ดุลยภาพดุลยพินิจ : ประเทศไทย 4.0 : โดย ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์

ความมุ่งมั่นที่จะให้ประเทศไทยทันสมัยและมีขีดความสามารถเท่าเทียมกลุ่มประเทศรายได้สูงและก้าวทันโลกในทุกๆ ด้านเป็นเรื่องที่ดี แม้ว่าประเทศไทย 4.0 ที่รัฐบาล คสช.พยายามจะขาย บ่อยครั้งก็ได้รับการเย้ยหยัน เพราะหลายคนคิดว่าเป็นความฝันลมๆ แล้งๆ บางคนมองว่าเป็นเรื่องตลก

ทีมเศรษฐกิจของรองนายกฯสมคิดมีเป้าหมายที่จะให้ประเทศหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางให้ได้เร็วที่สุด เพราะฉะนั้นเรื่องความเจริญเติบโตในระดับศักยภาพที่ประเทศควรทำได้จึงเป็นวาระสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุตสาหกรรมยุคใหม่ หรือ 4.0 เศรษฐกิจดิจิทัล นวัตกรรมและ start up 4.0 ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เป็นต้น จริงๆ แล้วถึงแม้เราจะโตได้ในระดับ 3% ต่อปี รายได้ต่อหัวของเราก็ยังมีโอกาสที่จะก้าวไปสู่ประเทศรายได้สูงแต่ใช้เวลานานขึ้น เช่น อาจจะใช้เวลาถึง 25 ปี เพื่อให้รายได้ต่อหัวของคนไทยเพิ่มอีกเท่าตัว แต่ถ้าเศรษฐกิจไทยโตได้ในระดับ 4-5% ต่อปี มันจะลดเวลาลงมาเหลือเพียง 15 ปี

อย่างไรก็ตาม ในทรรศนะของผู้เขียน เราไม่ควรจะยึดติดหรือคลั่งไคล้กับอัตราความเจริญเติบโตอย่างเดียว ที่สำคัญกว่า คือ ถ้าเศรษฐกิจโตได้พอประมาณภายใต้โครงสร้างประชากรที่อีกไม่นานจะมีผู้สูงอายุ 1 ใน 5 คนของประชากร แต่เป็นการเติบโตที่มีคุณภาพโดยที่ประเทศมีระบบสถาบันทางเศรษฐกิจและสังคมที่เข้มแข็ง การมีรัฐและสถาบันที่เข้มแข็งจะทำให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี คนไทยมีความสุขตามอัตภาพ ได้บริการที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพเป็นธรรมจากรัฐ พลเมืองมีทัศนคติที่จะพึงตนเองมากกว่าพึ่งรัฐ ประเทศมีรัฐและพลเมืองที่สามารถแยกเรื่องส่วนตัวกับเรื่องส่วนรวม

สังคมไทยมีความเสมอภาคสูงในทุกๆ ด้าน เป็นสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตยทั้งในด้านรูปแบบและสาระ คนในสังคมให้ความสำคัญกับระบบคุณธรรมมากกว่าการให้ความสำคัญกับพวกพ้อง การเล่นพรรคเล่นพวก สังคมมีระบบที่ตอบแทนความถูกต้องหรือลงโทษความฉ้อฉล เศรษฐกิจมีการแข่งขันสูง มีภูมิคุ้มกันที่ดีพร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลก คนไทยมีประสิทธิภาพและมีระบบสถาบันตั้งแต่ครอบครัวจนถึงระบบการเมือง ศาลสถิตยุติธรรมที่มีประสิทธิผล

Advertisement

มีประเทศในโลกที่เราสามารถเรียนรู้เป็นตัวอย่าง แม้จะทำไม่ได้เหมือนเขา 100% หลายประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย โดยเฉพาะเดนมาร์ก ฟินแลนด์ นอร์เวย์ เศรษฐกิจไม่ได้เจริญเติบโตในระดับที่สูง แต่คนในประเทศเหล่านี้มีความสุข คนมีคุณภาพ มีความเป็นพลเมืองที่สมบูรณ์สูง ให้ความสำคัญกับประโยชน์ของสาธารณะมากกว่าประโยชน์ส่วนตน พูดอีกอย่าง ประเทศเหล่านี้มีระบบสถาบันที่เข้มแข็งที่ประเทศไทยควรกำหนดเป็นบรรทัดฐาน หรือ benchmark

