คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ประชาทัณฑ์ในโลกคู่ขนาน : โดย กล้า สมุทวณิช

หากจะให้เลือกปรากฎการณ์ทางสังคมแห่งปี พ.ศ. 2559 ในทรรศนะของผู้เขียนก็คงจะเป็นเรื่องของมาตรการ Social Sanction กันในโลกออนไลน์ หรือที่ส่วนใหญ่เรียกกันว่า “การลงโทษทางสังคม”

แต่ในที่นี้อยากเรียกว่าการ “ประชาทัณฑ์” ซึ่งเป็นคำเก่าภาษาหนังสือพิมพ์ที่เรียกพฤติกรรมอย่างหนึ่งเวลาที่ตำรวจพาผู้ต้องหาคดีอาชญากรรมสะเทือนขวัญไปทำแผนประกอบการรับสารภาพ ระหว่างการทำแผนนั้นก็จะมี “พลเมืองดี” ทั้งหลาย โผล่ออกมาจากไหนก็ไม่ทราบช่วยกันไประดมมือระดมเท้า “สั่งสอน” ผู้ต้องหาที่ไม่มีทางสู้อยู่ในอำนาจตำรวจนั้นคนละตุ๊บละตั๊บเพื่อระบายอารมณ์โกรธขึ้งเคียดแค้น ราวกับว่าทุกคนที่ไปรวมมือรวมเท้านั้นเป็นผู้เสียหายร่วมก็ไม่ปาน

ภาพของการ “ประชาทัณฑ์” แบบดั้งเดิมนั้นก็เปรียบคล้ายกับวิธีการอย่างเดียวกันผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่กลายเป็นเหมือนกระบวน “ยุติธรรม” คู่ขนานที่ก่อตัวขึ้นเองจากพฤติกรรมของผู้คน

เรื่องจะเริ่มต้นที่มีใครสักคนกระทำความผิดกฎหมายหรือวิถีจารีตของสังคม ในระดับที่ก่อให้เกิดความมวลความไม่พอใจในหมู่ชาวเน็ต และจากนั้นก็จะมีการแชร์ ประจาน รวมถึงการเข้าไปโจมตีโดยตรงผ่าน “ตัวตน” ของ “คนร้าย” ทั้งที่ปรากฏอยู่ในเครือข่ายออนไลน์และในชีวิตจริงของเขา

Advertisement

ต่อจากนั้นเรื่องก็จะดังทะลุจอออกมาจนกระบวนยุติธรรมของบ้านเมืองตื่นขึ้นมารับไม้ต่อ หลังจาก “ผู้ร้าย” นั้นถูกประชาทัณฑ์ออนไลน์ไปจนน่วมได้ที่แล้ว หรือหลายกรณีนั้น “ผู้ร้าย” นั้นจำใจต้องพาตัวเข้าสู่กระบวนยุติธรรมด้วยตนเองเพื่อหลบหรือลดการโจมตีด้วยกระบวนการประชาทัณฑ์ออนไลน์

ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ซึ่งในปัจจุบันคนส่วนใหญ่ล้วนมีตัวตนอวตารอยู่ในระบบ คล้ายว่าเป็นอีกโลกที่คู่ขนานกันอยู่ อาจมองได้ว่าเป็นรูปแบบใหม่ของการควบคุมแบบ “วิถีประชา” ซึ่งขยายขนาดใหญ่โตขึ้น จากเดิมที่การควบคุมสมาชิกทางสังคมด้วยวิถีประชานี้มีขอบเขตบังคับได้ในวงแคบระดับชุมชนท้องถิ่นหรือแวดวงอาชีพ แต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเครือข่าย การ “มีเรื่อง” ทำผิดกฎหมายหรือรบกวนสังคม จะถูกรับรู้ได้ในวงกว้างอย่างที่ไม่อาจจินตนาการได้ ด้วยหูด้วยตาของเทคโนโลยีที่อยู่ในมือไม้ของผู้คนในที่เกิดเหตุ

กระบวนการทางสังคมในบางครั้งก็มีข้อดีในแง่ที่เป็นการช่วยสอดส่องจับตา “กระบวนยุติธรรม” ทางหลักของรัฐไม่ให้บิดเบี้ยวไปจากที่ควรจะเป็น เช่น กรณีไฮโซขับเบนซ์ด้วยความเร็วสูงพุ่งชนรถนักศึกษาปริญญาโทจนเสียชีวิต หรือกรณีของการขับรถที่ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่นหลายๆ เรื่อง เช่น คดีมิตซูจอมปาด หรือคดีดีเจเก่ง วีโก้ ซึ่งเรื่องพวกนี้มีความเป็นไปได้ว่าจะเงียบหายไม่เป็นคดีก็ได้ หากไม่มีการติดตามตรวจสอบใดๆ จากสังคมภายนอก

