากำลังคิดตั้งระบบส่งคนไปโรงพยาบาลสำหรับคนที่ช่วยตัวเองไม่ได้” นายโนบุยูกิ โยชิอิ บอก เขาอายุ 74 เกษียณแล้ว และมีบุตร 3 คน นายโนบุยูกิมาอยู่ที่คามิโกะได้ 40 กว่าปีแล้ว เพื่อความสะดวกต่อการเล่นเซิร์ฟ และฟังเพลงแจ๊ซที่กำลังดังในตัวเมืองโยโกฮามาซึ่งไม่ไกลจากคามิโกะ สิ่งที่เขาทำมานานนับสิบปี คือตื่นตีห้าแล้วนั่งรถไปทำงานสถาปนิกในโตเกียวและกลับบ้านประมาณเที่ยงคืน ปัจจุบันนี้เขาเป็นประธานคณะกรรมการชุมชนมาชิซูกูริ อีกสิ่งหนึ่งที่เขาคิดจะทำคือคลินิกดูแลผู้สูงอายุถึงบ้าน

ชุมชนคามิโกะนับว่าเป็นตัวอย่างเล็กๆ ของชุมชนญี่ปุ่นที่ทำงานเพื่อให้ผู้สูงอายุแก่ตัวอยู่กับบ้านหรือชุมชน ขณะที่เมืองโตยามาซึ่งมีประชากรกว่า 4 แสนคน เป็นตัวอย่างที่มีความทะเยอทะยานกว่าในการจัดพื้นที่เมืองที่ได้รับการยกย่องเป็นต้นแบบ คนที่เป็น หัวเรี่ยวหัวแรงคือ นายมาซาชิ โมริ ซึ่งเคยเป็นนายกเทศมนตรีเมืองนี้มาเกือบ 20 ปี

นายโมริ ได้เดินทางไปหลายแห่งทั่วโลกเพื่อเสาะหาแนวคิดที่จะดูแลผู้สูงอายุ และได้ความคิดเรื่องระบบขนส่งทางรางขนาดเบาในพอร์ตแลนด์ ออริกอน และสตราสเบิร์ก ฝรั่งเศส นำมาสร้างรถรางที่โตยามาเพื่อให้ผู้สูงอายุโดยสารในราคาถูกและขึ้นลงง่าย สามารถเดินทางไปจุดท่องเที่ยวในโตโยมากับลูกหลานได้ฟรี นอกจากนั้น เมืองนี้ยังปรับเปลี่ยนโรงเรียนที่ปิดไปเพราะไม่มีนักเรียนให้เป็นศูนย์การดูแลเชิงป้องกันที่ทำหน้าที่เหมือนคลับสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุมากๆ มีอุปกรณ์ยิมนาสติก ชั้นเรียน และสระว่ายน้ำตื้นระดับเอวที่มีทางเดินและราวจับ

“คนที่เดินมากขึ้น จะเสียค่าหมอน้อยลง” นายโมริกล่าว ตอนนี้เขาอายุ 69 แล้ว และหันมาเป็นเกษตรกร “เราต้องให้เขาตื่นตัวและพบปะกับคนอื่น” นายโมริปลื้มกับผลงานของโตยามาที่ได้สร้างเมืองที่กะทัดรัดและไปได้ทั่ว “เราเริ่มแต่เนิ่นๆ”

ในเขตชนบทของโตยามา ประชากรราวร้อยละ 40 อายุเกิน 65 ซึ่งมีการดูแลถึงที่บ้านโดยศูนย์ดูแลผู้สูงอายุคุณภาพดีแห่งหนึ่ง “เราพบว่าลูกชายโสดที่อยู่กับแม่ที่ชราภาพมีจำนวนเพิ่มขึ้น และพบครอบครัวที่ทั้งสามีภรรยามีภาวะสมองเสื่อม” แพทย์หญิงนาโอโก โคบายาชิ หนึ่งในสามของแพทย์ประจำศูนย์ที่ช่วยลดความทุกข์ของผู้อยู่อาศัยสูงอายุและครอบครัวที่เหนื่อยล้า “การตายไม่ใช่เรื่องง่ายๆ”

แต่ปัญหาที่เมืองโตยามาแก้ไม่ตกคือ “บ้านร้าง” ที่ไม่มีใครต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านที่เคยมีคนตายตามลำพัง (คนญี่ปุ่นเชื่อเรื่องผีและโชคลาง และบ้านที่เคยมีคนตายเรียกว่า ชินริเทกิ คาชิบักเกน ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าที่มีตำหนิ คนไม่อยากอยู่) ในญี่ปุ่นมีบ้านร้างแบบนี้มากกว่า 8 ล้านหลัง ทางเทศบาลทำอะไรไม่ได้มาก เพราะกฎหมายไม่เอื้อให้ปรับเงิน หรือตักเตือนว่ากล่าวเจ้าของแต่อย่างใด เมืองโตยามาใช้เวลาถึง 5 ปี กว่าจะรื้อถอนบ้านร้างได้ 3 หลัง จากจำนวน 7 พันกว่าหลังในเมืองนี้

