ภาษาไทยมีกำเนิดที่เมืองอโยธยา โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

แหล่งกำเนิดภาษาไทยที่เมืองอโยธยา (จ. พระนครศรีอยุธยา) กำลังจะถูกทำลายด้วยโครงการรถไฟความเร็วสูง (ซ้าย) แม่น้ำป่าสัก (ขวา) สถานีรถไฟอยุธยา บริเวณเมืองอโยธยา (ภาพจากโดรน มติชนทีวี)

“29 กรกฎาคม” ของทุกปี รัฐบาลกำหนดเป็น “วันภาษาไทยแห่งชาติ” มีกิจกรรมรำพึงรำพันความอลังการยิ่งใหญ่ของภาษาไทยจนเกินจริง เพื่อแสดงตนว่ารักความเป็นไทย

แต่ไม่บอกประวัติความเป็นมาของภาษาไทย และไม่เคยรำลึกถึงแหล่งกำเนิดภาษาไทยที่เมืองอโยธยา ขณะเดียวกันปล่อยปละละเลยให้มีการทำลายเมืองแหล่งตั้งต้นภาษาไทยอย่างไม่ไยดี

นักวิชาการอาจารย์มหาวิทยาลัยที่รับผลประโยชน์จากโครงการรถไฟความเร็วสูง ด้วยการสนองความต้องการของการรถไฟ ขอให้ตระหนักแก่ใจว่าเมืองอโยธยามีความหมายมากอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์ไทย ขอให้ไตร่ตรองจงดีว่าจะกลับตัวอย่างไร? และจะร่วมกันแก้ไขอย่างไร?

ภาษาไทยมีกำเนิดและเติบโตเพื่อใช้งานพูดจาสื่อสารในชีวิตประจำวัน พบเก่าสุดราว 3,000 ปีมาแล้ว บริเวณโซเมีย ทางภาคใต้ของจีน

Advertisement

หลังจากนั้นถูกใช้เป็น “ภาษากลาง” ทางการค้าของดินแดนภายใน เพราะอักขรวิธีง่ายกว่าภาษาตระกูลอื่นๆ จึงพบภาษาไทยทั่วไปบริเวณภาคพื้นทวีปอุษาคเนย์ โดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำโขง, ลุ่มน้ำสาละวิน, ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ภาษาและวัฒนธรรมเป็นพลังตั้งต้นของความเป็นไทย

ภาษา หมายถึงภาษาไทย ซึ่งมีรากเหง้าจากตระกูลภาษาไท-กะได หรือ ไท-ไต

Advertisement

วัฒนธรรม หมายถึงวิถีชีวิตของคนหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง ซึ่งประกอบด้วยมอญ, เขมร, มลายู เป็นต้น

ภาษาไทยและคนไทย มีแหล่งตั้งต้นอยูเมืองอโยธยา (จ. พระนครศรีอยุธยา) ก่อน พ.ศ. 1700 บริเวณที่รัฐบาลมีโครงการรถไฟความเร็วสูงผ่าเมืองอโยธยา ด้วยการก่อสร้างตอม่อวางรางและสถานี มีความสูงระดับยอดเจดีย์ กับตอกเสาเข็มดวยการคุ้ยควักพื้นที่นอกเมืองและในเมืองอโยธยา ซึ่งเท่ากับทำลายหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีเมืองอโยธยาซึ่งเป็นแหล่งตั้งต้นภาษาไทยกับคนไทยอย่างย่อยยับ

[ก่อนสมัยเมืองอโยธยาไม่เรียกภาษาไทย (แต่เรียกด้วยคำอื่น เช่น ภาษาไท หรือไต, ภาษากะได ฯลฯ) และไม่เรียกตนเองว่าไทย หรือคนไทย (แต่เรียกตามชาติพันธุ์ของตน เช่น คนลื้อ, คนลาว, คนผู้ไท ฯลฯ)]

ภาษาไทยพบหลักฐานเป็นวรรณกรรม ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เรียกกฎหมายเบ็ดเตล็ด (พระไอยการลักษณะเบ็ดเสร็จ) ตราขึ้นสมัยอโยธยา พ.ศ. 1778 (ได้ข้อมูลจากหนังสือ อำนาจของภาษาและวรรณกรรมไทย สำนักพิมพ์นาตาแฮก พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2566)

กฎหมายเบ็ดเตล็ด (พระไอยการลักษณะเบ็ดเสร็จ) อายุ 115 ปีก่อนสมัยอยุธยา เป็นวรรณกรรมไทยสำนวนเก่ามากสมัยอโยธยาศรีรามเทพ ราว พ.ศ. 1778 (ในต้นฉบับกฎหมายลงศักราช 1156 ปีมะแม) หรือ 115 ปีก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา โดยได้จากการคำนวณของ จิตร ภูมิศักดิ์ ในหนังสือ สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนสมัยศรีอยุธยา (สำนักพิมพ์ไม้งาม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2526 หน้า 45-47) และจากการตรวจสอบสนับสนุนของ ล้อม เพ็งแก้ว ในบทความเรื่อง “วันเดือนปีในกฎหมายที่ได้ตราขึ้นก่อนวันสถาปนากรุงศรีอยุธยา” (พิมพ์ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ. 2529 หน้า 42-44)

