ภาพเก่าเล่าตำนาน : รายนาม บรรพชนผู้กล้าหาญที่คนไทยขอสรรเสริญ

ภาพเก่าเล่าตำนาน : รายนาม บรรพชนผู้กล้าหาญที่คนไทยขอสรรเสริญ

ลูก หลาน ญาติ ของผู้กล้าหาญเหล่านี้… ถ้าท่านอ่านพบบทความนี้จาก มติชน …กรุณาติดต่อกลับมานะครับ… “ผู้เขียน” ต้องการรูปภาพ ข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อนำมาเปิดเผย ยกย่องหนุนเสริม ให้เกียรติคุณของท่านฯ ขจรขจายมากกว่านี้…

การสู้รบของกองทัพไทย-กองทัพอินโดจีนฝรั่งเศส เมื่อปลาย พ.ศ.2483-ต้นปี พ.ศ.2484 มีบุคคลสำคัญ วีรกรรมและเอกสารประวัติศาสตร์ของทางราชการที่ควรนำมา “เผยแพร่” ดังนี้ครับ…

แจ้งความสำนักมนตรี เรื่องพระราชทานเหรียญกล้าหาญ

Advertisement

ด้วยในการที่กองทัพไทยได้ออกไปปฏิบัติหน้าที่ เนื่องในกรณีพิพาทระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส บรรดาทหารและตำรวจสนามบางนาย ได้ต่อสู้กับราชสัตรูอย่างสามารถและด้วยกำลังใจอันเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ มิได้สยดสยองต่อภยันตรายใดๆ ยอมสละชีวิตเพื่อชาติ นับเป็นการกระทำอันมีเกียรติและกล้าหาญยิ่ง

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญกล้าหาญเป็นเครื่องเชิดชูเกียรติคุณรวม 41 นาย ดังรายนามท้ายแจ้งความนี้

แจ้งความมา ณ วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2484
พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี

Advertisement

กองทัพบก นายพันตรีสุรินทร์ ปั้นดี (เสียชีวิต) นายพันตรีสนิท หงส์ประสงค์ นายร้อยโทไชโย
กระสิณ จ่านายสิบเอกกิมไล้ แซ่เตียว (เสียชีวิต) จ่านายสิบเอกคล้อย วงศ์สถิน (เสียชีวิต) จ่านายสิบเอกโพล้ง กลัดตลาด (เสียชีวิต) 7 จ่านายสิบเอกขุนทอง ขาวสุขา (เสียชีวิต) นายสิบตรียง
สุขแสง นายสิบตรีสำเภา สมประสงค์ นักเรียนนายสิบจำนง แฉล้มสุข นักเรียนนายสิบคณง รงค์กระจ่าง พลทหารสมัคร์ เนียว กุล พลทหารนิยม สืบกุศล 13 พลทหารอรุณ กลิ่นบัวแก้ว พลทหารเต็ก ขจรเวช

ตำรวจสนาม นายร้อยตำรวจตรีหนู ไชยบุรี (เสียชีวิต)

กองทัพอากาศ นายนาวาอากาศเอกขุนรณภาอากาศ (ฟื้น ฤทธาคนี) นายนาวาอากาศตรีหม่อมราชวงศ์เสนาะ ลัดดาวัลย์

