เสียไปอีกปี โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (แฟ้มภาพ)

ส่งท้ายปีนี้ สปป.ลาว เพื่อนบ้านของเราได้ฤกษ์ลั่นฆ้องเปิดการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงปานกลาง ลาว-จีน อย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ที่แขวงหลวงพระบาง

สำนักข่าวสารประเทศลาว รายงานว่า โครงการก่อสร้างรถไฟลาว-จีน ตั้งแต่เมืองบ่อเต็น ชายแดนลาว-จีน มายังสถานีนครหลวงเวียงจันทน์ ระยะทาง 417 กิโลเมตร ใช้ระบบรางมาตรฐานชั้นหนึ่ง กำหนดความเร็ว 160 กม.ต่อ ชม. สำหรับขนส่งผู้โดยสารในเขตพื้นที่สูง ส่วนพื้นที่ราบความเร็ว 200 กม.ต่อ ชม. และความเร็วสำหรับขนส่งสินค้า 120 กม.ต่อ ชม.

คาดใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 5 ปี จะเสร็จสมบูรณ์ในช่วงปลายปี ค.ศ.2021 หรือปี พ.ศ.2564 มูลค่าก่อสร้างราว 5,800 ล้านดอลลาร์

หากเป็นไปตามแผนนี้ แสดงว่าเป้าหมายที่ลาวมุ่งมั่นจะเป็น “แลนด์ลิงก์” ตามที่นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว กล่าวไว้ และไม่ต้องกลัวว่าจะมีแต่ “รถไฟกุด” อีกต่อไป

Advertisement

ลาวมุ่งหวังให้โครงการนี้นอกจากช่วยให้การคมนาคมขนส่ง การไปมาหาสู่กันมีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ยังประหยัดต้นทุนการขนส่ง ส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้า การลงทุนให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น สร้างรายได้ให้แก่ประเทศชาติและประชาชนลาวในอนาคตข้างหน้าอย่างยั่งยืน

ก่อนหน้านั้นไม่นานนัก เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ตัวแทนรัฐบาลสิงคโปร์และมาเลเซียก็เพิ่งลงนามข้อตกลงความร่วมมือเพื่อสร้างรถไฟความเร็วสูง HSR Project เชื่อมสองประเทศระยะทาง 350 กิโลเมตร

ถือว่าเป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายแรกของภูมิภาคอาเซียน

Advertisement

ตั้งเป้าว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2561 หลังจากการประมูลโครงการเสร็จสิ้นคาดว่าจะเริ่มใช้ได้จริงในปี 2569

การขยับเขยื้อนของประเทศร่วมภูมิภาคอาเซียนอันน่าคึกคักนี้ สอดคล้องกับความพยายามของรัฐบาลไทยที่พยายามผลักดันโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงให้เกิดขึ้นให้ได้ ตามเส้นทางต่างๆ ที่รัฐบาลชุดก่อนเคยนำเสนอ

แม้ว่าจะมีคำทักท้วง (อันชวนตะลึง) จากอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า เราควรต้องรอให้ถนนลูกรังหมดไปก่อน เมื่อครั้งร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ถูกสั่งเก็บพับไป

ที่มาของคำพูดอาจกลัวว่ารถไฟไฮสปีดจะเพิ่มความเหลื่อมล้ำ ทั้งที่เป็นโครงการกระจายโอกาสและรายได้ประชาชนในภูมิภาคต่างๆ

ยังไม่ทันถกเถียงกันให้ชัดๆ เป็นอันว่าตอนนี้เสียงทักท้วงก็สลายไปแล้วโดยอัตโนมัติ

แต่เรื่องอันน่าสะท้อนใจและต้องเตรียมใจก็คือ การเริ่มช้ากว่าที่ตั้งใจไว้จะทำให้มูลค่าการก่อสร้างไม่เท่าเดิม และแน่นอนว่าจะไม่ถูกลง

ช่วงที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็น รมว.คมนาคม และเดินสายกล่าวบรรยายเพื่อทำความเข้าใจถึงโครงการ 2 ล้านล้านบาท ในโรดโชว์ “สร้างอนาคตไทย 2020” ในหลายจังหวัดนั้น ประเด็นที่ย้ำมากคือเรื่องการเสียเวลาและโอกาส

เมื่อตอนปี 2556 รมต.ชัชชาติบอกว่า โครงการนี้ไม่ใช่ผลงานของรัฐบาลชุดของเขา เพราะมีคนคิดกันมาเป็น 10-20 ปีแล้ว เพียงแต่รัฐบาลเขานำมาจัดความสำคัญและหาแหล่งเงินให้

ขณะที่ “เงิน” ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด แต่เป็นเรื่อง “เวลา” ที่มักคิดกันว่าเป็นของฟรี จริงๆ ระยะเวลา “ไม่ฟรี” อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่แพงที่สุด เพราะมันเป็นค่าเสียเวลาและต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

อย่างน้อยปี 2559 ที่จะผ่านพ้นไปนี้ก็นับว่าเสียเวลาไปอีกปีแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image