จริงๆ แล้วการทำให้ประเทศไทยมีการเจริญเติบโตสูงแต่ไม่ยั่งยืนนั้นทำได้ง่าย เราเคยทำมาแล้ว ประเทศในโลกที่ทำแบบนี้ก็มีมาก ผลที่ได้รับ คือ คนของประเทศเหล่านั้นทั้งๆ ที่เป็นประเทศรายได้ต่อหัวสูงต้องได้รับเคราะห์กรรมจากวิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกัน เราก็มีตัวอย่างของประเทศที่รายได้ต่อหัวสูงแต่สถาบันทางสังคม รวมทั้งคุณภาพและความมั่นคงในชีวิตของคนส่วนใหญ่ไม่ดีเท่ากับที่แสดงออกมาจากระดับรายได้ต่อหัวของประเทศ หรืออย่างในอินเดีย มลรัฐ Kerala รายได้ต่อหัวไม่สูง แต่คุณภาพชีวิตสะท้อนจากคุณภาพการศึกษาและการสาธารณสุขสูงมาก เราควรจะต้องออกแบบสถาบันที่สำคัญของเราไม่ให้ประสบปัญหาจากความเจริญเติบโตที่ไม่ยั่งยืน รัฐบาล คสช.ไม่ควรใจจดใจจ่อเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ 4.0 แต่ไม่สนใจ empowerment ให้พลเมืองมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงประเทศ สร้างศักยภาพของคนในทุกๆ มิติ หรือไม่สนใจสร้างสถาบันให้เข้มแข็ง การมีสถาบัน 4.0 นั้นยากกว่าการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล 4.0 อย่างเทียบกันไม่ได้

ทำไมประเทศไทยจึงยังมีปัญหาเรื่องสถาบันที่จะทำให้เราไปถึงระดับ 4.0 อย่างค่อนข้างยากลำบาก สถาบันหมายถึงอะไร?

Advertisement

สถาบันหมายถึงองค์กรก็ได้แต่กว้างกว่านั้น มันคือกติกาที่คนในสังคมรับรู้และเรียนรู้ เป็นส่วนสำคัญในการกำหนดพฤติกรรมและการตัดสินใจในการทำอะไร ในการสร้างความสัมพันธ์ที่เป็นลักษณะเครือข่ายเพื่อบรรลุเป้าหมายบางอย่าง บางทีกติกานี้เหมือนเป็นวิถีชีวิตเป็นวัฒนธรรมฝังตัวอยู่ในระบบยาวนาน ทำไมกติกาถึงสำคัญ? มันสำคัญเพราะมันกำหนดแรงจูงใจระบบคุณค่าหรือค่านิยมที่เรียกว่า norms หรือ value กติกามีทั้งที่เป็นทางการเช่น กฎหมาย ข้อบังคับที่ออกโดยรัฐ และที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันคือ ที่ไม่เป็นทางการ เป็นอะไรที่ไม่ได้เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร อะไรที่ไม่ได้เป็นทางการนี้มีความสำคัญมหาศาล มีผลทั้งด้านบวกและด้านลบ กติกาที่ไม่เป็นทางการสะท้อนถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ความสัมพันธ์ต่างตอบแทน รวมทั้งการพึ่งพากันในระบบอุปถัมภ์

กติกาที่ไม่เป็นทางการนี้ในทรรศนะของผู้เขียนคือ อุปสรรค ขวากหนามที่จะทำให้ประเทศไทยเกิดการปฏิรูปที่แท้จริงในเชิงลึกได้ยากมาก โดยเฉพาะในระบบราชการในภาครัฐ ด้านลบของพฤติกรรมที่เกิดจากระบบคุณค่าที่ไม่เป็นทางการนี้เราได้พบได้เห็นกันดาษดื่นในสังคมไทย แม้ว่าคนจำนวนมากอาจมองไม่เห็นหรือไม่รู้ทัน ด้านลบของกติกาที่ไม่เป็นทางการนี้มันทำให้เศรษฐกิจและสังคมไทยถูกทอนกำลัง ไร้ประสิทธิภาพ มีต้นทุนทางธุรกรรมสูง เศรษฐกิจมีการผูกขาดมากกว่าการแข่งขัน จำนวนมากเกิดจากเศรษฐกิจภาครัฐโดยเฉพาะบทบาทรัฐวิสาหกิจ การได้งานจากภาครัฐขาดความโปร่งใส มีต้นทุนสูง คนรู้สึกเจ็บแค้นจากระบบที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแข่งขัน ระบบที่ให้โอกาสและการเข้าถึงทรัพยากร การแบกรับภาระภาษีที่เอื้อต่อคนรวยมากกว่าคนจน กติกาที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ หรือที่เรียกว่าสถาบันนี้ยากที่จะเรียกว่าเป็นระบบคุณธรรมที่แท้จริง อย่างที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพร่ำสอนมาตลอด 70 ปีแห่งการครองราชย์

