2559 ปีแห่งการชะลอตัว : วีรพงษ์ รามางกูร

สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์สุดท้ายของปี 2559 ปีที่คนไทยรู้สึกว่าเป็นปีแห่งความเศร้าหมอง เริ่มต้นปีก็เป็นปีที่คนไทยคอยติดตามพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 อย่างจดจ่อ คอยสวดมนต์ไหว้พระภาวนาให้พระองค์ทรงหายจากพระอาการประชวร คอยฟังข่าวจากแถลงการณ์ของสำนักพระราชวัง เมื่อทราบว่าพระอาการดีขึ้นตามลำดับก็พลอยโล่งใจไปด้วย พอนานไปไม่มีแถลงการณ์สำนักพระราชวังก็รู้สึกกังวลใจ เมื่อมีแถลงการณ์ว่าพระอาการดีขึ้นก็โล่งใจไปอีก เป็นอยู่อย่างนี้เกือบตลอดทั้งปี

จนเมื่อบ่ายวันที่ 13 ตุลาคม ได้มีประกาศสำนักพระราชวังว่าได้เสด็จสวรรคตแล้ว ข่าวการสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศทำให้ทุกคนรู้สึกใจหาย เพราะทุกคนที่อายุตั้งแต่ 80 ปีลงมาจะรู้สึกว่าพระเจ้าอยู่หัวกับประเทศไทย กับประชาชนชาวไทยรวมทั้งตัวเอง เป็นสิ่งที่จะขาดซึ่งกันและกันไม่ได้ เมื่อได้ทราบข่าวว่าสวรรคตก็รู้สึกว่าสิ่งที่สำคัญกว่าประเทศชาติและประชาชนขาดหายไป แม้ว่าเราชาวพุทธได้ถูกพร่ำสอนว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นตั้งอยู่และจากไปเป็นของธรรมดา

แต่อย่างไรก็ตาม สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยังคงอยู่กับประเทศไทยต่อไป สถาบันพระมหากษัตริย์ยังคงเป็นที่ยึดเหนี่ยวของประเทศชาติและประชาชนคนไทยต่อไป ข่าวการรับการอัญเชิญขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 จึงเป็นข่าวสำคัญที่เกิดขึ้นในปีนี้และเป็นข่าวที่ประชาชนคนไทยยินดีอย่างมาก ปี 2559 จึงเป็นปีที่ 1 ในรัชกาลปัจจุบัน

สิ่งที่รอคอยต่อไปคือ งานออกพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพ คงจะเป็นงานใหญ่สำหรับปี พ.ศ.2560 ต่อด้วยงานพิธีบรมราชาภิเษก การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชและสมเด็จพระราชาคณะ รวมทั้งการสถาปนาฐานันดรศักดิ์ เจ้านายฝ่ายต่างๆ ที่สำคัญๆ แม้จะเป็นงานที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าปี 2560 แต่ประชาชนก็ยังเฝ้าคอยติดตามอยู่ตลอดทั้งปี

Advertisement

ความจริงปี 2559 ควรจะเป็นปีที่มีความสำคัญทางการเมืองอย่างยิ่ง เพราะเป็นปีที่มีการแถลงข่าวความคืบหน้าของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้วเสร็จ หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้กรุณาจัดให้มีการทำประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีคำถามเพิ่มเติมว่าในระยะเริ่มแรกระหว่างที่มีการใช้บทเฉพาะกาล 5 ปี นายกรัฐมนตรีอาจจะแต่งตั้งจากบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้หรือไม่ ปรากฏว่าประเด็นดังกล่าวพร้อมกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยครึ่งใบผ่านประชามติฉลุย ซึ่งแสดงถึงความคิดอ่านทางการเมือง ความคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเคารพตนเองของคนไทยได้เป็นอย่างดี ลบล้างความคิดเรื่อง 14 ตุลาคม 2516 และพฤษภา 2535 ไปอย่างสิ้นเชิง ในปี 2559 ที่กำลังจะผ่านไปนี้จึงนับเป็นปีที่มีความสำคัญทางการเมืองของไทยอีกปีหนึ่ง

การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ผ่านประชามติ แม้จะยังไม่ได้กระทำอย่างเป็นทางการ แต่ผู้คนก็ยังรอคอยว่าคงจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในปีต่อไปคือปี 2560 กระบวนการไปสู่การเลือกตั้งก็คงจะเกิดขึ้นแน่นอน ตามแผนการเดิมที่ คสช.ได้ให้ไว้เป็นสัญญาประชาคมที่ไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงอะไร เพื่อความสง่างามของประเทศชาติที่จะไม่เป็นประเทศที่แปลกประหลาดอยู่เพียงประเทศเดียว หรือในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาทางการเมืองอยู่เพียงกลุ่มเดียวในประชาคมโลกอารยะ วาทกรรมที่ถูกผลิตและแสดงออกมาปลุกปั่นเพื่อสร้างสถานการณ์ช่วงก่อนการทำปฏิวัติรัฐประหาร ก็คงจะเสื่อมความขลังลงไปตามลำดับ และคงจะพลิกผันไปตามวัฏจักรของการเมืองของประเทศ ตามวัฏจักรแห่งความเป็นไปทางการเมืองของไทย

ปี 2560 ก็เป็นปีสุดท้ายของรัฐบาลทหาร อันเป็นความต่อเนื่องมาจากการทำปฏิวัติรัฐประหารเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ก่อนจะมีการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ ซึ่งหวังว่าจะกินเวลาประมาณ 8 ปี ก่อนที่จะเกิดปฏิวัติรัฐประหารครั้งใหญ่ตามวัฏจักรการเมืองของประเทศไทย ปี 2559 ที่ผ่านมาจึงเป็นปีที่ทฤษฎีรัฐศาสตร์หลายทฤษฎีได้รับการพิสูจน์แล้วว่าใช้ไม่ได้กับประเทศไทย

ปี 2559 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปนี้ เป็นปีที่พิเศษในทางการเมืองที่ต้องถูกจดจำและบันทึกไว้ เพราะเป็นปีที่มีการเปลี่ยนผ่านในหลายๆ เรื่อง เป็นการเปลี่ยนผ่านที่เป็นไปอย่างราบรื่นเรียบร้อย ไม่มีอะไรที่ต้องกระทำการอย่างที่หลายฝ่ายวิตกกังวลกันมาก่อนหน้านี้

ในด้านเศรษฐกิจปี 2559 นี้เป็นปีพิเศษที่ไม่เหมือนปีอื่นๆ กล่าวคือ มูลค่าการส่งออกและการนำเข้าของประเทศไทยที่สามารถขยายตัวโดยตลอดเรื่อยมา แต่ปี 2559 เป็นปีแรกที่มูลค่าการส่งออกและนำเข้าของประเทศไทยหดตัวแทนที่จะขยายตัว อันเป็นเหตุให้เกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซาอย่างหนัก บริษัทห้างร้านขนาดกลางและขนาดย่อมพากันล้มหายตายจาก บริษัทขนาดใหญ่ประสบกับปัญหาขาดทุน หนี้เสียหรือ NPL ของสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น จนถึงขั้นที่สถาบันบางแห่งอาจจะต้องเพิ่มทุนในปี 2560 หรือปี 2561 เพราะทุนสำรองที่ตั้งไว้เป็นข้อกำหนดได้ใช้จนเกือบหมดแล้ว ทางการก็ควรจะต้องระมัดระวัง โชคดีที่ทุนสำรองระหว่างประเทศยังแข็งแกร่ง ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุล เพราะราคาสินค้านำเข้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาพลังงานยังอยู่ในระดับต่ำ

แม้ว่ารายได้จากการท่องเที่ยวจะลดลงกว่าครึ่ง เนื่องจากนโยบายปราบทัวร์ศูนย์เหรียญของรัฐบาลไทย ทำให้บริษัทนำเที่ยวจีนพานักท่องเที่ยวจีนไปเที่ยวที่อื่น เช่น เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย แทนประเทศไทย ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น ร้านขายของปลอดภาษี โรงแรม ร้านอาหาร รถนำเที่ยว ร้านขายของที่ระลึกและอื่นๆ ต่างก็ถูกกระทบกันโดยทั่วกัน ตรงกันข้ามกับข้อมูลที่ข้าราชการและรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวฯรายงานนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ปีที่ผ่านมาจึงไม่ใช่ปีของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เหมือนกับปีก่อนหน้านั้นที่เราถูกรัฐบาลยุโรปและอเมริกาไม่แนะนำให้มาเที่ยว แต่ก็ยังมีนักท่องเที่ยวจีนทุกระดับตั้งแต่ระดับบน ระดับกลาง และระดับล่างมาเที่ยว แต่โดนข้อหาทัวร์ศูนย์เหรียญเข้าก็เลยหดหายไปเหมือนกับนักท่องเที่ยวยุโรปและอเมริกา