Advertisement

และในหลายครั้งกระบวนการนี้ก็เป็นการกระทำต่อคนกลุ่มที่มี “อำนาจพิเศษ” ที่โดยปกติแล้วผู้คนในสังคมจะไม่สามารถต่อสู้โต้ตอบคนกลุ่มดังกล่าวได้ในโลกของความเป็นจริง เช่น กรณีของพวกอันธพาลบนท้องถนน คนมีเงินที่ไม่แยแสต่อกฎหมายและเหมือนอยู่เหนือกระบวนยุติธรรม หรืออย่างนักเลงคุมสถานบันเทิงซึ่งคนทั่วไปก็ไม่พร้อมจะมีเรื่องด้วย หากเมื่อผู้คนที่ปกติไม่มีอำนาจต่อรองเหล่านั้นมารวมตัวกันได้มากจนเกิดเป็นกระแส “ชาวเน็ต” ก็เหมือนเกิดกลุ่มพลังมหาศาลที่แม้แต่อภิสิทธิ์ชนคนกลุ่มที่ไม่เคยหวั่นเกรงต่อกฎหมายยังต้องครั่นคร้ามกับ “กระแส” ในโลกโซเชียล

ก็ต้องยอมรับว่าในหลายเรื่อง พฤติกรรมของฝ่ายที่ถูกลงโทษนั้นก็ออกจะอุกอาจรบกวนความปลอดภัยและความสงบสุขของสังคมอยู่จริง แต่ที่เป็นปัญหา ก็คือการ “ลงทัณฑ์” ที่รุนแรงอย่างไม่ได้สัดส่วนและไม่มีขอบเขต เช่น กรณีของหนุ่มคนขับรถมินิเจ้าของประโยคฮือฮา “กราบรถกู” ที่ถูกกระแสชาวเน็ตด่าทอโจมตีลามไปถึงบุพการีของเจ้าตัว หรือธุรกิจที่เขาเป็นหุ้นส่วนอยู่ซึ่งล้วนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด หรือเร็วๆ นี้ที่มีวัยรุ่นหญิงคนหนึ่งโพสต์กล่าวหาว่าร้านข้าวมันไก่เจ้าหนึ่งเอา “น้องหมา” มาต้มซุปต่างซี่โครงไก่ ซึ่งจริงๆ ก็เป็นแค่เรื่องเด็กปากเบามือไว หากการลงโทษทางสังคมต่อวัยรุ่นคนนั้นก็เป็นไปแบบรุนแรงไม่ได้สัดส่วน โดยชาวเน็ตผู้ผดุงความยุติธรรมเข้าไปด่าทอกันในเฟซบุ๊กส่วนตัวของเธอแทบทุกโพสต์ทุกข้อความที่เปิดไว้เป็นสาธารณะ

การลงทัณฑ์ทางสังคมนั้นเป็นกึ่งๆ การแสดงความไม่พอใจในความไร้ประสิทธิภาพของกระบวนยุติธรรม หรือต่อความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ปล่อยให้มีคนบางกลุ่มเป็นอภิสิทธิ์ชนไม่อยู่ในบังคับของกฎหมาย ผสมไปกับความ “สะใจ” อันเป็นการระบายอารมณ์ส่วนตัว ความสะใจที่มาจากการที่ใครๆ ก็สามารถแสดงตนเป็นผู้ร่วมพิทักษ์ความเป็นธรรมในสังคม ด้วยการรุมกระทืบ “คนร้าย” ของสังคม

การได้ร่วม “ประชาทัณฑ์ออนไลน์” นั้นตอบสนองความต้องการอยากเป็น “ผู้พิทักษ์” หรือคนดีของสังคม จนไม่รู้สึกว่าจะต้องคำนึงถึงความได้สัดส่วนใดๆ คล้ายว่าเมื่อใครเป็น “คนร้าย” ของชาวเน็ตไปแล้ว ก็เสมือนสูญสิ้นความเป็นคน ไม่เหลือสิทธิและเสรีภาพใดๆ เหลืออยู่อีก จำจะต้องรับการลงทัณฑ์ที่ครอบจักรวาล ที่จะมีเข้ามาสารพัดรูปแบบวิธี โดยไม่มีที่สิ้นสุดประมาณ จนกระทั่งสังคมจะลืมไปเองหรือได้ “คนร้าย” รายใหม่ที่ปรากฏตัวออกมาให้ประชาคมชาวเน็ตได้ตัดสินชำระความ

ไม่ว่าเราจะเรียกปรากฏการณ์นี้ว่าอะไรก็ตาม Social Sanction หรือการประชาทัณฑ์ในโลกคู่ขนานนี้จะเป็นรูปแบบหนึ่งในการควบคุมพฤติกรรมและความประพฤติของผู้คนในสังคมควบคู่ไปกับกฎหมาย ซึ่งจะเติบโตมีพัฒนาการสืบทอดต่อเนื่องไปอีกใน พ.ศ.หน้าและในกาลต่อไป

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image