ที่สำคัญคือปัญหาเรื่องสถาบันนี้หนักหนาสาหัสในภาครัฐมากกว่าปัญหาในระบบเศรษฐกิจของเอกชน เพราะในระบบตลาดถึงยังไงโดยรวม การแข่งขันและความอยู่รอดแบบ Darwin ยังเป็นตัวกำหนดแรงจูงใจและพฤติกรรมทางเศรษฐกิจ ใครอยู่รอดได้บอกถึงความมีประสิทธิภาพ ข้าราชการไทยที่มีจิตวิญญาณซามูไรน้อยมาก ข้าราชการเป็นปุถุชนที่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตัวเหมือนคนทั่วไป การปฏิรูปเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่มีทั้งผู้ได้และผู้เสียประโยชน์ ผู้เสียประโยชน์มักมีพลัง แรงจูงใจที่จะค้านและต่อต้านมีสูง องค์กรของรัฐไม่มีวันล้มละลาย ระบบต่างตอบแทนเกี้ยเซี้ยกันเป็นเครือข่ายมีอยู่ดาษดื่น

มันฟ้องว่าทำไมการปฏิรูปประเทศเชิงลึกอย่างแท้จริงโดยเฉพาะภาครัฐแม้ในยุค คสช. ที่เช้า-เย็นพูดแต่เรื่องปฏิรูป แต่เอาเข้าจริงทำได้น้อยมาก

จะขอยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในช่วง 2 ปีของรัฐบาล คสช.

-ทำไมกว่า 2 ปีของรัฐบาล คสช.ที่มีอำนาจล้นฟ้าไม่สามารถทำให้เกิดการปฏิรูป การเปลี่ยนแปลงประเทศโดยเฉพาะภาครัฐซึ่งน่าจะอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ทั้งทางด้านการเปลี่ยนแปลงกติกา กฎหมาย และการปฏิรูปองค์กรที่สำคัญๆ เช่น ระบบรัฐวิสาหกิจ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น หรือในระดับกรมที่สำคัญ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมศุลกากร กรมสรรพากร กรมที่ดิน กรมการขนส่งทางบก การรถไฟแห่งประเทศไทย ขสมก. เป็นต้น อะไรคืออุปสรรค? มันบอกอะไรถึงความรู้ความเข้าใจ ความเอาจริงเอาจังจากผู้นำประเทศที่ควรจะสามารถเอาชนะพลังของผลประโยชน์ในระบบเครือข่ายราชการ แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ทำไมประชาชนไม่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปอย่างจริงจังและขอมีส่วนร่วม ทำไม คสช.ไม่ปฏิรูปตำรวจ

-ทำไม สนช.ถึงตรากฎหมายมรดกและกฎหมายภาษีที่ดิน ภาษีทรัพย์สินซึ่งกำหนดภาระจากมูลค่ามรดกหรือทรัพย์สินที่ดินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ไว้ที่ระดับสูงมากซึ่งเท่ากับว่าเป็นการช่วยให้ผู้ที่มีมรดกหรือทรัพย์สินปลอดภาระที่จะเสียภาษีหรือเสียน้อยมาก ทำให้กฎหมายที่ตั้งใจจะลดความเหลื่อมล้ำเพื่อความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจไร้น้ำยา โดยเฉพาะในบริบทที่ประเทศไทยยังไม่มีระบบภาษีที่เก็บจากความมั่งคั่งหรือกำไรจากมูลค่าหุ้น หรือ capital gain มันยุติธรรมหรือที่รัฐจะไปเก็บภาษีที่ดินว่างเปล่า แต่ไปยกเว้นทรัพย์สินอสังหาริมทรัพย์ที่มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท แม้เป็นบ้านหลังแรก นี่ไม่ใช่วิธีการปกป้องคนรวยหรือ สนช.ทำเพื่อใคร? เพื่อตนเอง พรรคพวกใช่ไหม? ไม่ใช่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำหรือความเป็นธรรม มันบอกอะไรเกี่ยวกับอำนาจและผลประโยชน์ที่กำหนดกติกาหรือสถาบันของไทย