กรณีศึกษาอีกแห่งคือ ยูเมะ พาราติอิส บ้านพักคนชราเก่าแก่ใน อามากาซากิ ใกล้โอซากา มีหุ่นยนต์ ชื่อ Hug หรือกอด ที่สามารถอุ้มนางโกโตโย ชิรายชิ อายุ 98 ปีจากล้อเข็นไปขึ้นเตียงได้อย่างนุ่มนวล Hug เป็นหุ่นยนต์แบบไม่มีศีรษะหรือหน้าตา มีรูปร่างคล้ายถุงกอล์ฟหรือรถโฟล์กลิฟต์จิ๋ว ขนาด 56×72 ซม. หนัก 30 กก. มีแขน 2 ข้างที่หุ้มด้วยผ้านุ่ม ช่วงกลางมีแผ่นนุ่มสำหรับประคองเข่า 2 ข้าง ด้านล่างมีฐานสำหรับวางเท้าและมีล้อเล็ก 2 ล้อไว้เข็น มีปุ่มควบคุมการยกขึ้นหรือลง Hug สามารถอุ้มคุณชิรายชิซึ่งตัวเล็กๆ ได้สบาย ไม่ว่าจะอุ้มขึ้นรถเข็น หรือไปห้องน้ำและทำความสะอาดร่างกายเธอ Hug ช่วยลดภาระของผู้ดูแลในการต้องช่วยพยุงเธอโดยใช้เพียงคนเดียวแทนที่จะต้องใช้ถึง 2 คน

Hug เป็นเพียงหนึ่งในยี่สิบเทคโนโลยีที่ ยูเมะ พาราติอิส กำลังทดลองใช้ตั้งแต่การปฏิบัติงานในห้องผู้อาศัยไปถึงหุ่นยนต์ที่ใช้ในการสื่อสารซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Telenoid หุ่นยนต์แบบง่ายๆ ทำจากยางซิลิโคนที่สูงประมาณ 80 ซม. หนัก 5 กก. มีแต่ศีรษะกับหน้าที่ไม่แสดงความรู้สึกกับปุ่มแขน 2 ข้างสั้นๆ ไม่มีมือ ไม่มีขา การใช้งานหลักของ Telenoid คือการส่งสัญญาณเสียงคุยผ่านผู้ดูแลที่ควบคุมอยู่ในห้องอีกแห่ง Telenoid ใส่เสื้อคลุมท่อนเดียวสีขาวสลับส้มและสวมหมวกสีเดียวกันดูน่ารักดี “เป็นเด็กชายใช่มั้ย” คาซูโกะ โคริ อายุ 89 ถามขณะที่บอกให้เจ้าหุ่นร้องเพลงให้ฟัง “ผู้อาศัยบางคนก็รับได้ บางคนก็ไม่” ผู้ดูแลบอก ซึ่งนายฮิเดะโนบุ ซูมิโอกะ จากบริษัท ATR ในเกียวโตซึ่งร่วมสร้าง Telenoid ยอมรับว่า หุ่นยนต์แบบนี้ไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน แต่เขาหวังว่าในอนาคตจะมีหุ่นยนต์ที่บทบาททางสังคมไว้ในบ้านพัก
ผู้สูงอายุ “ผมอยากจะใช้หุ่นพวกนี้ที่ให้ความรู้สึกของชุมชนแบบที่คนเคยอยู่กัน”

ซอมโปโฮลดิ้งส์ บริษัทที่มีชื่อเสียงด้านการดูแลผู้สูงวัยแห่งหนึ่งของญี่ปุ่นที่เป็นบริษัทประกันภัยชั้นนำที่เริ่มสะสมบ้านพักคนชรามาตั้งแต่ ปี 2558 และเป็นเจ้าของบ้านพักคนชราถึง 400 แห่ง บริษัทนี้ยังเป็นบริษัทเดียวที่บริหารห้องปฏิบัติการมีชีวิต (living labs) 1 แห่งจากทั้งหมด 8 แห่งในญี่ปุ่น โดย living labs ที่เหลือมีศูนย์วิจัยเป็นผู้บริหาร (living labs เป็นแนวคิดของห้องทดลองแบบใหม่สำหรับสนับสนุนระบบ ICT ที่ยึดผู้ใช้เป็นศูนย์กลางที่มุ่งสร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ผ่านความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ Living lab เป็นเรื่องของวิธีการวิจัยเป็นโลกเสมือนจริงโดยไม่มีห้องปฏิบัติการจริงๆ)

ซอมโปโฮลดิ้งส์มีห้องทดลอง Future Care Lab ในโตเกียวซึ่งสร้างห้องทดลองที่สะอาดสะอ้าน 2 ห้องที่จำลองบ้านพักคนชราเสมือนจริงมาก ห้องทดลองดังกล่าวทันสมัยไฮโซด้วยดิจิทัลเทคโนโลยีที่นำมาทดลองใช้เพื่อการดูแลผู้สูงอายุด้วยนวัตกรรม มีเซ็นเซอร์ที่พื้นและผนังคอยตรวจจับการล้มและส่งสัญญาณเตือนภัยไปที่ผู้ดูแล มีหุ่นยนต์ RoboticBed เตียงนอนไฮเทคที่พัฒนาโดยพานาโซนิค ที่สามารถแยกส่วนที่นอนตรงครึ่งเตียง (ตามแนวยาว) โดยที่นอนครึ่งที่แยกตัวออกมาจะสามารถใช้กลไกอิเล็กทรอนิกส์บังคับให้เลื่อนตัวออกมาและปรับตัวเป็นรถเข็นเพื่อให้ผู้อาศัยสามารถเปลี่ยนอิริยาบถจากนอนเป็นนั่งและเคลื่อนที่ได้ด้วยรถเข็น

เจ้าเตียงวิเศษนี้ราคาตัวละ 3.5 แสนบาทครับ โดยรุ่นแรกๆ ค่อนข้างเทอะทะ รุ่นต่อมาจึงได้รับการปรับปรุงให้เพรียวลมขึ้นเมื่อปรับเป็นรถเข็นจะไม่เกะกะเก้งก้างอย่างรุ่นแรกๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image