เดินหน้าชน : ภารกิจสู้โลกร้อน

ขณะนี้ยังไม่รู้ว่ารัฐบาลใหม่หน้าตาจะเป็นอย่างไร จะเข้ามาบริหารประเทศเมื่อไร

แต่ประเทศไทยมีวาระอื่นๆ ที่ต้องรับมือ โดยเฉพาะปัญหาโลกร้อน ที่มีการนำไปผูกเงื่อนกับการส่งออก 

โดยสหภาพยุโรป (อียู) ได้ออกมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 นี้ โดยอ้างว่าเป็นแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอียู 

ทั้งนี้ อียูจะปรับราคาคาร์บอนสำหรับสินค้านำเข้าให้เท่าเทียมกับราคาคาร์บอนที่จ่ายสำหรับผลิตภัณฑ์ของอียู ที่ผลิตภายใต้ระบบการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหภาพยุโรป (EU Emissions Trading System : ETS)

Advertisement

บริษัทที่นำเข้าสินค้ามาขายในอียูต้องซื้อใบรับรองการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่แฝงมากับสินค้า เพื่อชำระส่วนต่างระหว่างราคาคาร์บอนที่จ่ายในประเทศที่ผลิตสินค้าและราคาคาร์บอนที่อนุญาตใน ETS ของอียู 

มาตรการ CBAM จะมีผลกระทบกับการสินค้าของไทยหลายรายการ อาทิ เหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียม 

ขณะที่หน่วยงานต่างๆ ของไทยที่รู้สัญญาณนี้มาก่อน ก็เตรียมพร้อมรับมือไว้แล้วทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว มีการเสนอตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม หรือกรอ.สิ่งแวดล้อมเพื่อประสานการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด 

Advertisement

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีภารกิจรับมือกับภาวะโลกร้อนมาก่อนหน้านี้แล้วและยังเดินหน้าต่อเนื่อง

วีริศ อัมระปาลผู้ว่าการ กนอ.ย้ำว่า ยังมุ่งเน้นการลดคาร์บอนต่อเนื่อง โดยขอให้ผู้ประกอบการร่วมมือกันลดภาวะโลก ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างดี ทั้งการปลูกป่า ปรับปรุงเครื่องจักรต่างๆ รวมถึงติดตั้งโซลาร์เซลล์ในโรงงาน 

เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม 110 แห่ง สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 2 แสนตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 

กนอ.มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 ตามนโยบายรัฐบาล ได้รับความร่วมมือจากทั้งภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยเปลี่ยนมาใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น อาทิ เปลี่ยนไฟส่องสว่างเป็น LED เปลี่ยนเครื่องจักรให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น การใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ รวมถึงการเปลี่ยนเชื้อเพลิง และการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกในการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท พาร์ค

อีกทั้งส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนให้แก่ชุมชน ผ่านโครงการเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ที่เชื่อมโยงนิคมอุตสาหกรรม หน่วยงานท้องถิ่นและชุมชนโดยรอบ ร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อม 

เป็นการพึ่งพาอาศัยกันและกัน ระหว่างโรงงานต่างๆ ในพื้นที่กับระบบนิเวศท้องถิ่น ขยายตัวไปสู่การเชื่อมระหว่างนิคมในเขตอำเภอ กระทั่งถึงระดับจังหวัด โดยมีชุมชน วัด บ้าน โรงเรียน เข้ามามีส่วนร่วมในการประหยัดพลังงาน การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า อุปโภคและบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการเกิดปัญหามลพิษ

การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถือเป็นวาระของโลก ที่ประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหามากขึ้น อีกทั้งนำไปผูกโยงเป็นมาตรการทางการค้า เพื่อบีบให้ประเทศคู่ค้าต้องร่วมแก้ปัญหาโลกร้อน พร้อมกับกีดกันการค้าทางอ้อม

ขณะที่ไทย ซึ่งเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยการส่งออกเป็นหลัก จึงต้องดำเนินการลดก๊าซคาร์บอนอย่างจริงจังและต่อเนื่องโดยเฉพาะโรงงานต่างๆ

เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จึงตอบโจทย์ทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรม ควบคู่กับการดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อม นอกจากช่วยให้สินค้าส่งออกของไทยไม่ถูกกีดกันแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดภาวะโลกร้อนด้วย

สัญญา รัตนสร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image