นายนาวาอากาศตรีหม่อมเจ้ารังสิยากร อาภากร นายเรืออากาศเอกประสงค์ สุชีวะ นายเรืออากาศเอกเฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร นายเรืออากาศเอกมานพ สุริยะ นายเรืออากาศเอกไชย สุนทรสิงห์ นายเรืออากาศโททองใบ พันธุ์ สบาย นายเรืออากาศโทผัน สุวรรณรักษ์ นายเรืออากาศตรีสว่าง พัดทอง นายเรืออากาศตรีสังวาลย์ วรทรัพย์ นายเรืออากาศตรีสำราญ โกมลวิภาต นายเรืออากาศตรีจรูญ กฤษณะราช นายเรืออากาศตรีแวว จันทรศร
พันจ่าอากาศเอกศักดิ์ อินปุระ พันจ่าอากาศเอกรังสรรค์ อ่อนรักษา พันจ่าอากาศเอกทองคำ เปล่งขำ พันจ่าอากาศเอกสายบัว มติสอน พันจ่าอากาศโทบุญเยี่ยม ปั้นสุขสวัสดิ์ พันจ่าอากาศโทเกษม สินธุวรรณะ พันจ่าอากาศตรีบุญ สุขสบาย พันจ่าอากาศตรีลออ จาตกานนท์ จ่าอากาศเอกสง่า ว่องชิงชัย จ่าอากาศเอกประยูร สุขุมมลจันทร์ จ่าอากาศโทจาด อำลออ

กองทัพเรือ ผู้ได้รับเหรียญกล้าหาญประจำ ร.ล.ธนบุรี นายนาวาเอกหลวงพร้อมวีรพันธ์ุ นายเรือเอกเฉลิม สถิระถาวร นายเรือโทขันธ์ วงศ์กนก นายเรือตรีพรม รักษ์กิจ นายเรือตรีสมัย จำปาสุต
พันจ่าเอกทองอยู่ เงี้ยวพ่าย พันจ่าเอกเอี้ยว อึ้งหลี พันจ่าเอกนวล เสียงบุญ พันจ่าเอกลบ นุดตา พันจ่าเอกลำดวน ทัพพะเกตุ พันธุ์จ่าเอกยู่เล้ง อาจสาครพันธุ์จ่าเอกเพื่อน สุดสงวน พันจ่าเอกชุน แซ่ฉั่ว พันจ่าเอกเอ่ง แซ่ลิ้ม

การสู้รบทางทะเล ที่ถือว่าเป็น “มหากาพย์” มีนายทหารที่ได้รับการจารึกนามไว้อย่างสง่างาม คือ นายนาวาโทหลวงพร้อม

วีรพันธุ์ ผู้บังคับการเรือหลวงธนบุรี มีเกียรติประวัติในเอกสารของทางราชการ ดังนี้…

ร.ล.ธนบุรี ในยุคกรณีพิพาทกับอินโดจีนฝรั่งเศส การรบทางเรือครั้งแรกและครั้งสุดท้ายได้เปิดฉากขึ้นอย่างฉกาจฉกรรจ์ที่เกาะช้าง เมื่อรุ่งสว่างวันที่ 17 มกราคม 2484 ระหว่างกองเรือรบฝรั่งเศสอันกอปด้วยขบวนเรือ 7 ลำ มีเรือลามอตต์ปิเกต์เป็นเรือนำ กับหมู่เรือลาดตระเวนไทยอันกอปด้วย ขบวนเรือ 3 ลำคือเรือหลวงสงขลากับเรือหลวงชลบุรีมีเรือหลวงธนบุรีเป็นเรือนำ

เรือลามอตต์ปิเกต์ ได้เริ่มเข้าโจมตี ร.ล.สงขลากับ ร.ล.ชลบุรีก่อน พอได้ยินเสียงปืนต่อสู้กัน ร.ล.ธนบุรี ซึ่งจอดอยู่ที่เกาะลิ่ม ก็ถอนสมอออกเรือมุ่งไปช่วยเรือทั้งสองลำนั้นทันที แต่พอไปถึงเกาะง่ามก็ได้เผชิญกับเรือลามอตต์ปิเกต์อันมีขนาด 8,000 ตัน ใหญ่กว่าเรือหลวงธนบุรีถึง 4 เท่า

แม้กระนั้น ร.ล.ธนบุรี ก็ตัดสินใจเด็ดขาดไม่ย่อท้อ ตรงเข้าทำการรบทันที ได้มีการยิงปืนใหญ่ต่อสู้กันอย่างฉกาจฉกรรจ์ เสียงเสทื้อนสท้านท้องทะเลหลวงไปทั่วทิศานุทิศ ร.ล.ธนบุรี ได้ยิงถูกเรือลามอตต์ปิเกต์ บริเวณสะพานเดินเรือกลางลำและบริเวณท้ายเรือ ทำความเสียหายให้แก่เรือลำนี้อย่างหนัก