คำว่า “เบ็ดเสร็จ” ในชื่อกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ ตรงกับคำปัจจุบันว่าเบ็ดเตล็ด หมายถึงกฎหมายหลายเรื่องต่างๆ กันที่นำมารวมไว้ด้วยกัน และไม่อาจให้ความสำคัญเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ถนัด เพราะเป็นเรื่องย่อยๆ ทั้งนั้น

กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จมีเนื้อหาแบ่งกว้างๆ 2 ตอน คือตอนต้นกับตอนท้าย

ตอนต้น ตราไว้ พ.ศ. 1886 ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา 7 ปี ว่าด้วยความเชื่อในข้อห้ามถูกใช้เป็นเครื่องมือควบคุมความขัดแย้งในชุมชนเกี่ยวกับบ้านเรือนและเรือกสวนไร่นาที่อยู่ใกล้เคียงกัน แต่ไม่มีหมุดหมายแสดงเขตของใครของมัน เมื่อนานไปอาจเกิดโกลาหลขัดแย้งรุนแรงจากการรุกล้ำหรือล่วงล้ำซึ่งกันและกัน ซึ่งลักษณะอย่างนี้เรียกในกฎหมายว่า “กระหนาบคาบเกี่ยว” เป็นเสนียดแก่กัน โดยมีข้อกำหนดบทลงโทษไว้ (สรุปจากบทความเรื่อง “กฎหมายตราสามดวงกับความเชื่อของไทย” ของ ศรีศักร วัลลิโภดม ในหนังสือ กฎหมายตราสามดวงกับสังคมไทย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2535 หน้า 107-113)

ตอนท้าย ตราไว้ พ.ศ. 1778 ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา 115 ปี ว่าด้วยลักษณะวิวาทเรื่องกระทำกฤตยาคุณเป็นเสนียดจัญไรแก่กัน โดยเนื้อหาเป็นเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับลักษณะผีร้ายให้โทษ มีชื่อเรียกในกฎหมายนี้ว่า “ฉมบ, จะกละ, กระสือ, กระหาง” กับเรื่องหมอผีที่เรียกชื่อในกฎหมายนี้ว่า “แม่มดพ่อหมอ” คือผู้เรียนรู้เวทวิทยาคมและกฤตยาคุณอันทําให้ถึงตายฉิบหายด้วยอุบายต่างๆ

ความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติ คือ ผี ซึ่งมีทั้งผีดีที่ให้คุณกับผีร้ายที่ให้โทษ เป็นเครื่องมือควบคุมสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างปกติ ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน และเป็นสำนึกสืบเนื่องตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีมาแล้ว แม้ปัจจุบันก็ยังพบทั่วไป

ฉมบ (ฉะ-หมบ) หมายถึง ผีปอบ เป็นผีจำพวกหนึ่งสิงอยู่ในตัวคน มีหลายชนิด คนที่ชอบกินของดิบ เช่น กบดิบ เขียดดิบ กลางคืนมักจะออกหากิน มีแสงออกตามจมูกสีเขียว พวกหนึ่งเรียกมนต์แล้วปฏิบัติตามครูสอนไม่ได้ มนต์เกิดเป็นผี กินคนอื่นไม่ได้ก็กินตัวเอง เรียก ปอบมนต์ อีกพวกหนึ่งไม่ได้เรียนอะไร แต่พี่น้องเป็นปอบ เมื่อพี่น้องตายไปแล้วปอบเข้ามาสิงอยู่ในตัว ปอบชนิดนี้เรียกปอบเชื้อ ปอบทุกชนิดหมอมนต์เขารักษาหายได้ (สรุปจาก สารานุกรมภาษาอีสานฯ ของ ปรีชา พิณทอง พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2532 หน้า 503) ส่วนภาษาเขมรมีคำว่า ฉฺมบ (อ่านว่า ชะ-มอบ) แปลว่า หมอตำแย (พจนานุกรมเขมร-ไทย เล่ม 1 พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2517 หน้า 110)

จะกละ (จะ-กละ) หมายถึง ผีป่า ซึ่งหมอผีชาวป่าเลี้ยงไว้ให้ทําร้ายศัตรู เชื่อว่ามีรูปเป็นแมว (พจนานุกรมฉบับมติชน พ.ศ. 2547 หน้า 220)

กระสือ (กระ-สือ) หมายถึงผีที่สิงในผู้หญิง ชอบกินของโสโครก ลักษณะเป็นดวงไฟแวมๆ ในกลางคืน (คู่กับกระหังที่เข้าสิงผู้ชาย)

กระหาง (กระ-หาง) ปัจจุบันเรียกกระหัง หมายถึงผีที่สิงในผู้ชาย (คู่กับกระสือที่เข้าสิงผู้หญิง) ชอบกินของโสโครก จะเคลื่อนไหวไปไหนใช้กระด้งทำปีก ใช้สากตำข้าวแทนขา ใช้สากกะเบือเป็นหาง (พจนานุกรมฉบับมติชน หน้า 43)

