สุจิตต์ วงษ์เทศ : ระบบอุปถัมภ์ มาจากการเมืองแบบเครือญาติทั้งในไทยและอุษาคเนย์

ผู้นำสามรัฐเครือญาติ ราวหลัง พ.ศ. 1700 จากรัฐสุโขทัย, รัฐเชียงใหม่, รัฐพะเยา (อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จ. เชียงใหม่

ระบบอุปถัมภ์ในไทย ล้างให้หมดเป็นไปได้ยากมากๆ จนถึงเป็นไปไม่ได้ เพราะมีรากเหง้าเค้าต้นมานานหลายพันปีจากระบบการเมืองแบบเครือญาติ

เป็นไปได้มากกว่ากำจัดกวาดล้าง คือหาวิธีตรวจสอบอย่างเข้มงวดกวดขัน

 

ประวัติศาสตร์แบบเครือญาติ

อุษาคเนย์มีประวัติศาสตร์แบบบ้านพี่เมืองน้อง หรือเครือญาติอุปถัมภ์ โดยสร้างเครือข่ายของเครือญาติผ่านการแต่งงาน เช่น ยกลูกสาวแลกเปลี่ยนกัน หรือยกลูกสาวให้ ผู้มีอำนาจเหนือกว่า

Advertisement

มีกรณีตัวอย่าง กษัตริย์นครธมยกลูกสาวให้พ่อขุนผาเมือง รัฐสุโขทัย เพื่อสร้างความสัมพันธ์แบบเครือญาติ (มีบอกในจารึกวัดศรีชุม) กับพระมหาจักรพรรดิแห่งรัฐอยุธยาส่งลูกสาวสนมถวายพระไชยเชษฐาแห่งเวียงจัน เป็นต้น

กับอีกทางหนึ่งรัฐหนึ่งเมื่อชนะสงคราม ก็เลือกสรรกวาดต้อนผู้คนและสิ่งของมีค่าอื่นๆ  จากรัฐแพ้สงครามกลับไปรัฐของตน โดยให้เหลือไว้บ้างให้รัฐแพ้สงครามปกครองดูแลกันเองต่อไป (ไม่ส่งคนไว้ใจเป็นเจ้านายปกครองดูแลเมืองขึ้นเหมือนประวัติศาสตร์แบบอาณานิคม) แต่ต้องยอมอยู่ในอำนาจอุปถัมภ์ตามเงื่อนไขของรัฐชนะสงคราม แล้วนับเป็นบ้านพี่เมืองน้อง

(คำว่า พี่น้อง หมายถึง เครือญาติ อย่างไม่เจาะจงจะให้คนหนึ่งเป็นพี่ อีกคนหนึ่งเป็นน้อง ดังนั้น บ้านพี่เมืองน้องจึงมีความหมายกว้างๆ ว่าบ้านเมืองเครือญาติอย่างไม่เจาะจงว่าบ้านเมืองไหนเป็นพี่หรือเป็นน้อง เว้นเสียแต่จะเป็นที่ยอมรับยกย่องนับถือกันเอง ดังมีภาษาปากในสมัยหลังเรียกผู้เป็นใหญ่ว่าลูกพี่ แล้วเรียกบริวารว่าลูกน้อง)

Advertisement

บางทีเรียกความสัมพันธ์อย่างนี้ว่าเจ้าพ่อกับลูกน้อง โดยผู้ชนะเป็นเจ้าพ่อให้ความอุปถัมภ์คุ้มครองผู้แพ้ซึ่งนับเป็นลูกน้อง

แนวคิดประวัติศาสตร์อย่างนี้มาจากลักษณะสังคมที่มีผู้คนน้อย แต่พื้นที่มาก จึงต้องการผู้คนเพิ่มเติม โดยการทำสงครามกวาดต้อนเชลยจากรัฐอื่น

บ้านพี่เมืองน้องแบบอุษาคเนย์ ลักษณะแต่ละรัฐไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ตายตัว (เหมือนประวัติศาสตร์เมืองขึ้นแบบอาณานิคม) ดังนั้น              

(1.) พลเมืองเป็นชนหลากหลายชาติพันธุ์ซึ่งเกิดจากการกวาดต้อน และอื่นๆ (2.) ภาษามีหลากหลาย อักษรมีเฉพาะคนชั้นสูง (3.) ไม่มีเส้นกั้นอาณาเขต เพราะขอบเขตของรัฐไม่แน่นอน ไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับอาณาบารมีของผู้นำแต่ละคนและเป็นครั้งคราว