แต่ในระหว่างทำการรบติดพันนี้เอง เรือข้าศึกอีก 3 ลำได้เข้ามาสมทบเรือลามอตต์ปิเกต์ ช่วยระดมยิง ร.ล.ธนบุรีด้วย

คราวนี้ การรบระหว่าง 1 ต่อ 4 ก็บังเกิดขึ้น ร.ล.ธนบุรีถูกยิงอย่างหนักจากเรือข้าศึกทั้ง 4 ลำ หอรบทะลุพื้นดาดฟ้าและข้างเรือทะลุหลายแห่ง เกิดไฟไหม้บริเวณกลางลำ แต่แม้เช่นนั้น ร.ล.ธนบุรีก็ยังมิได้ย่อท้อทำการรบต่อไปอย่างทรหด ยิงถูกเรือลามอตต์ปิเกต์จนบอบช้ำ ทหารประจำเรือข้าศึกเสียชีวิตทั้งบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

ในที่สุด เรือรบฝ่ายข้าศึกก็ต้องหลบหนีออกจากยุทธบริเวณไปสิ้น ร.ล.ธนบุรี มิสามารถติดตามไปได้เพราะมีความเร็วน้อย

การปฏิบัติการของเรือหลวงธนบุรี เป็นการปฏิบัติที่องอาจกล้าหาญ ทั้งยอมเสียสละจนถึงวาระสุดท้าย แต่สร้างผลให้บังเกิดแก่ประเทศชาติเป็นอย่างดียิ่ง เพราะสามารถสกัดกั้นการดำเนินการของข้าศึกที่ได้ส่งกำลังส่วนใหญ่มาเพื่อรบกวนทางด้านทะเลของเราไว้ได้อย่างเด็ดขาด ฝ่ายข้าศึกต้องถอยกลับไปยังฐานทัพที่ไซ่ง่อนเพื่อเข้าอู่ซ่อมแซมอยู่เป็นเวลานาน

ต่อจากนั้นมาตราบจนถึงวันที่ลงนามในสัญญาสงบศึก กำลังทางเรือของข้าศึกก็มิอาจจะยกมาทำการสู้กับฝ่ายเราอีกเลย เพราะฉะนั้น ร.ล.ธนบุรี จึงสมควรได้รับการยกย่องในทางปฏิบัติการที่องอาจกล้าหาญทั้งทรหดอดทนยิ่งนัก ควรเป็นเยี่ยงอย่างแก่เรือรบไทยตลอดไป

นายนาวาโทหลวงพร้อมวีรพันธ์ุ (พร้อม วีรพันธุ์) ผู้บังคับหมวดเรือที่ 3 กองเรือที่ 1 และผู้บังคับการเรือเรือหลวงธนบุรี นายทหารผู้นี้เป็นผู้มีน้ำใจองอาจกล้าหาญอย่างเด็ดเดี่ยว กอปด้วยความทรหดอดทนและเคร่งครัดต่อวินัยตลอดมา

ขณะที่ปรากฏว่าเรือตอร์ปิโดบังคับบัญชาของตนทั้ง 2 ลำ ถูกเรือรบฝ่ายข้าศึกเข้าโจมตีดังกล่าวไว้ในประวัติเรือหลวงธนบุรีนั้นแล้ว นายนาวาโทหลวงพร้อมวีรพันธ์ุ ได้สั่ง ร.ล.ธนบุรี ออกเรือ เพื่อไปช่วย ป้องกัน และพอมาถึงเกาะง่ามก็ได้เผชิญกับเรือลามอตต์ปิเกต์ของข้าศึกซึ่งมีระวางขับน้ำและความเร็วสูงกว่า