บรรยากาศอึมครึมสลัวอย่างที่เกิดขึ้นในปี 2559 ก็คงดำเนินต่อไปถึงปีหน้า จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี 2561 เพราะตลอดปี 2560 ยังไม่เห็นว่าจะมีปัจจัยอะไรมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่จะทำให้บรรยากาศทางเศรษฐกิจดีขึ้น ทั้งในด้านนโยบายและการปฏิบัติ มิหนำซ้ำยังมีความไม่เข้าใจนโยบายการเงินการคลังของประเทศในยามภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอีก เพราะในยามที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรัฐบาลไม่ควรพูดถึงเรื่องการขึ้นภาษีเลย ไม่ว่าจะเป็นภาษีอะไรก็ตาม โดยเฉพาะภาษีทางตรงซึ่งพิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่ภาษีที่ภาระภาษีตกอยู่กับคนรวย แต่จะตกอยู่กับคนชั้นกลาง ความคิดอ่านยังคงติดอยู่กับความพยายามจะแก้ไข “ปัญหาช่องว่างระหว่างรายได้” ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่มีเครื่องมือที่จะแก้ไขโดยไม่กระทบต่อต้นทุนการผลิต ซึ่งเป็นการทำให้ฐานะการแข่งขันในเวทีการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศด้อยลง

ความสนใจขณะนี้จึงไปอยู่ที่ความเหลื่อมล้ำในการบริโภค ความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิต ซึ่งสามารถบรรเทาได้ด้วยการใช้จ่ายลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ ของรัฐบาล ภาษีควรทำหน้าที่อย่างเดียวคือทำรายได้ให้แก่รัฐบาลเท่านั้น ไม่ควรมีหน้าที่อย่างอื่น ยกเว้นสินค้าฟุ่มเฟือยบางอย่างซึ่งใช้ภาษีสรรพสามิตเพิ่มเข้าไปเพื่อให้ผู้อุปโภคบริโภคเป็นผู้รับภาระภาษี การอุปโภคบริโภคจะได้น้อยลง

ความคิดที่อยากจะใช้ภาษีเพื่อลดช่องว่างระหว่างรายได้ก็คงจะยังมีอยู่ในบรรดาข้าราชการที่ทำหน้าที่เสนอการปรับปรุงภาษีอากร ทั้งๆ ที่ความคิดเช่นว่านี้ล้าสมัยไปแล้ว

ในด้านการเมืองของโลก ช่วงปีที่ผ่านมาก็เป็นปีที่ความคิดของคนในสหภาพยุโรปก็ดี อเมริกาก็ดี รัสเซียก็ดี เปลี่ยนไปมาก ความคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยชาติที่เคยรุนแรงก็เริ่มหดหายไป คลายความเข้มข้นลงไป เมื่อเกิดขบวนการต่อต้านตะวันตกของกลุ่มไอเอสในตะวันออกกลาง อันเป็นผลให้เกิดการอพยพของชาวมุสลิมจากตะวันออกกลางเข้าไปอยู่ในยุโรป รวมทั้งอังกฤษ และทำท่าจะเข้าไปอยู่ในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

เมื่อความคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ได้รับการตอบสนองมาถึงจุดสูงสุด ความคิดของคนรุ่นใหม่ก็จะถึงจุดหักเหหมุนกลับ 180 องศา เมื่อคนอังกฤษลงประชามติออกจากสหภาพยุโรปเพียงเพื่อศักดิ์ศรีของตนเองที่เคยยิ่งใหญ่ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งเพราะมีนโยบายหมุนกลับจากโลกาภิวัตน์ ซึ่งสหรัฐอเมริกาเคยเป็นผู้ผลักดันทั้งในเวทีสหประชาชาติและเวทีการค้าโลก รวมทั้งการจัดตั้งกลุ่มการค้าเสรีในภูมิภาคอเมริกาและแปซิฟิก หันกลับไปใช้นโยบาย “โรบินสัน ครูโซ” ซึ่งไม่ใช่ของใหม่ เคยมีผู้นำสหรัฐอเมริกาหลายคนเคยคิดเช่นนั้น การหักมุมเช่นว่าก็เกิดขึ้นในปี 2559 นี่เอง

ปีนี้เป็นปีที่อเมริกากำลังรอประธานาธิบดีคนใหม่เข้าสาบานตนรับตำแหน่งหลังจากได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง เป็นปีที่เราได้ยินได้ฟังนโยบายของอเมริกาว่าจะจับมือกับรัสเซียเล่นงานจีน ขณะที่เรามีที่ตั้งของประเทศที่ใกล้ชิดติดกับจีน คงต้องดำเนินนโยบายต่างประเทศให้ดี แม้ว่าเราจะมีผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจกับจีนมากกว่าอเมริกา แต่ผลประโยชน์ทางความมั่นคงทางทหารก็จะลดความสำคัญของอเมริกาลงไม่ได้

ปีหน้าก็คงจะเหมือนกันเพราะยังไม่เห็นอะไรดีกว่าปีนี้

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image