ประวัติศาสตร์รัฐสุโขทัยแบบบ้านพี่เมืองน้อง มีลักษณะโดยสรุปว่าสุโขทัยเป็นรัฐขนาดเล็ก (ไม่ใช่ระดับอาณาจักร) เติบโตขึ้นจากบ้านเล็กเมืองน้อยบนเส้นทางคมนาคมการค้าข้ามภูมิภาค ด้วยแรงสนับสนุนของรัฐใหญ่ใกล้ทะเลอ่าวไทย เช่น รัฐกัมพูชา, รัฐ อโยธยา-ละโว้ โดยมีลักษณะดังนี้

(1.) พลเมืองเป็นชนหลากหลายชาติพันธุ์อยู่ปะปนกัน (2.) ภาษามีหลากหลาย และอักษรมีเฉพาะคนชั้นสูง โดยไม่มีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นเพียงคนเดียว แต่เป็นวิวัฒนาการจากอักษรต่างๆ ที่มีมาก่อน (3.) ไม่มีเส้นกั้นอาณาเขต เพราะขอบเขตรัฐไม่แน่นอน ไม่ตายตัว และเป็นรัฐขนาดเล็กมีดินแดนใต้สุดอยู่เมืองพระบาง (นครสวรรค์) เพราะต่ำกว่านั้นเป็นดินแดนของรัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) กับรัฐอโยธยา-ละโว้ (อยุธยา-ลพบุรี)

 

ประวัติศาสตร์แบบอาณานิคม

ประวัติศาสตร์แบบอาณานิคม เป็นประวัติศาสตร์เมืองขึ้น (อย่างเดียวกับประวัติศาสตร์ยุโรป) หมายถึงรัฐหนึ่งเมื่อชนะสงคราม ก็ต้องส่งคนที่ไว้ใจไปเป็นเจ้านายปกครองดินแดนและผู้คนอีกรัฐหนึ่งที่แพ้สงคราม แล้วต้องตกเป็นเมืองขึ้น

แนวคิดอย่างนี้มีผู้รู้อธิบายว่ามาจากลักษณะสังคมที่มีผู้คนมาก แต่พื้นที่น้อย จึงต้องการขยายพื้นที่โดยทำสงครามยึดดินแดนรัฐอื่นๆ

ประวัติศาสตร์เมืองขึ้นแบบอาณานิคม กำหนดลักษณะแต่ละรัฐอย่างกว้างๆ พอสังเขปไว้ดังนี้

(1.) พลเมือง มีชนเชื้อชาติเดียวกัน (2.) ภาษาและอักษร มีอย่างเดียวกัน (3.) เส้นกั้นอาณาเขต มีกำหนดขอบเขตตายตัว (4.) ฯลฯ

ประวัติศาสตร์ไทยแบบอาณานิคม แม้ไทยจะอวดอ้างว่าไม่เคยเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก เหมือนประเทศเพื่อนบ้าน

แต่ไทยก็เป็นอาณานิคม “อย่างไม่เป็นทางการ” ในทางสังคมวัฒนธรรม แล้วรับวิธีคิดประวัติศาสตร์เมืองขึ้นแบบอาณานิคมมาสร้างประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย

ดังมีตัวอย่างสำคัญอยู่ในประวัติศาสตร์สุโขทัย โดยสรุปว่าเดิมเป็นเมืองขึ้นของขอมกัมพูชา มีขุนนนางขอมปกครอง ต่อมาผู้นำไทยปลดแอก แล้วประกาศตนเป็นเอกราชไม่ขึ้นแก่ขอมกัมพูชา โดยมีลักษณะดังนี้

(1.) พลเมืองเป็นชนเชื้อชาติไทยทั้งหมด (2.) ภาษาไทยเดียวกันทั้งหมด และมีผู้ประดิษฐ์อักษรไทย (3.) เส้นกั้นอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลระดับอาณาจักร โดยยึดรูปร่างประเทศไทยปัจจุบันเป็นสำคัญ แล้วขยายพื้นที่ออกไปโดยรอบ และเฉพาะทางใต้มีอำนาจเหนือตลอดคาบสมุทรมลายู

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image