นายนาวาโทหลวงพร้อมวีรพันธ์ุตัดสินใจเด็ดขาด กล่าวว่า “เอามัน” สั่งการและนำเรือหลวงธนบุรีเข้าต่อสู้เพื่อทำลายข้าศึกทั้งๆ ที่ข้าศึกมีกำลังมากกว่าหลายเท่า ในการต่อสู้กันตลอดเวลานั้นมีกะสุน ตกอยู่บริเวณรอบๆ เรือและบางนัดก็ถูกตัวเรือ แต่นายทหารผู้นี้ไม่สะทกสะท้านหรือย่นย่อท้อถอยเลย

ฐานที่เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของเรือลำนี้ นายนาวาโทหลวงพร้อมวีระพันธ์ุ ได้ปลุกประสาทของผู้ใต้บังคับบัญชาให้มุ่งหน้าทำการรบอย่างทรหดไปถ่ายเดียว

ทหารในเรือลำนั้นไม่มีผู้ใดเสียขวัญแม้ทั้งที่ได้ปรากฏการณ์บาดเจ็บล้มตายแล้ว คงตั้งหน้าปฏิบัติการรบตามหน้าที่ตลอดไป จนทำอันตรายเรือลามอตต์ปิเกต์ชำรุดเสียหาย ถึงต้องรีบหนีออกจากยุทธบริเวณรบดังความมุ่งหมาย

เป็นที่สังเกตไว้ว่าการรบทางเรือซึ่งเต็มไปด้วยภาพอันน่าสยดสยอง ซึ่งคนมีเส้นประสาทไม่แข็งพอแล้วจะต้องสะทกสะท้านหวาดกลัวเหลือประมาณ เพราะเพียงแต่เสียงปืนใหญ่ซึ่งดังสนั่นหวั่นไหวกับเสียงกระสุนที่ระเบิดในเรือ ก็เป็นอำนาจพอจะทำให้บุคคลผู้ไม่เข้มแข็งต้องหวาดระย่อได้แต่นายนาวาโทหลวงพร้อมวีรพันธ์ุ ได้อำนวยการรบด้วยความองอาจกล้าหาญอยู่ประจำที่ พร้อมกับปลุกใจทหารในบังคับบัญชาให้ทำการรบอย่างกล้าแข็ง

จนในที่สุดตนเองก็ถูกกระสุนข้าศึกสิ้นชีวิตลงในเรือนี้เอง

เรือรบเป็นวัตถุที่ไม่มีวิญญาณ การที่จะแสดงความกล้าหาญเป็นเกียรติประวัติได้นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับผู้บังคับการเรือเป็นสำคัญหรือจะว่าเป็นสมองบังคับการก็ได้ เพราะฉะนั้นการที่เรือหลวงธนบุรีได้รับเกียรติประวัติแห่งความกล้าหาญคราวนี้ จึงนับว่านายนาวาโทหลวงพร้อมวีรพันธ์ุ เป็นผู้องอาจกล้าหาญและมีน้ำใจทรหดมั่นคงอย่างแท้จริง

จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นประธานในพิธีมอบเหรียญกล้าหาญแก่ทหารหาญและตำรวจสนาม เมื่อ 7 กันยายน 2484 ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า (ส่วนผู้เสียชีวิต มอบให้กับญาติ)

เหรียญกล้าหาญมีลักษณะเป็นเหรียญโลหะกลมรมดำ ด้านหน้ามีพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกำลังทรงกระทำยุทธหัตถีกับราชศัตรู มีอักษรจารึกว่า “สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกู้ชาติ”

ด้านหลังมีอักษรจารึกว่า “เรากล้ารบเพื่อเกียรติศักดิ์ไทย” ตัวเหรียญห้อยกับแพรแถบสีแดงขาว กว้าง 3.5 เซนติเมตร ข้างบนมีเข็มโลหะรมดำรูปคทาจอมพลจารึกอักษรว่า “กล้าหาญ”

อัฐิของทหารหาญทุกท่าน ถูกบรรจุไว้ในส่วนฐานของอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image