-ทำไมการแจกเงินคนจน (สมมุติว่าทุกคนจนจริง) ในช่วงก่อนปีใหม่โดยรัฐบาล คสช. แม้จะคนละไม่กี่พันบาทจึงทำได้ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปากเมื่อเทียบกับการหางาน หาอาชีพ หรือการอบรมการศึกษาที่เหมาะสมแก่เขาและครอบครัว นี่เป็นการแก้ปัญหา 4.0 แบบยั่งยืนหรือไม่? เมื่อเทียบกับความพยายามยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยโดยเฉพาะในระดับโรงเรียนโดยลดช่องว่างที่สูงมากในเชิงคุณภาพ ระหว่างครอบครัวคนจนและครอบครัวฐานะดี ระหว่างเมืองกับชนบท

-ที่สดๆ ร้อนๆ ทำไมคนขับรถ 6 ล้อที่ชนรถเป็นลูกโซ่ถึง 41 คัน ความเสียหายทั้งคนและรถมหาศาลถึงได้ใบอนุญาตจากรัฐ และเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ทำไมตำรวจจึงปล่อยให้คนร้ายหนีและชนรถตั้งแต่มักกะสันถึงทองหล่อ? ในที่สุดคนร้ายถูกจับได้โดยกลุ่มพลเมืองผู้หวังดีกว่า 20 คน มันบอกอะไรเกี่ยวกับตำรวจไทย เราเห็นตำรวจตามสี่แยกในเมือง เขาทำอะไรกันอยู่? เขาทำงานเต็มสมรรถนะหรือยัง ใครประเมินเขา ทำไมคนญี่ปุ่นไว้ใจตำรวจในยามค่ำคืนที่เข้ามาสอดส่องดูแลบ้านเมื่อเทียบกับตำรวจไทย แม้ว่าตอนนี้เราจะมีโครงการฝากบ้านไว้กับตำรวจ

-ขสมก.พยายามซื้อรถเมล์ NGV มา 3-4 ปีแล้ว แม้ได้ผู้ชนะประมูล แต่ยังส่งมอบรถไม่ได้ แม้ราคารถที่ประมูลได้ ราคากลางค่อนข้างถูก แต่รถ 100 คันที่ควรจะส่งมอบภายในวันที่ 29 ธันวาคมนี้กำลังจะถูกปรับคันละเป็นล้าน เพราะแจ้ง ขสมก.กับกรมศุลกากรว่าเป็นรถนำเข้าจากมาเลเซีย จะได้ไม่เสียภาษี แต่จริงๆ เป็นรถที่ผลิตจากจีน บริษัท เบสท์ริน ที่ชนะการประมูลช่ำชองในการขายรถเมล์ในไทย เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร มีอะไรอยู่เบื้องหลังเรื่องการใช้อิทธิพลหรือไม่? เราอาจจะถามต่อว่า ทำไมระดับคุณภาพและขีดความสามารถของกรมศุลกากรไทยจึงยังห่างไกลกับสิงคโปร์อย่างเทียบกันไม่ได้? ทั้งๆ ที่เทคโนโลยีสมัยใหม่หาได้ง่ายและเรียนรู้กันได้ทั่วโลก บอกอะไรเกี่ยวกับระบบราชการไทย

-จะรู้ได้อย่างไรว่า ลูกชายของนายทหาร รัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. ได้งานจากกระทรวงกลาโหม โดยระบบการแข่งขัน ระบบคุณธรรม หรือกรณีความเหมาะสมของพันโทหญิง ผู้ประกาศข่าวทีวีของทหาร ผู้ช่วยโฆษก คสช. มีบริษัทและได้งานจากรัฐบาล

-เกร็ดเล็กน้อย อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเป็นความฝันของรองนายกฯสมคิด ครอบครัวของเพื่อนนักวิชาการบริหารโรงแรมที่ปากช่องต้องต่อใบอนุญาตทุกๆ 5 ปี ก็ไปพิมพ์ลายนิ้วมือที่โรงพัก ยื่นเอกสาร ผ่านไปเกือบปียังไม่ได้ต่อใบอนุญาต เมื่อตามเรื่องหน่วยราชการที่รับผิดชอบบอกคนที่ดูแลเรื่องย้ายงานและเอกสารหาย ต้องเริ่มทุกอย่างกันใหม่ นี่เกินมาหนึ่งปีแล้ว!

ขอให้โชคดีประเทศไทย 4.0

ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image