[นิยามหรือคำอธิบายเรื่องผีที่ยกมานี้อาจต่างจากที่เคยรู้มาก่อน หรืออาจต่างจากนิยามและคำอธิบายจากท้องถิ่นอื่นก็ได้ ไม่จำเป็นต้องยึดถือตายตัวว่าอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้อง]

กฎหมาย เป็นพยานหลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งที่แสดงอำนาจของภาษาและวรรณกรรมไทย

สังคมดั้งเดิมมีระบบควบคุมให้เข้าร่องเข้ารอยด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีที่ยึดถือและปฏิบัติสืบเนื่องมาโดยไม่มีลายลักษณ์อักษร เมื่อสังคมก้าวหน้ามีตัวอักษรจึงควบคุมสังคมทั้ง 2 ระบบ ได้แก่ ขนบธรรมเนียมประเพณีและที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรเรียกกฎหมาย

ในไทยมีกฎหมายเก่าสุดเท่าที่พบขณะนี้อยู่ในสมัยอโยธยาศรีรามเทพ (ก่อนมีกรุงศรีอยุธยา) คือหลักฐานสำคัญแสดงว่าระบบกฎหมายเหล่านั้นสืบเนื่องจากรัฐทวารวดี (ที่ละโว้) ครั้นเข้าสู่สมัยอยุธยามีกฎหมายอีกมากถูกตราขึ้นใช้ควบคุมสังคม (ร.1 กรุงรัตนโกสินทร์ โปรดให้ชำระและรวบรวมกฎหมายกรุงเก่าไว้ด้วยกันเป็นที่รับรู้กว้างขวางในชื่อ “กฎหมายตรา 3 ดวง”)

เมื่อตรวจสอบกฎหมายทั้งหมดตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยาและสมัยอยุธยา พบว่าพื้นฐานสังคมลุ่มน้ำเจ้าพระยามีสำนึกทางกฎหมายก้าวหน้าขั้นสูง คือไม่ใช้ระบบแก้แค้นตามแบบสังคมดึกดำบรรพ์ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” หรือ “หนามยอก หนามบ่ง” กล่าวคือเมื่อผู้หนึ่งถูกฟันแขนขาดก็ต้องตัดสินโดยการตอบโต้ให้ฟันอีกฝ่ายหนึ่งแขนขาดบ้าง ซึ่งเป็นสำนึกแบบแก้แค้นด้วยการกระทำตอบแทนอย่างเดียวกัน แต่สังคมลุ่มน้ำเจ้าพระยาพัฒนาเสียใหม่โดยกำหนดให้ผู้ผิดเสียเงินสินไหมชดเชยเป็นค่าเสียหา

[ร. แลงกาต์ (นักปราชญ์ทางประวัติศาสตร์กฎหมายโบราณของไทย) อ้างในหนังสือ สังคมไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา ก่อนสมัยศรีอยุธยา ของ จิตร ภูมิศักดิ์ สำนักพิมพ์
ฟ้าเดียวกัน พิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ. 2547 หน้า 51-54]

กฎหมายตรา 3 ดวง เป็นประมวลบทกฎหมายตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึง ร.1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในสภาพเดิมเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งช่วยให้เราสามารถย้อนกลับไปศึกษากฎหมายในอดีตของไทยได้เป็นอย่างดียิ่ง

การชำระกฎหมายใน ร. 1 เป็นไปเพื่อคงสภาพเดิมของกฎหมายไว้ มิได้ประสงค์จะเปลี่ยนแปลงระบบกฎหมายหรืออย่างธรรมเนียมทางกฎหมายแต่อย่างใด นอกจากการประกาศให้ชำระกฎหมายทั้งฉบับและใช้ตรา 3 ดวงเป็นเครื่องหมายของกฎหมายฉบับหลวง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาแต่ก่อนเท่านั้น

ข้อสันนิษฐานซึ่งดูเหมือนจะเป็นที่ยอมรับกันโดยปริยายในปัจจุบันเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของการชำระกฎหมายในรัชกาลที่ 1 ว่าเป็นการชำระสะสางอย่างขนานใหญ่จนกลายเป็นกฎหมายอีกสมัยหนึ่งสำหรับประวัติศาสตร์กฎหมายไทย เสมือนการจัดทำประมวลกฎหมายขึ้นใหม่ (codification) อย่างที่ได้กระทำกันครั้งแรกๆ ในยุโรป กระทั่งอาจขนานกฎหมายนี้ได้ว่า “ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1” ซึ่งความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่

[สรุปใหม่จากคำนำเสนอของบรรณาธิการในหนังสือ กฎหมายตรา 3 ดวง เล่ม 1 (มี 3 เล่ม) ฉบับพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แก้ไขปรับปรุงใหม่ (พิมพ์ครั้งแรก 1 ตุลาคม 2481) แก้ไขปรับปรุงใหม่ 24 มิถุนายน 2548 (กำธร เลี้ยงสัจธรรม บรรณาธิการ) หน้า (44), (53)]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image